จุดจบ 'รธน.ปราบโกง'

หนักกว่าที่คิด...

ดูทรงแล้ว หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำโดยพรรคเพื่อไทย ประเด็นที่จะถูกเด็ดหัวคือ กระบวนการตรวจสอบนักการเมือง

จนกลายเป็นรัฐธรรมนูญ ที่ยากต่อการเอานักการเมืองเข้าคุก

หลังจาก "ชูศักดิ์ ศิรินิล" นักกฎหมายมือหนึ่งของพรรคเพื่อไทย ประกาศจะแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ ขอไปกำหนด "ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และจริยธรรม" ของนักการเมืองเอง

อ้างว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีนายกฯ เศรษฐานั้นครอบจักรวาลเกินไป

"...พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพซึ่งเรากำลังยกร่างอยู่  เข้าใจว่าใกล้จะเสร็จแล้ว ซึ่งมีทั้งหมด ๔-๕ มาตรา โดยจะกำหนดกรอบกฎหมายให้มีความชัดเจน ไม่ต้องตีความอะไรมาก

ขณะที่ฝ่ายค้านก็กำลังพิจารณายกร่างกฎหมายเรื่องนี้เช่นกัน โดยแต่ละพรรคจะต่างคนต่างยื่นร่างเข้าสภาแล้วจึงไปว่ากันในการพิจารณาของรัฐสภา

สมมติว่าคุณอ่านรัฐธรรมนูญ ไม่มีพฤติกรรม ฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่ทราบว่าตีความอย่างไร จึงอยากกำหนดให้ หากใครถูกร้องหรือระหว่างถูกฟ้องในชั้นศาลว่าฝ่าฝืนจริยธรรม ซึ่งจะทำให้การตีความชัดเจนขึ้น..."

นี่คือข้อความใหม่จาก "ชูศักดิ์"

ความโดยรวมคือ ต้องให้นักการเมืองเป็นผู้กำหนดว่า อะไรคือ มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ อะไรคือการกระทำขัดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง

จบเห่ครับ!

อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่แล้ว สุดท้ายรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ จะเป็นเพียงเศษกระดาษ ทำอะไรนักการเมืองไม่ได้

อีกประเด็นที่พรรคเพื่อไทยจะแก้ไขคือ การลงมติขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ

"...โดยความคิดเรื่องสำคัญใหญ่ๆ ใช้เสียงข้างมากธรรมดาทั่วไป ยกตัวอย่างกรณีของนายกฯ เศรษฐา ที่พ้นจากตำแหน่งด้วยมติศาลรัฐธรรมนูญ ๕-๔ เสียง ซึ่งเราก็ใช้วิจารณญาณคิดดูว่าเรื่องใหญ่แบบนี้ควรหรือไม่

จึงมีแนวความคิดว่าให้มติมากขึ้นหน่อยดีหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ กับเรื่องจริยธรรม ให้ชัดเจน จะทำไปพร้อมกัน..."

แบบนี้เขาเรียกว่า การสร้างเงื่อนไขให้ตรวจสอบนักการเมืองยากขึ้น

"ชูศักดิ์" คงหมายถึงกรณีถอดถอนนายกฯ ควรใช้มติศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากเด็ดขาด เช่น ๙ ต่อ ๐ หรือ ๖ ต่อ ๓ อะไรประมาณนั้น

นี่คือผลของการให้นักการเมืองแก้ไขรัฐธรรมนูญ

มันเข้าข่าย ชนชั้นใดออกกฎหมาย ก็เพื่อชนชั้นนั้น

คิดแต่เรื่อง ผลประโยชน์ของตนเอง

แต่พรรคส้มไวกว่าครับ!

ไปยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานสภาฯ แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน

รายละเอียดเบื้องต้นเห็นแล้วน่าตกใจ!

ยกเลิกอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการสอบจริยธรรมของ สส.

ร่างแก้ไขนี้ สส.พรรคประชาชน ที่ถูกยื่นเรื่องต่อป.ป.ช.ให้สอบจริยธรรมกรณีร่วมยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วย

เพื่อไม่ให้ถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน

ทำเหมือนจะมีจริยธรรม

แต่ไม่ใช่หรอกครับ

กลัวโดนมีผลประโยชน์ทับซ้อนอีกข้อหา

ฟังจากปาก "ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล" ประธานวิปฝ่ายค้านจากพรรคส้ม ก็ยิ่งน่ากังวลครับ

"...ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราฉบับล่าสุดที่เสนอนั้นเป็นรายละเอียดเรื่องจริยธรรมทั้งระบบ

ผมจำรายละเอียดไม่ได้ทั้งหมดว่ามีกี่มาตรา เพราะกรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องหลายมาตรา รวมถึงเกี่ยวกับการใช้อำนาจขององค์กรอิสระที่ตัดสินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นนามธรรมมากเกินไป..."

พรรคส้มต้องการจะสร้างจริยธรรมทั้งระบบขึ้นมาใหม่

นึกภาพไม่ออกครับว่า พรรคการเมืองที่ไม่ยึดรากเหง้าของชาติ ไม่สนใจวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิม พรรคที่ผู้นำจิตวิญญาณบอกว่า ไม่ต้องเรียก ลุง ป้า น้า อา ให้ใช้คำว่า คุณ กับ ผม

จริยธรรมของพรรคการเมืองแบบนี้หน้าตาเป็นอย่างไร

ครับ...สรุปแล้ว พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาชน พุ่งเป้าไปที่ ศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช.โดยตรง

ต้องการตัดแขนตัดขา ๒ องค์กรอิสระนี้ เพราะเห็นว่ามีอำนาจมากเกินไป

ฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จึงไม่ใช่การแก้เล็กน้อย ไม่กี่มาตรา

แต่จะเป็นการแก้ครั้งใหญ่

แก้ยกหมวด

แล้วจะสำเร็จหรือไม่

คำตอบคือ มีโอกาสสำเร็จสูงพอควร หากทำประชามติผ่าน

เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ แค่พรรคเพื่อไทย กับพรรคส้ม ก็เกือบครึ่งรัฐสภาไปแล้ว

บวกพรรคร่วมรัฐบาล บวก สว.ฝักถั่ว

บนเงื่อนไขที่ต้องมีเสียง สว. ๑ ใน ๓ หรือ ๖๗ คน

ฝ่ายค้านร้อยละ ๒๐ 

จำนวนเสียงครึ่งหนึ่งของสองสภาที่ใช้ลงมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อยากแก้ประเด็นไหนจิ้มได้เลย

เขาเห็นช่องแล้วว่ามันมีโอกาสที่จะแก้ได้ ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ                        

อย่าไปคาดหวังว่าพรรคภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ จะคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้

จะไม่มีทางเกิดขึ้น

ตรงกันข้าม จะสนับสนุนอีกด้วย

ก็สรุปได้ว่า ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบนักการเมือง สมาชิกรัฐสภา ๗๐๐ คน อาจเห็นไปในทิศทางเดียวกันเกือบทั้งหมด

เพราะเขามีผลประโยชน์ร่วมกัน

ศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช. จะถูกริบอำนาจ

ถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบนักการเมืองให้น้อยลง

ส่วนหนึ่งคือการแก้แค้นของนักการเมือง 

อีกส่วนเกรงจะถูกเล่นงานในอนาคต

เหตุผลการแก้รัฐธรรมนูญมันก็มีอยู่เท่านี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่าปล่อยให้เหลิง

นักร้องยังไม่ทำงาน... จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการปราศรัยของ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปยัง กกต.เลยครับ

เจอตอ ชั้น ๑๔

งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์

'ทักษิณ' ตายเพราะปาก

แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ

พ่อลูกพาลงเหว

มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ

นี่แหละตัวอันตราย

การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง