โจทย์ท้าทาย‘โรงแรม’หลังท่องเที่ยวฟื้น

จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวชัดเจน และนักท่องเที่ยวไทยที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยในครึ่งแรกของปี 2567 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยกว่า 17.5 ล้านคน หรือฟื้นตัวได้ประมาณ 88% เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยก็เพิ่มขึ้นกว่า 136.2 ล้านคน กลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิดแล้วถึง 21%

ธนา ตุลยกิจวัตร นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS ระบุว่า โรงแรมเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยโรงแรมถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย และส่งผลเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ รวมถึงยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นผ่านการใช้จ่ายในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกด้วย

สำหรับปี 2568 คาดว่าธุรกิจโรงแรมจะมีรายได้กว่า 9.6 แสนล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัวประมาณ 108% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด (ปี 2562) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เร่งตัวกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562 ที่ 40 ล้านคน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และเรามองว่าค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 3,500 บาทต่อคน มาอยู่ที่ 3,800 บาทต่อคน ในปี 2568

แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมี 3 โจทย์ท้าทายกดดันการฟื้นตัวธุรกิจโรงแรม ได้แก่ 1. การแข่งขันในธุรกิจโรงแรมที่ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยหากย้อนไปดูข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปี 2562 ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของภาคการท่องเที่ยวไทย พบว่า มีสัดส่วนผู้ประกอบการโรงแรมเกิน 50% ที่ประสบปัญหาขาดทุนสุทธิ เนื่องจากภาวการณ์แข่งขันที่สูง จากการมีผู้ประกอบการในตลาดเป็นจำนวนมาก สะท้อนจาก HHI Index  ที่มีค่าเพียง 41 เท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันจำนวนห้องพักของธุรกิจโรงแรมยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลล่าสุด ณ ก.ค. 2567 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนห้องพักในธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตมากถึง 6.9 แสนห้อง ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด ราว 20.2% สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันในธุรกิจโรงแรมที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และเพชรบุรี ที่จำนวนห้องพักเพิ่มขึ้นถึง 26%-36% เมื่อเทียบกับปี 2562

ข้อต่อมา 2. จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ในระยะ 1-2 ปี ข้างหน้า โดยนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย สะท้อนจากช่วงก่อนโควิด ในปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยถึง 11.1 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 27.9% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังไทยในปี 2567-2568 จะอยู่ที่ 7.5 และ 9.7 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นการฟื้นตัวราว 68% และ 87% เท่านั้น เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีนที่ขยายตัวต่ำ ส่งผลให้ชาวจีนระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น

ส่วน 3. ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจยืนสูงยกแผง โดยเฉพาะค่าแรงที่มีสัดส่วนถึง 30% ของต้นทุนโดยรวมของธุรกิจโรงแรม ขณะที่ภาครัฐมีแนวทางที่จะปรับค่าจ้างขั้นเป็น 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. 2567  ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากธุรกิจโรงแรมมีสัดส่วนผู้ประกอบการที่จ่ายค่าแรงงานต่ำกว่า 400 บาท/วัน สูงถึง 71% นอกจากนี้ ยังถูกซ้ำเติมจากต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ยังยืนสูง และต้นทุนทางการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีต ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการโรงแรมในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ถามว่าหากเป็นเช่นนี้แล้วผู้ประกอบการโรงแรมควรรับมือกับความท้าทายอย่างไร เพื่อรับมือกับความท้าทายและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับธุรกิจ ผู้ประกอบการโรงแรมควรใช้กลยุทธ์การสร้างความแตกต่าง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับโรงแรมอื่นๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ควบคู่ไปกับการมองหาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อทดแทนลูกค้าจีน โดยเฉพาะกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เช่น ลูกค้ากลุ่มรักษ์โลก ซึ่งทางมีการที่มีการใช้จ่ายด้านที่พักสูงกว่าลูกค้าทั่วไปถึง 13%-25%  และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ เช่น โรงแรมในเครือ Four Seasons มีการใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลการจอง และประวัติการเข้าพักของลูกค้า เพื่อกำหนดตารางเวลาของพนักงานให้เหมาะสมในแต่ละช่วง ส่งผลให้ต้นทุนแรงงานลดลงและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานดีขึ้น

 

รุ่งนภา สารพิน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปี68สินเชื่อระบบแบงก์ไทยหืดจับ

ปี 2568 ยังเป็นอีกปีที่ต้องจับตากับทิศทางของเศรษฐกิจไทย เพราะยังมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งบวกและลบ ที่จะเข้ามามีผลกับภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถานการณ์กดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน

แผนดัน ‘เกษตรครบวงจร’

อุตสาหกรรมเกษตร เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย และที่ผ่านมาเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนไปได้ด้วยสินค้าเกษตร แต่ก็มีบางช่วงที่ติดขัดและไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ จากปัจจัยกระทบต่างๆ

เคาต์ดาวน์ปลอดภัยส่งท้ายปี

เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2568 เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เป็นวาระแห่งการเริ่มต้นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความหวัง โดยในปีนี้สถานที่จัดงาน Countdown ทั่วประเทศไทยหลายหน่วยงานได้เตรียมกิจกรรมไว้ให้ทุกคนได้ร่วมสนุกและสัมผัสความงดงาม

แชร์มุมมอง‘อินฟลูเอนเซอร์’ในตลาดอาเซียน

การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน แต่กลยุทธ์การทำการตลาดของแต่ละแบรนด์นั้นล้วนแตกต่างกันไป ล่าสุด วีโร่ ได้เปิดตัวเอกสารไวต์เปเปอร์ฉบับใหม่ในหัวข้อ “ผลกระทบ

ของขวัญรัฐบาล

อีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็จะเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แล้ว ก็เป็นธรรมเนียมของรัฐบาลและ ครม.ที่จะมีมาตรการเป็นของขวัญมอบให้กับประชาชน ซึ่งการประชุม ครม.ล่าสุดเริ่มมีการเคาะมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือประชาชนกันแล้ว

ยกระดับธุรกิจไทยแข่งขันเวทีโลก

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3% ด้วยแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐ