“ฉลอง”..ผู้นำหนังบู๊สู่สากล

คนบันเทิงไปงานศพกันแทบไม่ได้พัก!

จากศพ.. “เพลิน พรหมแดน” ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของฉายา “ราชาเพลงพูด” มาศพ.. “ชรินทร์ นันทนาคร” ศิลปินแห่งชาติ นักร้องลูกกรุงผู้ยิ่งใหญ่..

วานซืนก็ถึงคิว ศพ.. “ฉลอง ภักดีวิจิตร” ศิลปินแห่งชาติ ตำนานผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีอายุมากที่สุดในโลก ซึ่งก็ได้ตั้งสวดพระอภิธรรมที่วัดมกุฏกษัตริย์ฯ ศาลา 10 ถึงวันที่ 20 ก.ย.นี้!

93 ปี..ถูกกำหนดให้อยู่แค่นี้ ทั้งๆ ที่เมื่อสักปีสองปีก่อน ใครที่ได้เห็น-ได้คุยกับ “อาหลอง” จะต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ท่านต้องอายุถึง 100 ปีแน่!

ด้วยทั้งเรี่ยวแรงกำลังวังชา สมง-สมองยังปราดเปรื่อง คล่องแคล่วกระฉับกระเฉงตามวัย หน้าตาก็สดชื่นแจ่มใจ แต่จู่ๆ อาหลองก็มาจากไปซะแล้ว

ไม่ได้หมายถึงท่านมาด่วนจากลาลับโลก คนอายุตั้ง 93 ปีก็พอเหมาะพอควรหากจะต้องจากโลกนี้ไป เพียงแต่ให้รู้สึกว่าอาหลองยังแข็งแรงอยู่ น่าจะอยู่กับลูก-เมียได้ไปอีกสักพักใหญ่!

ก็..ขอน้อมจิตกราบคารวะดวงวิญญาณอาหลอง และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวลูก-เมียไว้ ณ ตรงนี้ และผมจะไม่มีวันลืม “ทอง” ครับ!

อ้อ..เผื่อท่านผู้อ่านใคร่สนใจ อยากรู้ชีวประวัติ “ฉลอง ภักดีวิจิตร” เพื่อรำลึกนึกถึงอดีต ผมขออนุญาตคัดลอกจากเพจ “หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)” มาให้อ่านก็แล้วกัน..

หอภาพยนตร์ขอร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของ "ฉลอง ภักดีวิจิตร" ศิลปินแห่งชาติ ผู้สร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ที่อยู่ในวงการมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

ฉลอง ภักดีวิจิตร เริ่มต้นจากการเป็นช่างถ่ายภาพยนตร์ในบริษัท ศรีบูรพาภาพยนตร์ ของครอบครัว ตั้งแต่วัย 19 ปี ในช่วงทศวรรษ 2490

ก่อนจะผันตัวมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ และพัฒนาขึ้นมาสร้างภาพยนตร์ด้วยตนเองในช่วงกลางทศวรรษ 2510

ซึ่งเป็นช่วงที่วงการภาพยนตร์ไทยเริ่มเปลี่ยนผ่านจากการสร้างภาพยนตร์ 16 มม. พากย์สด มาเป็น 35 มม. เสียงในฟิล์ม แบบมาตรฐานสากล

โดยผลงานในระยะแรกที่ฉลองสร้างเองในนาม "บางกอกการภาพยนตร์" นั้น ยังมีลักษณะเป็นหนังเพลงตามกระแสนิยม ไม่ว่าจะเป็น ฝนใต้ (2513) ฝนเหนือ (2513) และระเริงชล (2515)

ถัดมา เมื่อประสบความสำเร็จจากการร่วมงานกับบริษัทฮ่องกงในการสร้างภาพยนตร์แอ็คชั่นเรื่อง "2 สิงห์ 2 แผ่นดิน" (2515) ซึ่งได้ออกฉายทั่วเอเชียและอเมริกา

ฉลองได้ทุ่มทุนสร้างภาพยนตร์แนวนี้เป็นเรื่องต่อไปคือ "ทอง" ด้วยความตั้งใจที่จะนำภาพยนตร์ไทยออกไปบุกเบิกในตลาดต่างประเทศอย่างเต็มตัว

จุดเด่นสำคัญที่ทำให้ "ทอง" มีความเป็นสากลแตกต่างจากหนังไทยในเวลานั้น คือ การที่ฉลองได้ทาบทามนักแสดงอเมริกัน เกร็ก มอริส ซึ่งโด่งดังจากทีวีซีรีส์ “ขบวนการพยัคฆ์ร้าย” (Mission Impossible)

ที่กำลังเป็นที่นิยมของผู้ชม รวมถึง ถ่ำ ถุย หั่ง นางเอกจากเวียดนาม มาประกบกับดาราดังของไทยทั้ง สมบัติ เมทะนี และกรุง ศรีวิไล

นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังเต็มไปด้วยฉากบู๊แอ็คชั่นที่ทั้งลุ้นระทึกและน่าหวาดเสียว จากความคิดสร้างสรรค์ของฉลอง ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ล้วนกลายเป็นลายเซ็นของเขาในเวลาต่อมา

เมื่อออกฉายในปี พ.ศ.2516 "ทอง" ประสบความสำเร็จในไทยทั้งด้านรายได้มหาศาล รวมถึงได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม

ถ่ายภาพยอดเยี่ยม และบันทึกเสียงยอดเยี่ยม ที่สำคัญคือสามารถสร้างปรากฏการณ์ในตลาดต่างประเทศได้สมความตั้งใจ

 โดยได้ไปประกวดที่ไต้หวัน ในปี 2517 และได้รับรางวัลภาพยนตร์ที่ให้ความบันเทิงสูงสุด (Best Entertaining Film) ในขณะที่ กรุง ศรีวิไล ได้รับรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยม

จนทำให้บริษัทชื่อดังของไต้หวัน Golden Harvest ขอซื้อไปจัดจำหน่ายทั่วโลก และต่อมา ฉลองยังได้สร้าง "ทอง" ออกตามมาอีกหลายภาค

ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จนกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำตัวของเขาเอง

ผลงานภาพยนตร์เรื่องสำคัญอื่นๆ ของฉลอง ภักดีวิจิตร ได้แก่ ตัดเหลี่ยมเพชร (2518) ใต้ฟ้าสีคราม (2521) ผ่าปืน (2523) สงครามเพลง (2526) มังกรเจ้าพระยา (2537) ฯลฯ

ครับ..ก็พอสังเขป!.

 

สันต์ สะตอแมน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฝาก..“สหายใหญ่”

พรรคตัวเองไม่เคยสร้าง (วาทกรรม) รึอย่างไร? ผมถามคุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมน่ะ เห็นวันก่อนได้ตอบโต้พรรคประชาชนที่อภิปรายและให้ฉายารัฐบาลแพทองธาร เป็น “รัฐบาล 3 นาย” ว่า..

พระแม่ธรณีต้องไม่โดดเดี่ยว

“มีสิ่งหนึ่งที่ผมตั้งใจไว้.. ไม่อยากพูดหรอก คิดไว้ในใจ คิดไว้อยู่ตลอดในฐานะเป็นหัวหน้าองค์กรว่า เคารพในผลโพล เคารพในความคิดเห็น แต่ผมจะหักปากกาโพลให้ดู”

ให้เขาบ่น-เขาด่าบ้าง

ห้วงนี้..คนวงการบันเทิงตกงานกันเพียบ! ดาราระดับพระเอก-นางเอกต้องหันมาขายของทางออนไลน์กันมากหน้า บ้างก็ประสบความสำเร็จร่ำรวย บ้างก็ยังล้มลุกคลุกคลาน หรือบ้างก็..

ครม.=ครอบครองหมด?

“ตั้งแต่เกิดมา ก็ไม่เคยมีคดี.. พอมาถึงจุดนี้มีคดี ก็จะพยายามรับมือให้ได้ดีที่สุด และความจริงไม่อยากมีคดี เพราะลูกยังเล็กอยู่เลย”

ผ่อนคลายก่อนลุย!

“แสงแห่งกันและกัน”.. นี่..เป็นคอนเซปต์ “งานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 32 ประจำปี 2556” ของสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ