วินาศภัยทางน้ำแต่ยังไม่ใช่ปีแห่งมหาอุทกภัย

ดวงชะตาเมืองรัตนโกสินทร์ดาวจรที่ทำมุมกับดวงเมือง ช่วงฟ้ารั่ว 19-26 กันยายน 2567 พระอาทิตย์จร 1-พระพุธจร 4-พระศุกร์จร 6 เดินในราศีกันย์ พฤหัสบดีจร (5) เดินในราศีพฤษภ ระหว่าง 30 เมษายน 2567-13 พฤษภาคม 2568-สาดรัศมีถึงราศีกันย์ สื่อพายุ เกิดประมาณ 19 ตุลาคม 2567 ก่อนหรือหลังเจ็ดวัน พระอังคารจร 3 เดินในราศีกรกฎทำมุมถึงพระเสาร์จร 7 ที่เดินในราศีกุมภ์ ร่วมธาตุกับพระราหูจร (8) ที่เดินในราศีมีน

ผู้เขียนมัวแต่สนใจไปลุ้นตลาดหุ้นที่เริ่มขยับแนวคึกคักตั้งแต่คุณแพทองธาร ชินวัตร มาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงลืมใส่ใจสถานการณ์น้ำ เพราะมั่นใจว่าถึงอย่างไร ก็ยังไม่ใช่วาระของปีมหาอุทกภัย

       เพียงแต่ปีนี้ฝนจะทำให้เกิดวินาศภัย-อุทกภัยได้เป็นจุดๆ หรือเป็นพื้นที่ๆ ตามคำทำนายก่อนหน้านี้ เรื่องความแรงของอุบัติเหตุหรือวินาศภัยที่รอเกิดรุนแรง-เกินคาดคิด-อาเพศทุกทาง ทั้งดิน-น้ำ-ลมอากาศ-ไฟ

       ซึ่งคราวนี้ เหตุทางน้ำ ที่กำลังกระหน่ำเชียงราย-เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน-พะเยา-น่าน-แม่สอด จ.ตาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ.แม่สายและอ.เชียงแสน จังหวัดเชียงราย เจอหนัก-สาหัส

       ทั้งนี้เป็นด้วยน้ำจากอิทธิพลหางพายุหรือขอบพายุคือ ยางิ ผสมโรงกับร่องมรสุมแถมด้วย อาเพศไม่อยากได้ก็ไหลมา คือ น้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน

         เหตุที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เดือดร้อนเสียหายใหญ่โตจากน้ำในระดับ อุทกภัยวินาศ แต่เกณฑ์ทางโหราศาสตร์อุตุนิยมวิทยายังไม่ใช่ มหาอุทกภัย

         เพราะ หากเป็นมหาอุทกภัย ต้องเป็นระดับปี 2554 สมัยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่คราวนั้นน้ำ เหมือนข้าศึกตีโอบล้อมเมืองมาทุกทาง เดือดร้อนเป็นวงกว้างและรุนแรงกินระยะเวลาหลายเดือนจนติดลำดับความเสียหายระดับโลก

         คราวนั้นมหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลร้ายส่งผลกระทบต่อบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำโขง เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2555 มีราษฎรได้รับผลกระทบกว่า 12.8 ล้านคน ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท

         นึกถึงคราวใดผู้เขียนยังสยอง โชคดีที่น้ำไม่รุกหนักถึงสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ถนนวิภาวดีรังสิต ที่ทำงานของผู้เขียน เพราะไปหยุดอยู่แถวไทยรัฐ และบ้านที่อยู่แถบริมคลองประปาก็ได้รับการคุ้มครองให้แคล้วคลาดๆ

         เหตุครั้งนั้นเป็นแรงใจให้สนใจค้นคว้าโหราศาสตร์อุตุนิยมวิทยา เพราะอย่างน้อยก็พอจะได้กลิ่นลางร้ายล่วงหน้าบ้าง

         หรือหากสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อธันวาคม 2328 หลังสร้างเมืองไม่กี่ปี คราวนั้นน้ำท่วมใหญ่ปีมะเส็งที่สนามหลวงลึก 8 ศอก 10 นิ้ว ขุนนางต้องลอยเทียบเรือเข้าเฝ้าที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แทนพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานที่ถูกท่วมสูง 4 ศอก 8 นิ้ว แถมข้าวยากหมากแพงต้องเอาข้าวในฉางหลวงมาแจกราษฎร

         หรือปี 2485 เริ่มปลายกันยายนที่น้ำท่วมใหญ่อีกครั้งในประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ ต้องใช้เรือเป็นพาหนะ พระบรมรูปทรงม้าน้ำท่วมสูง 1.50 เมตร ใช้เป็นที่แข่งเรือได้ และท่วมยาวนาน 3 เดือน ฯลฯ

         จึงเมื่อย้อนดูลีลาการเดินของดาวแล้ว ปีนี้เกณฑ์โหราศาสตร์อุตุนิยมวิทยาไม่มีสิ่งบ่งบอกขนาดนั้น

         แต่สิ่งที่เกรงจะเกิดเหตุอาเพศ-แบบไม่คาดฝัน-เป็นอุบัติภัยใหญ่ เช่นที่เกิดภาคเหนือขณะนี้เป็นอาการตก-ท่วมแปลกๆ เป็นจุดๆ  หรือตกแช่ (ทางโหรพระราหูกาลกิณีจรของเมือง 8-เดินในราศีมีนธาตุน้ำทับพระพุธ ๔ และพระศุกร์ ๖ ดวงเดิม)

         ผู้ที่อธิบายปรากฏการณ์ได้ชัดคือ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เรียก ระเบิดฝน หรือ Rain Bomb

         ซึ่งปรากฏการณ์นี้ จะทำให้เกิดอุทกภัย และวินาศภัยเป็นจุดๆ เพราะเคยบอกแล้วว่า เกณฑ์อุบัติเหตุร้ายแรงทุกทาง-ดิน-น้ำ-ลมอากาศ-ไฟ-ตาย-เจ็บ-เสียหายหมู่ในวงกว้างกำลังจะรอเกิดในเมือง เช่นที่เคยเกิดฝนตกโคลนถล่มที่ภูเก็ต เมื่อ 22 สิงหาคม 2567 แบบไม่คาดคิด ตายไป 9 คน เป็นเพียงแค่หนังตัวอย่างเท่านั้น

         ในเมื่อภัยทางน้ำขนาดใหญ่ในลักษณะนี้ก็โผล่มาที่หลายจังหวัดภาคเหนือแล้ว สิ่งที่คาดว่าจะเกิดต่อจากนี้คือ

         1.อุทกภัยที่จะเกิดเป็นพื้นที่ๆ ยังรอเกิดแบบแปลกๆ คาดไม่ถึง

         1.1 ลีลาการมาของฝนรอบนี้จะเริ่มตั้งแต่ 17 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

         1.2 เกณฑ์ฟ้ารั่วหรือเมืองอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำรอบนี้ คือระหว่าง 19 กันยายน-ประมาณ 26 กันยายน 2567 (พระอาทิตย์จร 1 และพระพุธจร 4 และพระศุกร์จร 6 ตัวการฝนรวมกลุ่มกันราศีกันย์และได้รับแสงจากพฤหัสบดีจร 5 ที่เดินในราศีพฤษภ) ในระดับ Rain Bomb

         รอบนี้ กทม.มีโอกาสเจอด้วย แบบแปลกๆ เช่นฝนเก้าร้อยเก้าสิบเก้า (999) หรือฝนพันเอ็ดปี (1,001)

         หลังจากนั้นฝนจะค่อยๆ เคลื่อนลงไปทางใต้

         2.ทางดิน ยังต้องเฝ้าระวังอาการ โคลนถล่ม-แผ่นดินสะเทือนไปตลอดหน้าฝน เหมือนเคยเกิดที่ อ.เมือง และ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เมื่อ 11 กันยายน 2543 ตายไป 10 คน หรือเกิดที่ อ.วังชิ้น จ.แพร่ เมื่อ 4 พฤษภาคม 2544 ตายไป 43 คน ฯลฯ

         3.ทางลมพายุลูกแรกที่จะเข้าเมืองปีนี้ น่าจะ ใหญ่เอาเรื่อง อย่างต่ำก็น่าจะ ระดับดีเปรสชันขึ้นไปไม่ใช่หางพายุ หรือหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง และ รอบนี้น่าจะมาแบบแปลกๆ อาเพศด้วย

         พายุนี้คาดว่าจะเข้า ประมาณ 19 ตุลาคม 2567 ก่อนหรือหลังเจ็ดวัน (พระอังคารจร 3 เดินในราศีกรกฎถึงพระเสาร์จร 7 ที่เดินในราศีกุมภ์และพระอังคารจร 3 ร่วมธาตุพระราหูจร 8 ที่เดินในราศีมีน) ลูกนี้น่าจะเข้าทางใต้

         ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อลองวิชาโหราศาสตร์-คลำทางไปเรื่อย

         ดีที่สุดคือ เงี่ยหูฟังการพยากรณ์และคำเตือนจากมืออาชีพที่มีเครื่องไม้เครื่องมือ-คนพร้อมสรรพที่จะคาดการณ์-รับมือ คือ กรมอุตุนิยมวิทยา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ระดมสมองฟื้นฟูเชียงราย ชงข้อเสนอนายกฯอิ๊งค์ เร่งเคลียร์ให้จบก่อนเปิดฤดูท่องเที่ยว

ภาคประชาสังคม-นักธุรกิจ-นักวิชาการเชียงราย ชงข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาหลังภัยพิบัติ จี้เร่งเคลียร์พื้นที่ให้จบโดยเร็วก่อนเปิดเมือง 1 พ.ย.-จัดกิจกรรมใหญ่ท่องเที่ยวให้ทันฤดูกาลหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

'มาดามแป้ง'ร่วมกับ'ยูนิเซฟ' ลงพื้นที่ช่วยชาวเชียงราย ที่่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

นางนวลพรรณ ล่ำซำ หรือ มาดามแป้ง ทูตองค์การยูนิเซฟ ประจำประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ลงพื้นที่ร่วมกับยูนิเซฟเมื่อวันพุธที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อมอบสิ่งของจำเป็น เช่น ชุดสุขอนามัย เครื่องใช้สำหรับทารก หนังสือและของเล่น ให้กับเด็กและครอบครัว ที่ประสบภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย โดยตั้งแต่เกิดน้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายและพื้นที่อื่น ๆ ทางภาคเหนือ

นครพนม ประกาศพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 6 อำเภอ นาข้าวเสียหายกว่าแสนไร่

จ.นครพนม ได้ประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน อุทกภัย ล่าสุดรวม 6 อำเภอ ประกอบด้วย  1.อำเภอศรีสงคราม

'หมอประเวศ' ออกบทความ 'บูรณาการฐานแผ่นดินไทยปลอดภัยจากพิบัติ ความยากจน-ฝนแล้ง-น้ำท่วม'

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี ออกบทความเรื่อง “บูรณาการฐานแผ่นดินไทย ปลอดภัยจากภัยพิบัติ 3 ความยากจน ฝนแล้ง น้ำท่วม”