ท่วม 'แพทองธาร'

ก็จริงนะ...

นายกฯ หญิงมักมากับน้ำ

มหาอุทกภัย ต้นปี ๒๕๕๔ น้ำท่วมใหญ่ภาคกลางรวม ๑๗๕ วัน

รัฐบาลยิ่งลักษณ์บอกว่าเอาอยู่

แต่ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานขณะนั้น ได้เกิดภัยพิบัติใน ๗๗ จังหวัด ๘๗ อำเภอ ๖,๖๗๐ ตำบล

มีผู้เสียชีวิต ๘๑๕ คน

เห็นตัวเลขผู้เสียชีวิตแล้ว มันน่าตกใจจริงๆ

เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นหลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้าบริหารประเทศไม่ถึงครึ่งปี

ขณะที่รัฐบาลแพทองธารมาพร้อมกับน้ำ

ไหลมาพร้อมกันเลยทีเดียว

และพร้อมกับความไม่พร้อมในการบริหารประเทศ

พูดกันไปเยอะแล้วครับเรื่อง ต้องรอแถลงนโยบายก่อนรัฐบาลถึงจะทำงานได้ ไม่น่าจะเป็นความอ่อนด้อยในข้อกฎหมาย หรืออ่านรัฐธรรมนูญไม่จบมาตรา แต่น่าจะเป็นความไม่ใส่ใจมากกว่า

แม้จะเป็นช่วงรอยต่อของรัฐบาล แต่ข่าวสารเรื่องซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิถล่มจีน เวียดนาม อย่างหนักในรอบ ๑๐ ปี และจ่อภาคเหนือของไทย หากใส่ใจมากกว่านี้ มันมีเวลามากพอที่จะลดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องชาวเชียงรายได้

แต่รัฐบาลเลือกที่จะนิ่ง อ้างยังไม่แถลงนโยบายยังสั่งการไม่ได้

ยกมาย้ำกันอีกที มาตรา ๑๖๒ วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า

"ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่จะดำเนินการไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้"

ประเด็นคือคนในรัฐบาลก็รู้ แต่ทำไมถึงปล่อยให้นายกฯ อิ๊งค์พูดแบบนั้น

ไม่ต้องตีความครับ เพราะความหมายตรงตามตัวอักษร

วานนี้ (๑๒ กันยายน) ระหว่างที่สภาอภิปรายนโยบายรัฐบาล นายกฯ อิ๊งค์ นั่งหัวโต๊ะประชุมสั่งงาน มีคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม และวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังหัวหน้าส่วนราชการที่อยู่ในพื้นที่ 

"...อยากจะสื่อสารให้ทราบว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาหลังจากที่รอการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพื่อที่จะสั่งการได้ และรัฐมนตรีและรองนายกฯ ทุกท่านได้ดำเนินการล่วงหน้าเพื่อเป็นการดูแลประชาชนไปก่อนหน้านี้แล้ว

แน่นอนปัญหานี้ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อที่จะรักษาและทำให้ประชาชนออกจากปัญหาและอุปสรรคเร็วที่สุด

ขออนุญาตส่งความห่วงใยไปให้พี่น้องภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายในขณะนี้ และแน่นอนเราจะต้องทำในเรื่องของระบบการเตือนภัยและการเยียวยารักษาต่อไป ซึ่งอยากให้ทางราชการเล่ารายละเอียดให้ฟัง เพื่อที่จะบอกแนวทางการดำเนินการต่อไปจะทำอย่างไร

ทั้งนี้ทางรองนายกฯ และรัฐมนตรีทุกกระทรวง ถ้ามีคำแนะนำอย่างไร ขอให้เสนอได้เลย เพราะอันนี้เป็นวิชั่นที่เราต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ถึงพี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุด..."

เห็นมั้ยครับ แผ่นเสียงก็ยังตกร่อง!

กฎหมายมันชัด แต่ยังคิดแบบเดิมๆ หรือเห็นการรักษาสถานะทางการเมืองของตัวเอง สำคัญกว่าชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

กลัวสั่งการก่อนแล้วจะมีนักร้องไปร้องเอาผิดอย่างนั้นหรือ

ไม่เข้าท่า!     

มานั่งสั่งการ โชว์วิสั้น หลังน้ำลด เขาไม่เรียกว่าการแก้ปัญหา

รัฐบาลเองจะเป็นตัวสร้างปัญหา

เพราะแก้ปัญหาไม่ถูกจุด

มันจะมีประโยชน์อะไรครับ มาพูดเรื่องระบบเตือนภัยเพราะเหตุมันเกิดไปแล้ว

ทั้งยังเป็นเหตุซ้ำซาก

นี่แค่นับหนึ่งนะครับ ที่รัฐบาลต้องเยียวยาประชาชนจากเหตุภัยพิบัติ

ตอนอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณก็เตือนกันไปแล้วว่า อย่าทุ่มงบประมาณไปกับนโยบายแจกเงินหมื่นจนไปเบียดบังงบประมาณอื่นๆ

โดยเฉพาะงบฉุกเฉินที่รัฐบาลต้องจ่ายเยียวยาประชาชน

แต่ละครั้งหลักหมื่นล้าน

มันไม่ได้จบที่แม่สาย เชียงราย นะครับ

อีกวันสองวันมวลน้ำมหาศาลไปถึงเชียงใหม่ พะเยา ลำปาง ไหลลงไปเรื่อยๆ

เตือนชาวบ้านหรือยัง

หรือยังใจลอยที่เชียงราย

ยิ่งฟัง "สุทธิพงษ์ จุลเจริญ" ปลัดกระทรวงมหาดไทย บอกกับนายกฯ ว่า สถานการณ์หนักหน่วงที่สุดในรอบ ๘๐ ปี สาเหตุเนื่องจากในปีนี้แม่สายมีน้ำท่วมมา ๗ ครั้งแล้ว

นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๖๗ จนถึงปัจจุบัน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๘

สาเหตุที่น้ำท่วมหนักในรอบ ๘๐ ปี เพราะฝนตกหนักมาเป็นระยะถึง ๗ ครั้ง ทำให้ลำน้ำแม่สาย และพื้นแผ่นดินฝั่งประเทศไทยและฝั่งเพื่อนบ้านชุ่มน้ำ อิ่มน้ำ

บวกกับพายุลูกล่าสุด ทำให้กระแสน้ำมีจำนวนมหาศาล ส่งผลให้เกิดความเสียหายในวงกว้างของตลาดแม่สาย

นี่คือข้อมูลพื้นฐานที่รู้กันอยู่แล้ว แต่รัฐบาลมิได้เตรียมการรับมือใดๆ เลย

ขอแถลงนโยบายก่อน

หากมีกองกำลังต่างชาติเข้ายึดเชียงราย สงสัยว่า นายกฯ อิ๊งค์ จะบอกว่ารอแถลงนโยบายก่อนแล้วค่อยสั่งการหรือเปล่า

อย่ามองเรื่องน้ำท่วมเป็นเรื่องเล็กเด็ดขาด เพราะมันกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมหาศาล หลายคนถึงกับสิ้นอาชีพ หลายคนสูญเสียทรัพย์สิน และที่้หนักสุดคือเสียชีวิต

พายุยังก่อตัวอีกหลายลูก

กรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่า พายุโซนร้อนกำลังแรง "เบบินคา (BEBINCA)" ก็รอดไปครับ แต่หลังจากนั้นอีก ๑-๒ ลูก ยังไม่ได้ตั้งชื่อ จะตามมาติดๆ

ครับ...นี่แค่เรื่องภัยพิบัติครับ

ยังมีปัญหาที่ยากต่อการแก้ไขมากกว่านี้ เพราะนอกจากจะเข้าใจยากถึงปัญหาที่เกิดแล้ว วิธีการแก้ก็ยังยากยิ่งกว่า คือปัญหาเศรษฐกิจ

แต่อาจไม่ใช่ปัญหาของนายกฯ อิ๊งค์ก็ได้

เพราะคนที่ชักใยอยู่ข้างหลังแก้ปัญหาแทน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' รอดคนเดียว?

นโยบายรัฐบาล หมายถึง ภารกิจที่รัฐบาลจะทำหลังเข้าบริหารประเทศ แต่โดยมากนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภานั้น แทบจะทุกรัฐบาลทำได้ไม่เกินครึ่ง

นโยบายพาพัง

แพลมออกมาบ้างแล้วสำหรับนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร แทบไม่มีอะไรใหม่!

โอกาส 'ลุงป้อม' มาแล้ว

เริ่มจะเข้าที่ วานนี้ (๖ กันยายน) พรรคพลังประชารัฐประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ ๒/๒๕๖๗ เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แทนที่ก๊วนธรรมนัส ที่ลาออกไป

โดยสันดาน

ทำราวกับเป็นตัวละครลับ! วานนี้ (๕ กันยายน) มีความเคลื่อนไหวคึกคักที่สำนักงานพรรคเพื่อไทย ตึกชิน ๓