ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงความโดดเด่นประการแรกในพัฒนาการทางการเมืองการปกครองของสวีเดน นั่นคือ สวีเดนเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่ชาวนาไม่เคยตกเป็นทาสติดที่ดิน (serfdom) ชาวนาสวีเดนจะเป็นชาวนาเสรีมาโดยตลอด ในสังคมสวีเดนยุคไวกิ้งมีลักษณะของการเป็น “ชุมชนชาวนาที่มีการจัดองค์กรแบบหลวมๆ” ภายใต้สังคมดังกล่าวนี้ ถึงแม้ว่าจะมีชนชั้นสามชนชั้น อันได้แก่ กษัตริย์หรือหัวหน้าเผ่าในเขตปกครองเล็กๆในท้องถิ่น (jarl) ชนชั้นระดับกลางอันได้แก่ หัวหน้าครัวเรือน และชนชั้นต่ำสุดคือ ทาส
แต่ความแตกต่างเหลื่อมล้ำภายในเผ่าหรืออาณาจักรเล็กๆนี้ จะยังมีไม่มากนักและไม่ชัดเจนตายตัวและยังสามารถมีการเลื่อนขึ้นและลงทางช่วงชั้นได้ สวีเดนในช่วงก่อนศตวรรษที่สิบเอ็ด จึงประกอบไปด้วยเผ่าต่างๆ (chiefdoms) และอาณาจักรเล็กๆ (petty kingdoms) ที่มีผู้ปกครองที่ใหญ่กว่าหัวหน้าเผ่า แต่ก็ไม่เท่ากับกษัตริย์เสียทีเดียว (petty kings) สภาพดังกล่าวนี้เองที่เป็นเงื่อนไขของ “สภาพการปกครองก่อนยุคกลางของสวีเดน ที่อยู่ในลักษณะที่อำนาจยังกระจัดกระจาย” อีกนัยหนึ่งคือ ยังไม่มีการรวมศูนย์อำนาจ ผู้คนดำรงชีวิตอยู่ภายใต้โครงสร้างทางชนชั้นที่ไม่เคร่งครัดตายตัว และที่สำคัญคือ สวีเดนมีประเพณีการปกครองให้ผู้คนในท้องถิ่นมาประชุมร่วมกันที่เรียกว่า ting (สภาท้องถิ่น) ในการออกกฎหมายและเลือกตั้งและถอดถอนกษัตริย์
จากที่กล่าวไป ท่านผู้อ่านที่มีความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยกรีกโบราณที่นครรัฐเอเธนส์เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีที่แล้ว อาจจะตั้งข้อสังเกตว่า ที่ประชุม ting ของสวีเดนน่าจะมีความคล้ายคลึงที่ประชุมสภาพลเมืองของประชาธิปไตยเอเธนส์ นั่นคือ สังคมสวีเดนยุคไวกิงเป็นประชาธิปไตยไม่ต่างจากนครรัฐเอเธนส์
สวีเดนยุคไวกิงเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ?
ถ้าหากจะ “จินตนาการ” ไปว่า สังคมสวีเดนในยุคไวกิงเป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีชาวนาชาวไร่ ชาวประมง ช่างฯเป็นคนส่วนใหญ่ เราก็จะพบว่าสวีเดนก็อาจจะดูไม่ต่างจากสังคมประชาธิปไตยกรีกโบราณที่เอเธนส์ นั่นคือ ไม่ใช่คนทุกคนในสังคมสวีเดนจะมีสิทธิ์มีเสียง แต่จะเป็นเฉพาะบางส่วนของประชากรในสังคมสวีเดนเท่านั้นที่มีสิทธิ์มีเสียง เพราะคนที่เป็นไพร่ทาสแรงงานจำนวนมากจะไม่มีอิสระเสรีภาพ แต่ถูกถือว่าเป็นทรัพย์สินของผู้เป็นนาย ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นไพร่แรงงาน นั่นคือ เป็นเสรีชน แต่ไม่มีทรัพย์สินก็มักจะไม่ได้รับ การยอมรับหรือมีอิทธิพลใดๆ เท่าไรนัก
แต่ความแตกต่างของสังคมสวีเดนในช่วงนี้กับประชาธิปไตยเอเธนส์คือ ระเบียบกติกาในการปกครองของสวีเดนในยุคไวกิงนี้ไม่ได้เกิดจากแรงจูงใจหรือสำนึกคิดที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น “ประชาธิปไตย” ถึงแม้สวีเดนจะมีสิ่งที่เรียกว่า “เสรีภาพทางการเมืองแบบโบราณ” ที่ดำรงอยู่ในสังคมสแกนดิเนเวีย แต่ไม่ได้มีสิ่งที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นหลักการประชาธิปไตยแบบเอเธนส์อย่างที่เราเข้าใจกัน หรือรวมทั้งประชาธิปไตยโบราณเอเธนส์ที่พลเมืองจะเข้าไประชุมในสภาและมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจทางการเมืองโดยตรงในกำหนดกฎหมายและนโยบายสาธารณะที่มีผลบังคับใช้ทั่วไปในรัฐ ด้วยสังคมสวีเดนในยุคนี้ยังเป็นสังคมเกษตรกรรมที่ผู้คนส่วนมากยังคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์เฉพาะของครอบครัวและที่ทำกินยังเป็นฐานที่กำหนดค่านิยมพื้นฐานโดยรวมอยู่ แต่กระนั้น สามัญชนในสังคมสวีเดนภายใต้ ting ช่วงนี้ ถือได้ว่ามีพัฒนาการการรับรู้เกี่ยวกับกฎหมายและความยุติธรรมโดยเฉพาะในความสัมพันธ์ที่เป็นทางการของผู้คนในที่ประชุม ting
ถ้าพิจารณาในเชิงสถาบัน สามารถกล่าวได้ว่า ting เป็นสถาบัน “สาธารณะ”แรกๆ (public institution) ของสวีเดนในยุคไวกิง อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของ ting ของสวีเดนในยุคไวกิงมีข้อจำกัดในข้อมูล อีกทั้งข้อมูลที่มีอยู่ก็เป็นบันทึกของคนนอกสวีเดนที่บันทึกเรื่องราวในเชิงตำนานเกี่ยวกับชีวิตของผู้คนในแถบนี้
ต่อประเด็นที่ ting เป็นพื้นที่ของการประชุมของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ ของสวีเดนยุคไวกิงและมีสิทธิ์ในการตัดสินเลือกกษัตริย์ ผู้เขียนจะขอขยายความว่า ในการเข้ารับตำแหน่งของผู้ปกครองในสแกนดิเนเวียยุคแรกเริ่ม แหล่งอ้างอิงที่สำคัญที่สุดคือ กฎหมายของสวีเดน โดยเฉพาะกฎหมายที่เรียกว่า “Vastgota Law” ที่เริ่มมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในราวกลางศตวรรษที่สิบสามหรือ ค.ศ. 1250 ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า จะมีการนำบุคคลที่ถูกเสนอให้เป็นกษัตริย์ไปที่ ting หรือที่ประชุมที่เป็นที่ประชุมหลักๆ ของสามัญชนในเขตพื้นที่สำคัญๆ (major courts) ของอาณาจักร และเปิดให้ประชาชนในที่นั้นได้แสดงออกซึ่ง “การยอมรับหรือปฏิเสธ”
ขณะเดียวกัน Scott ได้ให้ข้อมูลว่า คนที่มีสิทธิ์ที่จะได้รับเลือกให้เป็นกษัตริย์จะต้องเป็นผู้ชายที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ชนชาว Svear มีสิทธิ์ร่วมกันในการเลือกกษัตริย์ของพวกตน และที่ประชุม ting ที่บริเวณทุ่งหญ้าที่ชื่อ Mora ใกล้เมือง Uppsala ใน Uppland ชาว Svear ในระดับผู้นำจะมาพบกันและเลือกกษัตริย์และให้บุคคลที่ได้รับเลือกขึ้นไปนั่งบนแท่นหินที่เรียกว่า Mora Stone และผู้คนจะพากันตะโกนโห่ร้องรับกษัตริย์พระองค์นั้น ถือเป็นการรับรู้สิทธิ์และหน้าที่ของความเป็นกษัตริย์ แต่ถ้าที่ประชุม ting ไม่พอใจ ก็จะโยนบุคคลผู้นั้นออกไปจาก Mora Stone และเลือกคนใหม่
ขณะเดียวกัน Vestergaard ได้กล่าวถึงเงื่อนไขที่บุคคลจะได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นผู้ที่ถูกเสนอให้เป็นกษัตริย์ไว้ว่า บุคคลนั้นจะต้องมีความเข้มแข็งและเป็นสมาชิกในสายของราชวงศ์ฝั่งบิดาที่มีฐานความเชื่อว่ามีที่มาเกี่ยวข้องกับเทพเจ้า เพื่อยืนยันความแตกต่างของบุคคลนั้นจากประชาชนอื่นทั้งหมด และจะต้องไม่มีตำหนิความบกพร่องทางร่างกายหรือทางสติปัญญา และจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากผู้ที่เป็นเสรีชนที่มาประชุมร่วมกันที่ ting ซึ่งในยามบ้านเมืองสงบที่ประชุม ting นี้จะเป็นองค์กรที่จำกัดขอบเขตอำนาจของกษัตริย์ ที่ว่าอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์จะถูกจำกัด เพราะการออกกฎหมายจะต้องมาจากหรือได้รับการยอมรับจาก ting กษัตริย์ไม่สามารถออกกฎหมายมาบังคับใช้กับผู้คนใน ting หากไม่ได้รับการยอมรับจากที่ประชุม ting แต่ในยามสงคราม กษัตริย์จะอยู่ในสถานะที่ถูกจำกัดจากที่ประชุมของเสรีชนหรือ ting นี้น้อยลง
ที่น่าสังเกตอย่างยิ่งคือ ในพิธีการการเลือกกษัตริย์ กรณีที่ผู้ถูกเสนอชื่อไป และไม่ได้รับการยอมรับ และจะถูกนำตัวออกไปจากบริเวณที่ทำพิธี เป็นการแสดงออกถึงการปฏิเสธ อันหมายถึงบุคคลผู้นั้นไม่มีคุณสมบัติพื้นฐานที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกัน กษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่แล้วก็อาจจะถูกถอดถอนได้ ถ้าพบว่าไม่เหมาะสมที่จะเป็นกษัตริย์ต่อไป อย่างเช่นในกรณีในรัชสมัยของ Oluf I Hunger ที่บ้านเมืองเกิดความแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง ผลผลิตไม่ต้องตามฤดูกาลเป็นเวลายาวนาน Oluf I ต้องถูกถอดออกจากตำแหน่งกษัตริย์ และมีการเลือก Erik the Good พระอนุชาให้สืบทอดแทน และการถอดถอนคือการนำตัวเข้าสู่พิธีบูชายัญ
และในกรณีที่ได้รับการยอมรับให้เป็นกษัตริย์แล้ว ต่อจากนั้น กษัตริย์จะต้องทำการสาบานตนว่า จะปกปักษ์รักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย ต่อจากนั้น กษัตริย์จะต้องเดินทางไปทำพิธีในลักษณะเดียวกันนี้ทั่วทุก ting สำคัญๆ ทั่วอาณาจักร ซึ่งพิธีดังกล่าวนี้เรียกว่า Eriksgata แต่ก่อนจะเข้าไปในแต่ละพื้นที่ กษัตริย์พระองค์ใหม่จะต้องได้ให้หลักประกันความประพฤติที่ปลอดภัยและโดยให้มีการมอบตัวประกัน มิฉะนั้น คนในท้องถิ่นจะถือว่าเป็นผู้บุกรุก
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายข้างต้นยังขาดรายละเอียดอยู่มาก น่าจะมีข้อมูลอีกมากแต่ยังไม่สามารถค้นหาได้ แต่ตามหลักฐานเท่าที่มี พิธีการดังกล่าวให้ความสำคัญกับการยอมรับของประชาชน ณ ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่จะทำให้ผู้ที่ขึ้นเป็นกษัตริย์ได้รับการยอมรับว่า มีคุณสมบัติที่จะสามารถเป็นกษัตริย์และมีอำนาจอย่างชอบธรรม
ในช่วงที่สวีเดนเข้าสู่ยุคกลางในราว ค.ศ. 1060 ได้พบหลักฐานข้อเขียนที่เป็นของคนในกลุ่มสแกนดิเนเวียนเอง และพบหลักฐานบันทึกเกี่ยวกับกฎหมายกติกาข้อบังคับที่ใช้กันในสังคมแถบนี้ ซึ่งเห็นได้ว่าเสาหลักสำคัญในการเมืองการปกครองสวีเดนที่พบได้ในยุคไวกิงและยังคงมีบทบาทสำคัญต่อมาถึงยุคกลางของสวีเดน คือ การเป็นสังคมหรือชุมชนชาวนาและการมี ting
จากหลักฐานดังกล่าว จะพบเช่นเดียวกันว่า ting ในยุคกลางของประเทศแถบสแกนดิเนเวียซึ่งรวมทั้งสวีเดน เป็นที่ประชุมท้องถิ่นของเสรีชนที่ก่อตัวเป็นหน่วยการปกครองพื้นฐานและเป็นที่ที่บัญญัติกฎหมายที่บังคับใช้ในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ มีการกำหนดการประชุมเป็นช่วงๆที่ตายตัว และหากจะมีใครทึกทักว่า การประชุมของ ting เป็นแบบแผนปฏิบัติที่มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้างก็อาจจะพอได้ แต่ก็ไม่สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำนัก เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า สังคมในช่วงนั้นยังไม่มีคุณค่าแบบประชาธิปไตยอย่างที่รับรู้เข้าใจในประชาธิปไตยสมัยใหม่ อีกทั้งที่ประชุม ting มักจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ขณะเดียวกัน หญิงหม้ายและบุตรสาวที่ไม่มีพี่น้องและยังไม่แต่งงานก็สามารถเข้าร่วมประชุมใน ting ได้หากพวกเขาต้องการ การประชุมดังกล่าวนี้จะทำหน้าที่ออกฎหมายในทุกระดับ และทำหน้าที่เลือกผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นกษัตริย์ และจัดการตัดสินเรื่องราวต่างๆ ตามกฎหมาย
จากการศึกษา ting ในเชิงสหวิทยาการและลงในรายละเอียดมากขึ้นกว่างานก่อนหน้า ค.ศ. 2009 ของ Sanmark ting พบว่า ting ทำหน้าที่เป็นทั้งสภาและศาล อีกทั้ง ting ยังมีหลายระดับ ทั้งระดับท้องถิ่น ภูมิภาคและเหนือภูมิภาคขึ้นไป การจัดประชุม ting มีทั้งที่เป็นการประชุมประจำและกรณีพิเศษหากมีความจำเป็น จากหลักฐานจำนวนมากชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่ชัดเจนของ ting ในฐานะที่ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาท การเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มโดยการแต่งงาน การต่อรองอำนาจ การหาข้อตกลงร่วมกันในปัญหามรดกและปัญหาการหมิ่นเกียรติยศศักดิ์ศรีกันของผู้คนในชุมชน
ที่ประชุม ting จะมีประธานที่มาจากผู้นำหรือหัวหน้าของท้องถิ่นนั้นๆ ตำแหน่งดังกล่าวนี้เรียกว่า “lawspeaker” (ผู้ที่มีความรู้ในกฎหมายจารีตประเพณีเหนือคนอื่น, ตุลาการ ในภาษาสวีเดนคือ (lagman) โดยผู้ที่จะเป็น lawspeaker คือผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อโดยบรรดาสมาชิกของชุมชนที่อิทธิพลที่สุด
lawspeaker เป็นตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในสังคมสวีเดนโบราณ โดยเฉพาะในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร การอ้างอิงตัวบทกฎหมายจะกระทำโดยอาศัย lawspeaker ในฐานะผู้ตัดสินคดีความ (the judge) โดย “lawspeaker” จะต้องเป็นผู้ที่มีความจำดีเลิศเกี่ยวกับตัวบทกฎหมายและสามารถท่องออกมาได้ lawspeaker หรือบางทีก็เรียกว่า lawman ในยุคกลางของสวีเดนจะต้องพยายามท่องจำกฎหมายในเขตพื้นที่ของเขาให้ได้ ถือเป็นหน้าที่สำคัญของคนที่ดำรงตำแหน่งนี้ และจะต้องนั่งท่องออกเสียงทบทวนไปมาทั้งวันทั้งคืนที่ ting โดยการท่องจำข้อกฎหมายจะทำในลักษณะของการขับขานแบบกาพย์กลอนเพื่อง่ายแก่การจดจำ และก็มีบางคนที่ถึงกับเป็นลมตายไปก็มีจากการเคร่งเครียดในการท่องจำตัวบทกฎหมาย ตำแหน่ง lawspeaker หรือ lawman นี้ถือเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติสูงมาก กล่าวได้ว่า เป็นอันดับสองรองจากกษัตริย์เลยทีเดียว เพราะผู้ดำรงตำแหน่งนี้ถือว่าเป็นผู้ที่เป็นทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกฎระเบียบในสังคม และในการประชุมเจรจาต่อรองใน ting นั้น lawspeaker จะเป็นผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม และดูแลกระบวนการเลือกหัวหน้าหรือกษัตริย์
ในช่วงศตวรรษที่สิบสองและสิบสาม แม้ว่าสวีเดนจะเริ่มมีการบันทึกกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร อันนำไปสู่การพัฒนาการร่วมมือประสานงานกันในหมู่บ้านต่างๆ ส่งผลให้เกิดระเบียบกติกาในการทำงานและการดำรงชีวิตที่ชัดแจนและลงในรายละเอียดมากขึ้น เรื่องที่มีความสำคัญของชุมชนก็ยังตัดสินโดยที่ประชุมหรือ ting ที่มีอยู่ประจำทุกหมู่บ้าน โดยภารกิจหลักของ ting คือ การทำให้เกิดความยุติธรรมในชุมชน และเสรีชนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะพูดที่ ting
กล่าวได้ว่า ting ในการปกครองโบราณของสวีเดนมีนัยสำคัญมาก จนทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างยิ่งในหมู่นักวิชาการในประเด็นที่ว่า ting เป็นที่ประชุมที่มีลักษณะของการเป็นประชาธิปไตยที่มาก่อนสถาบันประชาธิปไตยสมัยใหม่อย่างที่รับรู้ในปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เกิดขึ้นจริงๆ ‘วรงค์’ โชว์ป้ายเมื่อสามปีที่แล้ว ‘โจรปล้นชาติจะกลับมา’
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์รูปภาพและข้อความในเฟซบุ๊กว่า #ป้ายที่เกิดขึ้นเมื่อสามปีที่แล้ว
’พุทธะอิสระ‘ วางแล้ว! ไม่ร่วมขบวนทักท้วง ‘ทักษิณ-แพทองธาร’
นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ "พุทธะอิสระ" ผู้ก่อตั้งวัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐม โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก โดยมีรายละเอียดดังนี้
เข้าใจตรงกันนะ 'ณัฐวุฒิ' ยืนยัน 'พรรคเพื่อไทย' อยู่คนละก๊กกับ 'พรรคส้ม'
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กว่าอันนี้ไม่ใช่แล้วครับ ข่าวลงผิดแล้ว
'อนุสรณ์' ชี้ 'มาดามหน่อย' สานต่อนโยบายเพื่อไทย พัฒนาโคราชสู่ความยั่งยืน
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี พรรคเพื่อไทย เปิดตัวนางยลดา หวังศุภกิจโกศล อดีตนายก อบจ.นครราชสีมา เป็นว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.นครราชสีมา ในนามพรรค
'ดร.ณัฏฐ์' ชี้เลือกตั้งอบจ.ระอุ! 'บ้านใหญ่' ยังขลัง-บางแห่งเสื่อมตามกาลเวลา
“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ การเมืองท้องถิ่น อบจ. ระอุ บ้านใหญ่ยังขลัง แต่บางแห่งเสื่อมไปตามกาลเวลา ข้าราชการการเมือง ส.ส.ช่วยหาเสียงได้
ฉุดไม่อยู่! สส.สาวเพื่อไทย เพ้อผลโพล 3 เดือนนายกฯอิ๊งค์ ประชาคมโลกสุดเชื่อมั่น
น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีศูนย์สำรวจความคิดเห็น นอร์ทกรุงเทพโพล