ชมโบราณสถาน ‘อนุราธปุระ’ (2)

โบราณสถานในอดีตราชธานี “อนุราธปุระ” มีอยู่มากมายหลายแห่ง

เพราะเมืองโบราณแห่งนี้กินพื้นที่กว้างขวางมากกว่า 40 ตารางกิโลเมตร จึงมีการจัดลำดับความสำคัญไว้

เป็นประโยชน์สำหรับผู้มีเวลาจำกัด โดยสามารถเลือกเยี่ยมชมสักการะสถานที่สำคัญ 8 แห่ง เรียกว่า “อัฐมสถาน” และหากมีเวลามากขึ้นก็คือ “โสฬสมสถาน” หรือโบราณสถานทั้ง 16 แห่ง

วันอาทิตย์ที่แล้วผมกล่าวถึง 3 แห่งซึ่งล้วนอยู่ใน “อัฐมสถาน” ได้แก่ ต้นพระศรีมหาโพธิอายุยืนที่สุดในโลก นำมาจากพุทธคยาเมื่อราว พ.ศ.255 โลวามหาปายะ หรือโลหะปราสาท แห่งที่ 2 ของโลก และมหาสถูป “รุวันเวลิเสยะ” สถูปหรือเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้มากที่สุดในโลกถึง 1 ใน 8 ของทั้งหมด

วัดอิสุรุมุณิยะ ราชมหาวิหาร 1 ใน 8 ของอัฐมสถานเมืองโบราณอนุราธปุระ

ต่อจากรุวันเวลิเสยะ คุณน้าวสันตราขับตุ๊กๆ พาไปยัง “วัดอิสุรุมุณิยะ ราชมหาวิหาร” ซึ่งเป็นหนึ่งในโสฬสมสถาน ต้องซื้อตั๋วบริเวณซุ้มประตูทางเข้าราคา 200 รูปี ตั๋ว 25 เหรียญฯ ของเมืองโบราณไม่สามารถใช้กับโบราณสถานแห่งนี้ได้

วัดอิสุรุมุณิยะเป็นอารามของสามเณรจำนวน 500 รูปที่เพิ่งบวชในเวลานั้น เดิมชื่อ “เมฆคีรีวิหาร” เชื่อว่าเคยเป็นสถานที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วอยู่ระยะเวลาหนึ่ง สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ พระมหากษัตริย์ผู้รับเอาพุทธศาสนาสู่ดินแดนศรีลังกา ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.236-276

ท่านไวยาวัจกรแห่งมิริเศวตติยะและสัตว์ที่ใช้เวลานอน 70 เปอร์เซ็นต์ของชีวิต

วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับถ้ำโบราณ มีวิหาร 2 หลัง เก่าและใหม่ สภาพสมบูรณ์ ในถ้ำมีภาพแกะสลักหินรูปช้างที่ติดกับน้ำด้านล่าง จึงเหมือนช้างกำลังอาบน้ำในสระ ด้านบนมีโพรงสีเหลี่ยมขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ เชื่อว่าหากโยนเหรียญเข้าไปแล้วค้างอยู่บนนั้น ไม่กระเด้งตกลงมาจะมีโชคด้านเงินทอง

ด้านบนของถ้ำเป็นลานหินผา มีบันไดและราวจับสำหรับเดินขึ้นไป สามารถชมวิวได้รอบด้าน และมีเจดีย์ขนาดเล็กตั้งอยู่ 1 องค์ ด้านหลังของวัดเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ชื่อ “ติสสะวีวา” สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเช่นกัน มีความเก่าแก่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ ต่อมามีการสร้างอาบเก็บน้ำขึ้นอีกเป็นจำนวนมากในอนุราธปุระ ศรีลังกาจึงถือว่าเป็นประเทศที่มีระบบชลประทานก้าวหน้ามานานกว่า 2 พันปีแล้ว

บนนี้ผมเจอชาวศรีลังกาครอบครัวใหญ่ใส่ชุดขาวครบทุกคน ผมยกมือไหว้ผู้อาวุโสที่มีอยู่ด้วยกัน 5-6 คน พวกเขายิ้มให้และแสดงท่าทีอยากทักทายพูดคุย กระทั่งหนุ่มคนหนึ่งโผล่มา เขาพูดภาษาอังกฤษดีมาก แนะนำตัวชื่อ “หรรษา” รูปร่างสูงใหญ่บึกบึน ทำงานอยู่ที่สนามบินนานาชาติบันดานารายาเก เป็นพนักงานดับเพลิง

จากบนหินผานี้ผมเห็นเจดีย์สีขาวขนาดใหญ่ เหมือนกำลังซ่อมหรืออาจจะสร้างไม่เสร็จ เพราะเห็นนั่งร้านเรียงต่อขึ้นไปจนถึงยอด หรรษาบอกว่าเจดีย์นี้เพิ่งมีพิธีเปิดไปเมื่อไม่กี่วันก่อน ใช้กำลังแรงงานจากกองทัพทุกเหล่า ตำรวจ และกองกำลังรักษาความปลอดภัยพลเรือน

ผมหาข้อมูลทีหลัง ทราบว่าเจดีย์ชื่อ “สันธหิรุเสยะ” (ขออภัยหากเขียนผิด ภาษาอังกฤษใช้ Sandahiru Seya) สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงกองทัพฝ่ายสิงหลผู้สูญเสียชีวิตในสงครามกลางเมืองอันยาวนานเกือบ 30 ปีกับฝ่ายทมิฬ ซึ่งจบลงเมื่อ พ.ศ.2552 พอปลายปี พ.ศ.2553 “มหินทา ราชปักษา” ประธานาธิบดีขณะนั้น เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ การก่อสร้างแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดโดย “โกตาบายา ราชปักษา” ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ผู้เป็นน้องชาย เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 หรือไม่กี่วันก่อนผมมาถึง เจดีย์มีความสูง 86 เมตร เส้นรอบวงยาว 240 เมตร ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมด้วยทองคำ ไข่มุก และอัญมณีมีค่าจำนวนมาก

หรรษาถามถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย พอผมบอกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวันมากกว่าศรีลังกาเกือบ 10 เท่า แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็พอๆ กัน เขาว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อศรีลังกาที่น้อยเพราะประธานาธิบดีราชปักษา ผมถามว่าท่านสั่งให้ปิดตัวเลขหรืออย่างไร เขาเหมือนจะไม่ได้ยินคำถาม พูดต่อไปว่าเพราะประธานาธิบดีจัดหาและกระจายวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวเลขผู้ติดเชื้อจึงลดลงไปอย่างรวดเร็ว

เท่าที่ทราบ ศรีลังกามีวัคซีนเกือบครบทุกตัวคล้ายๆ กับบ้านเรา แต่ในการกระจายไปยังเมืองหรือภูมิภาคหนึ่งๆ นั้นจะไม่สามารถเลือกวัคซีนได้ รัฐบาลส่งตัวไหนไปให้ก็ต้องฉีดตัวนั้นกันทั้งภูมิภาคหรือทั้งเมือง เช่นที่เนกัมโบได้แอสตร้าเซนเนก้า ที่แคนดีได้โมเดอร์นา เป็นต้น

พูดคุยกับหรรษาอยู่นานจนเดินลงจากเนินหินและออกจากประตูวัดไปพร้อมๆ กัน จนผมลืมเข้าไปชม The Lovers หรือ “คู่รัก” ในพิพิธภัณฑ์ของวัด เป็นภาพแกะสลักหินบุรุษ-สตรี โดยสตรีนั่งบนตักบุรุษชูนิ้วชี้ขึ้นมาเหมือนจะบอกว่า “หม่อมฉันไม่ใช่หญิงใจง่ายนะเพคะ” คาดว่าฝ่ายบุรุษคือเจ้าชายสาลิยะ โอรสของพระเจ้าทุฏฐคามณี ส่วนสตรีคือหญิงสาวชาวบ้านที่เจ้าชายหลงรัก เป็นหินแกะสลักที่นำมาจากสถานที่อื่น แต่ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่ามาจากไหน นอกจากนี้ยังมีภาพแกะสลักหินพระเจ้าทุฏฐคามณี เคียงข้างพระมเหสี และนางสนมอีก 3 คน ถือเป็นสิ่งแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงเช่นกัน

ครอบครัวของหรรษาเหมารถตู้นำเที่ยวมาจากเมืองเนกัมโบ เราแยกกันที่บริเวณลานจอดรถ น้าวสันตรา คนขับตุ๊กๆ แสดงท่าทางออกมาค่อนข้างชัดว่ารอผมนานกว่าจะออกมาจากวัด เพราะนี่ยังไม่ถึงครึ่งทางของโบราณสถานทั้งหมดที่เรามีเวลาไปเยือน

เจดีย์มิริเศวตติยะ รัชกาลที่ 5 ของเราทรงเคยบริจาคเงินทุนบูรณะ

สถานที่ต่อมาแกพาผมไปที่ “มิริเศวตติยะ ราชมหาวิหาร” 1 ใน 8 ของอัฐมสถานเมืองโบราณอนุราธปุระ น้าวสันตรายืนเฝ้ารองเท้าแตะให้ผมบริเวณหน้าทางเข้าเจดีย์เหมือนเดิม และแล้วฝ่าเท้าของผมก็ระอุร้อนขึ้นอีกครั้ง แต่พอทนได้ เพราะเจดีย์มิริเศวตติยะมีเส้นรอบวงน้อยกว่าเจดีย์รุวันเวลิเสยะอยู่หลายเท่า ผมกราบเจดีย์แล้วเดินวน 1 รอบ เพราะถ้ามากกว่านี้ก็คงทนร้อนที่ฝ่าเท้าไม่ไหวเช่นกัน

หน้าเจดีย์มีซุ้มทำบุญตั้งอยู่ ท่านไวยาวัจกรหนวดงามทำหน้าที่คอยรับเงินทำบุญ มีแมวขี้เซานอนอยู่บนแผ่นไม้ที่ห้อยกางลงมาจากขอบหลังคาซุ้ม คล้ายโต๊ะของรถขายอาหาร หรือที่เรียก “ฟู้ดทรัก” ใครทำบุญตามเกณฑ์ที่มีอยู่ 3 เรต ได้แก่ 250, 500 และ 750 รูปี ก็จะได้เขียนชื่อลงในเอกสารลักษณะกึ่งๆ โมทนาบัตร ไวยาวัจกรสวดมนต์นำผ่านไมโครโฟนออกลำโพงเสียงดังลั่น เจ้าของเงินทำบุญก็สวดตาม ในบทสวดนั้นมีชื่อคนทำบุญอยู่ด้วย ถึงคิวผมก็ยื่นให้ลุงไป 100 รูปี บอกแกว่าไม่ต้องการบทสวด แต่ขอถ่ายรูปแกและแมวของแก ลุงยิ้มออกมาทางสายตา ส่วนเจ้าเหมียวหันมามองเคืองๆ ที่ถูกรบกวนเวลานอน

มิริเศวตติยะนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการระบุว่า พระเจ้าทุฏฐคามณีทรงสร้างขึ้นเป็นเจดีย์แห่งแรกในรัชสมัยของพระองค์หลังรบเอาชนะพระเจ้าเอฬาระ กษัตริย์ทมิฬที่มายึดอนุราธปุระอยู่ช่วงหนึ่ง มีเรื่องราวเล่าขานอยู่อย่างน้อย 3 ตำนานถึงที่มาของการสร้างเจดีย์ หนึ่งในนั้นคือ พระเจ้าทุฏฐคามณีมีคทาที่บรรจุพระบรมธาตุ ครั้งหนึ่งได้ปักไว้ก่อนการลงสรงในอ่างเก็บน้ำ “ติสสะวีวา” เมื่อสรงเสร็จกลับมาถอดคทาออกจากพื้น แต่ถอดไม่ออก แม้จะเรียกข้าราชบริพารมาช่วยสักกี่คนก็ไม่เป็นผล พระองค์จึงตัดสินใจสร้างเจดีย์แห่งนี้ขึ้นครอบคทาเพื่อเป็นพุทธบูชา ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะเหนือพระเจ้าเอฬาระอีกด้วย

ผ่านกาลเวลาอันยาวนาน เจดีย์แห่งนี้ได้เสื่อมโทรมและถูกทำลายลงหลายครั้งจากอาณาจักรที่มาจากอนุทวีปอินเดีย มีการปฏิสังขรณ์ตามมาทุกครั้งเช่นกัน ในสมัยพระเจ้ากัสปะที่ 5 หลังการเข้ามารุกรานของอาณาจักรโจฬะ พระองค์ได้สร้าง “ฉันทนาปราสาท” ขึ้นใกล้เจดีย์เพื่อประดิษฐานพระเกศาธาตุ

และในราว พ.ศ.2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบริจาคเงิน 12,500 รูปี เพื่อเป็นทุนในการบูรณะครั้งหนึ่งด้วย แม้ว่าจะมีอุปสรรคจนต้องหยุดการซ่อมแซมลงไปหลายครั้ง กระทั่งมาสัมฤทธิผลเมื่อ พ.ศ.2536

ถูปาราม เจดีย์แห่งแรกของศรีลังกา

จากนั้นเราเดินทางต่อไปที่ “ถูปาราม” เป็นอีก 1 ใน 8 ของอัฐมสถานเมืองโบราณอนุราธปุระ มีการรับทำบุญตามเกณฑ์เพื่อสวดมนต์ออกไมค์ในชื่อผู้ทำบุญเช่นกัน ถูปารามมาจากคำว่า “สถูป” ประสมกับ “อาราม” เป็นเจดีย์แห่งแรกในศรีลังกา พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะสร้างขึ้นตามแนะนำของพระมหินทเถระ ภายในบรรจุพระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้าด้านขวา) ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เจดีย์ถูปารามมีสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า “วาตาดาเก” ล้อมรอบเพื่อการปกป้องเจดีย์ มีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปรอบเจดีย์ แล้วมุงหลังคาไม้ ค้ำยันด้วยเสาหิน แต่ปัจจุบันหลังคาหายไป เหลือเพียงเสาหิน 3 แถวล้อมรอบเจดีย์ และบริเวณใกล้ๆ กับเจดีย์ยังมีซากปรักหักพังของวัดให้เห็นทั่วบริเวณ

ผมกำลังจะเดินออกจากประตูรั้ว น้าวสันตราเดินสวนเข้ามา พาไปยังโซนที่พื้นเป็นกรวดทราย ร้อนฝ่าเท้าเข้าไปอีกระดับ แกชี้ให้ดูพระอุโบสถที่เหลือแต่พื้นหินและเสาหิน ไม่มีหลังคา พระพุทธรูปปางสมาธิประดิษฐานอยู่ด้านในสุด และตรงหน้าบันไดทางขึ้นแกชี้ไปที่พื้นหินแกะสลักรูปครึ่งวงกลม บอกว่า “มูนสโตน”

อุโบสถวัดถูปาราม ด้านหน้าทางขึ้นคือสิ่งที่เรียกว่า “มูนสโตน” งานพุทธศิลป์เฉพาะแบบศรีลังกา

ในเมื่อ “ถูปาราม” เป็นเจดีย์แห่งแรกของศรีลังกา นี่ก็น่าจะเป็นมูนสโตนแห่งแรกๆ ของศรีลังกาเช่นกัน โดยมูนสโตนถือเป็นงานพุทธศิลป์แบบฉบับเฉพาะ มีอยู่ในศรีลังกาเท่านั้น

คำว่า Moonstone นี้เป็นคำที่นำไปเทียบกับภาษาอังกฤษ ให้ออกไปทาง “อัฒจันทร์ศิลา” หรือแผ่นหินรูปพระจันทร์ครึ่งดวง (ไม่ได้หมายถึง “มุกดาหาร” ตามความหมายในพจนานุกรมแต่อย่างใด) ทว่าในความหมายของพุทธศาสนาแบบศรีลังกาแล้วไม่ได้เป็นดังนั้น เพราะเรียกกันว่า Sandakada Pahana ซึ่งผมก็ไม่รู้จะเขียนเป็นภาษาไทยอย่างไร แต่ความหมายก็คงประมาณ “หนทางดับทุกข์”

วงนอกสุดของแผ่นหินรูปครึ่งวงกลมแกะสลักเป็นเปลวเพลิงที่หมุนวนไม่จบสิ้น ถัดเข้าไปเป็นรูปช้าง สิงห์ ม้า และวัว เรียงตามกันไปเรื่อยๆ จำนวนหลายตัว แทนการเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย วงถัดไปคั่นด้วยไม้เลื้อยมีดอก แล้วจึงเป็นรูปหงส์เรียงกัน แทนกิเลสตัณหา แต่บางคนตีความว่าหมายถึง “ศีล” และชั้นในสุดเป็นรูปดอกบัว หมายถึงการหลุดพ้น

ฝ่าเท้ากำลังร้อนวาบๆ ผมถ่ายรูปแล้วรีบวิ่งออกจากประตูรั้ว เดินตามน้าวสันตรากลับไปยังที่จอดรถ แกขับต่อไปยังพระราชวังของพระเจ้าวิชัยพาหุที่ 1 ปัจจุบันเหลือเพียงบันไดทางเข้า ซากของกำแพงชั้นนอก ตัวพระราชวังที่มีบันไดทางขึ้นและฐานโครงสร้าง ขนาดพื้นที่ของพระราชวังระบุไว้ว่าวัดได้ 39x66 เมตร

พระราชวังแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์การจัดพระราชพิธีเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าวิชัยพาหุที่ 1 เป็นการเฉพาะ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1599-1654) เนื่องจากเวลานั้นพระองค์ได้ปราบพวกโจฬะที่เข้ามายึด “ราชรตะ” หรือศรีลังกาตอนบนอยู่นานครึ่งศตวรรษออกไปได้สำเร็จ แต่ไม่ต้องการบูรณะอนุราธปุระขึ้นมาใหม่ เพราะเสียหายและชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก จึงย้ายราชธานีไปยัง “โปลอนนารุวะ”

ดาลาดา มาลิกาวา หอเก็บพระเขี้ยวแก้วในสมัยอนุราธปุระ

คุณน้าวสันตราขับตุ๊กๆ ต่อไปอีกหน่อย แล้วจอดหน้าโบราณสถานที่เรียกว่า “ดาลาดา มาลิกาวา” แปลตามตัวอักษรได้ว่า “พระราชวังพระทันตธาตุ” หอพระเขี้ยวแก้วแห่งอนุราธปุระ ปัจจุบันเหลือให้เห็นเพียงตัวโครงสร้างของหอประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว พื้นและผนังทำด้วยอิฐ โครงประตู-หน้าต่างทำจากหิน บริเวณใกล้ๆ กันมีซากปรักหักพังกินพื้นที่ขนาดใหญ่ อาจเคยเป็นวัด เพราะมีส่วนที่เป็นแท่นรางหินสำหรับใส่ภัตตาหารของพระสงฆ์เพื่อฉันรวมกัน

พ.ศ.313 พระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาด้านล่างของพระพุทธเจ้าเดินมาถึงศรีลังกา โดยเจ้าหญิงเหมมาลาแห่งอาณาจักรกลิงคะ และเจ้าชายทันตกุมาร พระสวามี ทั้งคู่ปลอมพระองค์เป็นพราหมณ์ โดยเจ้าหญิงเหมมาลาซ่อนพระเขี้ยวแก้วไว้ในมวยผมหลบหนีออกมา ด้วยเวลานั้นเกรงกลัวจะแพ้ศึกสงครามที่กำลังประชิดเมืองและอาจต้องสูญเสียพระเขี้ยวแก้วไป

เชื่อว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่แรกสำหรับประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วเพื่อการสักการบูชาในศรีลังกา แม้จะมีบางตำนานระบุว่าเป็นวัดอภัยคีรีที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร รวมถึงวัดอิสุรุมุณิยะที่ได้กล่าวถึงเมื่อตอนต้น

อย่างไรก็ตาม พระมหากษัตริย์ศรีลังกาได้โยกย้ายหรือเปลี่ยนสถานที่เก็บและบูชาพระเขี้ยวแก้วอยู่เรื่อยๆ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ให้พ้นจากมือศัตรู เพราะถือเป็นประกาศิตว่าผู้ใดเก็บรักษาพระเขี้ยวแก้ว ผู้นั้นย่อมได้ครองเมือง ผมจึงเชื่อว่าทั้ง 3 สถานที่ล้วนเคยประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว เพียงแต่สรุปไม่ได้ว่าที่ใดเป็นที่แรก

เวลาตอนนี้เกือบๆ บ่าย 3 โมง เรายังไม่ได้กินมื้อเที่ยง น้าวสันตราถามว่า “หิวมั้ย?” เพราะแกจะมุ่งหน้าไปยังมหินทเล หากว่าผมตกลงที่จะไป เข้าใจว่าแกจะพาไปหาร้านอาหารที่ไหนสักแห่ง แต่ผมมีแซนด์วิชไข่ต้ม-ชีสติดเป้มา 2 ชิ้น ซื้อมาจากร้านเบเกอรี่ในอนุราธปุระเมืองใหม่เมื่อตอนเช้า รู้สึกหิวมาพักใหญ่แล้ว จึงแบ่งกับน้าวสันตราคนละชิ้น

แกนั่งกินในรถตุ๊กๆ ผมนั่งกินใต้โคนต้นไม้ มองไปยังอดีตกาลของสถานที่บูชาพระเขี้ยวแก้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม

จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!

ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก

ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ

ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร

จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย