'…It is what it is…'

ผมบอกเลยว่า ผมรู้สึกห่างเหินกับแฟนคอลัมน์เป็นเวลาเกือบ 3 อาทิตย์เต็มครับ เหตุผลเพราะระยะเวลา 3 คอลัมน์เต็มๆ (คือ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา) ผมมีเหตุจำเป็นต้องเขียนคอลัมน์แห้งๆ ล่วงหน้าทิ้งไว้ เพราะผมไม่อยู่ช่วงเวลานั้นพอดี ผมไปนาน แต่ไม่ได้ไปไกล ผมแค่ข้ามชายแดนบ้านเฮา มาสู่เวียงจันทร์กับวังเวียงที่ประเทศลาวครับ

แฟนคอลัมน์อาจไม่รู้สึกอะไร เพราะมีคอลัมน์อ่านประจำตามวัน-เวลาเดิม แต่ผมเองต้องเคาะสนิม เนื่องจากไม่ได้เขียนอะไรเลยเป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือน ผมไม่อยากจะแตะการเมืองไทย ไม่ใช่เพราะเกรงกลัวใคร หรือเกรงใจใคร เพียงแต่ว่าไม่รู้จะพูดอะไรครับ ชมไปก็ทำไม่ลง ด่าไปก็เท่านั้น วิเคราะห์ไป มันผ่านพ้นไปหมดแล้ว ตอนนี้เหลือแต่ดูเขา

ตอนผมอยู่ลาว มีแต่คนพูดถึงเรื่องนายกฯ ใหม่ของเรา เขาพยายามถามว่าเป็นเช่นไร ผมบอกว่า…. "It is what it is" และถ้ามองข้างหน้า… "มีแต่นับถอยหลังอย่างเดียวครับ”

สำหรับใครที่เดินทาง ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล เวลาไปนานๆ พวกเรามักนึกถึงอาหารโปรดที่ขาดไป กะเพราไก่บ้าง ส้มตำบ้าง และจะนับวันกลับบ้านเพื่อทานสิ่งที่ขาดไป ซึ่งพอผมเจอชาวต่างชาติ และอยากจะคลุกคลีกับเขา อันนี้เป็นคำถามที่ผมจะถามเขาคือ เมื่อต้องจากบ้านนาน สิ่งแรกที่จะทานเมื่อกลับบ้านคืออะไร?

คำถามสั้นๆ ง่ายๆ แต่คำตอบจะทำให้คุณเข้าใจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนที่ถูกถาม เพราะทุกคนไม่ว่าจะชาติไหนก็ตาม เวลาพูดถึงจานโปรดของเขา สายตาจะมีชีวิต จะใส่อารมณ์ แล้วจะอธิบายด้วยความพยายามให้คนฟังเข้าใจถึงรสชาติ และความผูกพันที่คนนั้นๆ มีต่อจานโปรดของเขา ซึ่งอยากให้แฟนคอลัมน์ลองถามเพื่อนชาวต่างชาติดู คุณจะได้สัมผัสอีกมุมหนึ่ง และอีกความเข้าใจหนึ่งของเพื่อนร่วมโลก

สำหรับผมเอง เวลาห่างจากบ้านนานๆ ผมจะโหยหาก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ก๋วยเตี๋ยวเรือ กะเพราไก่ไข่ดาว ข้าวราดแกง และแชมเปียนส์ที่สุด ส้มตำ แต่ส้มตำของผม เนื่องจากผมเป็นคนอำเภอเมืองฯ พอสมควร ผมต้องส้มตำไทยพริกเม็ดเดียว ทานกับข้าวเหนียว และใบโหระพา แค่นี้ผมก็มีความสุขและสบายใจครับ

แต่พอไปลาวครั้งนี้ ผมไม่รู้สึกโหยหาอาหารอะไร เพราะอยู่ลาว อาหารการกินก็ไม่ต่างกับบ้านเฮา ส้มตำผมก็ได้กิน ลาบผมก็ได้กิน แกงอ่อมก็ได้กิน ผัดซีอิ๊วก็กิน กะเพราไก่ก็กิน ก๋วยเตี๋ยวน้ำก็กิน การอยู่ลาวครั้งนี้ไม่ลำบากอะไร ไม่เดือดร้อนอะไร และสะดวกสบายที่สุด เขาพูดลาวกับผม ผมพูดไทยกับเขา วงสุราได้สร้างสถานภาพความเป็นลาว-ไทยด้วยกัน

ในคณะผมมีชาวต่างชาติร่วมคณะอีก 3 ประเทศคือ ฟิลิปปินส์ อินโดฯ กับเวียดนาม และในกลุ่มก็ยังมีอังกฤษ 3 คน ทุกคนเข้าใจความใกล้ชิดและใกล้เคียงระหว่างลาวกับไทย แต่เข้าใจจากทฤษฎี เพิ่งจะสัมผัสและเห็นกับตาก็คราวนี้แหละครับ จนทำให้เขาสงสัยกันว่าทำไมผมพูดลาวได้ เพราะในที่ประชุมทุกห้อง คนอื่นจะพูดภาษาอังกฤษ และมีล่ามแปลสดเป็นภาษาลาวให้คนฟัง แต่ผมดูแล้วว่า audience คือคนลาว ดังนั้นผมพูดไทยดีกว่า เพราะอยากให้เขาเข้าใจสิ่งที่ผมพูดและพยายามสื่อให้ลึกซึ้งกว่าต้องฟังผ่านล่ามอีกที

ผมเลยบอกเพื่อนร่วมคณะว่า ผมไม่ได้พูดลาว ผมพูดไทยกับเขา และเขาไม่ได้พูดไทยกับผม เขาพูดลาว แต่เราฟังกันรู้เรื่อง แต่ผมสารภาพเลยว่า เข้าฝั่งไทยของผมรู้เรื่องมากกว่าที่ผมฟังลาวของเขา ถึงผมจะเขยอีสานก็ตาม ผมไม่ใช่เขยลาวครับ ดังนั้นผมอาจฟังเขาทั้งหมดไม่รู้เรื่อง แต่ผมพอจับใจความเนื้อหาได้

มีอยู่ท่านหนึ่งที่เดินมาคุยกับผม อยากนัดปรึกษาหารือกันต่อ ซึ่งผมก็พูดไทยกับเขา เขาพูดลาวกับผม ทุกอย่างชื่นมื่นดีและรู้เรื่อง แต่พอเขาพูดนานเข้า ผมชักจะเริ่มมึนๆ เพราะสำเนียงเขาไม่ใช่ลาวอำเภอเมืองฯ หรือแบบอีสานบ้านเฮา แต่เป็นลาวต่างจังหวัด (ของเขา) ผมเลยมึนและหลงครับ แต่โชคดีมากๆ ที่มีน้องคนหนึ่งยืนอยู่ข้างๆ พอดี พอเราสนทนากันเสร็จ ทักทายยิ้มแย้มกัน เสร็จสรรพเรียบร้อย และชวนทานข้าวกันต่อ (เป็นช่วงมื้อเที่ยงพอดี) ผมหันไปถามน้องว่า “เมื่อกี้เขาพูดอะไรบ้าง พี่ฟังไม่รู้เรื่อง พี่ตอบตกลงอะไรไปวะ?”

เขาบอกว่า “ท่านคนนี้มีสำเนียงที่ฟังยากครับ ถ้าไม่ใช่คนลาวเองจะไม่มีทางเข้าใจ” ผมเลยรู้สึกโล่งและสบายใจขึ้น คงไม่ต่างไปกว่าสำเนียงคนใต้หรือเหนือบ้านเรา พอถึงโต๊ะสนทนา (ในอีกวันหนึ่ง) ดื่มสุราไป เล่าเรื่องกันไป ทุกคนก็ขำเรื่องนี้

แต่มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมเล่าให้ทุกคนฟัง ที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ที่รักกันบ้าง เกลียดกันบ้าง รำคาญกันบ้าง ชื่นชอบกันบ้าง ผมไม่แน่ใจว่าในโลกนี้ความเป็นประเทศเพื่อนบ้านมีแบบเราหรือไม่ แต่ผมรู้แน่ๆ ว่าไทยเรามี และรู้แน่ๆ ว่าประเทศเพื่อนบ้านเราก็มี

ระหว่างเดินเล่นเวียงจันทน์ เพื่อนๆ จะตกใจว่า เมื่อชี้ไปอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ นั่นคือประเทศไทย พวกเขาไม่รู้ว่ามันใกล้ชิดขนาดนั้น แล้วผมก็บอกว่า ลองเดินไปเรื่อยๆ จะเจอรูปปั้นของพระมหากษัตริย์ลาวท่านหนึ่งทรงชี้มาที่ประเทศไทย ผมบอกเพื่อนๆ ว่า รับรองว่าฝั่งประเทศไทยต้องมีรูปปั้นพระมหากษัตริย์องค์หนึ่งทรงชี้มาฝั่งลาวเหมือนกัน ผมรู้แน่ๆ ว่า ชายแดนไทย-เมียนมามี เขาชี้เรา เราชี้เขา ชายแดนเขมรน่าจะมี แต่ผมไม่แน่ใจว่า ชายแดนไทย-มาเลย์มีหรือเปล่า?

เพื่อนๆ ในคณะถามว่า…. "Why?” (Why กรณีที่เราต้องชี้เขาและเขาต้องชี้เรา) พวกเราที่เป็นไทยและลาวนั้นได้แต่หัวเราะ และบอกว่า “Why not?” เลยเกิดการพูดคุยกันว่า ประเทศเพื่อนบ้านในซีกอื่นของโลกมีชี้ไปชี้มาแบบนี้ไหม? อินโดฯ ไม่มี เวียดนามไม่มี ฟิลิปปินส์ไม่มี เลยเป็นข้อสงสัยว่า ทำไมเขาต้องชี้เรา แล้วทำไมเราต้องชี้เขา สรุปได้อย่างเดียวว่า “It is what it is” ชนแก้วและหัวเราะกันต่อครับ

ผมบอกเลยว่า การไปลาวครั้งนี้ของผม ผมเพลินและสนุก เรียนรู้อะไรเยอะ และเข้าใจอะไรเยอะ ในความเหมือนและความแตกต่างระหว่างเรากับลาว และการเดินทางครั้งนี้ถือว่าสบายใจมากๆ ไปไหนมาไหนไม่กลัวหลง ไม่กลัวเด๋อ ไม่กลัวกินอะไรไม่ได้ เพราะไปไหนมีแต่อาหารคุ้นเคย หันไปทางไหนเป็นภาษาที่เราคุยกันได้ และเดินไปตรงไหนล้วนมีแต่ความสบายใจ 16 วันการอยู่ลาวครั้งนี้ได้ประสบการณ์ ได้ความรู้ และได้มิตรใหม่เพียบครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เปิดและปิดเครื่อง'

ก่อนอื่นผมต้องขอโทษสำหรับคอลัมน์สัปดาห์ก่อนที่หายไปครับ ผมไม่ได้หายไปไหน และผมไม่ได้ไปไหน ผมพร้อมและตั้งใจเขียนคอลัมน์ปกติ แต่เมื่อเริ่มเขียน

'Hey…Google!!!' (ต่อ)

ก่อนอื่นผมขออธิบายว่า ทำไมผมตั้งชื่อเรื่องวันนี้และอาทิตย์ที่แล้วว่า “Hey…Google!!!”

“Hey…Google!!!!” (ตอน 1)

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ในสหรัฐอเมริกา มีการตัดสินคดียักษ์ใหญ่ ที่จะมีผลกระทบและเขย่าโลก ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่แน่ครับ ดีไม่ดีอาจเป็นชิ้นโบแดงของ Joe Biden ก็ได้

Imane Khelif นักกีฬาหญิงใจสู้

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมบอกว่า ผมจะเขียนเรื่องราวของ Google ทั้งที่มาที่ไปของคดี และผลการตัดสินเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะผมยังอยู่ในกระแสโอลิมปิก

'ทำให้อยากเล่นเลย'

ความจริงวันนี้ผมอยากจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับคดี Google เพราะเป็นเรื่องที่ผมเคยเขียนเกริ่นไปแล้ว ผมเขียนว่าเป็นเรื่องน่าจับตามองที่รัฐบาลอเมริกันยอมปะทะและสู้รบกับบริษัทยักษ์ใหญ่