ครม.ครอบครัวครอบครอง

สิ้นสุดการรอคอย...

วานนี้ (๔ กันยายน) มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เรียบร้อยแล้ว

ส่วนใหญ่นั่งเก้าอี้เดิม แต่ก็มีรัฐมนตรีหน้าใหม่ จำนวน ๑๑ คน ประกอบด้วย

๑.นายพิชัย นริพทะพันธุ์ (อายุ ๖๓ ปี) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

๒.นายสรวงศ์ เทียนทอง (อายุ ๔๙ ปี) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว

๓.นายชูศักดิ์ ศิรินิล (อายุ ๗๖ ปี) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

๔.นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ (อายุ ๔๕ ปี) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

๕.นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ (อายุ ๓๙ ปี) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย บุตรสาวนายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

๖.นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ (อายุ ๓๘ ปี) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

๗.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ (อายุ ๕๑ ปี) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

๘.นายอัครา พรหมเผ่า (อายุ ๕๒ ปี) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น้องชาย ร.ต.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

๙.นายอิทธิ ศิริลัทธยากร (อายุ ๗๐ ปี) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

๑๐.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน (อายุ ๕๙ ปี) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

๑๑.นายเดชอิศม์ ขาวทอง (อายุ ๖๐ ปี) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ในส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจะเห็นความเป็นครอบครัวค่อนข้างเด่นชัด

พ่อเป็นไม่ได้ให้ลูก

พี่เป็นไม่ได้ให้น้อง

ล้อไปกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่พ่อเป็นไม่ได้ จึงชูลูกสาวเป็นหุ่นเชิดแทน

แต่ก็ถือว่ามาตามกติกา เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม

รายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดนี้นับว่ามีการกรองเข้มข้นเป็นประวัติการณ์แล้วนะครับ มีการตัดความเสี่ยงคุณสมบัติรัฐมนตรี ๒ ประเด็นหลักออกไปคือ

มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ 

ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ฉะนั้นหน้าตาคณะรัฐมนตรีที่ปรากฏ คือการคัดสรรมาอย่างดี บนเงื่อนการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างพรรคและกลุ่มการเมืองต่างๆ

จะคาดหวังให้ได้คนทำงานถูกที่ถูกตำแหน่งในทุกตำแหน่ง คงเป็นไปไม่ได้ภายใต้ระบบการเมืองที่มีการต่อรองสูงเช่นนี้

หลังจากนี้นายกฯ แพทองธาร จะนำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๑

 “...ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ...”

เสร็จแล้วจะเป็นขั้นตอนของการแถลงนโยบาย คร่าวๆ ประมาณวันที่ ๑๑-๑๒ กันยายน จากนั้นคณะรัฐมนตรีจะสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างเต็มตัว

แล้วจะเอาไงกับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

จะแจกเป็นเงินสดทั้งหมด

หรือผสมไปกับดิจิทัลวอลเล็ต

เอาเข้าจริงนโยบายแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้รัฐบาลเศรษฐา เข้าตาจน เพราะมีปัญหาในเชิงกฎหมาย และเทคนิคมากมาย

การเปลี่ยนรัฐบาลก็เหมือนการปลดล็อกให้นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

รัฐบาลที่ขึ้นมาใหม่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายได้  และเป็นโอกาสที่รัฐบาลแพทองธารจะไม่เจอทางตันอย่างที่รัฐบาลเศรษฐาเจอ

เสียงเตือนจากทีดีอาร์ไอล่าสุดเมื่อไม่กี่วันก่อน คือทางออกของรัฐบาล

แจกเป็นเงินสด

เจาะจงเฉพาะกลุ่ม ไม่แจกทุกคน

ลดวงเงินงบประมาณลงมา

หากรัฐบาลเดินตามแนวทางนี้ ความเสี่ยงด้านการเงินการคลังจะลดลง

การจัดงบประมาณปี ๒๕๖๘ ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องดึงเงินงบประมาณเพื่อการใช้หนี้มาสร้างหนี้เพิ่ม

แต่หากรัฐบาลยังดื้อดึงเดินตามแผนเดิม ที่คิดว่าจะมีเสียงตอบรับในทางการเมืองเชิงบวกนั้นอาจไม่ใช่ เพราะสังคมซึมซับข้อเสียของนโยบายแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตมาอย่างยาวนาน

หากเกิดความผิดพลาดในนโยบายรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ

กลับมาที่ ครม.ครอบครัว

มีเสียงวิจารณ์เยอะพอควรครับ

จะบริหารราชการแผ่นดินกันอย่างไร

ใครต้องฟังใคร

ที่แน่ๆ เสียงวิจารณ์ต้องฟังจากพรรคฝ่ายค้านเป็นหลัก

"รังสิมันต์ โรม" จากพรรคประชาชน ตั้งคำถามไว้น่าสนใจ

"...สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นผ่าน ครม.ชุดนี้ จะกลายเป็นว่าตัวจริงอยู่หลังฉาก ส่วนคนที่มาเป็นรัฐมนตรี ก็เป็นแค่ตัวแทนเท่านั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องต่อไปที่จะต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์

รวมไปถึงหากในอนาคตมีการแก้ไข ก็คงต้องดูว่า สุดท้ายแล้วจะยังยอมรับให้ระบบแบบนี้ดำเนินต่อไปในอนาคตหรือไม่..."

"...การที่เราไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจ หรือผู้ที่ตัดสินใจไม่ต้องรับผิดชอบอะไรโดยตรง จะสร้างปัญหาทางการเมืองอย่างแน่นอน นี่คือข้อที่ผมกังวล

สิ่งต่อมาผมเชื่อว่ารัฐบาลนี้ จะเป็นรัฐบาลที่อาจจะกังวลทุกอย่างจนไม่กล้าทำอะไร ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหม่ เพราะความท้าทายของโลกมีหลากหลายรูปแบบ

ถ้าคุณไม่กล้าทำอะไร เพราะกลัวว่าจะผิดจริยธรรม  หรือจะถูกองค์กรอิสระ หรือศาลรัฐธรรมนูญเล่นงาน สุดท้ายก็จะเป็นรัฐบาลที่บริหารอะไรไม่ได้เลย..."

แยกเป็น ๒ ประเด็นครับ

เห็นด้วยกับ "รังสิมันต์ โรม" ว่ารัฐบาลนี้จะมีปัญหาเรื่องการตัดสินใจในประเด็นต่างๆ

ใครมีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจกันแน่

ระหว่างผู้ชักใยกับหุ่นเชิด

แต่ที่ชัดเจนคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายคือคนที่มีตำแหน่งในรัฐบาล

และที่ไม่เห็นด้วยกับ "รังสิมันต์ โรม" อย่างสิ้นเชิงคือ รัฐบาลไม่กล้าทำอะไรเลย เพราะกลัวจะผิดจริยธรรม จะถูกองค์กรอิสระเล่นงาน

ที่จริงง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน หากไม่คิดชั่ว ทำความเลว ไม่เห็นต้องกลัว

การบริหารราชการแผ่นดินที่โปร่งใส ทำเพื่อประชาชน ไม่เห็นต้องกลัวอะไรเลยครับ

เว้นเสียว่าวันๆ คิดแต่เรื่องชั่วๆ แต่กลัวไว้ก็ไม่เสียหลาย

จะได้ไม่ทำชั่ว

และไม่ต้องโยนบาปให้องค์กรอิสระ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่อนตะแกรงการเมือง

รัฐบาลนี้มีความพิเศษครับ จัดตั้งรัฐบาลจะจบแล้ว แต่ไม่รู้แน่ชัดว่าใครเป็นรัฐบาล ใครเป็นฝ่ายค้าน

ก็เพราะ สว.พรรค์นี้

โผ ครม.นิ่งแล้ว นายกฯ อิ๊งค์ ว่างั้นครับ แต่ที่ไม่นิ่งคือ "ปาก" ของ สว.สายพันธุ์ใหม่ นอกจากปากไม่นิ่งแล้ว มือไม่พายเอาเท้าราน้ำต่างหาก

วิบากกรรม 'พ่อ-ลูก'

นั่นไง... ตั้งรัฐบาลไม่ใช่เรื่องง่าย หากรายชื่อที่เสนอตั้งเป็นรัฐมนตรี เต็มไปด้วยผู้มีมลทิน ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

'อิ๊งค์' เหยียบหน้าประชาธิปัตย์

แล้วจะอยู่กันยังไง ตั้งรัฐบาลยังไม่ทันเสร็จก็ท้ารบกันแล้ว ถามเสียงส่วนใหญ่ในประชาธิปัตย์ กระดากกันบ้างหรือเปล่า นี่แค่ยกแรกนะครับ

ยุทธการขโมยนั่งร้าน

เปียกและแฉะครับ ทั้งการเมือง เรื่องตั้งรัฐบาล และน้ำท่วมเหนือกำลังไหลลงภาคกลาง เห็นแล้วรู้สึกไม่สบายตัวทั้ง ๒ กรณี

๒ เก้าอี้แลกสูญพันธุ์

เรียบร้อยโรงเรียนแม้วไปแล้วครับ การตั้งรัฐบาลครั้งนี้ หลายซับหลายซ้อนจริงๆ ชิงไหวชิงพริบ ชนิดกะพริบตาครั้งเดียวอาจต่อไม่ติด