ในที่สุดวันพุธที่ 4 กันยายน 2567 ราชกิจจานุเบกษาก็เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดที่ 64 แล้ว โดยประกาศลงในเล่ม 141 ตอนพิเศษ 240 ง เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 แต่ประชาชนก็ได้แต่มึน เพราะใน ข้อมูลสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) กลับให้รายละเอียดของ ครม.แพทองธาร 1 เริ่มนับตั้งแต่ 3 กันยายน 2566 งานนี้ไม่รู้หมายความว่าอย่างไร ...๐
แต่ก็เอาเถอะ จะนับอย่างไรสุดท้ายก็เป็นรัฐบาลรัฐสมบัติหรือรัฐบาลครอบครัวอยู่ดี ซึ่งล่าสุดก็มีชื่อใหม่ที่ “ชาวเน็ต” ล้อเลียนอย่างมากคือ “รัฐบาลสืบสันดาน” เพราะตรงกับซีรีส์เน็ตฟลิกซ์นั่นแล แหม! แต่จริงๆ น่าจะเป็น “รัฐบาลหมอคางดำ” มากกว่า เพราะลูกหลาน บิดามารดา มาสวมเก้าอี้แทนกันให้จ้าละหวั่น ...๐
เห็นรายชื่อของ “รัฐมนตรีใหม่” แล้ว บรรดาคอการเมืองก็ได้แต่ทำใจ เพราะจะเรียกว่าเหล้าเก่าในขวดใหม่ก็ไม่ได้ เพราะขวดก็พะยี่ห้อ “โทนี่ วู้ดซัม” อยู่วันยังค่ำ แต่ที่ทำให้ชาวบ้านแปลกใจอย่างมากคงไม่มีใครเกิน “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ที่นอกจากยังรั้งเก้าอี้เดิมคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ยังได้เก้าอี้รองนายกฯ มาครอง อีกตำแหน่งหนึ่ง เรียกว่าผลงานปราบบัญชีม้าเข้าตานายใหญ่เข้าจังเบอร์ ...๐
ส่วน “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ก็ต้องบอกว่าได้เก้าอี้เสียที หลังจากมีชื่อมาตั้งแต่ยุค “เศรษฐา” เช่นเดียวกับ “พิชัย นริพทะพันธุ์” ที่ได้โอกาสโชว์ฝีไม้ลายมือเสียที หลังจากโชว์วิชันผ่านสื่อออนไลน์มาอย่างต่อเนื่องในยุค “เสี่ยนิด” ก็ได้แต่หวังว่า “พิชัย” จะทำได้ตามที่เคยโม้ในเฟซบุ๊กและการให้สัมภาษณ์ต่างๆ ...๐
ส่วนรายชื่อเดิมที่ชาวบ้านเขาบอกว่า “เอือม” นั้น ก็คงไม่พ้น “สมศักดิ์-สุริยะ” คู่หูคู่ฮาขอเป็นรัฐมนตรีทุกยุคทุกสมัยนั่นเอง โดยกรณี “สมศักดิ์” ชาวบ้านยังหยิบจับผลงานในเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคที่ขยายเพิ่มพื้นที่ได้ แต่ กรณี “สุริยะ” นั้น สังคมก็ได้แต่กังขา เพราะเรื่องรถไฟฟ้า 20 บาทก็ทำแบบไหว้เจ้าไหว้ศาลขอไปที ที่สำคัญระยะเวลาตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐาจนถึงแพทองธาร ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวก็ไม่สะเด็ดน้ำ แต่ประการใด และยังมาทำให้คนย่านรามคำแหง-มีนบุรีงงเป็นไก่ตาแตกเข้าไปอีก เพราะ “รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก” สร้างเสร็จแล้ว แต่กลับไม่มีรถไฟฟ้ามาเดินมาให้บริการ โดยไพล่จะไปเปิดในปี 2570 คำถามคือ รัฐมนตรีคมนาคมแบบนี้ก็ควรนำกลับมาใหม่หรืออย่างไร ...๐
หันมาดูรัฐมนตรีหน้าใหม่ถอดด้ามจริงๆ ใน ครม.อุ๊งอิ๊ง 1 ก็จะมีทั้งสิ้น 8 ราย คือ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม, สรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา, อิทธิ ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์, อัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์, ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย, ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย, เดชอิศม์ ขาวทอง รมช.สาธารณสุข และเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เรียกว่า คลองหลอดยุค “เสี่ยหนู” นั้น มีแขนขาเป็นรัฐมนตรีช่วยหญิงถึง 2 คนทีเดียว งานนี้คงทำให้บรรดาสิงห์คลองหลอดคึกคักกันทีเดียว ...๐
ที่น่าจับตาอีกรายคนไม่พ้น “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกว่าพลิกบทจากรองนายกฯ และรมว.พาณิชย์อย่างมาก ซึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นสายตรงกับ “นายใหญ่” เพื่อจะมาดูแลป้องกันการทำรัฐประหารก็ตามที แต่การเลือกอดีต “สหายใหญ่” เข้ามาเล่นบทบาทนี้ ก็เรียกว่าสุ่มเสี่ยงกับขีดจำกัดของบรรดาท็อปบูตอยู่เช่นกัน จึงไม่แปลกที่จะมีชื่อของบิ๊กเล็ก “พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์” น้องรัก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” องคมนตรี มานั่งเป็น รมช.กลาโหมด้วย ซึ่งหากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าครานี้เสียงต่อต้านในพรรคเพื่อไทยกรณี “บิ๊กเล็ก” แทบไม่มีกระเส็นกระสายออกมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็มีชื่อเป็น รมช.กลาโหมในยุคเศรษฐามาแล้ว แต่เสียงต้านแรงจนทำให้ได้แค่เก้าอี้เลขานุการรัฐมนตรีกลาโหมเท่านั้น ...๐
ทิ้งท้ายด้วยข่าวน่าสนใจ เมื่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 มีคำสั่ง ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ค.ศ.2001 (MOU 2544) โดยศาลให้เหตุผลที่ตีตกว่า “ไพบูลย์” ไม่ได้เป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ แต่เป็นเพียงความคิดเห็นในฐานะประชาชนเท่านั้น แล้วคำถามคือใครกันที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ …๐
ท.ศักดิ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บันทึกหน้า 4
เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพชรบุรี นครศรีธรรมราช และอุดรธานี เมืองหลวงคนเสื้่อแดง 24 พฤศจิกายน ภาพรวมผู้ใช้สิทธิ์บางตา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ประชาชนให้ความสนใจน้อยกว่าการเลือกตั้ง สส. เพียงแต่การเลือกตั้งนายก อบจ.ในครั้งนี้
บันทึกหน้า 4
22 พ.ย. ลุ้น ผลการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะ “รับ-ไม่รับ” คำร้องของ “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ให้ “ทักษิณ ชินวัตร” และ “พรรคเพื่อไทย” หยุดพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง จาก 6 กรณี ดังนี้ หนึ่ง “ทักษิณ” ไม่ยอมติดคุกแม้แต่วันเดียว
บันทึกหน้า 4
ต้องเรียกว่า “พุธพิพากษา” ของแท้ โดยเฉพาะศาลอาญาที่ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 และมารดาผู้เสียชีวิตร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง “สรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์” หรือ “แอม ไซยาไนด์” อายุ 36 ปี
บันทึกหน้า 4
ควันหลงการหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ที่ นายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง นายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครนายก อบจ. สังกัดพรรคเพื่อไทย (พท.)
บันทึกหน้า 4
สมรภูมิเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ในวันที่ 24 พ.ย. ไม่เพียงแค่ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนในสนามท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการหยั่งกระแสของทั้งสองฝ่ายในเวทีใหญ่ทางการเมืองอีกด้วย โดยเฉพาะทัพแดงนั้นแพ้ไม่ได้
บันทึกหน้า 4
บันทึกในวันครึ้มฟ้าครึ้มฝนจากผลกระทบปลายๆแถวพายุหม่านยี่ เสียงฟ้าร้องฟ้าคะนองอาจจะไม่มี แต่เสียงอื้ออึง "ทักษิณ" กลับมาแล้ว