ร่อนตะแกรงการเมือง

รัฐบาลนี้มีความพิเศษครับ

จัดตั้งรัฐบาลจะจบแล้ว แต่ไม่รู้แน่ชัดว่าใครเป็นรัฐบาล  ใครเป็นฝ่ายค้าน

ก็เพราะมีหลายพรรค สส.ไปคนละทาง ต่างจากในอดีต ถึงคราวร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็มักจะไปกันทั้งพรรค

แต่ในที่สุดเราก็ได้เห็นหน้าตารัฐบาล เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น จากการโหวต มาตรา ๔ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๘ ในวาระที่ ๒

ที่เน้นว่าเป็นรูปเป็นร่างก็เพราะ รัฐบาลแพทองธาร จับแพะผสมแกะ ม้าผสมลา จนแยกไม่ออกว่าพรรคไหน ขั้วไหน อยู่ฝั่งไหนกันแน่

ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน ๒๖๖ ต่อ ๑๔๗ เสียง

แม้ไม่ครบทุกเสียง ก็พอจำแนกคร่าวๆ ได้ว่า บรรดาพรรคที่มีสองก๊ก ก๊กไหนเป็นฝ่ายรัฐบาล ก๊กไหนเป็นฝ่ายค้าน

เริ่มถอดรหัสจากพรรคประชาธิปัตย์ มีเสียง สส.ลงมติให้ความเห็นชอบมาตรานี้ จำนวน ๑๓ คน จากจำนวน สส.ทั้งหมด ๒๕ คน

ในจำนวนนี้มี "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์-บัญญัติ บรรทัดฐาน" ลงมติให้ความเห็นชอบมาตรา ๔ คือเอาด้วยกับรัฐบาล แม้ก่อนนี้จะแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ก็ตามที

ขณะที่ "ชวน หลีกภัย-สรรเพชญ บุญญามณี" ไม่ลงคะแนน

ขณะเดียวกันยังมี สส.ประชาธิปัตย์อีกหลายคนไม่ลงมติ

โดย "เดชอิศม์ ขาวทอง"

ไม่ลงมติแปลความหมายได้ ๒ ทาง

คือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

หรือ ไม่อยู่ในห้องประชุม

ก็ยังจับทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ความคิดยังคละๆ กันอยู่

หรือยังเมาหมัดจากเสียงวิจารณ์ก็ไม่ทราบได้

ต่างจากพลังประชารัฐที่ชัดแจ๋ว "ธรรมนัส พรหมเผ่า" พา สส.ในกลุ่มไปนั่งปะปนกับที่นั่งโซนของพรรคเพื่อไทย

เสียงโหวตมาตรา ๔ ก็ไม่มีอะไรต้องสงสัย

กลุ่มธรรมนัส ๑๔ คน ลงมติเห็นด้วย

มี "ภาคภูมิ บูลย์ประมุข" สส.ตาก "สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ" สส.นราธิวาส "อัครแสนคีรี โล่ห์วีระ" สส.ชัยภูมิ "เพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์" สส.กำแพงเพชร "รัชนี พลซื่อ" สส.ร้อยเอ็ด "บุญยิ่ง นิติกาญจนา" สส.ราชบุรี เป็นต้น

กลุ่มที่โหวตสวนรัฐบาลมี ๑๔ คนเท่ากัน เป็น สส.กลุ่ม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

อาทิ "ขวัญเรือน เทียนทอง" สส.สระแก้ว "วันเพ็ญ พร้อมพัฒน์" สส.เพชรบูรณ์ "โชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์" สส.สิงห์บุรี "อัคร ทองใจสด" สส.เพชรบูรณ์ "อนันต์ ผลอำนวย" สส.กำแพงเพชร "ปริญญา ฤกษ์หร่าย" สส.กำแพงเพชร "ทวี สุระบาล" สส.ตรัง "คอซีย์ มามุ" สส.ปัตตานี เป็นต้น

ที่เหลือซึ่งไม่ลงคะแนน เช่น บรรดาหัวหน้ากลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ลุงป้อม ธรรมนัส พวกนี้ไม่อยู่ในห้องประชุม ไม่มีนัยสำคัญอะไร แค่ไปวิ่งผลัดนอกสภาฯ

ก็เท่ากับว่าชัดเจนเรื่องสถานะของพรรคพลังประชารัฐ

ส่วนหนึ่งเป็นรัฐบาล

อีกส่วนเป็นฝ่ายค้าน

พรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มี สส. ๖ คน การลงมติแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม ทั้งๆ ที่น่าจะไปทิศทางเดียวกันหมด

กลุ่มลงมติเห็นชอบมี ๓ คน ได้แก่ "สุภาพร สลับศรี"  สส.ยโสธร "หรั่ง ธุระพล" สส.อุดรธานี และ "อดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์" สส.อุดรธานี ที่มักโหวตสวนมติพรรคมาตลอด

กลุ่มลงมติไม่เห็นชอบก็มี ๓ คน คือ "ชัชวาล แพทยาไทย" สส.ร้อยเอ็ด "รำพูล ตันติวณิชชานนท์" สส.อุบลราชธานี "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" สส.บัญชีรายชื่อ

ว่าไปแล้วก็น่าเห็นใจ ๖ สส.พรรคไทยสร้างไทย เพิ่งจะโหวตให้ "อุ๊งอิ๊ง" เป็นนายกฯ ไปหยกๆ แต่กลับไม่ได้รับเทียบเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาล

ผลโหวต ๓ ต่อ ๓ จึงน่าจะมาจากการเคว้ง ไม่รู้จะไปทางไหนดี

พรรคเสรีรวมไทย ของ "พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส" ที่ประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล

ปรากฏว่า "มังกร ยนต์ตระกูล" สส.บัญชีรายชื่อหนึ่งเดียว ไม่ปรากฏผลการลงคะแนนมาตรา ๔

ก็น่าจะชัดเจนในความเป็นฝ่ายค้านระดับหนึ่ง

นี่คือการถอดรหัสการเป็นรัฐบาล-ฝ่ายค้าน จากการโหวตกฎหมายสำคัญ ก่อนที่โฉมหน้ารัฐบาลอย่างเป็นทางการจะออกมา

ก็เป็นไปตามคาด ๒ พรรคที่แตกแน่ๆ แล้วคือ ประชาธิปัตย์ กับพลังประชารัฐ

ใครได้ประโยชน์จากการแตกของ ๒ พรรคนี้

ก็ "ทักษิณ" นั่นแหละครับ

เพราะก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป พรรคประชาธิปัตย์ กับพลังประชารัฐจะปรับโครงสร้างครั้งใหญ่

กลุ่มหนึ่งอยู่

อีกกลุ่มต้องไป

แต่ทั้่ง ๒ พรรคจะอ่อนแอลง อย่างน้อยๆ ก็เท่าตัว

จะเกิดการกวาดต้อน สส.ครั้งใหญ่ เข้าพรรคเพื่อไทย

กลุ่มธรรมนัสไปแน่

พลังประชารัฐจะไม่มีศึกภายในยืดเยื้อ

ต่างจากประชาธิปัตย์ จะเกิดการฟาดฟันกันครั้งใหญ่ เพราะมีแรงผลักจากภายนอก ให้บรรดาบุคคลสำคัญในพรรคประชาธิปัตย์ และที่ลาออกไปแล้ว กลับเข้ามากอบกู้พรรค

เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์

หาก "ต่อ-เดช" พ่ายแพ้ จะยังอยู่ประชาธิปัตย์ หรือจะเปลี่ยนโปรย้ายค่ายตามคำเทียบเชิญของ "ทักษิณ" เป็นสถานการณ์ที่น่าติดตามจริงๆ                                     

พรรครวมไทยสร้างชาติก็อาจได้รับผลกระทบจากการฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ เพราะอาจมีบางคนกลับบ้านเก่า

ขณะที่ "ทักษิณ" ยังคงใช้แผนเดิมสมัยสร้างความยิ่งใหญ่ให้พรรคไทยรักไทย

คือควบรวมพรรคการเมือง

ซื้อ สส.กลุ่มก๊วน

นี่คือแผนที่ใช้สู้กับพรรคประชาชน

เริ่มมีบุคคลระดับผู้นำทางความคิดฝ่ายอนุรักษนิยม บอกว่า รับได้กับการที่พรรคประชาธิปัตย์ ผสมพันธุ์กับพรรคเพื่อไทย เพราะบริบททางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป

ช่วงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคระบอบทักษิณขับเคี่ยวกันอย่างหนักนั้น ยังไม่มีพรรคล้มเจ้า                

เมื่อมีพรรคล้มเจ้าเกิดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยต้องร่วมมือปกป้องสถาบันฯ ก็เป็นแนวคิดที่น่าสนใจครับ

เพียงแต่...แน่ใจกันแล้วหรือว่าอนาคตข้างหน้า พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชน จะไม่มีวันจับมือทางการเมืองกัน

รักษาอุดมการณ์ไว้ให้มั่นครับ จะได้ไม่เขว

ไม่งั้นจะถูกนักการเมืองหลอกซ้ำซาก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทลายทุนผูกขาด

ชื่นใจ... ชื่นใจในความรวยของเศรษฐีไทยครับ วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ ๓๑ แล้วครับ

นายกฯ ฝึกงาน

ขยี้ตาสิบที... แถลงผลงานในรอบ ๓ เดือนแน่นะ "อิ๊งค์" ไปดูอีกทีกับการแถลงข่าววานนี้ (๑๒ ธันวาคม)

ชะตากรรม 'นายกฯ ชินวัตร'

วันนี้ (๑๒ ธันวาคม) นายกฯ อิ๊งค์ แถลงผลงาน อยากรู้ว่าผลงานมีอะไรบ้าง เชิญเฝ้าหน้าจอสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือช่อง ๑๑ นั่นแหละครับ

ง่ายๆ แค่เลิกโกง

อาจถึงขั้นเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาลกันเลยทีเดียวครับ... หากพรรคเพื่อไทย จะเอาให้ได้ กับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ด้วยการจับยัดเข้าสภาฯ ก็สามารถยึดอำนาจกองทัพได้สำเร็จครับ