ช่วงปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ อาทิ จ.เชียงราย จ.น่าน จ.พะเยา จ.สุโขทัย เป็นต้น สร้างความเสียหายให้กับประชาชนและทรัพย์สิน รวมถึงเศรษฐกิจในพื้นที่เป็นอย่างมาก ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ออกมาแจ้งเตือนอีก 43 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินถล่ม รวมถึงน้ำล้นอ่างเก็บน้ำและน้ำล้นตลิ่งในช่วงที่ผ่านมาด้วย
ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ต่างเร่งระดมกำลังในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วมอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับ “กระทรวงการคลัง” ซึ่งได้เร่งให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจออกมาตรการด้านการเงิน ทั้งการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย
และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อาทิ “ธนาคารออมสิน” ผ่านมาตรการพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้รับการพักชำระหนี้เงินต้นและลดดอกเบี้ย 50% เป็นระยะเวลา 3 เดือน และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
“ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)” จัดทำมาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้า
วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2567/68 วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR ของ ธ.ก.ส.เท่ากับ 6.975% ต่อปี) ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ปลอดชำระดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก และ 2.โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR - 2 ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี
“ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)” ได้แก่ 1.มาตรการลดเงินงวดและลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าปัจจุบันจะได้รับการลดเงินงวด 50% จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน 2.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับลูกค้าใหม่หรือลูกค้าปัจจุบัน สามารถขอสินเชื่อเพิ่มเติมหรือสินเชื่อใหม่เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย วงเงินต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 2% ต่อปี 3.มาตรการประนอมหนี้ เป็นต้น
ขณะที่ “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” ก็ได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์ และขอความร่วมมือสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบการสินเชื่อรายย่อยที่มิใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยมีแนวทางปฏิบัติในกรณีต่างๆ ดังนี้ 1.สินเชื่อบัตรเครดิต สามารถพิจารณาปรับลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบให้ต่ำกว่าอัตราที่ ธปท.กำหนด
2.สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล สามารถพิจารณาเงื่อนไขวงเงินชั่วคราวกรณีฉุกเฉินให้เกินกว่าอัตราที่ ธปท.กำหนด เพื่อให้เป็นแหล่งทุนฉุกเฉินสำหรับฟื้นฟูความเสียหายจากน้ำท่วม โดยให้อนุมัติวงเงินให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันที่พื้นที่นั้นๆ ถูกประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย และ 3.สินเชื่อทุกประเภท สามารถพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่ลูกหนี้เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย หรือเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจต่อได้ รวมถึงปรับเงื่อนไข เช่น ลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยค่าธรรมเนียม ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ โดยทั้งหมดไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันที่พื้นที่นั้นๆ ถูกประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย
และระหว่างการให้ความช่วยเหลือ ธปท.จะผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ ให้คงการจัดชั้นเช่นเดียวกับก่อนประสบสาธารณภัยได้
ขณะที่ในภาคอุตสาหกรรมได้เรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัดภาคเหนือ ทั้ง 17 จังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ และได้กำชับให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย เร่งสำรวจความเสียหายของสถานประกอบการโรงงานได้รับผลกระทบ รวมทั้งขอให้ สอจ.ในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นต้น เร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยด้วย.
ครองขวัญ รอดหมวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แชร์มุมมอง‘อินฟลูเอนเซอร์’ในตลาดอาเซียน
การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน แต่กลยุทธ์การทำการตลาดของแต่ละแบรนด์นั้นล้วนแตกต่างกันไป ล่าสุด วีโร่ ได้เปิดตัวเอกสารไวต์เปเปอร์ฉบับใหม่ในหัวข้อ “ผลกระทบ
ของขวัญรัฐบาล
อีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็จะเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แล้ว ก็เป็นธรรมเนียมของรัฐบาลและ ครม.ที่จะมีมาตรการเป็นของขวัญมอบให้กับประชาชน ซึ่งการประชุม ครม.ล่าสุดเริ่มมีการเคาะมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือประชาชนกันแล้ว
ยกระดับธุรกิจไทยแข่งขันเวทีโลก
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3% ด้วยแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐ
ปี68ธุรกิจบริการอาหารยังโตต่อเนื่อง!
“ธุรกิจบริการอาหาร” ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตาในปี 2568 จากอานิสงส์ท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งส่งผลให้การบริโภคอาหารน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐยังมีการอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ดันSMEอีอีซีบุกตลาดตปท.
ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะยังไม่ได้พูดถึงโครงการพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มากนัก เนื่องจากคงจะยุ่งกับการบริหารงานในแนวทางอื่นๆ อยู่ แต่กับหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
โรงไฟฟ้าฟอสซิลต้นทุนพุ่งโตช้า
ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิลยังคงมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2568 ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจจะโต 1% ชะลอลงจาก 2.8% ในปี 2567 จากการใช้ไฟฟ้าในภาคการผลิตและภาคบริการที่เพิ่ม