ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 26)

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร)  การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี  แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า

และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่  8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ? 

การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์  สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล

และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ   “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน)  )

กล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490  เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม

ในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าถึงเหยื่อใน “กบฏในจินตนาการ” ของพันเอก หลวงพิบูลสงครามในบทที่ 13 ที่มีชื่อว่า “ผู้รับกรรม” ที่ผู้เขียนขอนำมาถ่ายทอดดังต่อไปนี้

“จุดอ่อนในการที่บันทึกไว้ ตามนิสัยเคยชินที่เป็นครูบาอาจารย์ ทำให้ ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์ตกเป็นผู้ต้องหาคนเดียวที่มีหลักฐานเจตนาจะล้มล้างรัฐบาล แม้หลักฐานนั้นจะไม่ใช่กำลังทำการปฏิวัติ อัยการศาลพิเศษมิได้สนใจ

การบันทึกแนวความคิดที่ตนพิจารณาได้ โดยที่คิดว่าไม่เป็นภัยอันตรายอย่างไร และเพื่อจะโชว์เพื่อนฝูงลูก-ศิษย์ว่าเป็นแนวคิดของคนชั้นครู กลับกลายเป็นมีดเฉือนเชือดคอตัวเอง

มนุษย์ใดก็ตาม ถ้าแสดงออกเปิดเผย แม้เพียงสนใจใยดีต่อ พ.อ. พระยาทรงสุรเดช ก็จะถูกกาแดง ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์ เป็นผู้มีน้ำใจเด็ดเดี่ยวรักษาสัจจะวาจาและการกระทำของตน ยินดีรับต่อศาลพิเศษอย่างชื่นบานว่า ข้อความที่บันทึกไว้เป็นของตนแท้จริ ง และให้การว่าไม่นิยมหลวงพิบูลสงครามกับพวกแม้แต่น้อย                                           

กล้าหาญ ไม่กลับสัจจะแห่งความรู้สึกเพื่อรูปดีในทางหลุดพ้น การกระทำนี้เป็นเยี่ยงอย่างชายชาติทหารที่น่าสรรเสริญ เป็นคนจริงที่ควรยกย่อง   

ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์ เป็นชายโสด อายุประมาณ 30 ปีเศษ ขณะรับราชการในโรงเรียนรบจังหวัดเชียงใหม่ ข้าพเจ้าทราบว่า กำลังเริ่มติดต่อกับสุภาพสตรีสูงศักดิ์ท่านหนึ่งอย่างเงียบๆ  ชมภาพยนตร์ร่วมกันเสมอ ตามปกติ ร.อ. ขุนคลี่ฯ จะไม่สนใจกับสุภาพสตรีทั่วๆไป แม้จะมีรูปโฉมสะดุดตาเพียงไร เป็นชายโสดที่ห่างผู้หญิง แต่ใกล้ชิดกับกล้องยาเส้นมากที่สุด

นายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบทุกคนเรียก ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์ว่า ‘ครู’ ให้ความเคารพนับถือ และรักใคร่โดยทั่วไปกันอย่างเปิดเผย แต่แน่ละ ในจำนวนคนหมู่มาก ย่อมมีบางคนที่มีความรู้สึกไม่ชอบหน้า ‘ครู’ อย่างเงียบๆภายในใจได้ โดยเฉพาะเมื่ออัยการศาลพิเศษและเจ้าหน้าที่กลาโหมเรียนนายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบมาสอบสวนในกรุงเทพฯ

ความไม่ชอบหน้า ไม่พอใจในสิ่งเล็กๆน้อยๆ ที่มีต่อ ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์ ผสมกับต้องการสอพลอกลับกลายเป็นการใส่ร้ายป้ายสี สาดโคลนให้ ร.อ. ขุนคลี่ฯ เป็นจำเลยตัวสำคัญ และเป็นผู้รับกรรมหนัก

พ.อ. พระสิทธิเรืองเดชพล (แสง พันธุประภาส)

ในวันที่ศาลพิเศษอ่านคำพิพากษา ตัดสินประหารชีวิต ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์ และ พ.อ. พระสิทธิเรืองเดชพลนั้น ปรากฏตามที่มีผู้บันทึกไว้ว่า ท่านทั้งสองมีใบหน้าหมองคล้ำเกรียม แม้บางคราวจะยิ้มแย้ม แต่ก็เป็นการยิ้มที่เศร้าแสนเศร้า ยิ้มที่เยือกเย็น โดยเฉพาะในเช้าวันประหารชีวิต

ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า ใบหน้าที่หมองคล้ำนั้นจะเกิดจากความขลาด กลัวตายของบุคคลทั้งสอง ด้วยจิตสำนึกและความคุ้นเคยที่ใกล้ชิด พ.อ. พระสิทธิเรืองเดชพล และ ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์ ทำให้ข้าพเจ้ามั่นใจว่า เกิดหมองคล้ำบนใบหน้าเพราะคิดมาก ห่วงอาลัยมาก  เคียดแค้นเป็นอย่างยิ่ง  เมื่อคิดมากเหมือนพายเรือในอ่าง  วนไปเวียนมา ไม่เกิดผลประการใด ห่างไกลจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งสอนให้อภัยแก่ศัตรู  ปราศจากความอาฆาตเคียดแค้น จึงเกิดความมัวหมองเพราะปลงไม่ตก

บุคคลทั้งสองท่านเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญชาญชัยยิ่งนัก ทะนงในศักดิ์ศรีและเกียรติของตน เป็นมือชั้นครูอาจารย์ ความสำนึกในข้อนี้เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะไม่แสดงความหวาดกลัวออกไป

แต่อะไรที่ปรากฏเป็นความหมองคล้ำบนใบหน้า !

นั่นคือความเคียดแค้น การถูกเหยียดหยาม ใส่ความแบบมัดมือชก

ความห่วงใย อาลัยในครอบครัวของ พ.อ. พระสิทธิเรืองเดชพลมีมาก เพราะเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว มีบุตรชายสอง หญิงสอง ยังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนทั้งสี่คน ข้อนี้คงจะทำให้ท่านอาลัยคิดถึงอนาคตของบุตรอย่างยิ่ง เพิ่มความดำไหม้จนหมองคล้ำบนใบหน้า

โอกาสที่ พ.อ. พระสิทธิเรืองเดชพล จะคิดการใหญ่หลวงเพื่อความยิ่งใหญ่ของตน และพรรคพวกย่อมมีเสมอ โดยเฉพาะเมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับเหล่าทหารราบซึ่งเป็นเหล่าพลรบที่สำคัญที่สุด มีกำลังพลและอาวุธน่าเกรงขาม แต่ พ.อ. พระสิทธิเรืองเดชพลไม่มีความคิดเช่นนี้

ปี พ.ศ. 2472 ขณะที่ข้าพเจ้าสมัครเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกนั้น พระสิทธิเรืองเดชพลมียศเป็นพันโท ตำแหน่งสำคัญมากตำแหน่งหนึ่งในกองทัพบก  คือ เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบก

ปี 2475 พระสิทธิเรืองเดชพล ได้รับพระราชทานยศเป็นพันเอก

สมัยสมบูรณาญาสิทธิ์นั้น บุคคลที่จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย จะต้องเป็นผู้ที่มีบุคลิกลักษณะยอดเยี่ยมทุกประการ เพราะทรงคัดเลือกด้วยความยุติธรรม มิได้มีการปีนป่ายแย่งชิงกันเหมือนในสมัยหลังๆ ทั้งยังเป็นนายทหารตัวอย่างของนักเรียนนายร้อยทุกรุ่นทุกสมัย เป็นแบบเยี่ยงอย่างของผู้ที่จะไปเป็นนายทหารในกองทัพบกอันทรงเกียรติ

การที่ถูกย้ายไปเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบ ณ นครราชสีมานั้น ก็เพราะทางราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เจ็ด ประสงค์จะเลื่อนยศให้เป็นนายพันเอก สนองความดีความชอบที่ปฏิบัติมา

พ.อ. พระยาทรงสุรเดช ซึ่งตามปกติ ไม่ยินดียกย่องนายทหารคนใดให้ดีเด่นมากนัก ยังต้องยอมยกนิ้วและยกย่อง พ.อ. พระสิทธิเรืองเดชพล ว่าเป็นนายทหารผู้มีความรู้ความสามารถสูงคนหนึ่ง โดยเฉพาะในวิชายุทธวิธีและยุทธศาสตร์ ทั้งยังให้เกียรติเป็นเพื่อนใกล้ชิดเช่นเดียวกับ พ.อ. พระประศาสน์พิทยายุทธ

ในการประลองยุทธสมัยหนึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ทรงรับสั่งชมเชย พระสิทธิเรืองเดชพลว่าเป็นนายทหารที่มีความรู้ทันสมัยชั้นดีของกองทัพบกคนหนึ่ง

สำหรับข้าพเจ้า ในการเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาฐานะนักเรียนนายร้อย และท่าน พ.อ. พระสิทธิเรืองเดชพลเป็นผู้บังคับการโรงเรียนนั้น ซาบซึ้งดีว่าท่านเป็นนายทหารที่รักระเบียบวินัยอย่างยิ่ง กวดขันความประพฤติการฝึกวิชาทหาร สอดใส่ความเข้มข้น—เลือดทหารให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน จนดูเสมือนท่านเป็นผู้กดขี่บังคับหัวใจนักเรียนนายร้อยใหม่อยู่ทุกขณะ ท่านยอมเสียเวลาพักผ่อนในตอนกลางคืน เดินตรวจเวรยาม การหนีเที่ยวของนักเรียนนายทหารเป็นนิจศีล 

การฝึกวิชาทหาร ทั้งแถวชิดหรือฝึกในสนาม ท่านจะกวดขันเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการเดินสวนสนามเป็นกองร้อยหน้ากระดาน การฝึกการรบในทุ่งพญาไท

......ความดีเด่นของ พ.อ. พระสิทธิเรืองเดชพลในสายตาของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ พระบรมวงศานุวงศ์ และโดยเฉพาะ พ.อ. พระยาทรงสุรเดช ผู้ซึ่งยกย่องว่ามีความรู้ความสามารถสูง จนได้รับตำแหน่งผู้บังคับเหล่าทหารราบทั่วราชอาณาจักรนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่คณะผู้กุมอำนาจไม่พอใจ

นายทหารก่อการ 24 มิถุนายน 75 ชั้นผู้น้อยมีความทะเยอทะยานในตำแหน่งหน้าที่สูงในวงราชการทหารและการเมือง แต่ถูกบุคคลสำคัญชั้นหัวหน้า เช่น พ.อ. พระยาทรงสุรเดช พ.อ. พระยาฤทธิ์อัคเนย์ พ.ท. พระประศาสน์พิทยายุทธ  ร่วมกันปรามไว้มิให้ไต่เต้าขึ้นรวดเร็วนัก อันจะทำให้ชื่อเสียงของผู้ก่อการ 24 มิถุนายน 75 ต้องมัวหมอง ประชาชนจะเข้าใจผิดว่ายึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อหมู่คณะทหารมิใช่เพื่อประชาชนทั้งชาติ”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แพทองธาร' ปลุก สส.เพื่อไทยเหยียบคันเร่ง ให้ผลงานไปถึงประชาชนเร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานจากอาคารชินวัตร 3 ว่าบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่ช่วงเข้า โดยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางเข้าอาคารชินวัตร 3 ตั้งแต่เวลา 11.20 น. ขณะที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เดินทางเข้ามาในเวลา 11.40 น.

'อนาคตไกล' ชี้เปรี้ยงพรรคส้มแพ้เลือกตั้งนายกอบจ.ราชบุรี สะท้อน 'ยิ่งยุบยิ่งไม่โต'

'ภาณุวัฒน์-อนาคตไกล' ชี้ผลการเลือกตั้งนายกอบจ.ราชบุรี พรรคประชาชน แพ้ยับ สะท้อนก้าวไกลแปลงร่างทรงใหม่ 'ยิ่งยุบ ยิ่งไม่โต'

อ้อที่แท้รู้ล่วงหน้า! จบดรามา 'โพล์ค' เป็นสมาชิกพรรคครบ 90 วันหรือไม่

สืบเนื่องจากกรณี นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคุณสมบัติ ของนายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ หรือ "โพล์ค" ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราฎร(สส

โกรธมาก! 'นิพิฏฐ์' เปิดชื่อ 2 บุคคลทำเพื่อไทยกลับมายิ่งใหญ่

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส. พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กว่า หลายคน “โกรธมาก” ที่พรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย แต่โกรธ “น้อยกว่า” ที่พรรครวมไทยสร้างชาติที่มีแกนนำหลักของกปปส.ไป

ซ่อมสส.พิษณุโลกชักวุ่น! อดีตผู้พิพากษา ถามกกต. 'โพล์ค' เป็นสมาชิกพรรคถึง 90 วันหรือไม่

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา ๙๗ บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร