เบื้องหลังความเคลื่อนไหว อาเซียนไม่เชิญมิน อ่องหล่าย

เกมการทูตเรื่องอาเซียนกับ “มิน อ่องหล่าย” ผู้นำรัฐบาลทหารพม่ามีสีสันและการทูตละเอียดอ่อนที่น่าวิเคราะห์เป็นอย่างมาก

เป็นครั้งแรกที่อาเซียนบอกว่า เมื่อประเทศสมาชิกมีความขัดแย้งว่าใครคือตัวแทนที่แท้จริง ก็ขอไม่เชิญผู้นำทางการเมืองของทั้งฝ่าย SAC ของทหารและ NUG ของฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร

จะเชิญตัวแทนที่ “ไม่มีนัยทางการเมือง” มาแทน

ซึ่งก็ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นใครหรือมาจากแวดวงใด

มติของที่ประชุมนัดพิเศษรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า จะไม่เชิญพลเอกอาวุโสมิน อ่องหล่าย ของเมียนมา มาร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน 26-28 ตุลาคมนี้เป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนที่น่าสนใจยิ่งสำหรับอาเซียน

บรูไนในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ออกแถลงการณ์หลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่า เมื่อยังไม่มีความคืบหน้าในพม่าเพื่อกลับสู่กระบวนการประชาธิปไตย ก็จะไม่เชิญผู้นำทางการเมืองทั้ง 2 ฝ่ายมาร่วมประชุมสุดยอดสิ้นเดือนนี้

กระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมาออกแถลงการณ์แสดง “ความผิดหวังอย่างยิ่ง” และกล่าวหาว่าอาเซียนกำลังถูกอิทธิพลข้างนอกเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก

ปรากฏการณ์ครั้งนี้ในอีกแง่หนึ่งก็จะสะท้อนถึงลีลาท่าทีของไทยในเรื่องนี้อย่างมีนัยสำคัญต่ออนาคต “การทูตแบบไทยๆ” ของเราไม่น้อยเช่นกัน

ก่อนการประชุมออนไลน์ของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ซึ่งยอมให้ “รัฐมนตรีต่างประเทศ” วันนา หม่อง ลวิน ของรัฐมนตรีทหารพม่าเข้าร่วมประชุมด้วย มีการออกข่าวจากอาเซียนหลายประเทศเพื่อกดดันผู้นำทหารพม่าอย่างชัดเจน

เพราะก่อนหน้านั้นมีข่าวว่า มิน อ่องหล่าย หัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมา ยืนกรานปฏิเสธไม่ให้ นายเอรีวัน ยูโซฟ รัฐมนตรีต่างประเทศบรูไนคนที่ 2 ในฐานะทูตพิเศษของอาเซียน เข้าพบหารือกับนางอองซาน ซูจี

ด้วยข้ออ้างว่าเธอเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาสำคัญหลายคดี

รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์และฟิลิปปินส์ มีความเห็นตรงกันว่า การปฏิเสธเช่นนี้เป็นการขัดแย้งกับมติของอาเซียน เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ที่กรุงจาการ์ตา (ซึ่งมิน อ่องหล่าย ร่วมประชุมด้วย)

ประเด็นหลักคือ “ฉันทามติ 5 ข้อ” จากที่ประชุมผู้นำอาเซียนวันนั้น

สาระของฉันทามติระบุว่า นอกเหนือจากการให้ยุติความรุนแรงในทันทีแล้ว ยังมีข้อตกลงให้ผู้แทนพิเศษของอาเซียนเข้าพบหารือกับทุกฝ่ายเพื่อส่งเสริมให้เกิดกระบวนการสานสนทนาขึ้น, รวมทั้งต้องอนุญาตให้มีการเข้าถึงความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและการยุติการเป็นปฏิปักษ์ซึ่งกันและกันอีกด้วย

พอ มิน อ่องหล่าย “เบี้ยว” ข้อตกลง โดยเฉพาะเรื่องให้ตัวแทนพิเศษอาเซียนเข้าไปพบกับ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย” ในเมียนมา อาเซียนหลายประเทศก็เห็นว่าจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไม่ได้

เพราะหากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนมีภาพของผู้ก่อรัฐประหารของพม่าเข้าร่วมวงด้วย ภาพลักษณ์และความศักดิ์สิทธิ์ของอาเซียนก็ล่มสลายต่อหน้าต่อตาแน่นอน

มีรายงานก่อนหน้านี้ว่า บรูไนในฐานะประธานอาเซียน ถึงกับทำหนังสือแจ้งต่อ นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้เลื่อนการประชุมยูเอ็น-อาเซียน ซึ่งเป็นการประชุมทางไกลเสมือนจริงที่กำหนดขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคมออกไปก่อน

เพราะในที่ประชุมอาจจะมี นายวันนา หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมารวมอยู่ด้วย

อาจทำให้เกิดภาพว่าเป็นการให้การยอมรับรัฐบาลทหารเมียนมาโดยพฤตินัย

ตามมาด้วยการแสดงจุดยืนของอาเซียนหลายชาติ

เช่น รัฐมนตรีต่างประเทศของ มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และอินโดนีเซียออกมาให้สัมภาษณ์ว่าไม่ต้องการให้ มิน อ่องหล่าย เข้าร่วมอยู่ในการประชุมสุดยอดที่จะมีขึ้นในปลายเดือนนี้

ทีโอโดโร ล็อคซิน รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ ยืนยันว่า เห็นด้วยกับการกันผู้นำเมียนมาออกจากการประชุมสุดยอด

เพราะถ้านายพลพม่าคนนี้มาปรากฏตัวก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือของอาเซียนหายไปในทันที

จะทำให้อาเซียนจะกลายเป็นกลุ่มประเทศที่คำพูดแต่ละคำไร้ความหมาย ไร้คุณค่า ไม่มีใครในโลกยึดถือไปในที่สุด

ไซฟุดดิน อับดุลเลาะห์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ก็แถลงว่า ไม่ต้องการให้ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน

หากแผนสันติภาพ 5 ประการของอาเซียนยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ

นักวิชาการในแวดวงนี้วิเคราะห์ว่า ประเทศไทยและสมาชิกอื่นๆ ของอาเซียนมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อพม่าน้อยกว่า 4 ประเทศนี้

เป็นที่รู้กันว่ากระทรวงการต่างประเทศไทยได้พยายามยึดแนวทาง “การทูตเงียบ” หรือ quiet diplomacy เพื่อจะได้ไม่ดันให้ มิน อ่องหล่าย ต้องเข้าสู่สภาพ “หลังพิงกำแพง”

ซึ่งอาจจะยิ่งทำให้การหาทางรอมชอมในพม่ายุ่งยากมากขึ้นอีก

แต่ดูเหมือนเพื่อนๆ ของเราในอาเซียนอย่างน้อย 4 ประเทศ ที่แสดงจุดยืนแข็งกร้าวเพื่อลงโทษ “เด็กเกเร” อย่าง มิน อ่องหล่าย จะเห็นว่าความพยายามของไทยที่จะน้าวโน้มผู้นำรัฐประหารพม่านั้นไม่ได้ผลเสียแล้ว

จุดยืนของกระทรวงการต่างประเทศไทยเป็นอย่างไร พรุ่งนี้ว่าต่อครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ