ก่อนอื่นผมขออธิบายว่า ทำไมผมตั้งชื่อเรื่องวันนี้และอาทิตย์ที่แล้วว่า “Hey…Google!!!”
เหตุผลไม่ซับซ้อนและไม่ยากเลยครับ เพียงเพราะที่บ้านผมใช้ Smart Speaker ของ Google และเวลาจะเรียกใช้งานเขา จะต้องเริ่มต้นประโยค/คำถามด้วย “Hey…Google!!” หรือ “Hi…Google!!” ตอนแรกๆ ผมใช้ “Hi…Google!!” ต่อด้วยคำถาม แต่มันรู้สึกแปลกที่ต้องทักอย่างนั้นทุกครั้ง เลยเปลี่ยนเป็น “Hey…Google!!!” แทน
ผมขอออกตัวเลยว่าผมน่าจะเป็นทาสให้กับ Google ในตัว เพราะใช้ Gmail ใช้ Google Chrome ใช้ Google Search และอย่างที่บอกใช้ Google Smart Speaker ผมหันไปทางไหนในชีวิตประจำวัน
ผมเห็นแต่ Google ตั้งแต่นาฬิกาปลุกผ่าน Google Smart Speaker จนเช็กอีเมลผ่าน Gmail จนหาข้อมูลผ่าน Google Chrome กับ Google Search ผมจะทำอะไรก็แล้วแต่ ผมแทบต้องพึ่งพา Google เป็นหลัก
ซึ่งผมตอบไม่ได้ว่าเป็นเพราะผมเลือกเอง หรือถูกบีบบังคับจาก Google โดยที่ไม่รู้ตัว
เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมปูทางเรื่องศาลในสหรัฐวินิจฉัยว่า Google ผิดข้อกล่าวหาดำเนินธุรกิจออกแนวผูกขาด และไม่ใช่ผูกขาดธรรมดาครับ โคตรผูกขาดเลย!!! ประเภทครองตลาด จากกำไรมหาศาลที่ตนเองโกยมา ที่มาจากความโคตรผูกขาดของตน คือกีดกันไม่ให้คู่แข่งมีพื้นที่ปรากฏตัว บีบบังคับให้ผู้บริโภค (อย่างผม) เห็นแต่สิ่งที่ Google อยากให้เห็น จนทำให้ผู้ใช้ (อย่างผม) ต้องเป็นสาวกและทาสในตัว
ศาลตัดสินเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และในเดือนนี้จะต้องไต่สวนอีกรอบหนึ่งว่าบทลงโทษจะเป็นเช่นไร ตุลาการที่ดูแลเรื่องนี้ (Amit Mehta) คงลำบากใจครับ เพราะถ้าปรับ Google อ่อนไป ประเภทให้เสียค่าปรับ ตัวเลขค่าปรับจะมีความหมายอะไรต่อบริษัทที่มีกำไรเป็นพันๆ ล้านเหรียญฯ ต่อปี? ถ้าปรับน้อยไป Google ยิ้มหวาน จ่ายค่าปรับและทำงานต่อ
แต่ถ้าปรับเยอะไป ให้สมศักดิ์ศรีกับกำไร Google ต่อปีนั้น มันจะเป็นตัวเลขที่ดูเป็นการ์ตูนเกิน
สิ่งที่ Mehta ต้องพิจารณาคือ ต้องมีวิธีการลงโทษและปรับ Google ที่จะทำให้เขารู้สึกสำนึกผิดได้ แต่ในขณะเดียวกันมีผลกระทบน้อยที่สุดต่อผู้บริโภคที่เป็นสาวกและทาสของ Google ด้วย สมมติฐานว่า Mehta เลือกบังคับให้ Google เลิกสัญญาผูกขาดกับ Apple และสินค้า Apple ทั้งหมด บนเนื้อผ้า ดูเป็นการลงโทษที่ดี ดูเป็นการเปิดตลาดและเปิดโอกาสให้เจ้าอื่นทำการค้าขายและสร้างความสัมพันธ์กับ Apple ในตัว
แต่ Apple ถึงแม้ทำตามคำสั่งของศาลก็ตาม อาจเลือก Google มาเป็น Search Engine ในผลิตภัณฑ์ Apple ทุกชิ้นทุกตัวเหมือนเดิม เพียงแต่อาจมีข้อตกลงอื่นๆ ที่ไม่ใช่สัญญาเดิมก็ได้ ตามหลัก Search Engine ของ Google เขาดีจริงครับ ในยุคก่อนๆ Search Engine ยี่ห้ออื่นนั้น กว่าจะได้คำตอบต้องใช้เวลานานมาก Google เข้ามาครองตลาดได้เพราะความรวดเร็วและความแม่นยำของข้อมูล พิมพ์ปุ๊บได้ผลปั๊บ ไม่ต้องเสียเวลา
ดังนั้นประสิทธิภาพของ Google มันดีในตัว หรือดีในตัวเพราะกำไรมหาศาลที่ได้มาจากวิธีการผูกขาด ทำให้เขาสามารถลงทุนในตัวเองเพื่อให้พัฒนามากขึ้นๆ? ยิ่งผูกขาด ยิ่งสร้างกำไร ยิ่งปิดบังคู่แข่ง เลยยิ่งสร้างกำไร? ประเด็นมันจะหมุนเวียนอยู่ตรงนี้แหละครับ
ณ เวลานี้ ผมมองไม่ออกว่าใครจะเป็นคู่แข่ง Google ได้ดี เพราะคนเคยชินกับการใช้ Google ในชีวิตประจำวันไปแล้ว โดยที่ถูกบีบบังคับให้ใช้โดยที่ไม่รู้ตัว หรือเลือกเอง ก็แล้วแต่ครับ เพียงแต่มองไม่ออกว่าใครจะเป็นคู่แข่งเขาได้ แต่ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้าศาลไม่ตัดสินในครั้งนี้ ถ้าไม่มีใครฟ้องเขาในรอบนี้ พวกเราจะยิ่งถูกครอบงำและถูกปิดตามากยิ่งขึ้น ใครจะไปรู้ว่าในอนาคตจะมี Search Engine ทำได้ดีกว่า ทำได้เหนือกว่า และครองใจคนมากกว่า Google?
ด้วยการตัดสินของศาลในครั้งนี้ มันเป็นการเปิดโอกาสให้ว่าที่ “ผู้โค่นล้มยักษ์” ในอนาคตมีพื้นที่เสนอตัวให้เป็นทางเลือกได้ เพราะถ้ากฎระเบียบและเวทีการทำงานในด้าน Search Engine เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ การ Search หาอะไร จะไม่ใช้คำว่า Search แต่จะใช้คำว่า Google แทน ซึ่งผมยอมรับว่าโลกของผมถึงจุดนั้นแล้วครับ
ผลกระทบอีกจุดหนึ่งจากการตัดสินคดีนี้คือ จะเป็นบรรทัดฐานให้คดีอื่นๆ ที่รัฐบาลสหรัฐฟ้องบริษัท Tech ยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Meta/Facebook หรือ Apple หรือ Amazon บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้คงจับตามองคำวินิจฉัยของศาลต่อ Google อย่างใกล้ชิด และพวกเขาคงจับตามองว่าศาลจะปรับ และ/หรือลงโทษ Google อย่างไร
แต่สิ่งสำคัญที่สุด จากคำวินิจฉัยครั้งนี้เป็นการบ่งบอกและประกาศชัดเจนว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายถึงแม้จะมีกำไรมหาศาลก็ตาม ถึงแม้จะมีอิทธิพลล้นฟ้าก็ดี ยังไงๆ คุณไม่อยู่เหนือกฎหมาย คุณไม่อยู่เหนือหน่วยงานรัฐ และคุณไม่อยู่เหนือประเทศ คำวินิจฉัยในครั้งนี้จะเป็นสัญญาณเตือนบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายว่า ต่อจากนี้ไปคุณจะโกยกำไรด้วยวิธีผูกขาดและปิดตลาดไม่ได้อีกต่อไป คุณจะกีดกันไม่ให้คู่แข่งเกิดไม่ได้แล้ว และคุณจะทำตามใจอีกต่อไปก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน
ผมถึงบอกว่าคดีนี้เป็นคดีที่น่าสนใจ และควรจับตามองเป็นระยะๆ เพราะจะมีผลกระทบกับชีวิตพวกเราทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างที่บอกครับ ผมกลายเป็นสาวกและทาสของ Google ด้วยความเต็มใจ? หรือเพราะถูกบีบบังคับโดยที่ไม่รู้ตัว?.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Gisele Pelicot วีรสตรีของโลก
วันนี้ผมขออนุญาตเขียนเรื่องที่อาจสะเทือนใจ และสร้างความอึดอัดให้กับแฟนคอลัมน์หลายท่าน มันไม่ใช่เรื่องที่คนปกติจะนั่งพูดคุยกัน เป็นเรื่องสะเทือนใจ
สงครามที่โลกลืม…ปิดฉากไปแล้ว
มันแปลกจริงๆ ครับ ประมาณเกือบ 2 สัปดาห์ที่แล้ว อยู่ๆ ผมนึกถึงคอลัมน์ที่ผมเคยเขียน เรื่องเกี่ยวกับ “สงครามที่โลกลืม”
President Biden….You’re a Good Dad
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีสารพัดเรื่องที่น่าสนใจและน่าเขียนถึง เรื่องแรกต้องเป็นเรื่องประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ เพราะเป็นเรื่องไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น และถือว่าเป็นการประกาศฟ้าผ่าทีเดียว
คุยเรื่อง…ที่ไม่ใช่เรื่อง
เผลอแป๊บเดียว วันนี้เราเข้าเดือนสุดท้ายของปีแล้ว ถือว่าเราเข้าฤดูกาลซื้อของขวัญสำหรับคริสต์มาสและปีใหม่อย่างเป็นทางการ ถึงแม้ตามห้างต่างๆ
'ศาลอาญาระหว่างประเทศ….มีไว้ทำไม?'
เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC) ได้ออกหมายจับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล Benjamin Netanyahu
'BRO!!!!!'
เกือบ 2 สัปดาห์กับผลการเลือกตั้งในสหรัฐ ที่สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั่วไป เว้นบรรดานักวิเคราะห์แม่นๆ….หลังผลออกมา พวกนี้ยังพูดเต็มปากเต็มคำว่า