เมื่อวานผมเล่าเรื่องเนื้อหาของกฎหมายสหรัฐฯ ที่โอบอุ้มไต้หวันเพื่อประกอบการติดตามข่าวความตึงเครียดระหว่างปักกิ่งกับไต้หวันในช่วงนี้
กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาคองเกรสสหรัฐฯ วันที่ 10 เมษายน 1979 หลังจากสหรัฐฯ เปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และตัดสัมพันธ์กับไต้หวันอย่างเป็นทางการ
แต่วอชิงตันทิ้งไต้หวันไม่ได้ เพราะคบหากันมายาวนาน
สหรัฐฯ จึงต้องเขียนกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อ “ดูแล” ไม่ให้ไต้หวันถูกปักกิ่งกลืน
แต่ขณะเดียวกันภาษาที่ใช้ในการเขียนกฎหมายฉบับนี้ก็ “คลุมเครือและกำกวม” อย่างตั้งใจเพื่อส่งสัญญาณให้จีนว่าอย่าได้คิดใช้กำลังในการยึดครองไต้หวันเป็นอันขาด
กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าถ้าจีนบุกยึดไต้หวันด้วยกำลัง วอชิงตันมีพันธสัญญาที่จะต้องส่งทัพมาช่วยปกป้องไต้หวัน
แต่ก็เขียนไว้หลวมๆ ว่าสหรัฐฯ จะให้ไต้หวันมั่นใจว่าจะให้ความช่วยเหลือด้าน “อุปกรณ์และบริการด้านการทหาร” ในปริมาณและลักษณะเพียงพอที่จะปกป้องตนเองได้
ในขณะที่พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ทั้งอเมริกาและจีนต่างก็กำลังต้องการจะเปิดสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ จึงปล่อยให้เรื่องไต้หวันเป็นประเด็น “คลุมเครือ” สำหรับทั้ง 3 ฝ่ายจนถึงวันนี้
แต่หากอ่านรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้จริงๆ ก็จะเห็นว่ามีการใส่ข้อความเพิ่มเติมที่ทำให้อเมริกาต้องปกป้องไต้หวันมากกว่าเพียงแค่ให้อาวุธช่วยเหลือ
เพราะอีกตอนหนึ่งของข้อตกลงนี้เขียนว่า
“The US will consider any effort to determine the future of Taiwan by other than peaceful means, including by boycotts or embargoes, a threat to the peace and security of the Western Pacific area and of grave concern to the United States…”
นั่นแปลว่าสหรัฐฯ สงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาความพยายามอื่นๆ ในการกำหนดอนาคตของไต้หวัน...” นอกเหนือจากวิถีทางสันติ”
นั่นรวมถึงการคว่ำบาตรและวิธีการกดดันอื่นๆ
ในกรณีที่สหรัฐฯ เห็นว่ามี “ภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของย่านแปซิฟิกตะวันตก และมีลักษณะที่ก่อให้เกิดความน่ากังวลอย่างยิ่งต่อสหรัฐฯ”
พูดง่ายๆ คือหากสหรัฐฯ เห็นสมควร ก็จะสามารถใช้วิธีการต่างๆ (โดยไม่ได้ปิดช่องทางการใช้กำลังทหาร) หากมีเหตุที่สหรัฐฯ เองเห็นว่าเป็นภัยของตนในทุกรูปแบบ
และประโยคต่อไปที่ตอกย้ำว่าวอชิงตันมีทางเลือกที่จะใช้กำลังเพื่อช่วยไต้หวันได้เช่นกันนั่นคือ
“The US will have a policy to provide Taiwan with arms of a defence character…and to maintain the capacity of the US to resist any resort to force or other forms of coercion that would jeopardize the security, or the social or economic system, of the people of Taiwan…”
ผมตีความว่านี่คือวิธีการเขียนกฎหมายที่กินความกว้างพอที่จะให้สหรัฐฯ ทำอะไรก็ได้หากตีความได้ว่าไต้หวันถูกคุกคาม (ไม่ว่าจะเป็นทางความมั่นคง, สังคมหรือเศรษฐกิจ”)
เห็นหรือยังว่ามหาอำนาจนั้นมีวิธีการดำเนินนโยบายทั้งทางตรงและผ่าน “ภาษาการทูต” ที่เปิดทางให้ตนสามารถทำอะไรที่ตนต้องการได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากประเทศอื่นใด
ก็ด้วยเนื้อหาสาระในข้อความนี้ภายใต้ Taiwan Relations Act นี่แหละที่เปิดทางให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทุกคนที่ผ่านมาสามารถขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวันได้อย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านต่อต้านจากจีนแผ่นดินใหญ่ตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ตาม
สหรัฐฯ ยึดเอากฎหมายฉบับนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนในภูมิภาคนี้ผ่านไต้หวัน
แต่จีนแผ่นดินใหญ่ย้ำเตือนวอชิงตันตลอดเวลาเช่นกันว่าสหรัฐฯ กับจีนมี “แถลงการณ์ร่วม” (Joint Communiques) อย่างน้อย 3 ฉบับที่ยอมรับนโยบาย “จีนเดียว” หรือ One China Policy ตลอดมา
แต่ “แถลงการณ์ร่วม” ระหว่างประเทศเป็นเพียง “ความเข้าใจระหว่างกัน” มิได้มีผลทางกฎหมายระหว่างประเทศแต่ประการใด
อีกทั้งการตีความว่านโยบาย “จีนเดียว” นั้นมีผลทางปฏิบัติอย่างไรก็แตกต่างกันระหว่างจีน, ไต้หวันและสหรัฐฯ
จีนแดงถือว่าจีนเดียวแปลว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และทุกอย่างของไต้หวันเป็นเรื่อง “กิจการภายใน” ของจีน
รัฐบาลไต้หวันปัจจุบันยืนยันว่าตนไม่เคยเห็นพ้องกับการตีความ “นโยบายจีนเดียว” แบบของปักกิ่ง
ไต้หวันตีความว่า “จีนเดียว” นั้นหมายถึงไต้หวันเป็นหลัก จีนแผ่นดินใหญ่ต้องยอมตามไต้หวัน
วอชิงตันตีความว่า “จีนเดียว” หมายถึงการคบหาระหว่างสหรัฐฯ กับปักกิ่ง
แต่สงวนสิทธิ์ที่จะมีความสัมพันธ์ “อย่างไม่เป็นทางการ” (แต่ยังเหนียวแน่นเหมือนเดิม) กับไต้หวัน
เมื่ออ่านกฎหมาย Taiwan Relations Act ของอเมริกาแล้วจึงเข้าใจได้ว่าทำไมทั้ง 3 ฝ่ายจึงไม่อาจจะตกลงกันได้
และต้องหันมาใช้วาทกรรมและการยกระดับภาษากายและส่งเครื่องบินรบบินว่อนเต็มน่านฟ้าเหนือช่องแคบไต้หวันอย่างที่เห็นกันวันนี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว
อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79
วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021