เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ในสหรัฐอเมริกา มีการตัดสินคดียักษ์ใหญ่ ที่จะมีผลกระทบและเขย่าโลก ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่แน่ครับ ดีไม่ดีอาจเป็นชิ้นโบแดงของ Joe Biden ก็ได้
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลในสหรัฐมีการตัดสินว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ Google ประกอบธุรกิจออกแนวผูกขาดตลาด และผูกขาดตลาดประเภท ปิดทุกหนทางรายอื่นและคู่แข่ง ไม่ให้มีเนื้อที่ประกอบธุรกิจ เพื่อเสนอตัวเองเป็นทางเลือก ที่ผมบอกว่าอาจเป็นชิ้นโบแดงของ Biden เพราะเขาประกาศชัดเจนว่า การกระทำแบบนี้ไม่ถูกต้อง ในฐานะเป็นประธานาธิบดี เขาสนับสนุนให้มีการค้าเสรี ให้มีการแข่งกันระหว่างธุรกิจ ให้ผู้บริโภคมีสิทธิ์เลือกรายไหนที่ถูกใจเขา
ทาง Biden กับศาลมีความเห็นว่า Google ใช้กำไรมหาศาลของตนเอง ปิดทุกช่องทาง ไม่ให้คู่แข่งเกิด ไม่ให้ผู้บริโภคสัมผัสคู่ต่อสู้ เหมือนบีบบังคับให้ผู้บริโภคเห็นแต่ความเป็น Google เจ้าเดียวเท่านั้น ยกตัวอย่างครับ Google เซ็นสัญญาผูกขาดกับ Apple เพื่อให้ Google เป็น Search Engine รายเดียว และเจ้าเดียวในอุปกรณ์ของ Apple ทุกชนิด จึงทำให้ Google ครองตลาด Search Engine ถึง 90% และเฉพาะในกลุ่มโทรศัพท์มือถือนั้น ครองตลาดถึง 95% (สัญญาที่เซ็นไว้ ไม่ใช่หลักร้อยล้าน แต่เป็นพันๆ ล้านเหรียญฯ ต่อปีครับ)
Google ประกาศชัดเจนว่า เขาจะอุทธรณ์ และจะต่อสู้ให้ถึงที่สุด ซึ่งน่าจะยืดเป็นปี เพราะตอนนี้ทางศาลยังไม่ประกาศลงโทษอย่างไร และยังไม่ประกาศค่าปรับใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งน่าจะมีการไต่สวนอีกรอบเดือนหน้าครับ แต่ก่อนจะดูว่าผลกระทบของการตัดสินในครั้งนี้ จะมีต่อพวกเรา ผู้บริโภค และโลก Big Tech ทั้งหลายนั้น ผมว่าวันนี้เรามาทบทวนและย้อนกลับไปดูว่า ที่มาที่ไปของคดีนี้มีอะไรบ้าง
เมื่อปลายปี 2020 มีการยื่นฟ้อง Google จาก 3 เจ้า ที่กล่าวหา Google ใช้วิธีการผูกขาดครองตลาด ซึ่งจริงๆ แล้ว Google ถูกกล่าวหาเรื่องนี้มาโดยตลอดจากคู่ต่อสู้ คู่แข่ง ผู้บริโภค สมาชิกสภาคองเกรส และกลุ่มนักเคลื่อนไหวเป็นระยะและเป็นประจำอยู่แล้ว เพียงแต่คราวนี้ เป็นครั้งแรกที่มีการรวบรวมอย่างเป็นทางการและจริงจัง ทั้ง 3 คดีมีความคล้ายในประเด็น แต่จะมีแง่มุมและรายละเอียดแตกต่างกันออกไปครับ
คดีแรก เป็นการรวมตัวของอัยการระดับรัฐ 33 รัฐ ที่จะเน้น Google Search เป็นหลัก ในคดีนี้ข้อกล่าวหาเป็นอย่างที่บอกครับ Google ใช้กำไรมหาศาลของตนเอง ปิดช่องทางคู่แข่งและคู่ต่อสู้ “ทำมาหากินได้” เช่น เซ็นสัญญาผูกขาดกับ Apple
ส่วนที่ 2 คือให้ Search Engine ของตัวเอง ปิดบังชื่อคู่แข่ง ถึงแม้ผู้บริโภคจะพิมพ์ชื่อคู่แข่งด้วยตนเองก็ตาม แทนที่จะขึ้นมาเยอะๆ เหมือนเวลาเรา Search อะไรก็ตาม เมื่อเป็นชื่อคู่แข่งเข้าไป ดันขึ้นไม่เยอะเท่าที่ควร สมมติฐานว่า Search คำว่า “Thailand” ปกติ ผลจะขึ้นมารวดเร็ว และปรากฏหลายหน้าใช่ไหมครับ? แต่พอ Search คู่แข่งของ Google กลับมีผลน้อย และกลายเป็นผลที่รายงานข่าวด้านลบปนกับผลทั่วไป ส่วนที่ 3 คือคู่แข่งรายอื่นที่ไม่ใช่คู่แข่งโดยตรง เช่น Expedia/Agoda ที่มีหน้าที่เจาะจง และมีผู้บริโภคในวงแคบ จะปรากฏตัวใน Google ได้ต่อเมื่อ ผ่านบริการของ Google ที่ให้บริการแนวเดียวกันก่อน คือกว่าจะถึง Expedia/Agoda ผ่าน Google จะต้องเจอ Google Travel แย่งซีนก่อนครับ
(แต่สำหรับผม เวลาผม Search หาอะไรผมไม่เคยเจอปัญหา…หรือว่า ผมถูกล้างสมองให้พึ่งพา Google โดยไม่รู้ตัวไปแล้ว?)
คดีที่ 2 เน้นเรื่องโฆษณาใน Google เป็นหลัก เนื้อหาอยู่ที่ว่า Google ใช้กำไรมหาศาลของตนเอง (กำไรจากโฆษณาอยู่ที่เกือบ 200 พันล้านเหรียญฯ ต่อปี) จากการโฆษณา เพื่อบีบบังคับตลาด และไม่เปิดโอกาสให้คู่แข่งและคู่ต่อสู้มีโอกาสโฆษณาผ่าน Google ได้ เพราะตั้งราคาสูงเกิน ใช้วิธี 2 มาตรฐาน และกีดกันทั้งทางตรงและทางอ้อม ถ้าคู่ต่อสู้สามารถลงโฆษณาใน Google ได้ มันจะเป็นกรอบเล็กๆ เปรียบเสมือนถ้ากะพริบตาจะไม่เห็นแล้ว
ในคดีนี้ มีอีกประเด็นน่าสนใจคือ มีการกล่าวหาว่า Google กับ Facebook แอบจับมือฮั้วกัน มีข้อตกลงลับ ว่าต่างคนต่างไม่แข่งกัน เป็นพันธมิตรกัน จับมือร่วมกันแข่งกับคนอื่นด้วยซ้ำ ซึ่งตรงนี้อาจจะทำให้ทั้ง Google และ Facebook ต้องถูกลงโทษอย่างหนัก
หัวใจของคดีที่ 2 อยู่ที่กระบวนการของ Google ที่จะครองตลาด โฆษณาผ่านสื่อตัวเอง ถ้าเปรียบเทียบคือ ถ้าตลาดหลักทรัพย์ ทำหน้าที่ซื้อขายหุ้นด้วย คิดดูว่าตลาดหลักทรัพย์จะได้เปรียบมากน้อยขนาดไหน คงไม่ต่างกับผู้นำรัฐบาล ออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ครอบครัว กับบริษัทตัวเอง โดยที่กีดกันการแข่งขันและความสามารถของภาคเอกชนและบริษัทอื่นๆ (ผมไม่ได้กล่าวหาใครนะครับ เพียงแต่เปรียบเทียบให้เห็นภาพเฉยๆ)
ส่วนคดีที่ 3 เป็นคดีที่ กระทรวงยุติธรรม (Department of Justice) และรัฐอีก 11 รัฐยื่นฟ้องเอง
คดีนี้เหมือนจะรวม 2 คดีที่เกริ่นไว้แล้ว เพียงแต่ว่าอันนี้มีน้ำหนักกว่า เพราะเป็นกระทรวงยื่นเองเลย และยื่นก่อนด้วยซ้ำ ในคดีนี้ จะกล่าวหา Google ใช้วิธีผูกขาด เพื่อรักษาธุรกิจผูกขาดของตนเอง อย่างที่บอกครับ ให้ Search Engine ตัวเองกีดกัน และปิดบังคู่แข่ง รวมถึงปิดโอกาสให้คู่แข่งมีเนื้อที่โฆษณาตัวเองได้ผ่าน Google ทั้งๆ ที่ตามเนื้อผ้า Google เป็นพื้นที่และเวทีเสรี ที่ข้อมูลข่าวสารอิสระ ควรไหลมาเทมาโดยที่ไม่มีเงื่อนไขอะไรทั้งสิ้น แต่กลายเป็นว่า Google บีบบังคับเนื้อที่และเวทีเสรีตรงนี้ ให้พวกเรา (ผู้บริโภค) เห็นแต่สิ่งที่ Google อยากให้เราเห็น
เพราะเขาทำได้ และเขาทำโดยที่เราไม่รู้ตัว
วันนี้ถือว่าเป็นการปูทางและอธิบายที่มาที่ไปของ 3 คดีครับ ในสัปดาห์หน้าเราจะพูดถึงผลการตัดสินศาลกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Gisele Pelicot วีรสตรีของโลก
วันนี้ผมขออนุญาตเขียนเรื่องที่อาจสะเทือนใจ และสร้างความอึดอัดให้กับแฟนคอลัมน์หลายท่าน มันไม่ใช่เรื่องที่คนปกติจะนั่งพูดคุยกัน เป็นเรื่องสะเทือนใจ
สงครามที่โลกลืม…ปิดฉากไปแล้ว
มันแปลกจริงๆ ครับ ประมาณเกือบ 2 สัปดาห์ที่แล้ว อยู่ๆ ผมนึกถึงคอลัมน์ที่ผมเคยเขียน เรื่องเกี่ยวกับ “สงครามที่โลกลืม”
President Biden….You’re a Good Dad
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีสารพัดเรื่องที่น่าสนใจและน่าเขียนถึง เรื่องแรกต้องเป็นเรื่องประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ เพราะเป็นเรื่องไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น และถือว่าเป็นการประกาศฟ้าผ่าทีเดียว
คุยเรื่อง…ที่ไม่ใช่เรื่อง
เผลอแป๊บเดียว วันนี้เราเข้าเดือนสุดท้ายของปีแล้ว ถือว่าเราเข้าฤดูกาลซื้อของขวัญสำหรับคริสต์มาสและปีใหม่อย่างเป็นทางการ ถึงแม้ตามห้างต่างๆ
'ศาลอาญาระหว่างประเทศ….มีไว้ทำไม?'
เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC) ได้ออกหมายจับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล Benjamin Netanyahu
'BRO!!!!!'
เกือบ 2 สัปดาห์กับผลการเลือกตั้งในสหรัฐ ที่สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั่วไป เว้นบรรดานักวิเคราะห์แม่นๆ….หลังผลออกมา พวกนี้ยังพูดเต็มปากเต็มคำว่า