รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร) การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง
ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า
ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า
และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า
การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ?
การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร
ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล
และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน) )
กล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม
ในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าถึงการเสียชีวิตจากการเป็น “กบฏในจินตนาการ” ของพันเอก หลวงพิบูลสงครามในบทที่ 12 ที่มีชื่อว่า “ผู้บริสุทธิ์” ที่ผู้เขียนได้เล่าค้างไว้ และจะขอเล่าต่อในตอนนี้
“…..พล. ท. พระยาเทพหัสดิน ได้กล่าวว่า ความผิดฉกรรจ์ของนายทหารหนุ่มทั้ง 5 คน ก็มีเพียงเพราะเคยเป็นศิษย์ใกล้ชิดสนิทสนมกับ พ.อ. พระยาทรงสุรเดชเท่านั้น
นายทหารหนุ่มทั้ง 5 นั้น คือ:-
1. ร.ท. แสง วัณณศิริ 2. ร.ท. เสริม พุ่มทอง 3. ร.ท. สัย เกษจินดา 4. ร.ท. บุญลือ โตกระแสร์ 5. ร.อ. จรัส สุนทรภักดี
……..ข้าพเจ้ามั่นใจว่า ร.ท. เสริม ฯ เป็นบุคคลที่รักใครแล้วรักจริง มั่นคงเหมือนเสาหิน ความคิดข้อนี้แสดงปราฏชัดในเวลาสามปีต่อมา ขณะที่ทางราชการกลาโหมเรียกตัวนายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบมาสอบสวนในกระทรวงที่กรุงเทพฯ และยิ่งมั่นคงขึ้นไปอีก ตลอดเวลาที่ต้องหาเป็นกบฏอยู่ในคุกจนถึงวันประหารชีวิต
เมื่อแพโรงเรียนแตก เพราะคำสั่งปลด พ.อ. พระยาทรงสุรเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนรบออกจากประจำการไม่มีบำนาญนั้น นายทหารฝึกหัดราชการผู้เป็นศิษย์ทั้งหลายหวาดเกรงภัยอันอาจจะมีมากกระทบวิถีชีวิตของเขาได้ ภัยอันนั้นหมายถึงภัยมืดทั้งทางตรงและทางอ้อม
นายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบ แม้จะมีความจงรักภักดีต่อ พ.อง พระยาทรงสุรเดชอย่างยิ่งเพียงไรก็ยังมีความคิดที่จะปลีกตัวออกห่างเท่าที่จะทำได้ เพราะมองเห็นแน่วแน่แล้วว่า จะได้รับภัยอย่างแน่นอนทั้งในทางราชการและส่วนตัว พวกผู้กุมอำนาจเด็ดขาดในอันจะบันดาลวิถีชีวิตของนายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบทุกคนให้รุ่งเรืองสดใสหรือมัวหมองดำมืด หรือแม้แต่จะเป็นผู้ต้องหาคดีกบฏ ซึ่งหมายถึงความตาย ความทรมานในคุกมหันตโทษ
แต่ชายชาตรีอย่าง ร.ท. เสริม พุ่มทอง หล่อหลอมด้วยความรักอันมั่นคง ซื่อสัตย์ภักดีต่อ พ.อ. พระยาทรงสุรเดชเสมอต้นเสมอปลาย ไม่สั่นคลอนเพราะหวาดกลัวภัยใด ๆ
ร.ท. เสริม กล้าหาญพอที่จะมาพักในบ้าน พ.อ. พระยาทรงสุรเดช พร้อมด้วยครอบครัวของท่านในกรุงเทพฯ ซึ่งอย่างน้อยก็ทำให้บุคคลในครอบครัวอบอุ่น ขวัญดี ไม่จมอยู่ในปลักแห่งความว้าเหว่อ้างว้าง และด้วยเหตุนี้เอง เขาก็ถูกจับกุมต้องหาเป็นกบฏ ภายหลังที่อยู่ร่วมกับครอบครัว พ.อ. พระยาทรงสุรเดช ได้เพียง 10 วันเท่านั้น
ความกตัญญูรู้คุณของนายทหารหนุ่มผู้นี้ แน่วแน่มั่นคง เหมือนขุนเขาหิมาลัย ปราศจากความหวาดกลัวสะทกสะท้านต่อภัยมืด ทั้ง ๆที่ทราบดีว่าอาจได้รับความทุกข์ยาก แต่เขาก็ไม่ยอมปลีกหนีเอาตัวรอด ตรงข้ามกลับเข้าใกล้รับใช้ในยามวิบัติ และเต็มไปด้วยมหันตภัย
แน่นอน มหันตภัย ! เลือดและชีวิตเป็นเดิมพัน
ท่านผู้ใดก็ตามที่มีมิตรเช่นนี้ ย่อมจะต้องซาบซึ้งในความเสียสละของเขา
ระหว่างต้องหาเป็นกบฏของศาลพิเศษ ร.ท. เสริมมิได้เสียขวัญ พยายามแก้ข้อหาด้วยวิธีการต่างๆ เพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ของคนร้อยเปอร์เซ็นต์
ข้อหาประเด็นสำคัญ คือนำปืนกลมาตั้งที่สถานีหัวลำโพงพร้อมกับพวกเพื่อล้มล้างรัฐบาล แต่ในวันดังกล่าวตามข้อหา ร.ท. เสริม ผู้ซึ่งรับรับราชการประจำอยู่ ณ จังหวัดราชบุรียังคงอยู่ในค่ายทหารราชบุรี โดยเฉพาะและสำคัญยิ่ง ตามเวลาในสำนวนฟ้องนั้น ร.ท. เสริมกำลังเล่นฟุตบอลการกุศลให้แก่จังหวัด ท่ามกลางสายตาปวงชนนับพันคู่
เขาน่าจะอ้างอิงบุคคลหลายคนเป็นพยานหักล้างข้อกล่าวหาใส่ร้ายได้เป็นอย่างดี แสดงความบริสุทธิ์อย่างผุดผ่องต่อศาล เหตุการณ์ควรจะเป็นเช่นนั้น
แต่โดยอำนาจมหาศาลของผู้กุมอำนาจแผ่ปกคลุมไปทั่วประเทศไทย เขาไม่ได้พยานมาหักล้างข้อความข้อกล่าวหาแม้แต่คนเดียว
ศาลพิเศษ ฯ ไม่ให้สิทธิ์ในการตั้งทนายแก้คดีแก่ผู้ต้องหาทุกคน ผู้ต้องหาทุกคนจะขอร้องวิงวอนเพื่อความยุติธรรมในคดีมิได้ ต้องใช้สมองตนเอง วิธีการของตนเองแก้ข้อหา ซึ่งเป็นการเสียเปรียบที่สุดในกระบวนการยุติธรรม
ร.ท. เสริม ปรารถนาจะขอความเห็นใจเพื่อนนายทหารผู้รักใคร่คนหนึ่งคนหนึ่งให้เป็นพยานว่า ร.ท. เสริม กำลังเล่นฟุตบอลอยู่กลางสนามกีฬาเมืองราชบุรี ในขณะที่ถูกกล่าวหาว่านำปืนกลหนักตั้งยิงบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง เขาจึงเขียนจดหมายด้วยอักษรขนาดจิ๋วบนกระดาษแผ่นน้อยพับใส่ตะเข็บเสื้ออย่างมิดชิด ส่งออกนอกเรือนจำขณะญาติมาเยี่ยม ญาติผู้นำสงสารได้รีบไปกรมทหารราชบุรีโดยด่วนนำจดหมายให้นายทหารพยาน
นายทหารเพื่อนรักของ ร.ท. เสริม ผู้ที่ ร.ท. เสริมเห็นว่า เป็นเทวดาองค์เดียวที่จะปลดเปลื้องทุกข์ของตนให้พ้นไป มีอาการสะอึก ตาเหลือกลานเพราะความเกรงกลัวอำนาจอิทธิพล พยายามขับไล่ไสส่งญาติผู้ถือจดหมายนั้นโดยไม่เกรงใจใด ๆทั้งสิ้น เขาบอกสั้น ๆว่า แม้จะเป็นความจริงตามที่ ร.ท. เสริมขอร้อง แต่เขาก็ช่วยอะไรไม่ได้ ขออย่าให้เขาเข้าไปเกี่ยวข้องในคดีศาลพิเศษแม้แต่น้อย และห้ามมิให้ญาติ ร.ท. เสริมบอกกับผู้ใดด้วยว่ามาหาเขาถึงราชบุรี
ร.ท. เสริม พุ่มทอง เมื่อทราบว่า เพื่อนรักปฏิเสธความช่วยเหลือครั้งสำคัญ ถึงกับอุทานว่า
‘นี่หรือเพื่อน ที่เคยพูดว่าเราจะรักกันจนวันตาย’
น้ำใจมิตรแท้หรือมิตรเทียม จะเห็นกันได้ในยามทุกข์ยากเท่านั้น
ความหวังที่จะหลุดพ้นจากคดีกบฏเป็นอันเลื่อนลอยปลาสนาการไปสิ้น
แม้ว่าจะสิ้นหวังในชีวิต แต่จิตใจ ร.ท. เสริมยังเข้มแข็ง กร้าวแกร่งใกล้เคียงกับ ร.ท. ณ. เณรในระหว่างต้องขัง ณ คุกมหันตโทษ บางขวาง ตราบกระทั่งเสียงปืนกลแบล็คมันแผดคำรามในเช้าตรู่ วันที่ 3 ธันวาคม 2482
จำเลยทุกคนของศาลพิเศษครั้งนี้ ถ้าหากมีโอกาสได้รับการพิจารณาคดีตามกระบวนการยุติธรรม ข้าพเจ้ามั่นใจแน่วแน่ว่า ร.ท. แสง วัณณศิริ และ ร.ท. เสริม พุ่มทองเป็นผู้บริสุทธิ์ ปราศจากมลทินใดๆ
ข้าพเจ้าทราบดีว่า ตลอดชีวิตของบุคคลทั้งสอง มิได้คิดร้ายต่อใครทั้งสิ้น แสวงหาความรู้แต่ในวิชาทหารทำงานเพื่อชาติแท้จริง ไม่เกี่ยวข้องสนทนาถึงการบ้านการเมืองแม้แต่น้อย
เขาเป็นผู้บริสุทธิ์
แม้เวลาจะล่วงเลยมานับสิบ ๆปีแล้ว ข้าพเจ้าก็มิได้ลืมมิตรแท้คู่นี้ ข้าพเจ้าพร่ำบ่นแต่ในดวงใจครุ่นคำนึงถึงเขาตลอดเวลา
แสง และ เสริม
ข้าพเจ้าอุปสมบทในพระบวรพุทธศาสนา ก็เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เขาทั้งสองด้วย เป็นประการสำคัญในเจตนา 3 ข้อ”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อิ๊งค์' ยัน ทักษิณ-เพื่อไทย หาเสียงเลือกตั้งอบจ. เป็นไปตามกฎหมาย
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในฐานะหัวหน้
หนาว! คำร้องยุบพรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริง
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงคำร้องยุบ 6 พรรคการเมืองว่
'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ
‘ทักษิณ’ กับการติดคุกครั้งใหม่!
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “คุณ ทักษิ
พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร