น่าสนใจว่ารางวัลโนเบลสันติภาพปีนี้เป็นของ “คนข่าวที่สู้เพื่อความจริง”
เพราะปีก่อนๆ นี้ผู้ที่ได้รับรางวัลนี้มักจะเป็นบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวกับงานเพื่อสังคม, ต่อต้านสงครามหรือนักการเมืองที่มีผลงานสร้างสรรค์ที่โยงกับ “สันติภาพ”
เช่น อองซาน ซูจี และบารัค โอบามา
องค์กรนานาชาติที่ได้รับรางวัลนี้ก่อนหน้านี้มี เช่น World Food Program ซึ่งเป็นกลไกสากลเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากจนและหิวโหยโดยไม่คำนึงถึงการเมือง
หรือ ICAN (International Campaign to Abolish Nuclear Weapons) ของออสเตรเลียที่มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ให้เลิกอาวุธนิวเคลียร์
ปีนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่ “คนข่าว” ที่ดิ้นรนต่อสู้กับอำนาจเผด็จการเพื่อทำความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณชนได้รับเกียรติเช่นนี้
เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า หากสื่อมีอิสรเสรีอย่างแท้จริงในการทำหน้าที่ขุดคุ้ยหาความจริง เปิดโปงความชั่วร้ายและพฤติกรรมที่น่ารังเกียจของผู้มีอำนาจ ก็ควรจะนำไปสู่ “สันติภาพที่ยั่งยืน” สำหรับโลกได้เช่นกัน
มาเรีย เรซซา (Maria Ressa) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Rappler ของฟิลิปปินส์ และดมิทรี มูราตอฟ (Dmitry Moratov) ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ Novaya Gazet ของรัสเซีย จึงเป็นตัวแทนของคนทำสื่ออาชีพที่ควรได้รับการชื่นชมในการต่อสู้เพื่อความจริง
มาเรียกล่าวหลังจากได้รับทราบข่าวว่าเธอเป็นเจ้าของรางวัลนี้ว่า การที่คณะกรรมการโนเบลตัดสินมอบรางวัลนี้ให้กับเธอและเพื่อคนข่าวรัสเซียนั้น สะท้อนถึงความตระหนักถึงความสำคัญของสื่อมวลชนใน "การต่อสู้เพื่อข้อเท็จจริง"
เธอบอกว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ควรเห็นรางวัลนี้ว่าเป็นชัยชนะสำหรับเพื่อนชาวฟิลิปปินส์และนักข่าวของเธอ
มาเรียย้ำว่า "เมื่อมีความยุติธรรม ความมืดก็ย่อมจะสลายหายไป"
มาเรียก่อตั้ง Rappler ซึ่งเป็นสื่อดิจิทัลที่เธอร่วมก่อตั้งในปี 2012
ทีมข่าวเล็กๆ ที่เธอสร้างขึ้นได้เป็นที่รู้จักในเวลาไม่นานนักจากการรายงานข่าวสืบสวนคดี “วิสามัญฆาตกรรม” ผู้คนจำนวนมากโดยฝีมือของตำรวจ ภายใต้โครงการที่อ้างว่าเป็นการปราบปรามผู้ค้ายาเสพติด
แต่ภายใต้ประธานาธิบดีดูเตร์เต มีผู้ถูก “วิสามัญฯ” หลายพันคนที่เข้าข่ายว่าเป็นผู้ถูกกลั่นแกล้งหรือเป็นศัตรูของนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น
ดูเตร์เตเคยประกาศว่ามาเรียและ Rappler เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เพราะการไปขุดคุ้ยเรื่องชั่วร้ายของรัฐบาลของเขา
วันนี้มาเรีย วัย 58 ปี และนักข่าวในเครือข่ายก็ยังถูกดำเนินคดีมากมายหลายกระทง
ถึงวันนี้มาเรียต้องรอประกันตัวถึง 10 ครั้ง เพราะถูกทางการฟ้องร้องดำเนินคดีโดยกล่าวหาเธอทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นคดีหมิ่นประมาท
ไม่ว่าจะเป็นข้อหาหลบเลี่ยงภาษี
ไม่แต่เท่านั้น รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังกำลังกลั่นแกล้งเธอด้วยการระงับใบอนุญาตการดำเนินกิจกรรมของ Rappler เมื่อ 3 ปีก่อน
ขณะนี้อยู่ในระหว่างการต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อเธอจะขอคืนใบอนุญาตนั้น
ด้วยข้อกล่าวจากทางการว่า มีการกระทำที่ละเมิดกฎหมายว่าด้วยการที่มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ
มาเรียถูกไล่ล่าและกล่าวร้ายด้วยกระบวนการของรัฐบาล
จนเธอบอกว่า “การเป็นนักข่าวไม่เคยยากเหมือนทุกวันนี้มาก่อน”
ส่วนนักข่าวคนกล้ารัสเซียมาราตอฟนั้น พอได้ข่าวเรื่องรางวัลโนเบลร่วมกับมาเรียก็ประกาศทันทีว่า
เขาต้องอุทิศรางวัลให้กับผู้สื่อข่าวในสังกัดของเขา 6 คนที่ถูก “เก็บ” ด้วยมือฆาตกรที่สั่งการโดยผู้มีอำนาจที่ต้องการสกัดกั้นการทำหน้าที่เปิดโปงความชั่วร้ายของรัฐบาล
มูราตอฟปีนี้อายุ 59 ปี เป็นผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์ "โนวายา กาเซตา" ในปี 1993 เพื่อทำหน้าที่คนหนังสือพิมพ์ที่อิสระ หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต 2 ปีก่อนหน้านั้น
โดยพุ่งเป้าไปที่การเจาะลึกและสอบสวนปัญหาสิทธิมนุษยชน คอร์รัปชัน และการใช้อำนาจโดยมิชอบของผู้มีอำนาจต่อประชาชนที่เห็นต่างหรือต่อต้าน
นักข่าวในสังกัดของเขาหลายคน โดยเฉพาะที่วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ถูกลอบสังหารในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
รวมถึงนักข่าว อันนา โปลิตกอฟสกายา ที่เป็นนักข่าวจอมเปิดโปง และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่ชื่อนาตาเลีย เอสเตมิรอฟวา
อันนาถูกยิงเสียชีวิตที่บันไดอพาร์ตเมนต์ของเธอในปี 2006 ใกล้วันเกิดของปูติน
อีกรายถูกลักพาตัวจากบ้านของเธอในเชชเนีย และถูกลากไปยิงทิ้งอีก 3 ปีต่อมา
ฟิลิปปินส์และรัสเซียเป็น 2 ประเทศที่นักข่าวและคนในวงการสื่อถูกสังหารโดยฝีมือของมือปืนอย่างไร้ร่องรอย น้อยครั้งที่ทางการจะสามารถจับมือใครดมได้
รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่มอบให้นักข่าวผู้เสียสละและทุ่มเท 2 คนนี้จะช่วยสร้างความตระหนักและยกระดับการทำหน้าที่ของสื่อมืออาชีพที่รับผิดชอบต่อบ้านเมืองมากขึ้นแค่ไหนหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่รอคำตอบอยู่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว
อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79
วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021