นายกฯ ใหม่เป็นใคร

จบแล้วครับ!

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยคะแนน ๕ ต่อ ๔ เสียง ให้ "เศรษฐา ทวีสิน" พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการเฉพาะตัว

หมายความว่า พ้นตำแหน่งในทันที

เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์  และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

หลังจากนี้ สส.จำนวน ๕๐๐ คนต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกันใหม่

ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

เป็นคำถามที่แทบทุกคนอยากรู้

บางสำนักข่าวบอกว่ามี ๕ คนที่อยู่ในข่าย

บางสำนักบอกว่า ๖

หากนับตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แท้จริงจะมี ๗ คน พรรคเพื่อไทย ๒ คน คือ แพทองธาร ชินวัตร และ ชัยเกษม นิติสิริ

พรรคภูมิใจไทย มี ๑ คน อนุทิน ชาญวีรกูล

พรรคพลังประชารัฐ มี ๑ คน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

พรรคประชาธิปัตย์ มี ๑ คน คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

พรรครวมไทยสร้างชาติ มี ๒ คน คือ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แม้ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ ท่านเป็นองคมนตรี แต่ยังมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติอยู่ ก็มีโอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้เช่นกัน

เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เมื่อปี ๒๕๔๙ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็เคยพ้นจากตำแหน่งองคมนตรี เพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาแล้ว

ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ ณ วันนี้ยังไม่มีใครตอบได้

แต่สถานการณ์ในปัจจุบันการเลือกนายกฯ คนใหม่ ไม่อาจรีรอได้ เพราะมีสารพันปัญหารอแก้ไขอยู่ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน

โครงสร้างรัฐบาลใหม่น่าจะยังคงยึดโครงสร้างเดิม คือ  ๑๑ พรรค ๓๑๔ เสียง

แต่คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี อาจมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

"นักโทษชายทักษิณ" ที่ว่ากันว่าเป็นผู้คุมอำนาจที่แท้จริงของพรรคเพื่อไทย จะตัดสินใจส่งลูกสาวเป็นนายกรัฐมนตรี ในสถานการณ์ทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยงเช่นนี้หรือไม่

หรือ "นักโทษชายทักษิณ" ยังเป็นผู้ที่คุมเกมทั้งหมดอยู่หรือไม่

การที่ "เศรษฐา" ไม่รอด สะท้อนการเมืองหลายสถานการณ์ทางการเมือง หนึ่งในนั้นเป็นการอธิบายถึงสถานะที่แท้จริงของ "นักโทษชายทักษิณ"

ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป จึงมีเหตุปัจจัยให้ต้องพูดถึงมากกว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยปกติทั่วไป

เป็นไปได้หรือไม่ที่นายกรัฐมนตรี จะไม่ได้มาจากพรรคอันดับ ๑

ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๘  พรรคประชาธิปัตย์ของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับหนึ่ง แต่ที่สุดก็รวมเสียงตั้งรัฐบาลไม่ได้

เปิดโอกาสให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ที่มี สส.เพียง ๑๘ ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งพรรคตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

แต่รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ทำงานได้ไม่ถึง ๑ ปีก็ต้องยุบสภา เพราะปัญหารุมเร้าร้อยแปดพันเก้า

ชื่อ "อนุทิน ชาญวีรกูล" ดูจะแรงขึ้นมา

แต่ก็ไม่ง่าย เพราะการเมืองในบริบทปัจจุบัน แตกต่างจากการเมืองปี ๒๕๑๘ อย่างสิ้นเชิง

การที่พรรคเพื่อไทยจะสละตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้พรรคภูมิใจไทย คงต้องอธิบายเหตุผลกับ สส.และมวลชนพรรคเยอะพอควร

เพื่อไม่ให้มีคลื่นใต้น้ำ

ซึ่งไม่ง่ายเลย

แต่การส่ง "อุ๊งอิ๊ง" เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลานี้  อาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดซ้ำสองของ "นักโทษชายทักษิณ" ที่เคยส่ง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็นนายกฯ แล้วจบไม่สวย

ครับ...แม้สุ้มเสียงจากพรรคเพื่อไทย ยืนยันส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคที่มีอยู่อีก ๒ คน ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ ฝุ่นยังตลบ ยังไม่อาจสรุปได้

แล้วทำไมชื่อของ "อนุทิน ชาญวีรกูล" ถึงโผล่มา

หลากหลายปัจจัยที่ทำให้เห็นว่ารัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ไปต่อไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือนโยบายของรัฐบาล

โดยเฉพาะ นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

การเปลี่ยนพรรคหลักในการตั้งรัฐบาล จะหมายถึงการเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลด้วย

ทำไมพรรคภูมิใจไทยถึงแถลงไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายกาสิโนของพรรคเพื่อไทย ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีถอดถอนนายกฯ เพียงวันเดียว

มีการส่งสัญญาณอะไรหรือไม่

มองลึกลงไป นโยบายกัญชา ที่พรรคเพื่อไทยพยายามจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด สุดท้ายต้องยอมพรรคภูมิใจไทย ให้ออกกฎหมายควบคุมกัญชาแทน

ดูเหมือนพรรคภูมิใจไทยมีอำนาจต่อรองสูงพอควร

ฉะนั้นการพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ "เศรษฐา ทวีสิน" จึงอาจเป็นการปรับทัพของฝั่งรัฐบาลเสียใหม่

ไม่ใช่เปลี่ยนแค่ตัวบุคคล

แต่เปลี่ยนนโยบายด้วย

หากมองโจทย์การเมืองบนพื้นฐานดีลลับเพื่อสกัดพรรคส้ม ก็ยิ่งมีความจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่หมด

๑ ปี รัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การควบคุม และครอบงำ ของ "นักโทษชายทักษิณ" นอกจากไม่มีผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันแล้ว ยังสร้างแนวร่วมมุมกลับให้พรรคส้มมากมาย

การก้าวขึ้นมาของ "อุ๊งอิ๊ง" หรือ "ชัยเกษม" ยากที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้

และอาจต้องทำนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป  ทั้งๆ ที่รู้ว่าหายนะรออยู่ข้างหน้า

แต่การเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลจากต่างพรรค สามารถอธิบายถึงความจำเป็นในการเลิกนโยบายนี้ได้ง่ายกว่า

ฟังคำให้สัมภาษณ์ของ "จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์" รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังหมาดๆ เกี่ยวกับอนาคตโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็พอเดาออกครับว่า แนวโน้มจะเดินไปอย่างไรต่อ

"...คงต้องรอมติทางพรรคก่อน เพราะยังไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะมีการฟอร์มรัฐบาลในรูปแบบใด พรรคใดจะเป็นแกนนำ ยังตอบอะไรไม่ได้เลย

และขั้นตอนของทางพรรคที่จะยืนยันว่าจะมีการนำนโยบายใดไปหารือกับพรรคร่วมที่จะเกิดขึ้น หากรัฐบาลใหม่มีเพื่อไทยอยู่ด้วย แต่ถ้าไม่มีทุกอย่างก็จบไป ก็แค่นั้น

แต่ถ้ามีเพื่อไทยอยู่ด้วยก็ต้องไปหารือกัน มองว่าตรงนี้เป็นขั้นตอนตามปกติ..."

นายกรัฐมนตรีคนใหม่จึงไม่ได้มาจากเงื่อนไข ต้องเป็นพรรคที่้มี สส.มากเป็นลำดับที่ ๑ อย่างเดียว

แต่ต้องมาบนเงื่อนไขการจัดทัพใหม่

นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นใคร

หญิง หรือ ชาย

ไม่กี่วันรู้ครับ

เพราะรัฐบาลใหม่จะตั้งเร็วกว่าปกติ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไพร่พลอนุรักษ์นิยม

เป็นเรื่องจริงที่ว่า... หากนักการเมืองถอดหัวโขนการเมือง แล้วมายืนดูการเมืองอยู่ข้างนอก ภาพที่มองจะคล้ายๆภาพที่ประชาชนทั่วๆไปมอง

ยังไม่ลดเพดาน

เชื่อมจิตกันไปเรียบร้อยครับ จากพรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคก้าวไกล วันนี้เป็น "พรรคประชาชน"