เมื่อ "สภานิสิตฯ" หัวกลับ

อยากจะบอกพวก "สภานิสิตจุฬาฯ" ว่า....

ใจเย็นๆ คุณหนูทั้งหลาย

อย่าทำเป็น "วัยรุ่นใจร้อน" เกินหน้าพรรค "สามเหลี่ยมพีระมิดหัวกลับ" เขาเลย

ที่เขามีสโลแกนว่า.........

"ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย คือประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ" นั่นน่ะ

ประเทศไทยเราปกครองด้วย "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ก็ดีอยู่แล้ว

แบ่งอำนาจเป็น ๓ ส่วน คือ

-อำนาจบริหาร โดยรัฐบาล

-อำนาจนิติบัญญัติ โดยรัฐสภา และ

-อำนาจตุลาการ โดยศาล

ก็เหมาะสม ร้อยรัดสังคมชาติบ้านเมืองให้อยู่กันกลมเกลียว เป็นปึกแผ่น สุขบ้าง-ทุกข์บ้าง ตามวิสัยโลก แต่ก็เจริญรุ่งเรืองตามฐานานุรูป เป็นลำดับ

และนี่...

"สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" จะสถาปนาตัวเองเป็น "อำนาจที่ ๔" ขึ้นเป็น "พ่อทุกสถาบัน" อย่างนั้นหรือ?

ถึงได้เหิมเกริมถึงขั้นเรียก "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" เข้าชี้แจงต่อสภานิสิตฯ ว่า

ที่วินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคก้าวไกลไปนั้น ถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่?

ทั้งให้ชี้แจงแนวทางการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรนิติศาสตรบัณทิต คณะนิติศาสตร์!

"สภานิสิตฯ" เป็นอึ่งอ่างในสระจุฬาฯ พองตัวใหญ่เหนือศาลขนาดนี้แล้วเชียวรึนี่

ผมต้องยกมือทาบอก ด้วยตกใจเลยนะ!?

ต่อไป อะไรที่ไม่ถูกใจพวกนิสิต จะไม่เรียกนายกฯ "ฝ่ายบริหาร" เรียกประธานรัฐสภา "ฝ่ายนิติบัญญัติ" ไปยืนกุมเป้าชี้แจงต่อสภาสินิตจุฬาฯ ด้วยหรือ?!

ผมว่า มันจะเร็วไปหน่อยมั้ง รอให้พรรค "พีระมิดหัวกลับ" ได้เป็นรัฐบาลและคุมรัฐสภาเบ็ดเสร็จเสียก่อนเถอะ

แล้วค่อยพองขน เถลิงอำนาจ "ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ" กันตอนนั้น ก็ยังไม่สาย

เถลิงอำนาจได้แล้ว....

ก็เฉดหัวอธิการบดี-อาจารย์ออกไปให้หมด เหลือไว้แต่พวกจาน "สามเหลี่ยมหัวกลับ" แค่นั้นพอ

ในเมื่อเก่งขนาดสถาปนาอำนาจที่ ๔ ได้

ก็ไม่ต้องเรียนแล้วล่ะ

ให้ผู้นำจิตวิญญาณส้มสามนิ้ว ศิษย์ "แซง-ฌุชต์" มาเป็นอธิการบดี แล้วตั้ง "คณะเนรคุณศาสตร์" จัดหลักสูตร จัดการเรียน-การสอน ว่าด้วยวิชา "นิติสงคราม" ไปเลย

"เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ประเทศไทยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน”

บ้านเมืองมีกี่สถาบัน ล้มไปให้หมด ในเมื่อประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินแล้วนี่้ ก็ปกครองกันเอง บริหารกันเอง แล้วดูซิ ถึงตอนนั้น พวกสภานิสิตฯ วันนี้ จะเถลิงอำนาจอยู่หลุมไหน?

พวกนกไม่เคยเห็นฟ้า ปลาไม่เคยเห็นน้ำ ก็เหมือนรุ่นใหม่วันนี้ ประเทศไทยมีเอกราช ไม่ต้องเดินตามนิ้วชี้ใคร ทุกวันนี้ ก็เหลือจะเสรีภาพ ภราดรภาพ เสมอภาค

เป็นประชาธิปไตยล้นเกินกันทุกวันนี้ จนมองไม่เห็นความอิสระ-เสรีนั้น

พล่านเอาตีนไอ้กันมาทูนหัว ว่านี่คือเสรีภาพที่โหยหา มันก็ไม่ต่างนก-ต่างปลาอย่างที่ว่านั้นหรอก

ในเมื่อจะเอากันอย่างนั้น เอาให้มันสุดๆ ไปเลย จะได้สมความเป็นนิสิตจุฬาฯ ที่กำเนิดจาก "โรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน"

ที่ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้น เมื่อ ๓๐ มีนาคม ๒๔๔๒

โดยมี "พระเกี้ยว" เป็นเครื่องหมาย

"พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" รัชกาลที่ ๖ ทรงประดิษฐานขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙

และพระราชทานนามว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"

แต่ถ้าสภานิสิตฯ คิดจะเนรคุณและมั่นใจไปรอดล่ะก็ อย่าใช้เครื่องหมาย "พระเกี้ยว" ติดหน้าอกพวกคุณเลย

เปลี่ยนไปเป็น "ขนมจีนน้ำเงี้ยว" หรืออะไรก็ได้ จะคู่ควรกับการกระทำของสภานิสิตฯ

เพราะ "พระเกี้ยว" เป็นของสูง คือเป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศาหรือพระเศียรของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์

และเป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลใน "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"

เพราะพระปรมาภิไธยของ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"

"จุฬาลงกรณ์" นั้น แปลว่า "เครื่องประดับศีรษะ" หรือ "จุลมงกุฎ"

เมื่อสภานิสิตฯ ยุคนี้ ไม่สำนึกรู้ในพระมหากรุณาธิคุณ

ยกตัวเองว่าเป็นคนรุ่นใหม่ต้องลบล้าง-ทำลายของเก่าให้หมดสิ้นไป แม้กระทั่งชาติ-ศาสน์ และสถาบันพระมหากษัตริย์

ก็ไม่คู่ควรที่จะใช้สัญลักษณ์ "พระเกี้ยว"!

นิสิตจุฬาฯ ทั้งหลาย ลองใคร่ครวญข้อความหนังสือเผยแพร่ที่้ลงนามโดย "นายสถาปัตย์ เพชรศิราสัณห์" ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดูซิว่า สมควรหรือไม่?

ขออาศัยที่ "รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร" อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล ธรรมศาสตร์ ท่านโพสต์สรุปข้อเรียกร้องไว้ ดังนี้......

"สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่หนังสือที่ลงนามโดยประธานสภานิสิตฯ

ถึง "ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. จิรนิติ หะวานนท์ ตุลการศาลรัฐธรรมนูญและอาจารย์พิเศษ "คณะนิติศาสตร์" จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในฐานะที่เป็นหนึ่งใน "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ที่วินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล

เนื่องจากมีข้อกังวลต่อคำวินิจฉัยของศาสตราจารย์พิเศษ จิรนิติใน ๒ ประเด็นคือ

๑.การละเลยความสำคัญของกระบวนการพิจารณาความ

๒.การใช้อำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินโทษยุบพรรคการเมือง 

สภานิสิตจุฬาฯ จึงขอเรียนเชิญศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว

และชี้แจงแนวทางการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรนิติศาสตรบัณทิต คณะนิติศาสตร์ ต่อสภาฯ ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๗

เนื่องจากสภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความกังวลอย่างยิ่ง ต่อความถูกต้องเชิงวิชาการของการจัดการเรียนการสอนของศาสตราจารย์พิเศษจิรนิติ ภายใต้หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต

อันเป็นเหตุมาจากการใช้อำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อหลักการนิติรัฐและนิติธรรม

ที่อาจส่งผลกระทบต่อมาตรฐานของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ในปัจจุบันและอนาคต

ครับ.....

ไม่เพียงแค่นั้น ยังโพสต์เฟซ เชิญชวนให้คนเข้าไปรับฟังและซักถามได้ด้วย ดังข้อความต่อไปนี้

..................................

สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สภานิสิตจุฬาฯ เชิญศ.(พิเศษ) ดร.จิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์

เข้าอธิบายแนวทางการจัดการเรียนการสอน เพื่อรักษามาตรฐานการศึกษาของนิสิตจุฬาฯ

หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญน่าสงสัยว่าถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่

โดยสภานิสิตฯ จะซักถาม ศ. (พิเศษ) ดร.จิรนิติ หะวานนท์ ในวาระการเสนอพิจารณาผลกระทบด้านมาตรฐานทางวิชาการของหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตอันเนื่องมาจากการยุบพรรคก้าวไกล

ในการประชุมสามัญสภานิสิตฯ วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป

ซึ่งทุกคนสามารถรับชมการประชุมและการซักถามได้ผ่าน Facebook Live ที่เพจสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

....................................

การที่นิสิตจะสอบถามอาจารย์ด้วยข้อสงสัยเกี่ยวกับการวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลในข้อกฎหมายหรือด้วยข้อสงสัยใดๆ นั้น

ทำได้ ซ้ำเป็นการเสริมสร้างความรู้-ความเข้าใจที่กว้างขวาง ถือเป็นประสบการณ์ได้อย่างหนึ่ง

แต่ต้องประกอบด้วยกาล ด้วยสถานที่ ด้วยเวลา ด้วยรู้ภาวะและหน้าที่แห่งตน

ภาวะของศิษย์ ต้องมีความเคารพ นอบน้อม ต่อครูอาจารย์ จะไม่แสดงอาการลบหลู่ หมิ่นแคลนอาจารย์

เมื่ออาจารย์มาสอนในห้องเรียน นั่นถือว่าประกอบด้วยสถานที่และกาลเวลา

หน้าที่ของนักศึกษาคือ ฟัง สงสัย-ไม่เข้าใจตรงไหน ก็ซักถาม และจดบันทึก

ไม่ใช่ไปโพสต์เฟซ ทำหนังสือไปค้ำคอ ด้วยข้อความก้าวร้าว หยามหมิ่น ขาดความเคารพ

"เชิญเข้าอธิบายแนวทางการจัดการเรียนการสอน เพื่อรักษามาตรฐานการศึกษาของนิสิตจุฬาฯ

หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญน่าสงสัยว่าถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่"

นี่มิใช่วิสัยคนกำลังศึกษาไปสู่ความเป็น "บัณฑิต" นอกจากไม่รู้ภาวะและหน้าที่ตนแล้ว

ยังก้าวล่วงอำนาจสถาบันตุลาการอันผู้เจริญแล้วทั้งหลายเขาไม่ทำกัน

ด้วยการเชิญ พูดชัดๆ ว่าเรียก "ตุลาการศาล" ที่ตัดสินคดีความไม่ถูกใจตนให้ไปพบ เพื่อชี้แจง ด้วยใช้คำว่า

-เพื่อรักษามาตรฐานการศึกษาของนิสิตจุฬาฯ

-คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญน่าสงสัยว่าถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่"

มันเกินเลยมากไป จนน่าสงสัยว่า เป็นเพราะสถาบันจุฬาฯ ต้องการบ่มเพาะนิสิตให้เป็นบุคคลเช่นนี้?

หรือสภานิสิตฯ อยู่ใต้กลไกพวก 'จาน "สามเหลี่ยมหัวกลับ".

-เปลว สีเงิน

๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๗

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"รอบบ้านผ่านเมือง"

เนื่องในโอกาส.... มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา"สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง"

พรรคประชาชน 'หัวกลับ'

ยินดีด้วยกับ "คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ" ที่ได้เป็นทายาทส้ม รุ่นที่ ๓ สืบสานปณิธานขบวนการ "กัดกร่อนบ่อนเซาะสถาบัน" ต่อไปด้วยความมุ่งมั่น

ช. 'สุรเชชษฐ์' ช้ำ

ผมจะบอก "พล.ต.อ.สุรเชษฐ์" ตั้งแต่สัปดาห์ก่อนแล้ว แต่ไม่มีโอกาส เพราะไม่เคยได้รู้จักกับท่าน