ยังไม่ลดเพดาน

เชื่อมจิตกันไปเรียบร้อยครับ

จากพรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคก้าวไกล วันนี้เป็น  "พรรคประชาชน"

ชื่อพรรคเปลี่ยนแต่อุดมการณ์ยังคงเดิม

ฟังหัวหน้าพรรคคนใหม่ "ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ" ชื่อเล่นว่า "เท้ง" แถลงข่าวแล้ว ก็น่าหวาดเสียวอยู่เหมือนกัน

แต่ภาพรวมยังกั๊กๆ ยังไม่ออกซ้ายออกขวาสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไข ม.๑๑๒

"...เราไม่เคยสื่อสารว่าลดเพดานอะไร

เรายืนยันว่าเราเสนอร่างแก้ไขกฎหมาย มาตรา ๑๑๒ เพื่อไม่ให้มีการกลั่นแกล้งพรรคฝั่งตรงข้าม และคำวินิจฉัยศาลไม่ได้สั่งห้ามแก้ไข

แน่นอนว่าเราไม่ประมาท เราทำทุกอย่างรอบคอบ คำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา จนยุบพรรคก้าวไกล เราต้องศึกษาอย่างดี

แต่คิดว่าพวกเราต้องผลักดันเดินหน้าการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนนี้ที่ปัจจุบันยังมีปัญหาอยู่..."

เป็นการตอบคำถามที่ดูฉลาดอยู่เหมือนกัน

คือ...ไม่เสียมวลชน

แต่ก็เอาบทเรียนจากการยุบพรรคก้าวไกลมาศึกษา

เมื่อ "เท้ง" บอกว่าไม่ลดเพดาน ก็แสดงว่ายังคงแก้ไขม.๑๑๒ แนวทางเดิมใช่หรือไม่

แต่ "เท้ง" ก็บอกอีกว่า ต้องศึกษากรณียุบพรรคอย่างดี

แถลงครั้งแรกถือว่าสอบผ่าน เป็นนักการเมืองเต็มตัว!

ไม่พูดมัดตัวเองจนเกินไป

เมื่อดูจุดประสงค์การแก้ ม.๑๑๒ ของ "เท้ง" ถือว่ารับได้เลยครับ คือ เพื่อไม่ให้มีการกลั่นแกล้งพรรคฝั่งตรงข้าม

แต่เนื้อหาการแก้ ม.๑๑๒ ของพรรคก้าวไกลก่อนหน้านี้ มิได้แก้ปัญหากลั่นแกล้งทางการเมืองแต่อย่างใด

ย้ำกันอีกครั้ง ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ของพรรคก้าวไกล ไม่มีบทบัญญัติไหนที่ป้องกันการกลั่นแกล้งทางการเมืองเลย

แต่กลับเป็นการลดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์

เช่นการลดโทษเท่าโทษหมิ่นประมาทธรรมดา

ดึง ม.๑๑๒ ออกจากหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ

ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ฟ้อง

ให้ประชาชนวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์โดยสุจริตได้

ทั้งหมดนี้แก้ปัญหากลั่นแกล้งทางการเมืองตรงไหน

"เท้ง" จึงต้องเคลียร์เรื่องนี้ หากจะยังไม่ลดเพดานแก้ ม.๑๑๒

อย่าให้เหมือนกับที่ ธนาธร, ปิยบุตร, พิธา, ชัยธวัช มักอ้างว่า ม.๑๑๒ เป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการแก้ไขไม่กระทบต่อพระราชสถานะองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของประเทศ

เพราะมัน      ย้อนแย้ง

พูดอย่างคิดอย่าง

พรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกลแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจนมาแต่ไหนแต่ไร

ว่าไม่ต้องการสถาบันพระมหากษัตริย์

ความที่ไม่เคยถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ คือเครื่องยืนยันนับแต่กลุ่มการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก่อกำเนิดขึ้นแล้ว

เพราะกลุ่มผู้ก่อตั้งล้วนมีประวัติทางความคิด ไม่เอาเจ้า มาก่อนทั้งนั้น

แนวคิดพรรคก้าวไกลที่ถูกยุบไป สอดคล้อง สอดประสานกับกลุ่มมวลชนคณะราษฎร ๒๕๖๓ ราวกับผู้อยู่เบื้องหลังเป็นคนคนเดียวกัน

๑ ใน ๑๐ ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของคณะราษฎร ๒๕๖๓ คือ

ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒

ให้ประชาชนใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้

และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์

โดยใช้ข้ออ้างเดียวกัน

ช่วงกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา ม.๑๑๒ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองดำเนินคดีกับกลุ่มที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และในกระบวนการมีความไม่ปกติมากมาย

เช่น การตีความที่เกินเลยจากตัวบทไปมาก การไม่ให้จำเลยได้รับสิทธิประกันตัว การพิจารณาคดีที่ศาลทหาร  การลงโทษจำคุกหนักๆ ในคดีเดียวถึง ๗๐ ปี โดยเฉพาะในช่วงต้นยุคสมัยของ คสช. เป็นช่วงเวลาที่การดำเนินคดีโหดร้ายที่สุด และผ่อนคลายลงหลังจากนั้นเมื่อไม่มีการบังคับใช้กฎหมายนี้เพิ่มเติม

ก็คือ ม.๑๑๒ เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองนั่นเอง

อ้างแต่ผล ไม่พูดถึงเหตุ

ไม่เฉพาะรัฐธรรมนูญไทยครับ ที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้                                

รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมาตรา ๓ ก็บัญญัติคล้ายๆกัน

"จักรพรรดิทรงมีความศักดิ์สิทธิ์และจะทรงถูกละเมิดมิได้"

แต่ปรากฏว่าช่วงกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านนี้ มีการละเมิด ม.๑๑๒ กันอย่างบ้าคลั่ง

นั่นเพราะมีแรงจูงใจทางการเมือง

พรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล อยูู่เบื้องหลัง และให้การสนับสนุนมวลชนที่ละเมิด ม.๑๑๒ อย่างต่อเนื่อง

เป้าหมายสุดท้ายคือการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

อีกประเด็นที่ "เท้ง" และ "ไอติม" พูดซ้ำแล้วซ้ำอีกในการแถลงข่าวคือ อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

ถูกต้องครับ อำนาจเป็นของประชาชน ไม่จำเป็นต้องระบุว่าสูงสุด

และไม่มีรัฐธรรมนูญประเทศไหนในโลกที่ระบุลงไปว่า "อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน"

แค่เป็นของประชาชน ความหมายก็ครบถ้วนแล้ว

แต่เราจะพูดถึงอำนาจอย่างเดียวหรือ เคยถามหาความรับผิดชอบ และหน้าที่กันบ้างหรือไม่

"อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน" คือวาทกรรมที่เกิดจากความเชื่อที่ว่า ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น พระมหากษัตริย์ มีอำนาจสูงสุด

จึงมีความพยายามปลุกเร้าว่า ผู้มีอำนาจสูงสุดคือประชาชน

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓  บัญญัติว่า อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

เช่นเดียวกับมาตรา ๕ รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น จักรพรรดิทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติด้วยความยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ

นี่คือหลักการเขียนกฎหมาย มิได้หมายความว่า พระมหากษัตริย์จะทรงใช้อำนาจเอง

รู้จักทฤษฎีกระถางธูปสามขาหรือเปล่าครับ

ขาหนึ่งคือกษัตริย์ ฮ่องเต้ นักปราชญ์

ขาสองคือนักรบ นักการเมือง ศาล

และขาสามคือ ประชาชน

หากขาดขาใดขาหนึ่งกระถางธูปก็ล้มครืน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จริตจะก้าน 'ก้าวไกล'

พรรคก้าวไกลเขารวบรวม ๙ ข้อต่อสู้ในเอกสารคำแถลงปิดคดี ที่พรรคก้าวไกลส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ศาลฯ จะอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลในวันที่ ๗ สิงหาคม

เปลือยความคิด 'ก้าวไกล'

ก็ชัดเจนครับ... พรรคก้าวไกลมิได้ประสงค์ที่จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่นในปัจจุบัน

เห็นเงาคนติดคุกแทน

งานเข้าสิครับ! คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สรุปเรื่องนักโทษเทวดา ชั้น ๑๔ โรงพยาบาลตำรวจ งานนี้อาจมีคนต้องติดคุกแทนจริงๆ เสียแล้วสิ