รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร) การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง
ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า
ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า
และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า
การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ?
การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนักิิสาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร
ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล
และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน) )
กล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม
ในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าเกี่ยวกับ ร.ท. ณ. เณร ตาละลักษม์ มีผู้เขียนถึงไว้พอสมควร ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงข้อเขียนของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ ซึ่งได้เขียนไว้ในบทที่สิบเอ็ด โดยใช้ชื่อเรื่องว่า ‘บุรุษผู้ไม่รู้จักความตาย’
“…….รัฐบาลไม่พอใจ พวกนายทหารก่อการฯ ผู้กุมอำนาจการเมืองโกรธแค้นที่เห็นว่า ร.ท. ณ. เณรเคยเป็นนายทหารมาก่อน ควรจะร่วมมือกันสนับสนุนรัฐบาลมากกว่า จึงส่งเพื่อนนายทหารมาเกลี้ยกล่อม แต่มนุษย์อย่าง ร.ท. ณ. เณร ผู้รักอุดมการณ์ประชาธิปไตยเหนือสิ่งใดจึงไม่เห็นพ้องด้วย เป็นเหตุให้คณะก่อการทหารหมายหัวเป็นศัตรูตัวสำคัญ การแสดงความคิดเห็นในบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ‘ชุมชน’ ครั้งสำคัญเกี่ยวกับการคัดค้านพระราชบัญญัติงบประมาณของรัฐบาล ปี 2481 ซึ่งเป็นเรื่องเกรียวกราว ทำให้รัฐบาลเกิดความเกลียดชังอย่างหนัก ถึงขนาดมีข่าวว่า ร.ท. ณ. เณร ถูกจี้พาตัวไปกรมทหารแห่งหนึ่ง และนายทหารรุ่นหลายคนรุมซ้อมได้รับบาดเจ็บ การบีบบังคับเช่นนั้น ไม่ทำให้หัวใจอันแข็งกร้าวของ ร.ท. ณ. เณร หวั่นไหวหวาดกลัวอำนาจนักเผด็จการ แต่เป็นการเพิ่มพลังในการต่อสู้ตามอุดมการณ์ยิ่งขึ้น เขาโจมตีการบริหารของรัฐบาลไม่หยุดยั้ง
ในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรปี 2481 เขาได้รับความนิยมจากประชาชนชาวพระนครอย่างสูงสุด ได้รับคะแนนเสียงอันดับหนึ่ง และเป็นผู้แทนราษฎรซึ่งประชาชนเลือกสมความตั้งใจที่ถอดเครื่องแบบทหารก้าวกระโดดออกมาเป็นนักการเมืองอย่างทรนงองอาจ
ร.ท. ณ. เณร เป็นนักประชาธิปไตย เกลียดชังระบอบเผด็จการ ฉะนั้น เมื่อรัฐบาล พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา ต้องลาออกเพราะมัวหมองกรณีซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ และมีการหยั่งเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เขาจึงเสนอบทความในหนังสือพิมพ์ ‘ชุมชน’ สนับสนุน พ.อ. พระยาทรงสุรเดช พร้อมกับลงภาพมีข้อความใต้ภาพว่า ‘สภาฯ ให้พระยาทรง ฯ 37 คะแนน’ ภาพเคียงข้างอีกภาพหนึ่งเป็นของ พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม มีอักษรบรรยายเชิงเย้าแหย่ว่า ‘หลวงพิบูลฯ 5 แต้ม’
ร.ท. ณ. เณร แหย่เสือครั้งนี้ นับว่าเป็นความกล้าหาญของนักหนังสือพิมพ์อย่างยิ่ง นำมาซึ่งชื่อเสียงโด่งดัง เขากล้าพอที่จะสนับสนุน พ.อ. พระยาทรงสุรเดชโดยเปิดเผยโจ่งแจ้งต่อประชาชนทั้งประเทศ เป็นการขัดกับนโยบายของนายททหารก่อการชั้นผู้น้อย ฉะนั้น ความจงเกลีดจงชังจึงเพิ่มพูนขึ้นอยู่ขั้นอันตรายสุดขีด
ต่อมา พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกได้เพียงเดือนเศษ ร.ท. ณ. เณร ซึ่งถูกหมายหัวกาแดงไว้แล้ว ก็ถูกคิดบัญชีทันที ขังไว้ ณ สถานีตำรวจบุปผารามในข้อฉกรรจ์-ขบถ ล้มล้างรัฐบาล! แม้จะตกอยู่ในระหว่างความเป็นความตายของศาลพิเศษ ร.ท. ณ. เณร มิได้แสดงความหวาดหวั่นวิตกแต่ประการใด มีอารมณ์รื่นเริง ตลกคะนองและเย้าแหย่เพื่อนฝูงด้วยคารมคมคาย ทั้งเสียดสี ทั้งล้อเลียน ดุจอยู่ในสภาพปกติ เป็นบุคคลที่เหวี่ยงความเศร้าโศกทิ้งไปอย่างสิ้นเชิง เขาเป็นผู้ทำให้หมู่คณะจำเลยมีบรรยากาศสดใส ปลุกให้ตื่นอยู่ในความทระนงในศักดิ์ศรีชายชาตรี รู้จักเก็บซ่อนความเศร้า ความเสียใจ ความผิดหวัง เยี่ยงมนุษย์ปุถุชนธรรมดาพึงมีไว้ภายในอย่างเงียบๆ
ในชีวิตของชายคนนี้ แม้กำลังไต่เดินไปบคมหอกคมดาบเสี่ยงความตาย พระเจ้าก็ยังประทานสอดใส่บทรักตลกแทรกไว้อย่างน่าเอ็นดู
การปลุกปั้นพยานเท็จใส่ความเท็จจำเลยทั่ว ๆ ไปนั้น กระทำกันในแบบต่างๆ แต่ในแบบของ ร.ท. ณ. เณร เป็นบทรักแรกพบขณะที่ถูกจำขัง ณ เรือนจำลหุโทษ เมื่อถูกปล่อยตัวให้เดินออกกำลังกายประจำวัน ร.ท. ณ. เณร จะเห็นใบหน้าสตรีนางหนึ่ง ผลุบโผล่ที่หน้าต่างบ้านข้าราชการชั้นสูงของเรือนจำเสมอ จากการผลุบโผล่เป็นการชำเลือบ จ้องมอง มองกันนานๆ เข้า ร.ท. ณ. เณร ผู้มีอารมณ์คะนองก็มอบแบบเจ้าชู้ไก่แจ้ แม่หญิงก็สนองตอบเล่นหูเล่นตากันในเชิงหนุ่มสาวแรกพบ เพราะเป็นความประสงค์ของหล่อนที่จะเพ่งพิศใบหน้าของ ร.ท. ณ. เณร ให้ถนัดตา เพื่อการอย่างหนึ่งอันเป็นความลับ
ร.ท. ณ. เณร ยิ้มกริ่มอยู่หลายวันในรักแรกพบ แต่ก็หงายหลังตาเหลือกในศาลพิเศษ แม่หญิงตาชะม้อยคนนั้น คนที่เพิ่งรู้จักเมื่อถูกจำขัง แล้วให้การในฐานะพยานเอกว่า ร.ท. ณ. เณร ว่าจ้างเธอให้ใส่ยาพิษในอาหารของหลวงพิบูลฯ เมื่อปีกลายนี้
ยอดรักในฝันทำพิษเสียแล้ว มันตลกน่าเอ็นดู แต่ในความน่าเอ็นดูนั้น มันคือเลือดและชีวิต !
หล่อนชี้ตัว ร.ท. ณ. เณร ได้ถูกต้องแม่นยำ !
ความจริงย่อมปรากฏเปิดเผยในโอกาสหนึ่ง การปลุกปั้นพยานเท็จนั้น ถึงแม้จะได้เตรียมการผูกเรื่องไว้ดีเพียงไรโดยผู้มีอำนาจทุกอย่างจะเสกสรรค์ แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของสัจจะย่อมบันดาลให้มนุษย์เห็นความจริงแท้ แม้จะปกปิดเพียงไรก็ตาม
วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2482 เวลาเช้าตรู่ เป็นวันที่เลือดของเขาได้ลูบไล้พื้นพสุธาสยาม อย่างองอาจ กล้าหาญที่สุด ไม่มีนักโทษประหารหรือมนุษย์คนใดที่ก้าวเดินไปสู่ความตายด้วยจิตใจมั่นคง หนักแน่นและมีสติเทียบเท่าเขา”
------------------------
ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เป็นอาจารย์ของผู้เขียนได้ค้นเจอ “เพลงลาตาย” ของ ร.ท. ณ. เณร ตาลักษมณ์ ผู้เขียนขอนำมาเผยแพร่ ณ ที่นี้
“ตื่นเช้าสุขสราญ พวกเราเบิกบานกมล
หอมกลิ่นดินปืนกล เราห้าคนจะขอลาตาย
พวกเราเหล่าทหารชาญสนาม ไม่ครั่นคร้ามปืนกลเราทนได้
แม้ตายจะฝากชื่อเสียงลือไกล ขอชาวไทยจงประสบพบความจริง
ว่าเรานี้ไม่ผิดคิดกระด้าง ทำลายล้างผู้ใดให้เกรงกริ่ง
ละล้วนเรื่องมดเท็จแกล้งเพ็ดพิง ขอทุกสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่าปิดความ”
-------------
และในหนังสือ “14 ตุลา: คณะราษฎรกับกบฏบวรเดช” (ตีพิมพ์ พ.ศ. 2517) ของอาจารย์ชัยอนันต์ซึ่งท่านได้อุทิศหนังสือเล่มนี้แด่ ร.ท. ณ. เณร ตาละลักษมณ์ โดยท่านได้เขียนว่า “ข้าพเจ้าอุทิศหนังสือเล่มนี้แด่ ร.ท. ณ. เณร ตาละลักษมณ์ ผู้ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ท่านอาจารย์ปรีดี ฯ คนหนึ่ง เมื่อประมาณ 37 ปีมาแล้ว ข้าพเจ้าทราบดีว่า ท่านอาจารย์มีความเสียใจเพียงใดที่เขาต้องตายไปในขณะที่ชีวิตอยู่ในวัยที่จะช่วยชาติบ้านเมืองได้มากที่สุด โดยท่านอาจจะช่วยเขาได้”
อาจารย์ชัยอนันต์กล่าวถึงท่านอาจารย์ปรีดี ฯว่า “ท่านและคณะราษฎรไม่อาจอ้างนามนักปฏิวัติหรือนักอภิวัฒน์ได้เลย ท่านไม่อาจกล่าวได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจว่า ท่านบูชาเสรีภาพ สิ่งที่ผู้อื่นทำต่อท่าน เช่น พระยามโนฯ ออก พ.ร.บ. คอมมิวนิสต์เพื่อขจัดท่าน ท่านอาจารย์ฯกับพรรคพวกก็ออก พ.ร.บ. จัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 จัดตั้งศาลพิเศษในปี พ.ศ. 2476, 2478 และ 2481 เพื่ดขจัดศัตรูของท่านเช่นกัน ข้อที่ผิดพลาดที่สุดก็คือ ท่านได้ขจัดผู้ที่มีจิตใจที่มีอุดมการไม่แตกต่างจากท่านเลย ออกไปจากวงการเมืองหลายคนโดยวิธีที่ไม่เป็นธรรม ข้าพเจ้ายังข้องใจไม่หายว่า ในเมื่อท่านอาจารย์ฯ เองก็เป็นนักกฎหมาย เหตุไฉนท่านจึงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศาลเถื่อนๆ เช่น ศาลพิเศษ ซึ่งเป็นการขัดกับหลักนิติธรรมอย่างที่สุดในยุคนั้น”
-------------------
และอาจารย์ชัยอนันต์ได้เขียนคำอุทิศแด่ ร.ท. ณ. เณร ตาละลักษมณ์ ไว้ว่า
“แด่
นายร้อยโท ณ. เณร ตาละลักษมณ์
นายทหารกองหนุน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภท ๑
เขตเลือกตั้งที่ ๒ จังหวัดพระนคร
พ.ศ. ๒๔๘๑ คนหนุ่มบูชาประชาธิปไตย ผู้มีความคิดอิสระ
แต่มีวาสนาเป็นผู้แทนราษฎรเพียง ๙ เดือน (๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑-๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒)
เขาเป็นผู้แทนราษฎรเมื่ออายุได้ ๓๓ ปี
และถูกสั่งยิงเป้าในข้อหา ‘กบฏ’
ในวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
วิญญาณของเขาช่วยคุ้มครองรักษากลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ นักเรียนนักศึกษาและประชาชน
และคงจะปกป้องระบบการปกครองประชาธิปไตยที่แท้จริงต่อไป
ถ้าเขาไม่ตายไป ในวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ เขาจะมีอายุ ๖๘ ปี
หนังสือเล่มนี้อุทิศเพื่อบูชาดวงวิญญาณของเขา
ในโอกาสที่การพลีชีวิตเพื่อประชาธิปไตยเวียนมาบรรจบครบ ๓๕ ปี
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คนเสื้อแดงแห่รับ 'ทักษิณ' เตรียมปราศรัยหาเสียงนายกอบจ. วันเดียว 3 เวที
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง ของนางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ผู้สมัครนายก
ย้อนวิบาก...3ป.67 ปิดฉาก...ก้าวไกล เปลี่ยน...นายกฯ เปิด...ระบอบทักษิณ I อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 04 มกราคม 2568
'วันนอร์' ชี้นักการเมืองไม่ใช่อาชญากร บทลงโทษไม่ควรรุนแรงถึงขั้นตัดสิทธิ-ยุบพรรค
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กรณีสถานการณ์การเมืองปี 2568 มีโอกาสเกิดคดีความที่นำมาสู่การยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิ สส. ว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับองค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัย
'ชูศักดิ์' ดักคอฝ่ายค้านยื่นซักฟอก บอกปม 'ชั้น14-MOU44' คุยนานแล้วไม่มีน้ำหนัก
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบมีการลงมติตามมาตรา 151 ในสมัยประชุมนี้ว่า ถือเป็นสิทธิของฝ่ายค้าน แต่ตนคิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นขึ้นอยู่กับประเด็น
เชือดนิ่มแต่เจ็บจี๊ด! 'นิพิฏฐ์' ตอกกลับ 'เด็จพี่-พายัพ' ตำหนิ 'ชวน หลีกภัย'
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ โพสต์เฟซบุ๊กว่า สันดานเดียวกัน คบกันได้ ผมอ่านข่าว นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ และ นายพายัพ ปั้นเกตุ ออกมาวิจารณ์ท่านชวน
'ภูมิธรรม' มั่นใจรัฐบาลอยู่ครบเทอม 4 ปีแน่!
'ภูมิธรรม' มั่นใจรัฐบาลอยู่ครบ 4 ปี เชื่อปี 68 ไม่มีเหตุวุ่นวายนำสู่รัฐประหาร ชี้ ปชต.ไม่ควรสะดุดขาดตอน ย้ำสัมพันธ์ทหารดีมาก มอง 'ยิ่งลักษณ์' กลับไทยธรรมดาของคนอยู่ ตปท.