ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ต้องจับตามองกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในสถานการณ์โลกและภายในประเทศ ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้า โดยมุมมองของ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์โลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่กำลังจะมาถึง ดูจะส่งผลต่อการเติบโตใน ASEAN อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าใครจะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ นโยบายภาพใหญ่ของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนไม่น่าแตกต่าง เพราะนับตั้งแต่เกิดสงครามการค้า สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนลดลงเรื่อยๆ โดยอาเซียนได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ เมื่อจีนส่งออกไปสหรัฐไม่ได้ อิทธิพลการค้าจีนกับอาเซียนเพิ่มเป็นทวีคูณ ขณะเดียวกันอาเซียนหลายประเทศเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากขึ้น แม้แต่สิงคโปร์ที่ขาดดุลการค้ากับสหรัฐก็ขาดดุลลดลง ส่วนสหรัฐก็ขาดดุลการค้ากับอาเซียนมากขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ดี หากอาเซียนรับมือกับสงครามการค้าครั้งใหม่ได้ไม่ดีพอ การค้าโลกที่มีความเสี่ยงจะลดลงอาจกระทบกับการค้าและการเชื่อมโยงด้านการลงทุนของอาเซียนได้ ทั้งนี้ ประโยชน์และผลกระทบที่แต่ละประเทศจะได้รับขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในของแต่ละประเทศ เช่น ความสามารถในการแข่งขัน ความน่าดึงดูดในการลงทุน และสิ่งอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ
มาดูกันที่ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั่วโลก ลดลง 2% สู่ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2566 ท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าพิจารณาไส้ในพบว่า FDI ในประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มขึ้น 1% เป็น 2.26 แสนล้านดอลลาร์ สิงคโปร์เป็นประเทศที่ได้รับ FDI มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามมาด้วยอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ตามรายงานการลงทุนโลกปี 2567 โดย UNCTAD สะท้อนภาพชัดว่าโลกกำลังย้ายฐานการผลิตมา ASEAN
นายวุธว์ ธนิตติราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและธุรกรรมการเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ให้ความเห็นว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ทำให้การพึ่งพาทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนลดลง และหันมาทำการค้ากับประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ทำธุรกิจกับคู่ค้าใหม่ๆ ในตลาดโลกมากขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ของทางสหรัฐและของโลกยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสสำคัญให้กับผู้ประกอบการในประเทศไทยที่มีความพร้อม ได้มีโอกาสที่จะเติบโตและขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนเช่นเดียวกัน สำหรับประเทศปลายทางที่น่าลงทุนที่สุดตอนนี้ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เริ่มจากมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่คนไทยเข้าถึงง่ายที่สุด กำลังโดดเด่นในภาคบริการและการผลิตสินค้าที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต โดยปี 2566 มีเงินลงทุนไหลเข้ามาเลเซียกว่า 3.29 แสนล้านริงกิต เติบโตสูงขึ้น 23% จากปีก่อนหน้า นับเป็นมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ถัดมาคืออินโดนีเซีย ที่มีจุดเด่นเรื่องของการเติบโตของประชากรที่ปัจจุบันมีกว่า 280 ล้านคน และมีการเติบโตของ GDP อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีแนวโน้มความต้องการสินค้าอุปโภคและบริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2566 อินโดนีเซียบันทึกเงินลงทุนไหลเข้า จำนวน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6% ส่วนสิงคโปร์ที่เป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าของภูมิภาคในปี 2566 มี FDI มูลค่าสูงถึง 2.14 แสนล้านสิงคโปร์ดอลลาร์ เติบโต 10% สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของทุนจดทะเบียนและกำไรสะสม ขณะที่ประเทศไทย ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2567 นักลงทุนต่างชาติและในประเทศยื่นคำขอส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพิ่มขึ้น 35% มูลค่ารวม 4.58 แสนล้านบาท
ปิดท้ายกันด้วย Mega Trend ที่น่าจับตามองในช่วงนี้มี 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.Sustainability หรือการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน 2.AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถนำมาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการผลิตได้ในทุกภาคส่วน 3.Food Security หรือความมั่นคงทางอาหารเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ประเทศใหญ่ๆ หันมาให้ความสำคัญกันมาก โดยเฉพาะประเทศที่มีประชากรและการเติบโตของประชากรสูง 4.Consumer Behavior หรือพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่เน้นเรื่องของความสะดวกรวดเร็ว และเข้าถึงแหล่งข้อมูลของสินค้าที่ต้องการโดยง่าย ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้เหมาะกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่.
รุ่งนภา สารพิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เศรษฐกิจปี68เติบโตไม่ง่าย ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
สำนักวิจัยหลากหลายสำนัก ฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 นี้ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน และการเติบโตที่เป็นไปได้มากที่สุดก็อยู่ระดับ 2.7-2.9% ซึ่งน้อยกว่าที่รัฐบาลมีการวางแผนเอาไว้ว่าจะผลักดันจีดีพีไทยปีนี้โตถึง 3%
ปี68สินเชื่อระบบแบงก์ไทยหืดจับ
ปี 2568 ยังเป็นอีกปีที่ต้องจับตากับทิศทางของเศรษฐกิจไทย เพราะยังมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งบวกและลบ ที่จะเข้ามามีผลกับภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถานการณ์กดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน
แผนดัน ‘เกษตรครบวงจร’
อุตสาหกรรมเกษตร เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย และที่ผ่านมาเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนไปได้ด้วยสินค้าเกษตร แต่ก็มีบางช่วงที่ติดขัดและไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ จากปัจจัยกระทบต่างๆ
เคาต์ดาวน์ปลอดภัยส่งท้ายปี
เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2568 เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เป็นวาระแห่งการเริ่มต้นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความหวัง โดยในปีนี้สถานที่จัดงาน Countdown ทั่วประเทศไทยหลายหน่วยงานได้เตรียมกิจกรรมไว้ให้ทุกคนได้ร่วมสนุกและสัมผัสความงดงาม
แชร์มุมมอง‘อินฟลูเอนเซอร์’ในตลาดอาเซียน
การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน แต่กลยุทธ์การทำการตลาดของแต่ละแบรนด์นั้นล้วนแตกต่างกันไป ล่าสุด วีโร่ ได้เปิดตัวเอกสารไวต์เปเปอร์ฉบับใหม่ในหัวข้อ “ผลกระทบ
ของขวัญรัฐบาล
อีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็จะเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แล้ว ก็เป็นธรรมเนียมของรัฐบาลและ ครม.ที่จะมีมาตรการเป็นของขวัญมอบให้กับประชาชน ซึ่งการประชุม ครม.ล่าสุดเริ่มมีการเคาะมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือประชาชนกันแล้ว