4 อนุสาวรีย์ตำรวจ

อนุสาวรีย์ตำรวจ หรือชื่อเต็มว่า    อนุสาวรีย์ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน เป็นอนุสาวรีย์ที่เป็นสื่อสัญลักษณ์และจิตวิญญาณตำรวจ โดยมุ่งหมายให้เป็นที่ระลึกถึงคุณงามความดีของข้าราชการตำรวจ ผู้กล้าหาญและเสียสละใน

การปฏิบัติหน้าที่

ประชาชนทั่วไปจะเคยพบเห็นอนุสาวรีย์ตำรวจอยู่บ่อยครั้ง เพราะมีการจำลองไปประดิษฐานบริเวณหน้าหน่วยงานของตำรวจต่างๆ ได้แก่ สถานีตำรวจ  กองบังคับการ กองบัญชาการ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประชาชนหรือแม้แต่ข้าราชการตำรวจเอง อาจคงไม่ทราบประวัติความเป็นมาและวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างอนุสาวรีย์ ท่านใดเป็นผู้ให้จัดสร้าง  ประติมากรท่านใดเป็นผู้ปั้น ย้ายที่ประดิษฐานกี่ครั้ง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ใด

ประวัติการจัดสร้างอนุสาวรีย์ตำรวจ เริ่มในสมัย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีตำรวจ (ปี พ.ศ.2494-2500) กิจการตำรวจได้มีการพัฒนาปรับปรุงให้มีความเจริญรุ่งเรือง  ทันสมัยมากที่สุดในทุกเรื่อง

ได้มีการดำเนินการก่อสร้างอาคารกรมตำรวจ เป็นอาคารแบบตะวันตกสูง 3 ชั้น ที่กรมตำรวจ ปทุมวัน พล.ต.อ.เผ่าเป็นผู้ให้ดำเนินการจัดสร้างอนุสาวรีย์ตำรวจ ประดิษฐานไว้หน้าอาคารดังกล่าวด้วย

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2496 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ไปเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารกรมตำรวจและอนุสาวรีย์ตำรวจ โดยพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ได้กล่าวรายงานข้อความตอนหนึ่ง ความว่า

“โอกาสเดียวกันนี้ กรมตำรวจจึงได้สร้างอนุสาวรีย์ไว้สำหรับบรรจุอัฐิของข้าราชการตำรวจผู้สำรวมมั่นอยู่ในคุณสมบัติของกรมตำรวจ กล่าวคืออดทน ตรากตรำ ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด แม้ชีวิตและเลือดเนื้อก็ยอมพลี

ได้…

บัดนี้ การสร้างอนุสาวรีย์ตามความปรารถนาของกรมตำรวจได้เสร็จลงได้ด้วยความเรียบร้อย…

กรมตำรวจได้รวบรวมอัฐิข้าราชการตำรวจผู้เคร่งครัดต่อการปฏิบัติหน้าที่รับใช้ประชาชน…”

อนุสาวรีย์ตำรวจ เป็นรูปปั้นโลหะทองเหลืองรมดำ องค์ประกอบรูปปั้นมี 3 ส่วน ส่วนที่ 1 รูปปั้นหุ่นตำรวจ (ชาย) มีขนาดเท่าคนจริงยืนอุ้มคนเจ็บ (ชาย) ส่วนที่ 2 รูปปั้นหุ่นประชาชนกำลังได้รับอันตราย และส่วนที่ 3 รูปปั้นเด็ก (ชาย) ยืนเกาะที่บริเวณขาซ้าย แต่ละส่วนมีความหมายดังนี้

ส่วนที่ 1 รูปปั้นตำรวจอุ้มคนเจ็บ หมายถึงตำรวจให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือและพิทักษ์รับใช้ประชาชนที่กำลังได้รับอันตราย

ส่วนที่ 2 รูปปั้นประชาชนได้รับอันตราย หมายถึง การได้รับความช่วยเหลือจากตำรวจเพื่อให้ได้รับความปลอดภัย

ส่วนที่ 3 รูปปั้นเด็กยืนเกาะขาตำรวจ หมายถึง การแสดงความรักอาลัยอาวรณ์ ขอความเมตตาให้ตำรวจช่วยเหลือญาติของตนให้พ้นทุกข์

ความหมายของรูปปั้นหุ่นโดยรวม ยังมีความหมายอีกว่า นอกจากตำรวจจะทำหน้าที่ปราบปรามโจรผู้ร้ายแล้ว ตำรวจยังมีหน้าที่ช่วยระงับทุกข์บำรุงสุข บริการรับใช้ประชาชนในทุกด้านอีกด้วย

อนุสาวรีย์ตำรวจ ประดิษฐานอยู่บนแท่นฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 1.35 เมตร สูง 2 เมตร ทำด้วยหินอ่อน ที่แท่นด้านหน้ามีเครื่องหมายตราโล่เขนและอักษร “ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน” ทำด้วยทองเหลือง และด้านข้างทั้งสองด้านเป็นรูปพวงหรีดทำด้วยทองเหลือง

ผู้ปั้นอนุสาวรีย์ตำรวจคือ อาจารย์พิมาน มูลประมุข ช่างประติมากร กรมศิลปากร ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ปรมาจารย์ทางด้านงานศิลป์ของประเทศไทย

อาจารย์พิมาน เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2455 สืบเชื้อสายมาจากตระกูลช่างหล่อตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาอพยพมาอยู่ที่บ้านช่างหล่อ ฝั่งธนบุรี ได้รับการถ่ายทอดวิชาด้านประติมากรรมจากครอบครัวแล้ว ยังเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของศาสตราจารย์ศิลป์ที่โรงเรียนศิลปากร

อาจารย์พิมานเข้ารับราชการที่กรมศิลปากร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2481 จนถึงปี พ.ศ.2514 ตำแหน่งสุดท้าย หัวหน้าแผนกช่างปั้น กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ได้ขอลาออกจากราชการเนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์

ได้ปฏิบัติงานด้านประติมากรรมร่วมกับศาสตราจารย์ศิลป์ ในงานประติมากรรมที่เป็นอนุสาวรีย์สำคัญของชาติจำนวนมาก เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ปั้นเฉพาะรูปตำรวจ) อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.4 ที่เขาวัง เพชรบุรี ฯลฯ

อาจารย์พิมานได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาประติมากรรม ถึงแก่กรรมไปเมื่อปี พ.ศ.2535

นายบรรพต เคลือบแก้ว โรงปั้นหล่อ ต.สามพราน จ.นครปฐม เมื่อพ.ศ.2549 ให้สัมภาษณ์เรื่องราวประวัติของอาจารย์พิมาน ลงพิมพ์ในหนังสือ การปั้น หล่อ และการเข้าดินไทยแบบโบราณ โดยกลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร 2551 หน้า 78-79 สรุปความว่า

“อาจารย์พิมาน (นายพิมาน มูลประมุข) พ่อแม่เขาเป็นช่างโดยเฉพาะเลย…คุณตาแกเป็นคนทำพระร่วงโรจนฤทธิ์ พระเทพรจนา…เป็นตาของอาจารย์พิมาน แม่อาจารย์พิมานชื่อป้าอ่อน เป็นช่างปั้นตระกูลช่างเลย…ป้าอ่อนนี่ หยิบขี้ผึ้งมาปั้นเป็นอะไรต่ออะไรได้หมด…”

มีเกร็ดเรื่องราวอาจารย์พิมานที่เกี่ยวกับการปั้นอนุสาวรีย์ตำรวจ ซึ่งไม่มีผู้ใดทราบมาก่อน นอกจากบุคคลในครอบครัว

อาจารย์พิมานรับงานปั้นอนุสาวรีย์ตำรวจมาดำเนินการ โดยออกแบบลงมือปั้นและหล่ออนุสาวรีย์เองที่บ้านอาจารย์พิมานซึ่งเป็นโรงหล่อ ที่บ้านเลขที่ 102 ตรอกวังหลัง ต.ศิริราช อ.บางกอกน้อย จว.ธนบุรี

หุ่นที่เป็นต้นแบบรูปปั้นตำรวจ เป็นลูกศิษย์อาจารย์พิมานที่มาช่วยงาน ส่วนหุ่นที่เป็นต้นแบบรูปปั้นเด็กเกาะขารูปปั้นตำรวจคือลูกชายของอาจารย์พิมานเองชื่อ ด.ช.ศุภกิจ มูลประมุข

ปัจจุบันคือ ดร.ศุภกิจ มูลประมุข จบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับทุนจากรัฐบาลไปศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกด้านสถาปัตยกรรม จากสหรัฐอเมริกา รับราชการจนเกษียณอายุที่กระทรวงศึกษาธิการ มีผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมระดับชาติมากมาย

อาจารย์พิมานมีลูกชายคนเล็ก คือ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 34 รับราชการเป็นตำรวจ ก่อนโอนย้ายไปกรมสอบสวนคดีพิเศษ และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ตอนอาจารย์พิมานปั้นอนุสาวรีย์ตำรวจ พ.ต.อ.ประเวศน์ยังไม่เกิด)

พ.ต.อ.ประเวศน์ไม่เคยบอกกับเพื่อนตำรวจหรือบุคคลทั่วไปว่าเป็นลูกชายของอาจารย์พิมาน ผู้ปั้นอนุสาวรีย์ตำรวจนี้เลย

ครั้งหนึ่งมีรายการทีวีไปถ่ายทำเรื่องราวอนุสาวรีย์ตำรวจ และนำเอาตำรวจนายหนึ่งมาให้สัมภาษณ์ โดยยืนยันว่าเป็นหุ่นต้นแบบตำรวจในอนุสาวรีย์ดังกล่าว พ.ต.อ.ประเวศน์ได้โทร.ไปบอกพิธีกรดังกล่าวด้วยตนเองว่าไม่เป็นความจริงเท่านั้นเอง

วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันตำรวจ กรมตำรวจจะจัดให้มีพิธีทำบุญบำเพ็ญกุศลและมีพิธีสักการะอนุสาวรีย์ตำรวจ ด้วยการวางพวงมาลาของหน่วยงานตำรวจต่างๆ ยึดถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันตลอดมา

ในบางปี ปี พ.ศ.2498 มีพิธีบรรจุอัฐิตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ไว้ใต้ฐานอนุสาวรีย์ด้วย

อนุสาวรีย์ตำรวจประดิษฐานอยู่ที่หน้าอาคาร 1 กรมตำรวจ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2496 จนถึงปี พ.ศ.2535 นานเกือบ 40 ปี จึงได้มีการย้ายที่ประดิษฐานจนถึงปัจจุบัน รวม 3 ครั้ง

การย้ายที่ประดิษฐานครั้งแรก เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2535 สมัย พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ได้มีการย้ายอนุสาวรีย์ตำรวจ จากหน้าอาคาร 1 กรมตำรวจ ไปประดิษฐานหน้าอาคารตำรวจสันติบาล ภายในกรมตำรวจ ห่างจากที่ตั้งเดิมไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 150 เมตร

สาเหตุการย้าย เนื่องจากว่ากรมตำรวจได้มีการอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 องค์พระผู้สถาปนากิจการตำรวจไทยมาประดิษฐานแทนที่ตั้งอนุสาวรีย์ตำรวจเดิมบริเวณหน้าอาคาร 1 กรมตำรวจ

การย้ายครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปีพ.ศ.2540 สมัย พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ได้ดำเนินการก่อสร้างสโมสรตำรวจขึ้นที่ด้านหน้าโรงเรียนตำรวจ บางเขน ถนนวิภาวดีรังสิต และได้ย้ายอนุสาวรีย์ตำรวจจากหน้าอาคารตำรวจสันติบาล ภายในกรมตำรวจไปประดิษฐานที่หน้าสโมสรตำรวจ บางเขน

การย้ายครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2553 สมัย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีการย้ายอนุสาวรีย์ตำรวจจากบริเวณหน้าสโมสรตำรวจไปประดิษฐานที่หน้าหอประชุมชุณหะวัณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จว.นครปฐม

เบื้องหลังจากย้ายครั้งนี้ วันที่ 28 มกราคม 2553 พล.ต.อ.ปทีป รรท.ผบ.ตร.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาจัดหาสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน

                โดยแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รอง ผบ.ตร. เป็นประธาน ผมเป็นรองประธาน ผบช.รร.นรต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการเลขานุการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ พ.ต.อ.ฉลองเกียรติโรจน์ ปัญญาคุปต์ (ยศขณะนั้น) เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ในคำสั่งดังกล่าว ระบุว่า “ด้วยเมื่อครั้ง พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ได้จัดสร้างอนุสาวรีย์ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชนขึ้น

อนุสาวรีย์ดังกล่าวมีความเหมาะสมให้เห็นเป็นที่ระลึกถึงว่า ตำรวจผู้เสียสละ เป็นผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน เดิมตั้งอยู่ที่หน้ากรมตำรวจ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) มาเป็นเวลานาน ปัจจุบันตั้งอยู่ที่สโมสรตำรวจ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

ดังนั้น เพื่อให้อนุสาวรีย์ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชนได้ตั้งอยู่ในสถานที่ที่ได้รับการตกแต่งให้สวยงาม เหมาะสมกับการเคารพสักการะ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาจัดหาสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน”

ผมได้เชิญ คุณสตวัน ฮ่มซ้าย สถาปนิกระดับชำนาญการ กรมศิลปกรเดินทางไปร่วมพิจารณาสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

คุณสตวันได้ให้ความเห็นในการประชุมบันทึกไว้ ความว่า “ได้สำรวจพื้นที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจแล้ว มีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประดิษฐานอยู่ด้วย ซึ่งต้องคำนึงถึงในการพิจารณาตั้งอนุสาวรีย์ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน ทั้งจุดที่ตั้งตำแหน่งและทิศทาง ที่ไม่กระทบกับพระบรมราชานุสาวรีย์ ฯลฯ

โดยให้อนุสาวรีย์หันหน้าออกจากตัวอาคาร ทำให้ผู้ผ่านไปมามองเห็นสัญลักษณ์โดยทั่วกัน

การออกแบบแท่นฐาน ควรยึดแบบแท่นฐานเดิม และควรปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อเปิดมุมให้เห็นทั่วกัน”

นอกจากนี้ กรมศิลปากรได้มีหนังสือตอบหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ขอหารือเรื่องรูปปั้นอนุสาวรีย์ตำรวจ มีใจความสำคัญว่า

“รูปปั้นตำรวจอุ้มประชาชน เป็นอนุสาวรีย์รูปสัญลักษณ์สื่อความหมายภาพรวมของตำรวจที่มีภาระหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน และเป็นผู้สร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชน

จุดมุ่งหมายเริ่มแรกในการสร้างอนุสาวรีย์นี้ เพื่อให้เป็นศูนย์รวมจิตใจและระลึกถึงคุณงามความดีของตำรวจที่เสียชีวิตในหน้าที่ราชการ นับว่าเป็นวัตถุประสงค์ที่ดี

หากประสงค์จะเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้ง สามารถดำเนินการได้เลย

การเรียกชื่ออนุสาวรีย์รูปปั้นตำรวจอุ้มประชาชน จะเรียกอนุสาวรีย์ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน หรืออนุสาวรีย์ตำรวจ ก็สามารถใช้เรียกได้ เนื่องจากมีความหมายดีทั้ง 2 ชื่อ และเป็นที่รับรู้กันในหมู่ข้าราชการตำรวจ ตลอดจนประชาชนทั่วไป”

วันที่ 3 มีนาคม 2553 พล.ต.อ.ปทีปรรท.ผบ.ตร. ได้อนุมัติให้ดำเนินการย้ายอนุสาวรีย์ตำรวจไปประดิษฐที่หน้าหอประชุมชุณหะวัน โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จว.นครปฐม

เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 ผมได้รับมอบหมายจาก รรท.ผบ.ตร.เดินทางไปสำรวจหาที่ตั้งที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

เดือนกุมภาพันธ์ ประชุมหารือสถานที่จัดตั้ง ออกแบบก่อสร้างแท่นฐาน เดือนมิถุนายน ตอกเสาเข็มและก่อสร้างแท่นฐาน เดือนกรกฎาคม พิธีบวงสรวงย้ายอนุสาวรีย์จากบริเวณสโมสรตำรวจไปที่สำนักช่างสิบหมู่ ศาลายา นครปฐม เพื่อบรูณะ เดือนสิงหาคม พิธีบวงสรวงอัญเชิญอนุสาวรีย์ขึ้นแท่นฐานที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ได้มีการดำเนินการออกแบบก่อสร้างฐานที่ตั้งอนุสาวรีย์ให้คงรูปแบบเดิมเป็นฐานหินอ่อน ด้านหลังที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ ออกแบบก่อสร้างเป็นแท่นจารึก นำรายชื่อข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่มาจารึกไว้

บริเวณภูมิทัศน์โดยรอบ ได้รับความกรุณาจากคุณกัมพล ตันสัจจา เจ้าของสวนนงนุช พัทยา มาช่วยออกแบบและปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม

งบประมาณการก่อสร้างได้รับการสนับสนุนจากสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ศิษย์เก่าโรงเรียนนายร้อยตำรวจทุกหลักสูตร โดย พล.ต.อ.เขตต์ นิ่มสมบุญ นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจในขณะนั้น เป็นผู้ดำเนินการ

การดำเนินการครั้งนี้ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทำให้การก่อสร้างแท่นฐาน แท่นจารึก การปรับปรุงภูมิทัศน์ และการย้ายที่ประดิษฐาน เป็นไปด้วยความรวดเร็ว สำเร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ ภายในระยะเวลาเพียง 10 เดือน

                    วันพุธที่ 13 ตุลาคม 2553 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดให้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน ที่

โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี

การประกอบพิธีอย่างสมเกียรติ ยกย่อง เชิดชูอนุสาวรีย์ผู้บังคับบัญชาระดับสูงเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก

มีพิธีปักหมุดจารึกชื่อตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ พิธีวางพวงมาลา กองเกียรติยศ และการยิงสลุตจากนักเรียบนายร้อยตำรวจ

เชิญญาติตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่มารับมอบธงพิทักษ์สันติราษฎร์ และรูปปั้นอนุสาวรีย์ ขนาดย่อ

นับว่าได้ดำเนินการเป็นไปตามวัตถุประสงค์การสร้างอนุสาวรีย์ตำรวจ และดำรงไว้ซึ่งประเพณีเกี่ยวกับการสักการะสิ่งอันเป็นที่เคารพของตำรวจโดยครบถ้วนสมบูรณ์

อนุสาวรีย์ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน  หรืออนุสาวรีย์ตำรวจ เป็นประติมากรรมที่ทรงคุณค่ายิ่งทางศิลปะ เป็นมรดกทางศิลปะชิ้นหนึ่ง และมีความหมายที่มีคุณค่าในการใช้เพื่อสร้างจิตวิญญาณอุดมการณ์ และปลูกฝังอุดมคติให้กับผู้ทำหน้าที่ตำรวจ

การนำมาประดิษฐานไว้ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ นับว่าเหมาะสมเพราะเป็นสถานที่ผลิตนายตำรวจสัญญาบัตรทุกหลักสูตร หล่อหลอมให้มีความรู้ มีคุณธรรม และจริยธรรม เพื่อออกไปปฏิบัติหน้าที่พิทักษ์รับใช้ประชาชนต่อไป

หมายเหตุ ขอขอบพระคุณ ดร.ศุภกิจ มูลประมุข ผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาจารย์พิมาน มูลประมุข พล.ต.ท.ฉลองเกียรติ  โรจน์ปัญญาคุปต์ ผู้รวบรวมข้อมูล และเป็นผู้ประสานงาน ออกแบบแท่นฐานอนุสาวรีย์ และดำเนินค้นหาเอกสารต่างๆจัดพิมพ์ประวัติและเรื่องราวกับดำเนินการทั้งหมดไว้เป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของตำรวจ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)

สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด

ตำรวจ ศชต.

“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”

ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”

ตำรวจพลร่ม

ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา

หมอนิติเวชตำรวจ

พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต

เครื่องจับเท็จ

มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ