เมืองไทยมีดีพอ...ขออย่ากังวล

เมื่อบริษัท Apple เจ้าของ iphone ทำคลิปเสนอเรื่องราวของเมืองไทยที่ดูเหมือนประเทศที่ยังไม่เจริญหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่สนามบิน โรงแรมที่พัก ยานพาหนะสำหรับเดินทาง ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่พอใจ และพากันออกมาด่า Apple กันสาดเสียเทเสีย หลายคนใช้ถ้อยคำด่า Apple ที่ค่อนจะรุนแรง หลายคนประกาศที่จะเลิกใช้ iphone ไปเลย บอกว่าจะไปใช้ Sumsung หรือโทรศัพท์ของจีนไปเลย เรื่องนี้จริงๆ แล้วเราสามารถทำใจร่มๆ ได้ ด้วยความพยายามเข้าใจ “ภาษาภาพยนตร์” และใช้อารมณ์ขันเล็กน้อยในการพิจารณา เพราะในภาพที่อาจจะทำให้ประเทศไทยดูด้อยพัฒนา ก็มีหลายๆ เรื่องในภาพยนตร์ดังกล่าวนั้นที่

แสดงให้เห็นความ “มีดี” ของประเทศไทยในหลายๆ ด้าน จะบอกว่าคลิปภาพยนตร์ดังกล่าวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การสื่อสารด้าน Soft Power ของประเทศไทย ก็ไม่ผิดนะ เพราะในคลิปภาพยนตร์ดังกล่าวนั้นได้แสดงให้เห็น “ทรัพยากรทุน” ที่เป็นสาระของ Soft Power ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ประการแรก เราอาจจะไม่พอใจที่เขานำเสนอภาพของการด้อยพัฒนาของประเทศไทยหลายๆ เรื่อง แต่เราลองคิดดูให้ดีว่าภาพที่เขานำเสนอนั้นมีอยู่จริงในประเทศไทยหรือเปล่า ถ้าหากเราพิจารณาด้วยความเป็นธรรมก็มีอยู่จริง แต่เราก็มีความเจริญที่พัฒนาแล้วในด้านเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสนามบินที่ทันสมัย โดดเด่นในระดับต้นๆ ของประเทศ โรงแรม 4 ดาว 5 ดาวที่สวยงาม สะอาดสะอ้าน มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันที่ทันสมัยไม่แพ้ชาติใดๆ ในโลก รวมทั้งยานพาหนะที่เป็นขนส่งมวลชนของเราทั้งรถไฟ รถเมล์ รถ Taxi ที่ดูดีและทันสมัย ถ้าจะว่าไปของเราดูดีกว่าในหลายๆ เมืองที่มีความเจริญระดับแนวหน้าของโลกด้วยซ้ำ

ประการที่สอง แม้ว่าคลิปดังกล่าวจะนำเสนอภาพของความไม่พัฒนาในบางเรื่อง แต่สิ่งที่ผู้ชมคลิปนี้จะได้เห็นก็คือ อาหารไทย และนิสัยใจคอของคนไทย ทั้งสองเรื่องนี้เป็น “ทรัพยากรทุน” ที่สำคัญสำหรับการดำเนินยุทธศาสตร์ Soft Power ผู้คนจะได้เห็นความน่ากินและความหลากหลายของอาหารไทย ผู้คนจะได้เห็นว่าคนไทยเป็นคนที่มีน้ำใจไมตรี เป็นมิตรกับผู้มาเยือน และมีความพยายามที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ที่มาติดต่อค้าขาย สิ่งที่คนในชาติอื่นทำให้พวกเขาไม่ได้ แต่เมื่อมาติดต่อกับนักธุรกิจไทย สิ่งที่ชาติอื่นทำให้พวกเขาผิดหวัง พวกเขาจะสมหวังเมื่อติดต่อทำธุรกิจกับคนไทย แบบนี้ย่อมเป็นยุทธศาสตร์ Soft Power ที่ดี

ประการที่สาม แม้บางคนอาจจะไม่สบายใจที่ได้เห็นเรื่องราวของความไม่เจริญในด้านต่างๆ แต่หากเรามองในแง่ดี คลิปนี้ได้แสดงให้เห็นว่าในประเทศไทยยังมีที่พัก ยานพาหนะในการเดินทางไปไหนมาไหน และอาหารราคาประหยัดที่รองรับนักท่องเที่ยวทุกระดับรายได้ ทำให้คนที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวอย่างประหยัดมองว่าประเทศไทยคือ ประเทศเป้าหมายสำหรับการท่องเที่ยวที่พวกเขาพอที่จะเดินทางมาเยือนได้โดยไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ทำให้ฐานของนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวสำหรับประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แม้ว่านักท่องเที่ยวเหล่านี้อาจจะไม่ได้เงินทองมากมายในการมาเยือนประเทศไทย แต่เมื่อมีนักท่องเที่ยวมามากขึ้น จะใช้เงินมาก ใช้เงินน้อย เราก็ได้เงินเพิ่มมากขึ้น โบราณว่าเก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน ก็สามารถมีจำนวนมากเป็นกอบเป็นกำได้เหมือนกันนะ

คลิปดังกล่าวนี้ แม้ว่าเป็นการทำเป็นสารคดีแฝงโฆษณา (Infomercial) มันก็ทำให้เราเห็นว่าการพัฒนาด้านโทรคมนาคมของประเทศไทยไม่ได้ด้อยพัฒนาเลย เพราะคนไทยในบริบทที่พวกเขานำเสนอนั้นก็มีการใช้ iphone ซึ่งก็ตรงกับความเป็นจริง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีโทรคมนาคมระดับ 5G ในระดับต้นๆ ของโลก มีผู้คนที่ทำธุรกรรม online ระดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะการจ่ายเงินแบบ cashless คือการไม่ใช้เงินสด การซื้อขายสินค้า online แบบ e-commerce ประเทศไทยเราใช้เทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) อันดับต้นๆ ของโลก และคนไทยก็มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไม่แพ้ใครในโลก ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ เรื่องราวเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่แพ้ใครในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำธุรกรรมทางธุรกิจ

อีกประการหนึ่ง เราไม่ต้องกังวลว่าผู้คนที่ได้ดูคลิปนี้จะรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับประเทศไทย ทั้งนี้เพราะว่าคลิปดังกล่าวนี้ไม่ใช่ข่าวสารเพียงชิ้นเดียวเกี่ยวกับประเทศไทย และ Apple ก็ไม่ได้ผูกขาดช่องทางการสื่อสารที่จะทำให้ผู้คนทั้งโลกรู้จักประเทศไทยผ่านคลิปนี้เท่านั้น เรายังมีคลิปอื่นๆ อีกเป็นหมื่นเป็นแสนที่พูดถึงประเทศไทยว่าเป็นประเทศพัฒนา เป็นประเทศที่มีความเจริญ มีโรงแรมที่ดี สวยงาม ทันสมัย มีสนามบินที่พัฒนาล้ำหน้าหลายประเทศในยุโรปและอเมริกา มีอาหารดีๆ มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและน่าสนใจ และคลิปเหล่านี้ หลายครั้งนำเสนอโดยคนดัง ทั้งวงการการเมือง วงการบันเทิง วงการกีฬา และคลิปเหล่านี้ก็เป็นคลิปที่มีอิทธิพลในการจูงใจให้คนชื่นชมประเทศไทย และอยากมาเยือนประเทศไทย อยากมาลงทุนในประเทศไทย นับได้ว่าเป็นชิ้นงานที่ประชาสัมพันธ์ประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ถ้าหากพวกเราด่าผลงานชิ้นดีกันมากๆ กองถ่ายทำภาพยนตร์ ละคร และสารคดี เขาอาจจะต้องคิดพิจารณากันใหม่ว่าจะมาถ่ายทำภายในประเทศไทยหรือไม่ เวลานี้เรากำลังเสนอพัทยาให้ UNESCO ประกาศให้พัทยาเป็น Creative City ด้านการถ่ายทำภาพยนตร์ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น UNESCO อาจจะปฏิเสธข้อเสนอของเราก็ได้ และถ้าหากกองถ่ายทำภาพยนตร์เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยน้อยลง เราจะสูญเสียมหาศาล ทั้งเม็ดเงินที่จะเข้ามาในประเทศ โอกาสของคนทำงานที่จะได้ทำงานกับกองถ่ายทำภาพยนตร์ของต่างชาติ และการได้ผลงานด้านบันเทิงเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย เราจะหวังว่าจะต้องมีแต่ภาพยนตร์และสารคดีนำเสนอแต่แง่มุมที่ดีเท่านั้นคงไม่ได้ เพราะในความเป็นจริง เราก็มีด้านมืดอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน และภาพยนตร์และสารคดีต่างๆ เขาก็ต้องการนำเสนอทั้งสองด้านนะจ๊ะ อย่ากังวลให้มากนัก แค่คลิปเดียว คงไม่สามารถทำลายศักยภาพของเมืองท่องเที่ยวและเมืองน่าลงทุนของประเทศไทยได้หรอกนะ...เชื่อเถอะ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มาเป็นชุด! 'ดร.เสรี' ฟาดคนโอหัง ความรู้ไม่มี ทักษะไม่มี ไร้ภาวะผู้นำ น่าสมเพชอย่างแท้จริง

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า เตือนก็แล้ว ตำหนิก็แล้ว ต่อว่าก็แล้ว เยาะเย้ยก็แล้ว ล้อเลียนก็แ

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม

จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!

ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก

ดร.เสรี ยกวาทะจัญไรแห่งปี 'เขาเว้นเกาะกูดให้เรา'

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า ประโยควาทะอัปรีย์จัญไรแห่งปี "เขาเว้นเกาะกูดให้เรา" แสดงว่าเขาเมตตาเราสินะ เราต้องขอบคุณเขา สำนึกบุญคุณเขาใช่ไหม