ปัจจุบันเราอาจจะได้เห็นข่าวคราวเรื่องการปลดคนงาน และ “การปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรม” ออกมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลหลากหลายสาเหตุ โดยจากข้อมูลของ “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” พบว่า ในช่วง 6 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) พบว่า มีการแจ้งเลิกทะเบียนโรงงานแล้ว 667 แห่ง ทุนจดทะเบียน 18,091 ล้านบาท และกระทบกับการจ้างงานกว่า 17,674 คน ซึ่งสถิติดังกล่าวสูงกว่าช่วงโควิด-19 สะท้อนจากตัวเลขการแจ้งปิดโรงงานในช่วง 6 เดือนของปี 2564 ที่ 373 แห่ง
โดย KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ เกียรตินาคินภัทร (KKP) ได้ออกบทวิเคราะห์ เรื่อง “โรงงานไทยที่กำลังปิดตัวบอกอะไรเรา?”
ซึ่งข้อมูลในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักของเศรษฐกิจไทย คือการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่วัดจากดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีการหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ ธ.ค.2565 จนถึง มี.ค.2567 หรือต่อเนื่องกันกว่า 1 ปี 3 เดือน ซึ่งนับเป็นการโตติดลบติดต่อกันที่ยาวนานมากที่สุดครั้งหนึ่ง
แต่สัญญาณถัดมาที่น่ากังวลกว่านั้นคือ ข้อมูลการปิดโรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เร่งตัวขึ้นชัดเจนตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 โดยค่าเฉลี่ยการปิดโรงงานของไทยอยู่ที่ 57 โรงงานต่อเดือนในปี 2564 และ 83 โรงงานต่อเดือนในปี 2565 ในขณะที่พุ่งสูงขึ้นถึง 159 โรงงานต่อเดือนในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ส่งผลให้หากนับรวมตั้งแต่ต้นปี 2566 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2567 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง
โดยไม่ใช่แค่โรงงานปิด แต่โรงงานเปิดใหม่ก็ลดลงเช่นกัน โดยตัวเลขการเปิดตัวโรงงานใหม่ที่ลดลงกว่าในอดีตยังย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมไทยที่ไม่ดีนัก โดยยอดการเปิดโรงงานสุทธิ (จำนวนโรงงานเปิดหักลบด้วยโรงงานปิด) ในภาพรวมชะลอตัวลงอย่างมาก จากค่าเฉลี่ยที่เป็นบวกสุทธิประมาณ 150 โรงงานต่อเดือน ลดลงเหลือเพียง 50 โรงงานต่อเดือน
ข้อมูลอีกหนึ่งชุดที่ตอกย้ำความน่ากังวลของสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมคือ การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในภาคการผลิตที่มีสัญญาณเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจน และสะท้อนปัญหาที่รุนแรงในภาคอุตสาหกรรมไทย มากกว่าเป็นการชะลอตัวชั่วคราว ซึ่งนำไปสู่ความจำเป็นต้องปิดโรงงานและกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ KKP Research พบความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวของโรงงานสูงกับอุตสาหกรรมที่หนี้เสียปรับตัวสูงขึ้น โดยโรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวมากกว่า มีแนวโน้มที่การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียสูงกว่าด้วย
ทั้งนี้ ข้อมูลการเปิด-ปิดโรงงานของอุตสาหกรรมไทยในมุมมองของ KKP Research นับเป็นภาพสะท้อนและผลลัพธ์ของการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมที่พึ่งพามูลค่าเพิ่มจากภาคอุตสาหกรรมกว่า 35% ของมูลค่าเศรษฐกิจ โดยตั้งแต่หลังช่วงโควิด-19 มา กลับกลายเป็น “ภาคบริการ” ที่ขยายตัวได้ดี ในขณะที่ “ภาคอุตสาหกรรม” หดตัวลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม KKP Research กลับมีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมไทยในระยะยาว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 1.การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในบางกลุ่มสินค้าหลัก เช่น การเปลี่ยนจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นรถยนต์ EV โดยในช่วงที่ผ่านมามีการส่งออกรถยนต์ EV ราคาถูกจากจีนมายังไทย และส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งยอดขายและราคารถยนต์ ICE ในไทย 2.การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าจีน 3.มาตรการกีดกันการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้นขึ้น
โดยผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น และเริ่มลุกลามมาสู่อุตสาหกรรมที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ที่เห็นได้ชัดคือ “อุตสาหกรรมยานยนต์” โดยเริ่มมีค่ายรถยนต์อย่าง Suzuki ยุติการผลิตในไทยตามยอดขายที่ลดต่ำลง และในช่วงหลังจากนี้ KKP Research ประเมินว่าการเร่งดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมและปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ยังจำเป็นต้องทำ ควบคู่ไปกับการหาเครื่องยนต์ใหม่มาทดแทนเครื่องยนต์เดิมของเศรษฐกิจที่หายไป มิเช่นนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพการเติบโตต่ำลงไปเรื่อยๆ.
ครองขวัญ รอดหมวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เศรษฐกิจปี68เติบโตไม่ง่าย ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
สำนักวิจัยหลากหลายสำนัก ฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 นี้ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน และการเติบโตที่เป็นไปได้มากที่สุดก็อยู่ระดับ 2.7-2.9% ซึ่งน้อยกว่าที่รัฐบาลมีการวางแผนเอาไว้ว่าจะผลักดันจีดีพีไทยปีนี้โตถึง 3%
ปี68สินเชื่อระบบแบงก์ไทยหืดจับ
ปี 2568 ยังเป็นอีกปีที่ต้องจับตากับทิศทางของเศรษฐกิจไทย เพราะยังมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งบวกและลบ ที่จะเข้ามามีผลกับภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถานการณ์กดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน
แผนดัน ‘เกษตรครบวงจร’
อุตสาหกรรมเกษตร เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย และที่ผ่านมาเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนไปได้ด้วยสินค้าเกษตร แต่ก็มีบางช่วงที่ติดขัดและไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ จากปัจจัยกระทบต่างๆ
เคาต์ดาวน์ปลอดภัยส่งท้ายปี
เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2568 เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เป็นวาระแห่งการเริ่มต้นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความหวัง โดยในปีนี้สถานที่จัดงาน Countdown ทั่วประเทศไทยหลายหน่วยงานได้เตรียมกิจกรรมไว้ให้ทุกคนได้ร่วมสนุกและสัมผัสความงดงาม
แชร์มุมมอง‘อินฟลูเอนเซอร์’ในตลาดอาเซียน
การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน แต่กลยุทธ์การทำการตลาดของแต่ละแบรนด์นั้นล้วนแตกต่างกันไป ล่าสุด วีโร่ ได้เปิดตัวเอกสารไวต์เปเปอร์ฉบับใหม่ในหัวข้อ “ผลกระทบ
ของขวัญรัฐบาล
อีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็จะเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แล้ว ก็เป็นธรรมเนียมของรัฐบาลและ ครม.ที่จะมีมาตรการเป็นของขวัญมอบให้กับประชาชน ซึ่งการประชุม ครม.ล่าสุดเริ่มมีการเคาะมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือประชาชนกันแล้ว