'QR อะไรวะ?'

ในวันดีๆ หยุดยาว ช่วงเข้าพรรษาและวันอาสาฬหบูชานี้ ผมขอพาพวกเราออกจากเรื่องวังวนการจับผิดวุฒิสมาชิกท่านใหม่ (ที่ได้คะแนนสูงสุด) และออกจากวังวนเรื่องผู้เชี่ยวชาญรู้ว่า Donald Trump ถูกยิงเพราะอะไร

แต่ก่อนออกจากโลกนั้น ขอบ่นสักหน่อย

เรื่องการบูลลี สว.คนนี้ ผมรู้ว่าเรื่องมันสนุกและมันส์ปากทุกคน เอาเข้าจริง เป็นเรื่องน่านินทา เพราะถ้าไม่ทำตัวเองขนาดนี้ คนอื่นไม่มีเรื่องเมาธ์หรอกครับ แต่เคยเอาไปคิดไหมว่า ที่พวกเราสนุกนินทานั้น ถ้าเขาไม่ “สวย” ขนาดนี้ ถ้าเขาไม่ “ตั้งใจสวย” และ “แต่งตัวสวย” ขนาดนี้ คนจะนินทาขนาดนี้ไหม? ผมว่านินทาอยู่ดี แต่ไม่สนุกขนาดนี้

ไม่ถึงขนาดออกรายการ ทดสอบพูดภาษาอังกฤษให้คนฟังเล่นๆ ไม่ถึงขนาดจ้องมองโทรศัพท์มือถือ ที่เป็นจอปกติ แล้วทำเป็นยกหูรับสาย เพื่อหลีกเลี่ยงคุยกับนักข่าว แน่นอนครับเขาทำตัวเขาเอง แต่พวกเราสนุกปากนินทาเขา และในโลกที่มีสิทธิเท่าเทียมกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เมาธ์มอยสนุกพอๆ กันยิ่งกว่า หรือพอๆ กับช่วงยุคอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครับ

ผมเองอดเมาธ์มอยเขาไม่ได้เหมือนกัน แต่สังคมออนไลน์ข้ามเส้นจากการนินทาไปในดินแดน Vicious เกินเลยครับ

ก็เอาเถอะครับ ผมไม่ใช่พระ ผมไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ ผมไม่ใช่เทวดาที่ไม่เคยทำบาป และผมไม่คิดจะเทศน์ให้ใครฟังเรื่องนี้หรอกครับ เพียงแต่เป็นข้อสังเกตที่คนอาจให้ความสำคัญ หรือไม่ให้ความสำคัญก็ได้ ส่วนเรื่อง Trump ที่เกือบถูกลอบสังหารนั้น หลังเกิดเหตุ สังเกตไหมว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” เรื่องการลอบสังหารคนมีเยอะมาก มาจากไหนไม่รู้ครับ ทุกคนรู้หมด แผนยิง Trump เป็นอย่างไร ทุกคนรู้เบื้องลึกเบื้องหลัง ทุกคนเก่งหมดครับ

ก่อนจะไปไกลกว่านี้ ผมว่าเราวกกลับมาเรื่องเบาๆ ที่ผมตั้งใจเขียนดีกว่า

ในโลกใหม่ของเรา เราถูกล้อมด้วยคำศัพท์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยคุ้นมาก่อน ที่ไม่เคยใช้มาก่อน ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน คำที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันทุกวันนี้ ผมรับรองว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เราไม่รู้จักเลย เช่น QR Code ให้ตายเถอะ ถ้าพูดคำนี้กับผมเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว คุณคุยภาษาเอเลียนกับผม

ผมมีเพื่อนและน้องๆ ไม่ได้กลับเมืองไทยช่วงโควิด เพราะโลกของเราหยุดหมุนและต่างคนต่างเดินทางไปไหนไม่ได้ แต่พอโลกเริ่มหมุน และการเดินทางปลอดภัยเหมือนเมื่อก่อนนั้น เพื่อนๆ น้องๆ เหล่านี้เริ่มทยอยกลับมาเที่ยวเมืองไทย หลังไม่ได้มา 2-3 ปี สิ่งแรกทุกคนพูดคือ “QR อะไรวะ?” เขาจะงงๆ กับระบบ QR Code เพราะบ้านเขาไม่มีครับ ของเขาส่วนใหญ่ใช้บัตรเครดิตรูดบ้าง Tap บ้าง แต่ไม่มี QR เหมือนบ้านเรา ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเขามีระบบ Prompt Pay ที่โอนเข้าบัญชีผ่านเบอร์มือถือหรือไม่ แต่ผมรู้แน่ๆ ว่าไม่มี QR

เลยงงกันเป็นแถว และงงที่ว่า เราสามารถใช้ QR ได้เกือบทุกที่ ทุกระดับ และใช้แทนเงินสด คิดดูละกันครับ กลายเป็นว่าคนที่ยังใช้เงินสดใช่จ่ายอยู่ ดูแปลกมาก ในขณะเดียวกัน ร้านไหนไม่รับโอน ประกาศรับแต่เงินสดอย่างเดียว ทำให้ผู้บริโภคหงุดหงิดและบ่นในใจว่า “สมัยนี้ใครถือเงินสดวะ?” “โอนร้านมึงไม่ได้ เพราะมึงหลีกเลี่ยงจ่ายภาษีใช่ไหม?” ก็ว่ากันไปครับ

เคยเกิดการถกเถียงกันเรื่องความหมายของคำว่า “เงินสด” เพราะผมเข้าใจตลอดว่า เงินสดคือแบงก์ (หรือเหรียญ) ที่ถือในมือ และการโอน การสแกน หรือ QR Code ไม่ใช่ “เงินสด”

มีอยู่วันหนึ่ง ผมไปซื้อของในแม็คโครใกล้บ้าน บังเอิญผมซื้อมากกว่า 10 ชิ้น ก็เลยเข้าแถวปกติ เพราะมันจะมีช่อง 1 ที่เขียนว่า Express Lane สำหรับสินค้าไม่เกิน 10 ชิ้น…และเงินสด…ผมไม่ได้ถือเงินสดอยู่แล้ว และผมมีของมากกว่า 10 ชิ้นก็เลยไม่เข้าแถวนั้นๆ Cashier เห็นและเรียกให้ผมเข้าแถวนั้นได้ เพราะสินค้าของผมถึงแม้จะเกิน 10 ชิ้น แต่ไม่ได้เกินเยอะเกิน (ผมมีประมาณ 12 ชิ้น) ซึ่งผมก็บอกเขาว่า “ไม่เป็นไรครับ ผมไม่มีเงินสดอยู่ดี” เขาถามว่าผมตั้งใจจ่ายอย่างไร? ผมบอกว่า “สแกนครับ” ขอตอบชัดเจนว่า “นั่นล่ะค่ะ คือเงินสด”

หลังจากนั้นมีหลายคนยืนยันว่า QR Code หรือการสแกน ถือว่าเป็นเงินสดจริงๆ เพราะมันออกมาจากบัญชีของเรา และเข้าบัญชีของเขาโดยตรง ไม่ต่างจากถอนเงินจาก ATM และเอาแบงก์นั้นๆ ใส่มือเขา เลยทำให้ผมมีความเข้าใจใหม่ แต่ผมก็จะเจอหลายร้านที่ระบุชัดเจนว่า “ไม่รับโอน รับแต่เงินสด” ผมเลยงงครับ ตกลงแม็คโครเข้าใจถูก หรือก๋วยเตี๋ยวรถเข็น ทางผ่านไปโรงเรียนลูกผมเข้าใจถูก ผู้มีความรู้ช่วยบอกผมทีครับ

แต่อย่างที่บอก พวกเราคุ้นเคยกับคำว่า QR Code แต่เคยสงสัยไหมว่า QR ย่อมาจากอะไร? เหมือนคำว่า PIN ที่เป็นรหัสของเรา แม้แต่คำว่า OTP ที่ต้องใช้เวลาซื้ออะไรออนไลน์ และคำว่า WIFI ที่บ้านทุกหลังขาดไม่ได้

แฟนคอลัมน์หลายท่านอาจรู้คำตอบนี้อยู่แล้ว ผมสารภาพว่าผมเพิ่งรู้ครับ สำหรับใครที่ไม่รู้พอๆ กับผมนั้น เรารู้พร้อมๆ กันดีกว่า สำหรับคนที่รู้แล้ว อ่านจบตรงนี้ก็ได้ครับ เพราะทิ้งท้ายในวันนี้จะเปิดเผยข้อมูลที่เพิ่งพูดถึงครับ

ตัว QR ในคำว่า QR Code ย่อมาจากคำว่า Quick Response เมื่อเป็น QR Code ก็คือ Quick Response Code

PIN คือ Personal Identification Number

OTP คือ One Time Password

และ WIFI คือ Wireless Fidelity

ถือเป็นความรู้รอบตัวครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Gisele Pelicot วีรสตรีของโลก

วันนี้ผมขออนุญาตเขียนเรื่องที่อาจสะเทือนใจ และสร้างความอึดอัดให้กับแฟนคอลัมน์หลายท่าน มันไม่ใช่เรื่องที่คนปกติจะนั่งพูดคุยกัน เป็นเรื่องสะเทือนใจ

President Biden….You’re a Good Dad

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีสารพัดเรื่องที่น่าสนใจและน่าเขียนถึง เรื่องแรกต้องเป็นเรื่องประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ เพราะเป็นเรื่องไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น และถือว่าเป็นการประกาศฟ้าผ่าทีเดียว

คุยเรื่อง…ที่ไม่ใช่เรื่อง

เผลอแป๊บเดียว วันนี้เราเข้าเดือนสุดท้ายของปีแล้ว ถือว่าเราเข้าฤดูกาลซื้อของขวัญสำหรับคริสต์มาสและปีใหม่อย่างเป็นทางการ ถึงแม้ตามห้างต่างๆ

'BRO!!!!!'

เกือบ 2 สัปดาห์กับผลการเลือกตั้งในสหรัฐ ที่สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั่วไป เว้นบรรดานักวิเคราะห์แม่นๆ….หลังผลออกมา พวกนี้ยังพูดเต็มปากเต็มคำว่า