ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้คนนับถือศาสนาพุทธมากกว่า 92% และในคำสอนของศาสนาพุธก็มีอริยสัจ 4 เป็นหลักที่ใช้ในการแก้ปัญหาที่ยุ่งเหยิงไปสู่ความสงบ ดังนั้น เมื่อประเทศชาติมีปัญหา ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นผู้ได้เสีย ก็ควรจะใช้หลักการของอริยสัจ 4 ในการแก้ปัญหาให้เกิดความสงบ หนึ่งปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือ ปัญหาการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ ปลาที่กินสัตว์อื่นในน้ำเป็นอาหาร สัตว์ที่เป็นทรัพยากรในน้ำอาจจะถูกทำลาย เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข เราควรเอาหลักการของอริยสัจ 4 มาใช้ในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างคนที่มี “ปัญญา” โดยพิจารณาไปตามขั้นตอนของ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค
ทุกข์ คือ ปัญหาที่ทำให้เราไม่สบายใจ เวลานี้ ทุกข์ของพวกเราก็คือความกังวลว่าปลาหมอคางดำจะทำลายระบบนิเวศในน้ำ ด้วยการกินสัตว์น้ำอื่นๆ จนเหลือน้อย และเรากลัวว่าปลาหมอคางดำจะแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว แพร่กระจายไปยังน่านน้ำต่างๆ การอธิบายทุกข์ตรงนี้ เราต้องเข้าใจสภาพที่แท้จริงของปัญหา อย่าใช้อารมณ์ในการอธิบายสภาพของปัญหาเพื่อปลุกเร้าอารมณ์ความกลัวที่เกินพอดี ความไม่ประมาทกับปัญหา และมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาเป็นเรื่องที่ดี แต่การพูดถึงปัญหาที่รุนแรงเกินจริงที่ภาษาไซเบอร์เรียกว่า “ดรามา” นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะจะทำให้สังคมเกิดความกังวลเกินพอดี และความกังวลอาจจะกลายเป็นความโกรธได้
สมุทัย คือ การวิเคราะห์สถานการณ์ของปัญหา เพื่อที่จะได้รู้ว่าอะไรคือเหตุแห่งปัญหา ตามหลักการของการจัดการที่ดี เวลาพยายามหาสาเหตุแห่งปัญหาให้ถามว่า “มันเกิดอะไรขึ้น” แทนที่จะถามว่า “ใครเป็นคนทำให้เกิดขึ้น” การถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นอาจจะมีคนหลายๆ คนมาช่วยกันหาสาเหตุ แต่การถามว่าใครเป็นคนทำให้เกิดขึ้นจะทำให้หลายๆ คนไม่อยากช่วยหาสาเหตุ เพราะไม่อยากได้ชื่อว่าตัวเองเป็นผู้กล่าวโทษใคร การถามว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ชื่อหรือตัวตนของผู้ทำให้เกิดขึ้นมันก็จะโผล่มาเอง แต่สิ่งหนึ่งที่ควรจะจำไว้คือ อย่าได้กล่าวโทษใคร ผู้ใดเป็นเหตุแห่งปัญหาโดยไม่มีหลักฐาน
ในกรณีของปรากฏการณ์ปลาหมอคางดำ มีบางคนโทษ CPF โดยที่ไม่มีหลักฐานใดๆ ทำไมจึงไปกล่าวหาโยนความผิดให้บริษัทที่เขายืนยันการทำงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม บางทีคนบางคนอาจจะต้องตั้งคำถามตัวเองนะว่าทำไมจึงมีแนวโน้มที่มักจะมีอคติกับบริษัทยักษ์ใหญ่หลายๆ เรื่องเวลามีปัญหาสังคมเกิดขึ้น จะกล่าวหาบริษัทยักษ์ใหญ่ทันทีว่าเป็นต้นตอของปัญหาทั้งๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ตามปรกติแล้วบริษัทยักษ์ใหญ่แทบทุกบริษัทเขามีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม (corporate social responsibility) ทำประโยชน์กับสังคม แทบทุกบริษัทดำเนินงานตามหลัก ESG คือ Environment, Society และ Governance เป็นองค์กรเพื่อสังคม (Social enterprise) ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใส่ใจสังคม และมีธรรมาภิบาล
ในกรณีของปลาหมอคางดำนี้ ทางบริษัทเขามีหลักฐานการนำเข้ามาเพื่อการวิจัยตั้งแต่ปี 2553 และเมื่อวิจัยเสร็จแล้วเขาก็นำปลาที่เหลือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตั้งแต่ปี 2554 แล้ว และในเวลานี้การสอบสวนของกรรมาธิการก็ปรากฏว่ามีการส่งมอบปลาที่เหลือให้ทางราชการไปแล้ว และยังพบอีกว่ามีการส่งออกปลาหมอคางดำในปี 2556-2569 หลายแสนตัว แต่ไม่ใช่ในฐานะปลาเพื่อบริโภค แต่เป็นปลาสวยงาม ดังนั้นการจะหาสาเหตุแห่งปัญหาต้องสอบสวนทวนความให้ดี อย่าใช้อคติในการพิจารณา ปลาหมอคางดำแพร่พันธุ์เร็วมาก ทางบริษัทเอาเข้ามาตั้งแต่ 2553 ถ้าหากมันเป็นปัญหาจากปลารุ่นนั้นจริง ปัญหาก็น่าจะเกิดตั้งแต่เวลานั้น แต่เมื่อเกิดปัญหาตอนนี้มันต้องมาจากการนำเข้าเร็วๆ นี้ หากใช้อคติวิเคราะห์จะไม่ได้เหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริง
นิโรธ คือ วิธีการดับทุกข์ ก็คือวิธีการแก้ปัญหา ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันทำงานแบบบูรณาการ คือเสริมพลังซึ่งกันและกัน ปราศจากความขัดแย้ง ร่วมกันรับผิดชอบ อย่าโทษกัน อย่าพยายามโยนความผิดให้พ้นตัวแล้วชี้นิ้วโทษคนอื่น เพราะการกระทำเช่นนั้นแทนที่จะได้วิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ ก็จะมีแต่ความขัดแย้ง โทษกันไปมา ปกป้องตัวเองไม่ให้เป็นผู้ผิด ในที่สุดก็จะหาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้ เมื่อหาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้แล้วจะหาวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างไร การคิดหาวิธีการแก้ปัญหาควรจะคิดให้ได้หลายๆ วิธี เพื่อนำเอาแต่ละวิธีนั้นมาวิเคราะห์ว่าแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพื่อที่จะได้ตัดสินใจว่าจะใช้วิธีไหนบ้าง การแก้ปัญหาไม่จำเป็นจะต้องมีเพียงวิธีเดียว วิธีใดที่มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย และข้อเสียที่มีนั้นสามารถแก้ไข หรือบรรเทาความรุนแรงของข้อเสียได้ เราก็เลือกที่จะใช้วิธีนั้น
ถ้ามีหน่วยงานรับซื้อในราคาที่เหมาะสมก็น่าจะมีคนช่วยกันจับมาขาย เมื่อมีปลาหมอคางดำมาขายก็ต้องมีการพัฒนาเมนูอาหารที่ทำมาจากปลาหมอคางดำที่มีอยู่มากมายตามความหลากหลายของการปรุงอาหารไทย เช่น ปลาร้า ปลาส้ม ปลาแดดเดียว ปลาทอดกระเทียมพริกไทย ปลาราดพริก แกงส้มปลา ฉู่ฉี่ปลา ปลานึ่งซีอิ๊ว ปลานึ่งมะนาว แกงเขียวหวานปลา แกงเผ็ดปลาใส่หน่อไม้ดอง ต้มยำปลา ต้มแซ่บปลา ต้มส้มปลา ผัดฉ่าปลา ปลาผัดขึ้นฉ่าย ปลาหวาน ปลายอ กุนเชียงปลา ไส้อั่วปลา ลาบปลา ปลาย่างจิ้มแจ่ว/ซีฟู้ด เมี่ยงปลา ราดหน้าปลาเต้าซี่ ปลาเปรี้ยวหวาน ลองเอาปลาหมอคางดำมาทำเมนูพวกนี้ดู ราคากิโลละ 15 บาท จะทำให้คนไทยได้โปรตีนราคาถูก หรือจะลองจัดประกวดการรังสรรค์เมนูจากปลาหมอคางดำก็น่าจะดีนะ
มรรค คือ การนำเอาแนวทางการแก้ปัญหามาสู่การปฏิบัติ วางระบบ กำหนดกระบวนการ กำหนดขั้นตอน กำหนดกลไกในการทำงาน ให้แนวทางการแก้ปัญหานั้นสู่การปฏิบัติจริง ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ มุ่งสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันแบบบูรณาการ ปราศจากความขัดแย้ง เราก็น่าจะแก้ปัญหาได้ตามหลักการของการ “เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส” ตั๊กแตนปาทังกาเคยเป็นปัญหากับการกัดกินพืช ถูกจับมาทอดกิน เหยาะซอสปรุงรสพริกไทย จนไม่เป็นปัญหาต่อไป ถ้ามีเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำที่อร่อยๆ ราคาถูกๆ ปัญหาก็น่าจะหมดไปได้เช่นกัน ลองใช้หลักการของอริยสัจ 4 แก้ปัญหานี้ดูนะคะ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เกรงว่าคำอวยพรปีใหม่จะไม่จริง
เวลาที่เรากล่าวคำอวยพรให้ใครๆ เราก็จะพูดแต่เรื่องดีๆ และหวังว่าพรของเราจะเป็นจริง ถ้าหากเราจะเอาเรื่องอายุ วรรณะ สุขะ พละ มาอวยพร โดยเขียนเป็นโคลงกระทู้ได้ดังนี้
แด่...ไพบูลย์ วงษ์เทศ
ถึงแม้จะช้าไปบ้าง...แต่ยังไงๆ ก็คงต้องเขียนถึง สำหรับการลา-ละ-สละไปจากโลกใบนี้ของคุณพี่ ไพบูลย์ วงษ์เทศ นักเขียน นักกลอนและนักหนังสือพิมพ์อาวุโส
กร่าง...เกรี้ยวกราด...ฤากลัว
ใครบางคนตำแหน่งก็ไม่มี สมาชิกก็ไม่ใช่ แต่แสดงบทบาทยิ่งใหญ่กว่าใครๆ เหมือนจงใจจะสร้างตำแหน่งใหม่ที่คนไทยต้องยอมรับ และดูเหมือนเขาจะประสบความสำเร็จเอาเสียด้วย
คำอวยพรปีใหม่ 2568
ใกล้ถึงช่วงปีหน้า-ฟ้าใหม่ยิ่งเข้าไปทุกที...การตระเตรียมคำอำนวย-อวยพรให้กับใครต่อใครไว้ในช่วงวาระโอกาสเช่นนี้ อาจถือเป็น หน้าที่ อย่างหนึ่ง
ก้าวสู่ปีใหม่ 2568
สัปดาห์สุดท้ายปลายเดือนธันวาคม 2567 อีกไม่กี่วันก็จะก้าวเข้าสู่ปี 2568 "สวัสดีปีใหม่" ปีมะเส็ง งูเล็ก
ลัคนากุมภ์กับเค้าโครงชีวิตปี 2568
สรุป-แม้ทุกข์-กังวลจะยังอ้อยอิ่งอยู่ตลอดปีแต่ต้นปีเร่งสร้างฐานชีวิต ครั้นพฤษภาคมไปแล้ว