เป็นที่ประจักษ์แล้วครับ...
รัฐบาลเศรษฐา จงใจทำให้เศรษฐกิจประเทศพินาศย่อยยับ เพียงเพื่อสนองนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท
เลิกคิดเถอะครับว่า นี่คือวิธีการกอบกู้เศรษฐกิจ
ไม่มีหรอกครับที่บอกว่า จะเกิดพายุหมุน ๕-๖ รอบ เศรษฐกิจจะพุ่งทะยาน
รัฐบาลตั้งเป้าช่วง ๔ ปีที่บริหารประเทศ จีดีพีโตเฉลี่ยปีละ ๕%
โกหกทั้งนั้นครับ
เพราะทุกอย่างมันผิดมาตั้งแต่ต้น
ผิดตั้งแต่พรรคเพื่อไทยออกนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตแบบสิ้นคิด
สุดท้ายมาจบที่ "กู้มาแจก"
คำว่า "กู้มาแจก" มันคือความเลวทรามทางการเมือง
เพราะเป็นการเอาหนี้ที่ประชาชนต้องแบก มาแจกประชาชน แต่ตัวเองได้คะแนนนิยม
นักการเมืองเลวทรามเท่านั้นที่คิดนโยบายพวกนี้ ในยามที่ประเทศต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบจริงจัง และหวังผล
จากนี้ไปหากเกิดความฉิบหายทางเศรษฐกิจขึ้น ก็ให้รับทราบกันว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลเพื่อไทย
๓-๔ ปีที่แล้ว ประเทศตกอยู่ในวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ แต่ก็ประคับประคองกันมาได้ และทำได้ดีกว่าหลายๆ ประเทศ
เศรษฐกิจกำลังโงหัวขึ้น!
ครั้งนั้นนักการเมืองที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย คุยโม้โอ้อวดว่าถ้าตัวเองเป็นรัฐบาลจะทำได้ดีกว่า
เพราะการเมืองดี ทุกอย่างก็จะดีด้วย
แล้ววันนี้การเมืองดีจริงหรือเปล่า
เห็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันในอดีตด่ากันเช็ด!
การกลับไปกลับมาในแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต มันคือความล้มเหลวทั้งในแง่แนวคิดและโครงการ ที่จะทำให้งบประมาณแผ่นดิน ๔.๕ แสนล้านบาท ไม่ต่างตำน้ำพริกละลายมหาสมุทร
งบประมาณแผ่นดิน ๔.๕ แสนล้านบาท รัฐบาลนำไปลงทุน หรือสร้างอะไรที่สามารถออกดอกออกผลได้เยอะครับ
ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน
หรือแม้กระทั่งการจ้างงานโดยรัฐบาล
นโยบายผันเงิน ของรัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี ๒๕๑๘ มันคือตัวอย่างให้นักการเมืองรุ่นหลังได้ลอกแบบและต่อยอด
มันไม่ใช่การแจก
แต่คือการจ้าง
นโยบายเงินผันขณะนั้น มี ๒ ความหมาย
ความหมายที่ ๑ คือ การผันเงินผ่านธนาคาร
และความหมายที่ ๒ คือ การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาชนบทหรือการผันงบประมาณ
เข้าใจง่ายๆ คือ พักหนี้ และจ้าง
ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น ๙๑.๔% ต่อจีดีพี หรือราว ๑๖.๙ ล้านล้านบาท รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหานี้ชัดเจนหรือยัง
แจกเงินหัวละหมื่น แทบทำอะไรไม่ได้เลย
เพราะแจกแล้วหาย
มันไม่หมุนเป็นพายุหรอกครับ อย่างเก่งก็แค่ผายลม
คิดกลับกัน หากรัฐบาลนำเงิน ๔.๕ แสนล้าน ไปทำโครงการแล้วจ้างงานประชาชน แบบนี้หมุนเป็นลูกข่างแน่นอน
ประชาชนได้ค่าจ้าง โครงการมันเกิด ต่อยอดไปเรื่อยๆ
จาก ๔.๕ แสนล้าน ก็คูณเข้าไป
นึกถึง “The Great Depression” เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก การฟื้นฟูเศรษฐกิจของอเมริกา ช่วงทศวรรรษ ๑๙๓๐ กว่าจะผ่านมาได้ ไม่ใช่เพราะการแจก
แต่เพราะการจ้างงาน การทุ่มงบประมาณสร้างโครงสร้างพื้นฐานครั้งมโหฬาร
ช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจโลกต้องประสบกับภาวะถดถอยอย่างยาวนาน และหยั่งรากลึก ชาวอเมริกันแทบไม่มีกิน รัฐบาลอเมริกาพยายามทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขปัญหา
ในช่วงประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ล้มลุกคลุกคลาน ยิ่งแก้ก็ยิ่งเกิดปัญหา เพราะเกาไม่ถูกที่คัน
แถมยังเจอภัยธรรมชาติ ทำให้ชาวนากว่าครึ่งล้านราย สูญเสียที่ดินซึ่งจำนองไว้กับธนาคาร
วิถีชีวิตจึงเปลี่ยนไปกลายเป็นคนงานเร่ร่อน
ชาวนาเหล่านี้มาจากหลายมลรัฐ แต่มักถูกเลือกรวมๆ อย่างรังเกียจ และดูแคลนว่าพวก "โอกีส์" (Okies) เพราะส่วนใหญ่มาจากมลรัฐโอคลาโฮมา
ทำให้เกิดการอพยพ โดยส่วนใหญ่มีจุดหมายปลายทางที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์และไม่ประสบกับภัยธรรมชาติ
การหางานทำในเมืองใหญ่นั้นไม่ง่าย หลายคนจึงต้องอดอยากซ้ำซ้อน
มาถึงยุค "ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน รูสเวลต์" แก้ปัญหากายใต้โครงการนิวดีล (New Deal) จนทำให้
เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่ง
หลังพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง "รูสเวลต์" ตั้งปณิธานไว้ ๓ ประการ ที่เรียกว่า "The 3"
คือการบรรเทาทุกข์ การฟื้นฟู และการปฏิรูป
ถึงบรรทัดนี้ลองตรวจสอบดูว่า รัฐบาลเศรษฐาที่บริหารประเทศมา ๑ ปี ทำอะไรคืบหน้าไปบ้าง
นายกฯ เศรษฐาเดินทางไปต่างประเทศ ต่างจังหวัด เยอะที่สุดในบรรดานายกรัฐมนตรีทุกคนที่ผ่านมา ทำให้ดูเหมือนมีงานเยอะ แต่ถามว่าผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันมีอะไรบ้าง
"รูสเวลต์" ให้สำนักงานโยธาธิการ (Public Works Administration) ทุ่มเงิน ๓,๓๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ จ้างแรงงานมาสร้างถนน สะพาน อุโมงค์ ที่ทำการไปรษณีย์ โรงเรียน รวมทั้งสถานที่ทำการอื่นๆ ของรัฐบาล
หน่วยอนุรักษ์ธรรมชาติฝ่ายพลเรือน (Civilian Conservation Corps) ว่าจ้างคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง ๑๘-๒๕ ปี ไปทำงานด้านอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยการปลูกป่า ต่อสู้ไฟป่า และสร้างเขื่อนหลายแห่ง
สำนักงานการจ้างงาน (Works Progress Administration) ใช้เงินไป ๑๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการจ้างคน ๘.๕ ล้านคน ไปทำงานในโครงการต่างๆ กว่า ๑ ล้านโครงการ
เช่น โครงการก่อสร้างและโครงการทางด้านศิลปะ ดนตรี ละคร ตลอดจนโครงการคิดและเขียนโครงการต่างๆ
ยังมีโครงการของรัฐในการแสวงหาศิลปิน นักดนตรี นักแสดง และนักเขียน เพื่อให้ใช้ศิลปะสร้างความบันเทิงและก่อให้เกิดแรงบันดาลใจกับประชาชนที่ต้องเผชิญกับความสิ้นหวังทางเศรษฐกิจ
เอาทุกทางครับ!
แม้จะมีการแจกเงินบ้าง แต่ก็เป็นการสงเคราะห์เฉพาะกลุ่ม
กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ การจ้างงานเกิดขึ้นอย่างมโหฬารจากอุตสาหกรรมอาวุธ เศรษฐกิจอเมริกาฟื้นจนกลายเป็นมหาอำนาจ
ครับ...การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ อย่ามักง่ายแค่กู้มาแจกแล้วคิดว่าจะจบ
รัฐธรรมนูญ หมวด ๖ ว่าด้วยเรื่องแนวนโยบายแห่งรัฐ รัฐบาลอ่านกันบ้างหรือยัง หรือยังติดว่าเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ
ไม่มีตรงไหนให้กู้มาแจกครับ
มีแต่ให้รัฐส่งเสริมเศรษฐกิจแบบยั่งยืน
แต่รัฐบาลเศรษฐาทำในสิ่งที่กลับกัน
ส่งเสริมให้เป็นหนี้อย่างยาวนาน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทลายทุนผูกขาด
ชื่นใจ... ชื่นใจในความรวยของเศรษฐีไทยครับ วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ ๓๑ แล้วครับ
นายกฯ ฝึกงาน
ขยี้ตาสิบที... แถลงผลงานในรอบ ๓ เดือนแน่นะ "อิ๊งค์" ไปดูอีกทีกับการแถลงข่าววานนี้ (๑๒ ธันวาคม)
ชะตากรรม 'นายกฯ ชินวัตร'
วันนี้ (๑๒ ธันวาคม) นายกฯ อิ๊งค์ แถลงผลงาน อยากรู้ว่าผลงานมีอะไรบ้าง เชิญเฝ้าหน้าจอสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือช่อง ๑๑ นั่นแหละครับ
ในวันที่ 'ส้ม' โหยหาเพื่อน
ไอ้เสือถอย! ไปไม่ถึงสุดซอยครับ "หัวเขียง" ยอมเลี้ยวกลับเสียก่อน
ง่ายๆ แค่เลิกโกง
อาจถึงขั้นเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาลกันเลยทีเดียวครับ... หากพรรคเพื่อไทย จะเอาให้ได้ กับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ด้วยการจับยัดเข้าสภาฯ ก็สามารถยึดอำนาจกองทัพได้สำเร็จครับ
'อุ๊งอิ๊ง' แถลงผลงาน
ล้างตารอไว้นะครับ นายกฯ แพทองธาร นัดไว้แล้ววันที่ ๑๒ ธันวาคม มีข่าวใหญ่