ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 31: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

 

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี

5.2 ตะวันตกมองการเริ่มต้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในสยาม

จากตอนที่แล้ว ที่ได้ยกรายงานสถานทูตต่างประเทศที่มีต่อพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยมีสาระสำคัญว่า ทางฝ่ายฝรั่งเศสเห็นว่า การปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนั้นถือเป็น “การรัฐประหาร” ส่วนทางฝ่ายอังกฤษเห็นว่า ไม่ใช่ และเห็นด้วยกับ “การยุบสภาฯ” ครั้งนั้น นั่นคือ ทางอังกฤษเห็นว่าเป็นการยุบสภาฯ   ส่วนในแถลงการณ์ของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและในพระราชกฤษฎีกาใช้คำว่า ปิดประชุมสภาฯ  และผู้เขียนได้ทิ้งคำถามท้ายบทความไว้ว่า “ท่านผู้อ่านได้อ่านเรื่องราวข้างต้นไปแล้ว ท่านเห็นว่า ปรากฎการณ์ทางการเมืองวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นการทำรัฐประหารตามความเห็นของพันโทรูซ์ หรือไม่เป็นตามความเห็นของอัครราชทูตอังกฤษ ?”             

------------------

ต่อประเด็นการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 นี้  ม.ล. วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ได้ศึกษาไว้ใน “แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2520) ได้กล่าวไว้ว่า

“การปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราของพระยามโนปกรณ์นิติธาดานี้เป็นเหตุให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา แต่ในแง่ที่ว่าจะเป็นการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการละเมิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  จริงอยู่ แม้ในรัฐธรรมนูญจะมิได้กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ทว่าถ้าคิดในแง่ธรรมเนียมปฏิบัติที่ใช้กันอยู่ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบรัฐสภา หากเกิดกรณีที่มีการขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจนไม่สามารถจะรักษาสถานการณ์ไว้ได้ รัฐบาลอาจยุบสภาแล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การกระทำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดามิได้เป็นการกระทำที่จะละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ประการใด”

--------------

ผู้เขียนขอยกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ที่กล่าวถึงการปิดและการยุบสภาผู้แทนราษฎร ไว้ดังนี้

“มาตรา 29 สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งๆ ท่านว่ามีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้

อนึ่งในระหว่างเวลาเก้าสิบวัน จะโปรดเกล้าฯให้ปิดประชุมก็ได้

มาตรา 30 พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามสมัยประชุม และทรงเปิดปิดประชุม

พิธีเปิดประชุม จะทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนิรมาทรงทำหรือจะโปรดเกล้าฯให้รัชชทายาทที่บรรลุนิติภาวะแล้ว หรือนายกรัฐมนตรีกระทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้

มาตรา 31 เมื่อเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมวิสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎรก็ได้”   

และ       

“มาตรา 35  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกใหม่ ในพระราชกฤษฎีให้ยุบสภาเช่นนี้ ต้องมีกำหนดให้เลือกตั้งสมาชิกใหม่ภายในเก้าสิบวัน”             

ถ้าพิจารณาตามข้อความในพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 จะพบว่า เป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่การยุบสภาฯ ดังนั้น การปิดประชุมสภาฯจึงเป็นไปตามมาตรา 29 ที่บัญญัติไว้ว่า

“สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งๆ ท่านว่ามีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้

อนึ่งในระหว่างเวลาเก้าสิบวัน จะโปรดเกล้าฯให้ปิดประชุมก็ได้”

สภาผู้แทนราษฎรที่ปิดไปนี้ เปิดประชุมครั้งแรกวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2475  

จากรูปภาพที่ 2 และ 3 จะเห็นได้ว่า ในการประชุมครั้งที่ 47 เป็นการให้นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้สภาลงมติไว้วางใจ เป็นสาระสำคัญของการเปิดประชุมสภาฯครั้งแรก

เมื่อเปิดประชุมสภาฯครั้งแรกวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ตามมาตรา 29 กำหนดให้สภาสมัยหนึ่งๆมีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน  ดังนั้น การปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 จึงเป็นไปตามมาตรา 29 เพราะสมัยประชุมสภาฯได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลาเกินเก้าสิบวันแล้วด้วย   ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯจึงมิไม่ถือว่าเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญและเป็นการทำรัฐประหาร

ขณะเดียวกัน ในตอนท้ายของรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475 ได้มีข้อความในหมายเหตุท้ายรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 59 (สมัยสามัญ) วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475  มีข้อความที่หน้า ๑๐๐๐ ว่า

หมายเหตุ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกประชุมวิสามัญตั้งแต่วันที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ เป็นต้นไป...”                                 

จากรายงานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ได้มีการประกาศในที่ประชุมสภาฯวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475 ว่าจะปิดประชุมสภาฯตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 และจะให้มีการเรียกประชุมวิสามัญในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2476  เป็นที่เข้าใจกันในบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าประชุมในวันที่ 31 มีนาคมฯ และไม่มีสมาชิกฯผู้ใดทักท้วงการปิดประชุมสภาฯ

ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอย้ำอีกครั้งว่า การมีพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

ประเด็นต่อไปที่ผู้เขียนจะนำมาพิจารณาในตอนต่อไป คือ การปรับคณะรัฐมนตรีและการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ที่ปรากฏในประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476  เข้าข่ายเป็นการทำรัฐประหารหรือไม่ ?         

ป.ล. ขณะเดียวกัน ผู้เขียนอยากจะฝากให้ท่านผู้อ่านตั้งข้อสังเกตว่า “ทำไมพระยาพหลพลพยุหเสนา, หลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ถึงต้องทำการรัฐประหาร โดยนำกำลังทหารบีบให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาลาออกจากตำแหน่งในเวลาหัวค่ำของคืนวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476  หนึ่งวันก่อนที่จะมีการเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญตามที่ได้ประกาศไว้ในรายงานการประชุมสภาฯวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475 ?”   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชิงประธานวุฒิสภาระอุ! 30 สว.ปิดตึกหรูชั้น 7 แสดงพลัง

สภาสูงระอุ ชิงเก้าอี้ ปธ.วุฒิสภา-รองประธานฯ เดือด สว. 30 คน ตบเท้าแสดงพลัง ปิดชั้น 7 ตึกหรูรัชดาฯ คุยกันสี่ชั่วโมง ดัน”บุญส่ง-อดีตกกต.”สู้สว.สีน้ำเงิน พร้อมตั้ง”กลุ่มสว.อิสระ” บ้านใหญ่บุรีรัมย์ เคาะจบวันอาทิตย์นี้เอาใคร “มงคลหรือบิ๊กเกรียง” สะพัด ล็อกโผเก้าอี้ประธานกมธ.เกรดเอหมดแล้ว

'อิ๊งค์' ถามกลับ 'วัน อยู่บำรุง' บทสนทนามีมากกว่านั้นคืออะไร ยันไม่มีประโยคไหนน่าตื่นเต้น

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมสส.ในวันนี้ มีการเน้นย้ำเรื่องอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ ว่า เมื่อสักครู่ที่ตนเข้าไปโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมประชุมด้วย

เจอกับตัว! นายกฯ ลั่นน่าเกลียดมาก เฟกนิวส์ไร้ราคา เชื่อทุกคนรู้อยู่แล้วเรื่องอะไร

“เศรษฐา” เผยวงหารือรมต.เพื่อไทย กำชับการทำงานทั่วไป พร้อมขอ “รมว.ดิจิทัล” แก้ปัญหาเฟกนิวส์น่าเกลียดผุดเพียบ ขอสังคมอย่าให้ราคา

ชื่นมื่น! ดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาล ไร้เงา 'ประวิตร-พัชรวาท'

บรรยากาศงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของพรรคร่วมฯ ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งที่ 3 โดยนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาถึงเป็นคนแรก