เจ็บแล้วจบ

หลังการบริหารงานของรัฐบาลเศรษฐาได้เข้ามาเดินหน้ามาตรการประชานิยมลด แลก แจก แถม จัดเต็ม ตามที่สัญญากันไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะนโยบายด้านพลังงาน ลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน และค่าก๊าซ โดยมอบหมายให้ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มากำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ล่าสุด สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ระบุว่า จากการตรึงราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม ทำให้กองทุนต้องแบกรับภาระ วันที่ 30 มิ.ย.2567 รายงานสถานะเงินกองทุนน้ำมันติดลบรวม -111,338 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -63,641 ล้านบาท และมาจากบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม -47,697 ล้านบาท ทั้งนี้ กองทุนยังคงชดเชยราคาดีเซลอยู่ 2.39 บาทต่อลิตร ดังนั้นถ้าหากไม่ชดเชยจะส่งผลให้ราคาดีเซลแท้จริงอยู่ที่ประมาณ 35.33 บาทต่อลิตร

เช่นเดียวกับค่าไฟฟ้าที่ในปัจจุบัน ซึ่ง พีระพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ มอบนโยบายให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ว่าให้ดำเนินการดูแลระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศเพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมืองและประชาชนเป็นสำคัญ โดย กฟผ.เป็นผู้ที่ต้องแบกรับภาระหนี้เพื่อดูแลค่าไฟ ส่งผลให้ในปัจจุบัน กฟผ.มีภาระหนี้ค่าไฟฟ้าที่มีมูลค่าสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท

ล่าสุด พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. ระบุว่า ค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้จะต้องเพิ่มขึ้นมา เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซ ทั้งก๊าซในอ่าวไทย และราคาก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจร (สปอต) ตลาดโลกนำเข้า ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้น ราคาพูลแก๊ส ปรับจาก 300 เป็น 323 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ขณะที่ราคาแอลเอ็นจีสปอต ปรับจาก 10.38 เป็น 13.58 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เป็นช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า จาก 33 เป็น 36.63 บาทต่อเหรียญสหรัฐจากต้นปี ความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวในปลายปี เมื่อรวมกับการทยอยคืนหนี้สะสมทั้งในส่วนของ กฟผ. 98,495 ล้านบาท และค่าภาระหนี้ของระบบที่ต้องจ่ายคืนให้กับผู้ขายก๊าซคือ ปตท.และ กฟผ.อีก 15,000 ล้านบาท จึงทำให้ต้องปรับค่าไฟเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ หากภาคนโยบายต้องการตรึงราคาค่าไฟฟ้าที่หน่วยละ 4.18 บาทเท่าเดิม รัฐจะต้องหางบประมาณมาเพิ่ม 28,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปได้ใน 2 แนวทาง คือ การยืดจ่ายหนี้ กฟผ. จาก 0.2723 เหลือ 0.05 สตางค์ จะทำให้มีหนี้คงค้างเพิ่มขึ้นจาก 98,495 ล้านบาท บวก 28,000 ล้านบาท เป็น 126,495 ล้านบาท หรือเป็นการใช้วิธีนำมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 มาใช้ หมายถึงตรึงค่าแก๊สในส่วนที่ต้องจ่าย ปตท.และกฟผ. ในฐานะชิปเปอร์ เพื่อมาทดแทนในส่วนของ 28,000 ล้านบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับแนวทางของนโยบาย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ กกพ.เห็นชอบผลการคำนวณค่าเอฟที งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.67 เป็น 3 แนวทางปรับเพิ่มขึ้นในระดับหน่วยละ 46.83-182.99 สตางค์ เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่หน่วยละ 3.7833 บาท ส่งผลให้ค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค.67 เพิ่มขึ้น 0.47-1.83 บาท เป็นค่าไฟฟ้าเรียกเก็บกับประชาชน 4.65-6.01 บาทต่อหน่วย เทียบจากงวดนี้ (พ.ค.-ส.ค.) อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดยมอบให้สำนักงาน กกพ.นำสมมุติฐานดังกล่าวเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน ตั้งแต่วันที่ 12-26 ก.ค.67 ก่อนจะสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

สำหรับ 3 แนวทางนั้นประกอบด้วย 1.จ่ายค่าเชื้อเพลิงคืน กฟผ.ทั้งหมด 98,495 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย 2.จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. 3 งวด งวดละ 32,832 ล้านบาท ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.92 บาท และ 3.กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุน กฟผ. 6 งวด งวดละจำนวน 16,416 ล้านบาท หรือภายใน 2 ปี ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็นหน่วยละ 4.65 บาท

พร้อมทั้งกล่าวทิ้งท้ายว่า ทั้ง 3 ทางเลือกเป็นทางเลือกที่มีการคืนหนี้ให้กับ กฟผ.ทั้งสิ้น แต่ถ้าเลือกแนวทางยอมให้ปรับขึ้นหน่วยละ 6.01 บาท ถือว่าเจ็บแต่จบ จะใช้หนี้ กฟผ.หมดในงวดเดียว และหลังจากนั้นงวดแรก ปี 68 ก็มีโอกาสที่ค่าใช้จ่ายลดลง ค่าเอฟทีจะลดลงหน่วยละ 1.80 บาท จะทำให้ค่าไฟลดลงจากหน่วยละ 6.01 เหลือประมาณหน่วยละ 4.20 บาทได้.

 

บุญช่วย ค้ายาดี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หวยเกษียณแก้ปัญหาแก่ก่อนรวย

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ หรือหวยเกษียณ ของกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งนี่ถือเป็นโครงการที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมการออมของประชาชนในประเทศ

3แผนกรีนดันอุตฯไทยรักษ์โลก

เทรนด์รักษ์โลกยังมีมาอย่างต่อเนื่อง และตลอดปี 2567 ที่ผ่านมานี้หลายหน่วยงาน หลายบริษัทก็ยังไม่ทิ้งอุดมการณ์อันแรงกล้านี้ และยังแห่ประกาศแผนดำเนินงานเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมกันอย่างคึกคัก

เร่ง“ปรับ”ก่อน(ถูก)“เปลี่ยน”

ยอดขายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา หลายคนคงตกใจ เพราะหดตัวลงถึง 23.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มว่าทั้งปีจะหดตัวลงอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี

เปิดไม้เด็ดธุรกิจขนาดเล็กสู้ในตลาด

หากย้อนเวลาไปเมื่อหลายปีก่อน ธุรกิจที่มีทุนหนาและมีส่วนแบ่งการตลาดมาก มักจะถูกมองว่าเป็น “ปลาใหญ่” ที่ได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่ทุนน้อยกว่าซึ่งเปรียบเหมือน “ปลาเล็ก” จนเป็นที่มาของคำว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” หนึ่งในข้อได้เปรียบที่เห็นชัดที่สุดคือ การมี Economy of Scale หรือ การประหยัดต่อขนาด ซึ่งหมายถึง การผลิตสินค้าหรือบริการในจำนวนที่มากพอที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำลง พูดง่ายๆ ก็คือ “ยิ่งผลิตมากขึ้น ต้นทุนการผลิตยิ่งลดลง และยิ่งคุ้มค่ามากขึ้น” โดยต้นทุนในการผลิตสินค้าหรือบริการจะแบ่งออกเป็น ต้นทุนคงที่ (fixed cost) และต้นทุนผันแปร (variable cost) ต้นทุนคงที่ คือ ต้นทุนที่ธุรกิจต้องจ่ายเป็นจำนวนคงที่ ไม่ว่าจะผลิตสินค้าหรือบริการในปริมาณเท่าใดก็ตาม เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าเครื่องจักรอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ส่วนต้นทุนผันแปร

ถึงเวลาสกัดสินค้าจีนด้วยภาษี

ปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้ามาในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน กำลังกลายเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับรัฐบาลและหน่วยงานราชการของแต่ละประเทศ ที่จะต้องหามาตรการในการดูแลผู้ประกอบการภายในประเทศ เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันได้ จนทำให้หลายธุรกิจต้องล้มหายตายจากไปในที่สุด

จุดเปลี่ยนผ่านอุตฯยานยนต์

จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประเทศไทยเริ่มเห็นทิศทางอุตสาหกรรมใหม่ๆ มากขึ้น และเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนากลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ ทั้งเครื่องมือแพทย์