วิเคราะห์การตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่จากมุมมองทางรัฐศาสตร์ ? (ตอนที่หก)

ที่ผ่านมาห้าตอน ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุของการยุบพรรคอนาคตใหม่ เพราะการกู้ยืมเงินหัวหน้าพรรคเป็นจำนวนมากถึง 191,200,000 บาท ขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา ๔๕ ที่มี “ความมุ่งหมายเพื่อรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยกำหนดกรอบของกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งและการบริหารพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง และมีการบริหารกิจการภายในของพรรคการเมือง ที่เป็นไปตามหลักความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำ โดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (เน้นโดยผู้เขียน) โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมือง ตั้งแต่เริ่มแรก และกำหนดให้การบริหาร การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ของพรรคการเมือง สมาชิกต้องมีส่วนร่วมด้วย อันเป็นการป้องกันมิให้ พรรคการเมืองเป็นธุรกิจการเมือง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งอาศัยความได้ปรียบทางการเงินมาเป็นผู้บงการพรรค แต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวได้ รัฐสภาจึงได้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ ขึ้นเป็นกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๕ บัญญัติไว้”


ขณะเดียวกัน การกู้ยืมเงินหัวหน้าพรรคเป็นจำนวนมากถึง 191,200,000 บาทยังขัดกับหลักการสากลของประเทศที่ประชาธิปไตยพัฒนาแล้ว ที่พบได้ในการศึกษาของ Anika Gauja (Political Parties and Elections: legislating for representative democracy. London: Routledge, 2010.) ที่กฎหมายพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้วางอยู่บนหลักการพื้นฐานร่วมกัน นั่นคือ ทุกประเทศล้วนต้องการขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นและการเกิดสภาวะรวมศูนย์ในพรรคการเมือง (corruption and centralization in party politics) เพื่อสร้างเวทีทางการเมืองที่เสรีและเป็นธรรมให้แก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองทุกพรรค

แต่กระนั้น เราต้องยอมรับความเป็นจริงอย่างหนึ่งว่า พรรคการเมืองทุกพรรคจำเป็นต้องใช้เงินในการดำเนินกิจการต่างๆ จริงๆแล้ว ในสหราชอาณาจักร กฎหมายพรรคการเมืองอนุญาตให้พรรคการเมืองกู้ยืมเงิน แต่การกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองต่อปัจเจกบุคคลหรือบริษัทก็กระทำในลักษณะที่ไม่ได้กู้ยืมจากแหล่งเดียวเป็นจำนวนเงินมหาศาล แต่กระจายออกไป ดังปรากฏในรายการการกู้เงินของพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษ์นิยมในช่วง ค.ศ. 2006 ดังที่ผู้เขียนได้นำเสนอข้อมูลนี้ไปในตอนก่อนๆแล้ว

การห้ามไม่ให้พรรคการเมืองกู้เงินย่อมจะเป็นอุปสรรคต่อพรรคการเมืองที่มีทุนน้อย แต่การให้กู้เงินย่อมจะต้องมีเงื่อนไขที่ไม่นำไปสู่การครอบงำพรรคโดยผู้ให้กู้ การแก้ไขปัญหาพรรคการเมืองที่มีทุนน้อย อาจจะใช้แนวทางที่ให้รัฐให้เงินสนับสนุนแก่พรรคการเมือง อย่างในกรณีของสวีเดนและอีกหลายประเทศ


แต่ก็จะนำไปสู่ปัญหาอีกปัญหาหนึ่งนั่นคือ ปัญหาความแตกต่างระหว่างสถานะเอกชน-มหาชนของพรรคการเมือง (the Public-Private Distinction) การให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาพรรคการเมืองในแถบยุโรปตะวันตกหลายประเทศ ทำให้พรรคการเมืองที่มีวิวัฒนาการจากพรรคการเมืองแบบมวลชนมาเป็นพรรคการเมืองที่พึ่งพาการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐหรือที่เรียกว่า “Cartel Party” อาจทำให้พรรคการเมืองสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาครัฐมากกว่าประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินสนับสนุนพรรคการเมืองยังทำให้พรรคการเมืองไม่พยายามหารายได้เข้าพรรค แต่จะหวังพึ่งเงินสนับสนุนจากภาครัฐเท่านั้น พรรคการเมืองจึงอาจกลายเป็นองค์กรของรัฐมากกว่าองค์กรของประชาชนหรือเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง หรืออาจจะมีปัญหาในแบบต่างๆได้ (ดูปัญหาล่าสุดที่เกิดขึ้นกับ พรรคไทยรักธรรม: ‘ไทยรักธรรม’ ดิ้นสู้คดียุบพรรค ลั่นไม่โกงแค่ไม่มีเงินคืน 7 มกราคม 2565 เวลา 16:55 น. https://www.thaipost.net/politics-news/59931/)


ทั้งนี้ มีนักวิชาการแนะนำว่า เงินสนับสนุนพรรคการเมืองควรเป็นเพียงแค่รายได้ที่ช่วยสนับสนุนพรรคการเมืองส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ควรเป็นรายได้หลักของพรรค เงินสนับสนุนพรรคการเมืองที่เริ่มมีการพัฒนาจากยุโรปตะวันตกกลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อพรรคการเมืองในปัจจุบัน และแนวคิดเรื่องการจัดสรรเงินสนับสนุนพรรคการเมืองดังกล่าวได้ขยายไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก


แต่ก็มีนักวิชาการที่เห็นแย้งว่า การได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ ไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองต้องกลายเป็นองค์กรของรัฐเสมอไป เพราะมีพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐ และยังสามารถคงความเป็นองค์กรเอกชน (private organization) ในกิจการภายในของพรรคและไม่ได้เปิดให้มีการตรวจสอบจากภายนอกอย่างจริงจัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่ว่า พรรคการเมืองถูกควบคุมโดยกฎหมายมหาชนมากน้อยเพียงใด


แต่อย่างไรก็ตาม การจะจัดว่าพรรคการเมืองเป็นองค์กรเอกชนหรือมหาชนนั้นยังมีปัญหายุ่งยากมาก และยังคงเป็นเรื่องที่จะต้องถกเถียงกันต่อไปในหมู่นักรัฐศาสตร์และนักนิติศาสตร์ แต่ที่พอจะกล่าวได้อย่างหนึ่งก็คือ หากในกรณีที่พรรคการเมืองได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐเป็นจำนวนมากก็จะมีข้อผูกมัดเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเงินภายใต้กฎหมายมหาชนหรือพระราชบัญญัติพรรคการเมืองมากกว่ากรณีที่พรรคการเมืองได้รับเงินสนับสนุนน้อยหรือไม่ได้รับเลย


ในระบบการเลือกตั้งและพรรคการเมืองของไทย ถือว่ารัฐได้ให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองเป็นจำนวนที่สูงมาก การจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่พรรคการเมือง ประจำปี 2562 ได้มีการจัดสรรให้แก่พรรคการเมือง จำนวน 77 พรรคการเมือง รวมเป็นเงินจำนวน 117,700,603.74 บาท จึงทำให้น่าสังเกตเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการควบคุมการเงินของพรรคการเมืองเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่ลงสนามเลือกตั้ง

ส่วนในกรณีของเงินบริจาค จะพบว่า เงินบริจาคจำนวนมหาศาลและการสนับสนุนช่วยเหลือต่างๆจากบริษัทถือเป็นเรื่องที่อาจจะเป็นอันตรายสำหรับกระบวนการทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ดังนั้น รัฐต่างๆ (หรือในกรณีของสวีเดน พรรคการเมืองต่างๆมาจับมือทำสัตยาบันกันเองที่จะไม่รับเงินบริจาคจากธุรกิจเอกชน) จึงได้ออกกฎหมายในรูปแบบต่างๆเพี่อป้องกันหรือจำกัดโอกาสความเป็นไปได้ที่บริษัทเอกชนหรือปัจเจกบุคคลที่มั่งคั่งจะมีอิทธิพลในทางการเมืองผ่านการบริจาคหรือการอุดหนุนช่วยเหลือต่างๆต่อพรรคการเมือง และได้ออกมาตรการที่จะทำให้พรรคการเมืองยังคงสามารถรักษาความเป็นอิสระจากผลประโยชน์ส่วนตัวของคนรวยไม่กี่คน มาตรการดังกล่าวคือการการกำหนดรายได้ส่วนตัวที่พรรคและผู้สมัครจะสามารถรับได้ ทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพ

ดังนั้น จากเงื่อนไขของความจำเป็นในการต้องมีเงินทุนสำหรับการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เราจึงไม่ค่อยจะเห็น “พรรคคนจน” มีบทบาทอะไรมากนักในทางการเมืองไทย เพราะการจะมีบทบาท ต้องมีทุนมากพอที่จะใช้ไปกับสื่อกับการบริหารจัดการโซเชียลมีเดีย และการเดินสายไปที่ต่างๆในประเทศหรือต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งจ้างนายหน้าต่างประเทศไว้ติดต่อประสานงาน เอาแค่คนจนที่ไม่คิดเล่นการเมืองก็ยังจะไม่สามารถดำรงชีวิตปกติได้อยู่แล้ว ทั้งตัวเองและครอบครัว และด้วยเหตุนี้ เวลาเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองที่มีทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่ไม่น่าประหลาดใจ อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักรัฐศาสตร์ ผู้เขียนก็ยังยืนยันว่า เห็นด้วยที่พรรคการเมืองควรกู้เงินได้กับสถาบันการเงิน เพราะเวลาใครไปกู้ธนาคาร ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นหนี้บุญคุณธนาคาร และธนาคารก็ไม่ได้จะเมตตาโอนอ่อนผ่อนปรนยามที่เราไม่มีปัญญาส่งดอกเพราะต้องว่ากันไปตามเนื้อผ้า


ที่ผ่านมา จะไม่ค่อยจะได้ยินข่าวว่า พรรคการเมืองก่อนหน้าพรรคอนาคตใหม่ไปกู้เงินใครหรือสถาบันการเงินที่ไหน ก็ให้น่าสงสัยว่า พรรคเหล่านั้นเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายในกิจกรรมทางการเมืองของพรรค แต่ผู้คนก็มักจะมองไปที่ “นายทุนพรรค” ซึ่งคนที่เป็นนายทุนพรรคก็มีทั้งที่เป็นหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค หรือไม่ก็อยู่นอกพรรคแต่สนับสนุนพรรค ซึ่งกฎหมายพรรคการเมืองก็ได้กำหนดขอบเขตไว้ และต้องเปิดเผยให้สาธารณะรับรู้ตรวจสอบได้ แต่ที่ไม่รู้ ตรวจสอบไม่ได้ก็คงมี และก็มีวิธีทำกันอยู่ แต่พรรคที่มีหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคเป็นนายทุน ก็จะมีความชัดเจนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกพรรคที่เป็นนายทุนกับที่สมาชิกพรรคมักจะไม่ค่อยมีความเป็นอิสระและความเป็นตัวของตัวเอง ยกเว้นว่า มีฐานเสียงแน่นทั้งๆที่ไม่มีทุนหนาพอที่จะเป็นนายทุนพรรคได้ การกำหนดตัวคนลงสมัครเขตไหนหรือกำหนดลำดับบัญชีรายชื่อก็อยู่ในมือของสมาชิกพรรคที่เป็น “นายทุนพรรค”

ส่วนในกรณีของอนาคตใหม่ ไม่ได้มีนายทุนพรรคที่จะมีกลวิธีหล่อเลี้ยงกิจการของพรรคโดยไม่ต้องกู้เงิน แต่เป็นเรื่องที่พรรคกู้เงินอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องดีกว่าปล่อยให้หัวหน้าหรือกรรมการบริหารพรรคมีอิทธิพลต่อสมาชิกพรรค ซึ่งสมาชิกเหล่านั้นจะไม่มีความเป็นอิสระได้เต็มที่ เพราะเวลาจะเดินทางไปไหน ใช้เงินหาเสียง ฯลฯ ก็อาศัยเงินจากนายทุนพรรคอุดหนุนจุนเจืออยู่ แต่ถ้าพรรคกู้เงินมาใช้ คนในพรรคก็ย่อมต้องมีอิสระมากขึ้นกว่าจะต้องอยู่ภายใต้นายทุนพรรค แต่นั่นหมายถึงการกู้เงินจากสถาบันการเงิน อย่างในกรณีของประเทศกรีซ แต่ในกรณีของอนาคตใหม่ การกู้เป็นการกู้จากหัวหน้าพรรค การกู้หัวหน้าพรรคอาจจะเกิดจากความจำเป็นที่ไม่สามารถไปกู้สถาบันการเงินได้ เพราะจะต้องมีเงื่อนไขที่เข้าเกณฑ์ และดูเหมือนว่า สถาบันการเงินในประเทศไทยอาจจะยังไม่เคยให้พรรคการเมืองกู้มาก่อนด้วย ขณะเดียวกัน สมาชิกพรรครวมทั้งหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เองก็ไม่อยากจะให้พรรคอยู่ในสภาพของพรรคการเมืองเหมือนพรรคก่อนหน้าบางพรรคที่ให้หัวหน้าหรือกรรมการบริหารพรรคที่เป็นนายทุนมีอิทธิพลต่อลูกพรรค และถ้าไปกู้ “คนอื่น” ก็ย่อมเข้าข่ายให้คนนอกมามีอิทธิพล และคนไทยก็จะเข้าใจไปว่า พรรคอนาคตใหม่ “เป็นสมบัติของ” ผู้ให้กู้คนนั้น และด้วยความจำเป็นและเหตุผลที่ต้องการหลุดออกจากเงื่อนไขเก่าๆเหล่านี้ อาจทำให้พรรคอนาคตใหม่ตัดสินใจกู้เงินหัวหน้าพรรค เพราะอย่างไรก็ตาม โดยกฎระเบียบและในทางปฏิบัติ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้าพรรคย่อมมีอำนาจและอิทธิพลในพรรคมากกว่าคนอื่นๆอยู่พอสมควรอยู่แล้ว แต่คนในพรรคเป็นคนรุ่นใหม่มีอุดมการณ์ หัวหน้าพรรคก็มีอุดมการณ์ และพรรคเองก็มีอุดมการณ์ และต้องการเป็นพรรคการเมืองเพื่ออนาคตใหม่ที่ดีกว่า และมุ่งสู่เสรีภาพและความเสมอภาคของผู้คนในสังคม


ดังนั้น แม้จะกู้เงินหัวหน้าพรรค ก็ใช่ว่าลูกพรรคจะต้องเกรงใจหรือติดหนี้บุญคุณตามธรรมเนียมแบบไทยๆ เพราะพรรคนี้เขาพยายามมีอุดมการณ์ที่จะไม่เอาธรรมเนียมแบบไทยๆที่ทำให้คนไม่เท่ากันอยู่แล้ว ที่สำคัญ ถ้าหัวหน้าพรรคยืนยันและทำสัญญากับคนในพรรคว่า “ถึงแม้พรรคกู้เงินผม แต่พวกคุณไม่ต้องมาเกรงใจผมนะ ทุกคนเท่าเทียมกันในพรรคของเรา กู้ส่วนกู้ ไม่เกี่ยวกัน ที่สำคัญ ผมก็เป็นลูกหนี้เหมือนๆกับพวกเราทั้งหมดแหละครับ พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมดที่แบ่งแยกไม่ได้ เรามีเจตจำนงร่วมกันครับ”

แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ สมาชิกพรรคจะมีความเป็นอิสระได้จริงแค่ไหน ? และพรรคจะเอาเงินที่ไหนไปใช้หนี้เจ้าหนี้ซึ่งก็คือหัวหน้าพรรค ? และการที่หัวหน้าพรรคเป็นลูกหนี้ตัวเองมันจะส่งผลยังไง ? และหากพรรคหารายได้ไม่พอใช้หนี้ใช้ดอก แต่เจ้าหนี้คือหัวหน้าพรรคโอนอ่อนผ่อนผันให้ จะเกิดความสัมพันธ์ทางความรู้สึกต่อหัวหน้าพรรคที่เป็นเจ้าหนี้ผู้มีเมตตาอย่างไร ? เกิดข้อกังวลว่า สมาชิกพรรคจะมีความเป็นอิสระได้จริงแค่ไหน ? และพรรคจะเอาเงินที่ไหนไปใช้หนี้เจ้าหนี้ซึ่งก็คือหัวหน้าพรรค ? และการที่หัวหน้าพรรคเป็นลูกหนี้ตัวเองมันจะส่งผลยังไง ? และหากพรรคหารายได้ไม่พอใช้หนี้ใช้ดอก แต่เจ้าหนี้คือหัวหน้าพรรคโอนอ่อนผ่อนผันให้ จะเกิดความสัมพันธ์ทางความรู้สึกต่อหัวหน้าพรรคที่เป็นเจ้าหนี้ผู้มีเมตตาอย่างไร ?


ถ้าตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างมีเหตุมีผล และมีหลักฐานทั้งเชิงประจักษ์และไม่ประจักษ์ เช่น อาจจะตอบว่า วิสัยทัศน์ของเจ้าหนี้และวิสัยทัศน์ของหัวหน้าพรรคน่าจะสอดคล้องกัน เพราะทั้งสองสถานะในร่างเดียวกันต่างต้องการให้พรรคโต เจ้าหนี้พรรคก็ต้องการได้เงินคืน และหัวหน้าพรรคก็ต้องการให้พรรคได้เสียงข้างมากในสภา สองบทบาทในร่างเดียวแต่มีเป้าหมายเดียวกัน แต่คำตอบนี้ก็ยังไม่ได้ยืนยันว่า ลูกพรรคมีความเป็นอิสระ แต่ถ้าคิดตาม “ตรรกะทางเศรษฐศาสตร์และบทบัญญัติทางกฎหมายของไทย พรรคการเมืองไทยกู้เงินได้แน่ๆ ตราบใดมีผู้ยินยอมจะให้กู้และรับความเสี่ยง เหมือนกับที่พรรคการเมืองในต่างประเทศ เช่น ประเทศกรีซทำเป็นประจำ กู้จากธนาคารโดยใช้หลักประกันซึ่งเป็นเงินสนับสนุนจากรัฐสำหรับการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคจะได้รับในอนาคต” พรรคการเมืองในบ้านเราก็ต้องกู้เงินได้ และไม่ว่าจะกู้ใครก็ตาม


แต่หากว่ากันที่เจตนารมณ์แห่งกฎหมาย-รัฐธรรมนูญไทยที่ต้องการความเป็นอิสระของพรรคการเมืองและ ส.ส. ในพรรคด้วย ก็คงต้องตีความกันวุ่นวายพอสมควร เพราะบางคนก็ออกมาบอกว่า กู้เงินหัวหน้าพรรคได้ เพราะพรรคยังเป็นอิสระ แต่ถ้ากู้ “คนนอกพรรค” พรรคจะไม่อิสระ ซึ่งก็จริง แต่ความเป็นอิสระของคนในพรรคเล่า ?


และถ้าอธิบายในทางปัจจัยเรื่องวัฒนธรรมการเมืองหรือวัฒนธรรมอุปถัมภ์แบบเจ้าหนี้ลูกหนี้แบบไทยๆที่นอกจากจะเป็นเรื่องที่นักรัฐศาสตร์ใส่ใจแล้ว ยังเป็นเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่ที่เป็นหนี้หรือเจ้าหนี้ย่อมซาบซึ้งดี เมื่อปี พ.ศ. 2549 ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎรทั้งๆที่สภาฯไม่ได้มีปัญหาอะไร ปัญหามีแต่ที่ตัวหัวหน้าพรรค แต่หัวหน้าพรรคก็ยุบสภาทำให้ ส.ส. ต้องไปลงหาเสียงเลือกตั้งใหม่ทั้งๆที่เพิ่งเลือกตั้งไปได้ปีเดียว แต่ไม่มี ส.ส. พรรคไทยรักไทยคนใดออกมาคัดค้าน เพราะอาจจะเป็นว่าตัวเองไม่ต้องจ่ายเงินค่าหาเสียงเอง ถ้าเป็นประเทศอื่นที่ ส.ส. มีความเป็นอิสระ ส.ส. คงไม่ยอม ในกรณีของสหาราชอาณาจักร ยังต้องมีการแก้กฎหมายไม่ให้นายกฯยุบสภาได้ตามอำเภอใจ แต่ต้องได้เสียงสองในสามของ ส.ส. ในสภาถึงจะยุบได้ แม้ว่าพรรคจะไม่ได้กู้เงินหัวหน้าพรรคก็ตาม (ต่อตอนหน้า)

(แหล่งอ้างอิง: Anika Gauja, Political Parties and Elections: Legislating for Representative Democracy, (London: Routledge, 2010); พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์, “การศึกษาเปรียบเทียบเงินสนับสนุนพรรคการเมืองในประเทศไทยและอินโดนีเซีย: นำไปสู่การพัฒนาพรรคการเมืองหรือคอร์รัปชั่น” อ้างใน ว่าด้วย “ เงินอุดหนุนพรรคการเมือง: ไทย เทียบตัวอย่างจะๆกับอารยะประเทศ” TCIJ 25 ธ.ค. 2559 https://www.tcijthai.com/news/2016/25/scoop/6614 ; Funding of Political Parties and Election Campaigns A Handbook on Political Finance, Elin Falguera Samuel Jones Magnus Ohman, eds., International Institute for Democracy and Electoral Assistance (IDEA), (Sweden: 2014))

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลรธน.ยกคำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง เอกฉันท์ 5 ประเด็นเว้นประเด็น 2

จากกรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

'จตุพร' ตอกย้ำศาลรธน.รับคำร้องคดีล้มล้าง เพื่อหยุดอหังการอำนาจ เริ่มจุดเปลี่ยนบ้านเมือง

ลุ้นศาล รธน.พิจารณาคำร้อง 'จตุพร' เชื่อรับไว้วินิจฉัยเพื่อหยุดอหังการอำนาจ ลั่นจะเริ่มจุดเปลี่ยนบ้านเมือง เปิดความหวังประเทศก้าวเดินสู่ผลประโยชน์ชาติ

ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง

คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

'อนุทิน' เช็กสัญญาณ ครม.อิ๊งค์ ปมศาลรธน.นัดถกรับ-ไม่รับคำร้อง คดีทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง

ที่ด่านพรมแดนบ้านผักกาด ตำบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี นายอนุชิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณี ที่ในวันพรุ่งนี้(22 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับคำร้อง