กระสุนนัดพลิกโลก

เหมือนหลุดออกมาจากหนังฮอลลีวูด

ครับ...สะเทือนไปทั้งโลก กับเหตุการณ์พยายามลอบสังหาร "โดนัลด์ ทรัมป์" บนเวทีหาเสียงที่รัฐเพนซิลเวเนีย

ว่ากันว่า กระสุนนัดที่เฉี่ยวหู "ทรัมป์" คือกระสุนนัดพลิกโลก

เป็นกระสุนนัดที่ทำให้ "ทรัมป์" กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ ๒

เพราะหมายถึงนโยบายสำคัญๆ เช่นนโยบายการต่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจ จะพลิกกลับไปเหมือนรัฐบาลทรัมป์สมัยแรก

ความพยายามในการลอบสังหารครั้งนี้จึงถูกวิจารณ์ในมุมการสกัดไม่ให้ "ทรัมป์" ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเป็นหลัก

แม้จะมีบางคนบอกว่าเป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิดของคนรอบข้าง "ทรัมป์" ก็ตาม

แต่ดูเหมือนว่า ทฤษฎีสมคบคิดไม่ได้รับการยอมรับ  เพราะ "ทรัมป์" ถูกสไนเปอร์ยิงเฉี่ยวใบหูด้านขวา อีกไม่กี่เซนติเมตรคือสมอง

ตามข่าวบอกว่ายิงถึง ๘ นัด

พลาดคือสมองกระจุย!

ยิงจากระยะไกล กล้าเสี่ยงหรือ?

ประเด็นนี้น่าจะตกไป     

อเมริกาประเทศต้นแบบประชาธิปไตย แต่เกิดเหตุเลวร้าย ที่ฝรั่งเรียกว่า "สไตล์โลกที่สาม" นี่ได้อย่างไรกัน

โลกที่สามเท่านั้นหรือถึงจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้

เปล่าเลยครับ

ประเทศที่มีการก่ออาชญากรรม ด้วยอาวุธปืนแทบจะต่ำที่สุดในโลกอย่างญี่ปุ่น ก็เพิ่งจะเกิดขึ้นไปหยกๆ

๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ "ชินโซ อาเบะ" อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ถูกลอบสังหาร ระหว่างปราศรัยหาเสียง ที่จังหวัดนารา

มือปืนชื่อ "เท็ตสึยะ ยามากามิ" ถูกจับกุมในที่เกิดเหตุทันที ได้บอกกับตำรวจถึงแรงจูงใจว่า เขาเก็บความขุ่นแค้นที่มีต่อโบสถ์แห่งความสามัคคี ซึ่งเป็นเหตุให้มารดาของเขาล้มละลาย

ที่ตัดสินใจยิง "อาเบะ" เพราะเชื่อว่า "อาเบะ" มีความสัมพันธ์กับกลุ่มดังกล่าว เชื่อว่าเป็นผู้ขยายอิทธิพลของโบสถ์ในประเทศญี่ปุ่น

ขณะที่อเมริกา คือประเทศที่มีสถิติการก่ออาชญากรรมด้วยอาวุธปืนเป็นลำดับที่ ๒ ของโลก รองจากบราซิล

การสังหารผู้นำทางการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องใหม่

สยามทาวน์ยูเอส สื่อไทยฝั่งอเมริการวบรวมข้อมูลการลอบสังหารเอาไว้น่าสนใจครับ

ในปี ๑๙๑๒ อดีตประธานาธิบดี เท็ดดี รูสเวลต์  ถูกลอบยิงขณะหาเสียงเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ในเมืองมิลวอกี

เหตุการณ์โชกเลือดครั้งนั้น กลายเป็น “ตำนานการเมือง” ที่เล่าขานกันมาถึงปัจจุบัน เพราะแม้กระสุนจากปืน .๓๘ ที่คนร้ายยิงแบบเผาขนจากหน้าเวที จะฝังเข้าที่หน้าอกของเขา แต่ประธานาธิบดีคนที่ ๒๖ ของอเมริกาคนนี้ ก็สามารถกล่าวสุนทรพจน์ยาวเหยียดกว่า ๕๕ นาที  (บางข่าวบอก ๘๖ นาที) จนจบได้

ทั้งนี้เพราะว่ากระสุนปืนได้ผ่านบทสุนทรพจน์หนา ๕๐ หน้าที่รูสเวลต์ใส่ไว้ในอกเสื้อ แถมต้องผ่านซองแว่นตา ที่ข่าวบอกว่าเป็นโลหะบางๆ อีกชั้น แม้จะฝังเข้าเนื้อจนเลือดโชกเสื้อ แต่ก็ไม่ลึกพอที่จะทำอันตรายเขาได้

แต่น่าเสียดาย แม้จะพิสูจน์ถึงความทรหดอดทนได้แบบนี้ แต่ที่สุดแล้ว เขาก็ไม่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในสมัยนั้น จึงหมดโอกาสกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สามไปอย่างน่าเสียดาย

อีกครั้งเกิดกับ จอร์จ วอลเลซ ผู้ว่าการรัฐแอละบามา ที่กำลังสมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ลงสนามประธานาธิบดี ปี ๑๙๗๒ ถูกมือปืนอาชีพ ชื่อ อาเธอร์  เฮอร์แมน เบรเมอร์ ยิงที่แมริแลนด์ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๑๙๗๒ จนเป็นอัมพาตท่อนล่าง

เหตุการณ์ลอบสังหารผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่ “ซีเรียส” กว่านั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๑๙๖๘ กับ โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี (น้องชายของ เจเอฟเค) ผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ถูกยิงหลายนัดที่ลอสแอนเจลิส จนเสียชีวิตในวันถัดมา

นอกเหนือจากผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว ประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ระบุว่าในอดีตที่ผ่านมา มีประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถึงสี่คน เสียชีวิตเพราะถูกลอบสังหารขณะอยู่ในตำแหน่ง คือ

อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ ๑๖ ของอเมริกา ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อค่ำวันที่ ๑๕ เมษายน ๑๘๖๕ ที่ ฟอร์ด เธียร์เตอร์ กรุงวอชิงตัน ดีซี

เจมส์ เอ. การ์ฟีลด์ ประธานาธิบดีคนที่ ๒๐ ถูกยิงที่สถานีรถไฟในวอชิงตัน ดีซี ในตอนเช้าของวันที่ ๒ กรกฎาคม ๑๘๘๑ หลังสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งเพียงไม่ถึงสี่เดือน ได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในอีกเกือบสามเดือนต่อมา

วิลเลียม แม็กคินลีย์ ประธานาธิบดีคนที่ ๒๕ ถูกยิงที่ท้องสองนัดในระยะประชิดที่เมืองบัฟฟาโล ของนิวยอร์ก เมื่อบ่ายวันที่ ๖ กันยายน ๑๙๐๑ แม้บาดแผลจะไม่สาหัส  แต่เพราะมีอาการแทรกซ้อน (ข่าวบอกว่าเป็นโรคเนื้อเน่า  หรือ gangrene รอบๆ แผล) ทำให้เขาเสียชีวิตหลังจากนั้นประมาณ ๘ วัน

จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีคนที่ ๓๕ ถูกลอบยิงระยะไกลขณะอยู่บนรถเปิดประทุนในเมืองดัลลัส เท็กซัส เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๑๙๖๓ ทำให้ประธานาธิบดีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกาคนนี้ เสียชีวิตทันทีในวัยเพียง ๔๖ ปี

แต่ประเด็นที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทุกคนใน “ยุคใหม่” หรือ modern president (นับจากต้นยุค 1930s ขึ้นมาถึงปัจจุบัน) เช่น โรนัลด์ เรแกน,  จอร์จ บุช, บารัก โอบามา ฯลฯ รวมถึงโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วย ต่างเคยผ่านเหตุการณ์ลอบสังหาร, พยายามลอบสังหาร  หรือมีการเปิดโปงแผนลอบสังหาร มาแล้วทุกคน

ในกรณีของทรัมป์นั้น มีขึ้นเมื่อปี ๒๐๑๗ โดยข่าวบอกว่าหน่วยงานรักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดี (Secret Sercice) สามารถขัดขวางแผนร้ายของกลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย (ISIL) ที่มีแผนลอบสังหารทรัมป์ระหว่างร่วมการประชุมอาเซียนซัมมิตที่ฟิลิปปินส์ ไว้ได้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทรัมป์เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม  หรือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในลักษณะนี้ น่าจะทำให้ “คนรุ่นใหม่” หลายๆ คน รู้จักและเข้าใจประเทศ ซึ่งมีภาพพจน์เป็น “ผู้นำของโลก” ประเทศนี้ดีขึ้น...

ครับ....ความพยายามที่จะลอบสังหาร "ทรัมป์" ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากที่สุดคือ นโยบายการทำสงครามในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ที่กลุ่มผู้มีผลประโยชน์บางกลุ่มในอเมริกา ไม่ต้องการให้ "ทรัมป์" กลับเข้าทำเนียบขาว

เพราะ "ทรัมป์" มีนโยบาย คบหมด ไม่ว่าจะ รัสเซีย  จีน รวมทั้งเกาหลีเหนือ

นี่จะใช่เหตุผลจริงๆ หรือไม่ ยังมีเครื่องหมายคำถามอยู่

ที่แน่ๆ การเมืองอเมริกากลับเข้าสู่ยุคเกลียดแรง ขัดแย้งเยอะ ถึงขั้นฆ่ากันอีกครั้ง

นึกภาพวันที่ "ทรัมป์" ปลุกม็อบยึดรัฐสภาอเมริกา วันนั้นตายไปหลายศพ

หันมามองการเมืองไทย

บนความโชคร้าย ก็มีความโชคดีอยู่ไม่น้อยทีเดียว

โชคดีที่ว่าคือเราอยู่ระดับเดียวกับอเมริกา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไพร่พลอนุรักษ์นิยม

เป็นเรื่องจริงที่ว่า... หากนักการเมืองถอดหัวโขนการเมือง แล้วมายืนดูการเมืองอยู่ข้างนอก ภาพที่มองจะคล้ายๆภาพที่ประชาชนทั่วๆไปมอง

ยังไม่ลดเพดาน

เชื่อมจิตกันไปเรียบร้อยครับ จากพรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคก้าวไกล วันนี้เป็น "พรรคประชาชน"