ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 31: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

 

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี

5.2 ตะวันตกมองการเริ่มต้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในสยาม    

“รายงานของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารประจำสถานทูตฝรั่งเศส.....

ในท่ามกลางสถานการณ์สับสนตึงเครียดนี้ ‘การรัฐประหาร’ ครั้งใหม่ (ด้วยการประกาศยุบสภา) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 1933 (พ.ศ. 2476) จึงเป็นสิ่งที่ชาวตะวันตกได้คาดการณ์ไว้แล้ว  รายงานของ พันโท รูซ์ ได้ให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวต่างๆ  ก่อนหน้านั้น เช่น การกล่าวสุนทรพจน์ของพันเอก พระยาทรงสุรเดช ต่อกลุ่มนายทหารที่มาชุมนุมกัน ซึ่ง พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้ถือโอกาสนี้แถลงปกป้องตนเองในกรณีที่ว่า ประสงค์จะปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้น ยังมีการเคลื่อนย้ายรถบรรทุกของทหารให้วิ่งไปตามถนนสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ  โดยอ้างว่า ขาดสถานที่ซ้อมรบ จนทำให้ผู้คนยิ่งพากันหวั่นวิตก และเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยอย่างกว้างขวาง ไปถึงย่านธุรกิจ  ในส่วนของการรัฐประหารนั้น รายงานระบุว่า ‘ดำเนินการโดยฝ่ายขวาของคณะรัฐบาลปัจจุบัน’ และกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ ดังนี้

…คงต้องรับรู้ว่าการรัฐประหารครั้งนี้ ฝ่ายขวาได้ดำเนินการอย่างแยบยลยิ่ง

บรรดาพลพรรคของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมต่างก็แยกตัวตีจาก ผู้ช่วยที่ซื่อสัตย์ที่สุดของเขา 2 คน คือ นายประยูร [ภมรมนตรี] (ลูกครึ่งเยอรมัน) และ พันเอกพระยาทรงสุรเดช ก็ทอดทิ้งเขาไปอย่างไม่ใยดี  และยังเข้าไปร่วมกับฝ่ายขวา หลวงประดิษฐ์มนูธรรมนั้นถูกหลอกให้ดำเนินการทำแผนพัฒนา ‘เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติอันเป็นที่กล่าวขวัญ โดยรัฐบาลจะเป็นเจ้าของที่ดิน ในขณะที่ราษฎรจะเป็นผู้ออกแรงงานและได้ค่าจ้างให้มีอยู่มีกิน และยังเป็นผู้นำแผนดังกล่าว กราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กอปรกับมีการโฆษณาว่า เค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าวนี้มี ‘ลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน’ ทำให้เกิดการต่อต้านไม่เห็นด้วยโดยทั่วไป รัฐบาลได้ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้บังคับใช้กฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์อันเข้มงวดเพื่อขับไล่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม...ความตั้งใจของรัฐบาลก็คือ จัดการให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมสมัครใจเดินทางออกนอกราชอาณาจักรสยามสัก 2-3 เดือน....’

-------------------

ข้อสังเกต: ในความเห็นของพันโท รูซ์ การปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราตามในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา ถือเป็น “การรัฐประหาร”  

ข้อความในราชกิจจานุเบกษามีดังนี้ คือ

และรัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลในการปิดสภาผู้แทนราษฎรและรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา มีข้อความดังนี้

“รัฐบาลขอแถลงให้ประชาชนทราบเพื่อเป็นที่เข้าใจทั่วกันในเหตุผลอันสำคัญยิ่งซึ่งบังเกิดขึ้น กระทำให้เป็นความจำเป็นที่ต้องปิดสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่และรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้เกิดแตกแยกกันเป็น 2 พวก มีความเห็นแตกต่างกันและไม่สามารถที่จะคล้อยตามกันได้ ความเห็นข้างน้อยนั้นปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสม์ ความเห็นข้างมากนั้นเห็นว่านโยบายเช่นนั้นเป็นการตรงกันข้ามแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสยาม  และเป็นที่เห็นได้ โดยแน่นอนทีเดียวว่า นโยบายเช่นนั้นจักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร  และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ

ในคณะรัฐมนตรีซึ่งมีรัฐมนตรีถึง 20 คน จะหวังให้มีความเห็นเหมือนกันไปทุกสิ่งทุกอย่างเสมอไปนั้นไม่ได้ ก็จริงอยู่  แต่ว่าถ้ารัฐบาลจักดำรงอยู่ในความสามารถบริหารราชการแผ่นดินโดยเรียบร้อยแล้ว  เป็นความจำเป็นยิ่งที่รัฐมนตรีทุกคนจักต้องเป็นผู้ที่มีความเห็นไปในทางเดียวกันในนโยบายอันสำคัญๆ  ความเป็นไปของคณะรัฐมนตรีในเวลานี้เป็นภาวะอันแสนสุดจะทนทานได้  ไม่ว่าจะเป็นอยู่หรือจะเกิดขึ้นแก่บ้านเมืองใด และไม่ว่าจะมีรูปรัฐบาลเป็นอย่างไร

สมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎรในเวลานี้เล่า ก็ประกอบขึ้นด้วยสมาชิกที่แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ สภานี้มีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ จนกว่าจะได้มีสภาใหม่โดยราษฎรเลือกตั้งสมาชิกขึ้นมา สภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่แต่งตั้งขึ้นชั่วคราวเช่นนี้ หาควรไม่ที่จะเพียรวางนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงของเก่าอันมีอยู่ใช้อยู่ประดุจเป็นการพลิกแผ่นดิน ส่วนสภาในเวลานี้จะอ้างว่าไม่ได้ทำหรือยังไม่ได้ทำกฎหมายอันมีลักษณะไปในทางนั้นก็จริงอยู่ แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนแจ่มแจ้งว่ามีสมาชิกเป็นจำนวนมากคนมีความปรารถนาที่จะทำเช่นนั้น และมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อรัฐมนตรีอันมีจำนวนข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี                 

ความแตกต่างกันในสภา ซึ่งมีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติกับคณะรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่ในทางบริหารดั่งนี้ เป็นที่น่าอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศ โดยกระทำให้ราชการชักช้า เกิดความแตกแยกกันในรัฐบาล ก่อให้เกิดความหวาดเสียวและความไม่แน่นอนแก่ใจประชาชนทั่วไป

ฐานะแห่งความเป็นอยู่เช่นนี้ จะปล่อยให้คงเป็นต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ความปลอดภัยของประชาชนเป็นกฎหมายอันสูงสุดไม่ว่าในบ้านเมือง และโดยคติเช่นนั้นเท่านั้นที่บังคับให้รัฐบาลต้องปิดสภาและตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่

รัฐบาลขอย้ำความข้อหนึ่งว่า  พระราชกฤษฎีกานี้ให้รอการใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตรา และเป็นการชั่วคราวเท่านั้น

วันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2476

-----------------

และข้อความในหมายเหตุท้ายรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 59 (สมัยสามัญ) วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475  มีข้อความที่หน้า ๑๐๐๐ ว่า

หมายเหตุ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกประชุมวิสามัญตั้งแต่วันที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ เป็นต้นไป

หนังสือเล่มนี้ได้ลงรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก่อนวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ เท่านั้น ตอนต่อไปจะได้จัดพิมพ์ภายหลัง”       

แต่อัครราชทูตอังกฤษกลับมิได้เห็นการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ ๑ เมษายน ฯ  ว่าเป็น “การรัฐประหาร”   แต่กลับเห็นว่า 

“การยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ ผู้นำรัฐบาลมิได้ดำเนินการเร็วเกินไป สภาแห่งนี้มิได้ตอบสนองวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์ และก็มิได้ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นใดๆ แทบจะไม่มีคนในในบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีประสบการณ์ทางการเมือง แต่ตราบใดที่ยังคงมีบทบาทในลักษณะของสำนักทะเบียน (registry office) ก็จะไม่มีพิษมีภัยอะไร อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังๆ มานี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมและกลุ่มผู้สนับสนุน 3-4 คนในคณะรัฐบาล เมื่อเห็นว่าฝ่ายตนเป็นเสียงข้างน้อย ก็เริ่มกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านขึ้นในบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้ที่พวกเขาเสนอแต่งตั้งเข้ามาเมื่อมีการจัดตั้งสภาแห่งนี้ พวกเขาไม่มีกลุ่มผู้สนับสนุนนอกสภาแต่ในสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกประมาณ 25-30 คนจากทั้งหมด 70 คนที่พวกเขาพึ่งพาได้ ในเดือนมิถุนายนจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้มีสมาชิกทั้งจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งรวมกัน 240 คน (น่าจะผิดพลาด เพราะตัวเลขที่ถูกต้องคือประมาณ 140 คน/ผู้เขียน) สภาผู้แทนราษฎรก็คงจะกลายเป็นสภาฝูงชน (mob assembly) และก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ลู่ทางเช่นนี้จะทำให้พวกหัวไม่รุนแรงเกิดความวิตกหวาดผวา ข้าพเจ้าเห็นว่าแถลงการณ์ของรัฐบาล [ที่อธิบายเรื่องการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา] เป็นการแถลงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา”

แต่มีข้อสังเกตว่า ในขณะที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวรวมทั้งคำแถลงการณ์ของรัฐบาล ใช้คำว่า “ปิดประชุมสภาฯ”  แต่ในเอกสารคำแปลความเห็นของอัครราชทูตอังกฤษ ใช้คำว่า “ยุบสภาฯ” การปิดประชุมสภาฯ ในภาษาอังกฤษ คือ prorogation ส่วนการยุบสภาฯ ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า dissolution  ทำให้ผู้เขียนสงสัยว่า ตกลงแล้ว ต้นฉบับรายงานของอัครราชทูตอังกฤษใช้คำว่าอะไรแน่ระหว่าง prorogation กับ dissolution !

หลังจากที่ท่านผู้อ่านได้อ่านเรื่องราวข้างต้นไปแล้ว ท่านเห็นว่า ปรากฎการณ์ทางการเมืองวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นการทำรัฐประหารตามความเห็นของพันโทรูซ์ หรือไม่เป็นตามความเห็นของอัครราชทูตอังกฤษ ?

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 20)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'นิพิฏฐ์' จะเสียภาษีให้น้อยที่สุด หวั่นถูกนำไปสร้างความเข้มแข็งให้นักการเมือง

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กว่า มีคำกล่าวว่า “หากต้องการรู้ว่าประชาชนเป็นอย่างไรให้เป็นนักการเมือง หากต้อง