ต้องเคร่งครัดและแก้ไขจริงจัง

สืบเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา รถไฟฟ้า “สายสีเหลือง-สายสีชมพู” ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกของประเทศไทย ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการและสาธารณชน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จึงได้ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการเดินรถไฟฟ้า โดยมีผู้แทนจากกรมการขนส่งทางราง สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นอนุกรรมการ

โดยคณะอนุกรรมการได้ร่วมประชุมเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและวิเคราะห์หาสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งระบบ รวมถึงพิจารณาเสนอแนะแนวทางในการกำหนดมาตรการป้องกันและแนวทางแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการเดินรถไฟฟ้า ซึ่งในการประชุมครั้งแรก คณะอนุกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ ในระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลทั้ง 2 สาย รวม 5 เหตุการณ์  

ซึ่งมีความเห็นเกี่ยวกับกรณีรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดร่วง เนื่องจากถูกแรงกระแทก ซึ่งเกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง จากสาเหตุที่แท้จริงที่แตกต่างกัน แต่บ่งชี้ถึงข้อบกพร่องในขั้นตอนการออกแบบและการติดตั้งของบางชิ้นส่วนที่ไม่มั่นคงแข็งแรงเพียงพอ และไม่มีระบบป้องกันอีกชั้นหนึ่ง ในกรณีที่มีชุดล้อประคองหลุดร่วง หรือชิ้นส่วนอุปกรณ์ใดๆ หลุดร่วงลงมา ยังบ่งชี้ถึงความจำเป็นของระบบสำรอง Secondary Retainer ที่เมื่อมีวัสดุอุปกรณ์หลุดร่วงแล้วจะสามารถช่วยลดทอนความเสียหายไว้ได้ ยังเน้นย้ำให้ รฟม.ติดตามตรวจสอบผลการซ่อมบำรุงของผู้รับสัมปทานทุกระยะ และนำผลมาวิเคราะห์เพื่อให้สามารถเฝ้าระวังความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ได้ทันท่วงที

ล่าสุดเกิดเหตุการณ์ประตูบางส่วนของขบวนรถไฟฟ้าสายสีชมพูเปิดในขณะจอดนิ่งอยู่ที่สถานีลาดปลาเค้า (PK18) และมีตู้โดยสารบางตู้อยู่นอกชานชาลา เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ซึ่งจากการประชุมหารือร่วมกับ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ได้รับทราบสาเหตุโดยละเอียดของเหตุการณ์ว่า

ขณะที่ผู้ควบคุมเส้นทางการเดินรถในเส้นทางหลักจากห้องศูนย์ควบคุม (CCR) อนุมัติให้เจ้าหน้าที่ประจำขบวนทำการขับเคลื่อนขบวนรถไฟฟ้ากลับเข้าชานชาลาด้วยระบบบังคับด้วยมือ Manual ก่อนทำการเปิดประตูเพื่อนำกระเป๋าเป้ที่ติดอยู่ตรงประตูบานสุดท้ายของตู้สุดท้ายออกนั้น เกิดข้อผิดพลาดด้านการสื่อสารในขั้นตอนการปฏิบัติ ทำให้ประตูทุกบานของขบวนรถเปิดออก

ขณะเดียวกัน รฟม.ได้เน้นย้ำผู้รับสัมปทานจะเพิ่มขั้นตอนอนุมัติการเปิด-ปิดประตูในกระบวนการ กล่าวคือ ในสถานการณ์ที่มีเหตุจำเป็น CCR สามารถอนุมัติให้เจ้าหน้าที่ประจำขบวนเป็นผู้ขับเคลื่อนขบวนรถไฟฟ้าแบบ Manual ได้ แต่การเปิด-ปิดประตูจะต้องให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานีตรวจสอบก่อนกว่าขบวนรถไฟฟ้าจอดอยู่ในชานชาลาครบทั้งขบวนแล้ว จึงจะแจ้งให้ CCR อนุมัติการเปิดประตูได้ และผู้รับสัมปทานจะนำกรณีดังกล่าวไปใช้ในการฝึกซ้อมเจ้าหน้าที่แบบจำลองสถานการณ์ด้วย เพื่อยกระดับมาตรการความปลอดภัยในการให้บริการเดินรถ สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและประชาชนผู้สัญจรผ่านแนวสายทาง

นอกจากนี้ได้สั่งการให้ผู้รับสัมปทานประชาสัมพันธ์เน้นย้ำให้ผู้โดยสารใช้ความระมัดระวังการนำสัมภาระเข้าสู่ขบวนรถ โดยควรสะพายยกระเป๋า/เป้ไว้ด้านหน้าของตัวเอง และงดใช้โทรศัพท์ขณะเข้า-ออกขบวนรถไฟฟ้า พร้อมทั้งต้องมีการซ้อมแผนเผชิญเหตุในลักษณะดังกล่าว รวมถึงจัดฝึกอบรมและทบทวนการปฏิบัติงานของพนักงานให้เป็นไปตามขั้นตอน (SOPs) อย่างเคร่งครัด และในกรณีฉุกเฉินที่ต้องเปิดประตูรถ ให้ประกาศแจ้งผู้โดยสารให้อยู่ห่างจากบริเวณประตู และดำเนินการด้วยความระมัดระวังก่อนที่จะเปิดประตูขบวนรถไฟฟ้า

โดย รฟม.ได้ยึดนโยบายของกระทรวงคมนาคม กำหนดให้การให้บริการเดินรถไฟฟ้าจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของผู้โดยสารและสาธารณะ ไม่สามารถประนีประนอมได้ โดย รฟม.ได้สั่งการผู้รับสัมปทานหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด สามารถรับรองความปลอดภัยและมาตรฐานการให้บริการเดินรถได้อย่างดีที่สุดต่อไป และจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเร่งปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายโดยเร็วที่สุด เพื่อส่งมอบทางเลือกในการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้ามหานครที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองได้อย่างยั่งยืน

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ  รฟม.ในฐานะที่กำกับดูแลจำเป็นต้องมีความเคร่งครัดในการกำกับดูแลอย่างจริงจัง อันไหนที่ไม่ถูกต้อง มาตรฐานความปลอดภัยต่ำก็ต้องเร่งแก้ไขและกำกับผู้รับสัมปทานดูแลอย่างใกล้ชิดและจริงจัง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้บริการให้ดีอย่างยั่งยืน.

 

กัลยา ยืนยง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เผือกร้อนย้ายท่าเรือคลองเตย

หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ปลดล็อก“เมืองรอง”หนุนศก.โต

“ภาคการท่องเที่ยว” ยังถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการออกหลายมาตรการเพื่อเป็นการฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่ซบเซาตั้งแต่ช่วงโควิด-19

"ปิดโรงงานกระหน่ำ"สัญญาณบอกศก.?!?!

ปัจจุบันเราอาจจะได้เห็นข่าวคราวเรื่องการปลดคนงาน และ “การปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรม” ออกมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลหลากหลายสาเหตุ โดยจากข้อมูลของ “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” พบว่า ในช่วง 6 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.)

บิ๊กอีเวนต์กระตุ้นท่องเที่ยว

ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ

จับตา “AI” เปลี่ยนตลาดแรงงานทั่วโลก

ปัจจุบันต้องยอมรับว่า AI เข้ามามีบทบาท และมีประโยชน์ในภาคธุรกิจหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาดที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจพฤติกรรมลูกค้ามากขึ้น หรือแม้กระทั่งการใช้ AI เพื่อวิเคราะห์ธุรกิจในหลากหลายมิติ ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของภาคธุรกิจในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บี้เร่งสปีดแหลมฉบังเฟส 3

เมื่อพูดถึงโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นโครงการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต