ประเทศไทย มาเลเซีย และเวียดนามพยายามสัมพันธ์ดีกับมหาอำนาจทั้งหลาย ไม่อิงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจนเกินตัว มอง BRICS เป็นโอกาสใหม่
ปี 2024 ชาติสมาชิกอาเซียนหลายประเทศแสดงความจำนงขอเข้าร่วมกลุ่มบริกส์ (BRICS) เช่น ไทย มาเลเซีย เวียดนาม หัวใจหลักที่สมาชิกอาเซียนสนใจเข้า BRICS น่าจะเพราะต้องการความช่วยเหลือทางการเงิน โอกาสร่วมมือทางเศรษฐกิจ ลดทอนอิทธิพลของพวกรัฐบาลสหรัฐหรือขยายความร่วมมือมหาอำนาจจีน-รัสเซีย
ภาพ: งานประชุม BRICS 2024
เครดิตภาพ: https://media.tehrantimes.com/d/t/2024/06/10/4/5022169.jpg?ts=1718035070527
เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า BRICS ตั้งเป้าสร้างระบบโลกพหุภาคี ระบอบที่เป็นธรรม ศูนย์เศรษฐกิจใหม่ ศูนย์การตัดสินใจใหม่ที่ยึดผลประโยชน์ของทุกชาติ เคารพอธิปไตยของชาติอื่น ลดการใช้ดอลลาร์ เลี่ยงความเสี่ยงจากค่าเงินดังกล่าว หรือหลีกหนีอิทธิพลสหรัฐ
BRICS คือขั้วต่อต้านฝ่ายสหรัฐ?:
นักวิเคราะห์บางคนตีความว่าคือการสร้างขั้วใหม่ที่ตรงข้ามกับฝ่ายสหรัฐ ขั้วนี้มีจีน-รัสเซียเป็นแกนนำ และตีความต่อว่าใครที่เข้าร่วมคือพวกที่ตั้งใจต่อต้านตะวันตก
การตีความชัดเจนแบ่งแยกดำ-ขาวแบบนี้เป็นการสรุปแบบรวบรัด มองบางจุดบางมุมเท่านั้น
เป็นความจริงที่ฝ่ายสหรัฐกับรัสเซียกำลังทำสงครามตัวแทนในยูเครน รัฐบาลสหรัฐปิดล้อมรัสเซียอย่างหนัก และกำลังปิดล้อมจีนเข้มข้นขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจ การทหาร เทคโนโลยี
อิหร่าน หนึ่งในสมาชิก BRICS+ เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลสหรัฐมาอย่างยาวนาน
แต่หากมองกว้างขึ้น แม้สหรัฐพยายามปิดล้อมจีน ขึ้นภาษีสินค้าจีนหลายสิบเปอร์เซ็นต์ โจมตีตำหนิรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ทุกวันนี้สหรัฐยังมีจีนเป็นคู่ค้าสำคัญ ยังขาดดุลการค้าจีนมหาศาลทุกปี ถ้าสหรัฐจะปิดล้อมจีนอย่างจริงจัง ต้องไม่ติดต่อค้าขายกับจีนเลย เหมือนอย่างที่ทำกับรัสเซียในตอนนี้
เมื่อมองในมุมการเมืองระหว่างประเทศ แม้รัฐบาลสหรัฐจะพยายามสร้างขั้ว-ให้เลือกข้าง แต่ประเทศส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่อิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนเกินควร อาเซียนเป็นตัวอย่างที่ดีว่าเป็นมิตรกับทุกมหาอำนาจ หวังร่วมมือกับทุกฝ่าย ส่วนสมาชิกอาเซียนใดจะดำเนินนโยบายใกล้ชิดมหาอำนาจใดเป็นพิเศษขึ้นกับบริบทของประเทศนั้น และขึ้นกับรัฐบาลแต่ละชุด ยกตัวอย่าง รัฐบาลเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand Marcos Jr.) ใกล้ชิดสหรัฐมากกว่ารัฐบาลโรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) ชุดก่อน ความใกล้ชิดสหรัฐของฟิลิปปินส์จึงขึ้นๆ ลงๆ ขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลชุดนั้นๆ
เวียดนามเป็นอีกตัวอย่างที่น่าสนใจ ไม่กี่ปีมานี้รัฐบาลเวียดนามใกล้ชิดสหรัฐมากขึ้น ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับสหรัฐดีขึ้นมาก ปี 2022 การค้าทวิภาคีสูงถึง 138,000 ล้านดอลลาร์ สหรัฐเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่สุดของเวียดนาม ครอบคลุมสารพัดสินค้าตั้งแต่สิ่งทอ รองเท้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนเวียดนามนำเข้าฝ้าย ถั่วเหลือง เป็นที่หมายลงทุนของภาคเอกชนสหรัฐ อีกทั้งเวียดนามเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ที่ตั้งขึ้นสมัยรัฐบาลไบเดน รัฐบาลสหรัฐหวังเหลือเกินที่จะดึงเวียดนามมาเป็นพวก
แต่หากพิจารณารอบด้าน เวียดนามพยายามพัฒนาความสัมพันธ์กับทั้ง 3 มหาอำนาจ ดังจะเห็นว่าเวียดนามเน้นซื้อใช้อาวุธรัสเซีย ยังค้าขายกับจีนและนักลงทุนจีนหวังพึ่งการส่งออกผ่านเวียดนาม ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ “4 ไม่” (Four No’s) ของเวียดนาม คือ ไม่เป็นพันธมิตร ไม่ให้ต่างชาติตั้งฐานทัพ ไม่เข้าร่วมกับใครเพื่อต่อต้านอีกฝ่าย และไม่ใช้กำลังในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ถ้าวิเคราะห์ตามยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ “4 ไม่” จะเห็นภาพหลักนโยบายต่างประเทศเวียดนามอย่างชัดเจน การแสดงความจำนงขอเป็นสมาชิก BRICS ของเวียดนามจึงไม่ใช่การประกาศว่าขออยู่ฝ่ายตรงข้ามสหรัฐแต่อย่างใด
ดังนั้น ไม่น่าจะถูกต้องจะสรุปว่า BRICS คือขั้วหรือศูนย์รวมของพวกต่อต้านฝ่ายสหรัฐ และจะยิ่งผิดหนักถ้าตีความว่าสมาชิกทั้งหลายอยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของจีน-รัสเซีย (ยกเว้นบางประเทศที่ใกล้ชิด) แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มโอกาสขยายความร่วมมือกับมหาอำนาจจีน-รัสเซีย แต่จะเข้มข้นเพียงใดขึ้นกับนโยบายของแต่ละประเทศด้วย
กรณีประเทศไทย รัฐบาลเศรษฐาให้เหตุผลว่า เพราะเห็นความสำคัญของโลกพหุภาคี BRICS ส่งเสริมบทบาทชาติกำลังพัฒนาในเวทีโลก มีส่วนในระเบียบโลกใหม่
นายนิกรเดช พลางกูร โฆษกกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า ประเทศไทยเห็นว่า BRICS มีบทบาทสำคัญต่อการเสริมสร้างโลกพหุภาคี ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Global South) สอดคล้องผลประโยชน์แห่งชาติ การเข้าร่วมจะส่งเสริมบทบาทไทยในเวทีโลก ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในหมู่ประเทศที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (Emerging Market) โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน
ไทยสนใจเข้าร่วมนานแล้ว ปี 2024 รัฐบาลเศรษฐายื่นความจำนงขอเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ ไทยจะเป็นสมาชิกอาเซียนชาติแรกที่ร่วม BRICS ถ้าผ่านการอนุมัติ
นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าหากไทยเป็นสมาชิก BRICS จะสนับสนุนความร่วมมือทวิภาคีไทย-จีนโดยตรง ส่งเสริมความร่วมมือภายใต้ “ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) เอื้อจีนที่มีบทบบาทด้านการพัฒนาของอาเซียน
บางคนคิดว่าหากไทยเข้า BRICS จะไม่เป็นกลาง ถามว่าการที่ไทยเป็น “ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต” (Major Non-NATO Ally: MNNA) นั้นเป็นกลางหรือไม่ นโยบายต่างประเทศประกาศชัดว่าไทยเป็นมิตรกับมหาอำนาจทุกประเทศ สนับสนุนระบบโลกพหุภาคี
BRICS เป็นโอกาสเป็นช่องทางใหม่:
ปี 2024 ประชากรโลกครึ่งหนึ่งอยู่ใน BRICS+ มูลค่าการค้ากลุ่มอยู่ที่ 40% ของการค้าทั้งโลก BRICS+ เป็นผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่ราว 38% ของโลก นำโดยจีนกับอินเดีย คาดว่าตัวเลขเหล่านี้จะเพิ่มสูงขึ้นอีกเพราะมีสมาชิกใหม่ๆ เข้ามา เป็นปากเสียงของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อย่างน้อยที่สุดพวกเขามีเวทีพูดคุยมากขึ้น ใกล้ชิดยิ่งขึ้น น่าจะมีความร่วมมือมากขึ้น
หากวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล รัฐบาลของแต่ละประเทศจะพิจารณาบริบทว่าควรวางตัวอย่างไร ควรเข้าหาฝ่ายใดมากน้อยเพียงไร เพื่อความมั่นคงการอยู่รอดของรัฐบาล ไม่สนใจว่าใครเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐถอยห่างจากทุนนิยมเสรีมากเพียงไร
BRICS ที่กำลังจะเป็นกลุ่มร่วมมือทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่จึงน่าสนใจ เป็นโอกาสของนานาชาติ หลายประเทศคิดถึงความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ
ประเทศไทย มาเลเซีย และเวียดนามพยายามสัมพันธ์ดีกับมหาอำนาจทั้งหลาย ไม่อิงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจนเกินตัว มอง BRICS เป็นโอกาสใหม่ ทำนองเดียวกับกรอบความร่วมมืออื่นๆ ส่วนระยะยาวกลุ่มนี้จะพัฒนาอย่างไรค่อยว่ากันใหม่
ภายใต้กรอบ BRICS กับแผนของสมาชิกช่วยพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างกัน เป็นโอกาสที่น่าลอง ส่วนจะดีจริงแค่ไหนต้องติดตามต่อในอนาคต ชาติสมาชิกทั้งเก่าใหม่และที่กำลังจะเข้ามาแตกต่างหลากหลาย เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย เส้นทางของ BRICS ยังอีกยาวไกลกว่าจะบรรลุผลที่จับต้องได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ที่ทำได้ทันทีคือโอกาสความร่วมมือทวิภาคีภายในกลุ่มที่ต่างแสดงท่าทีเป็นมิตร อยากร่วมมือกัน เป็นปากเสียงของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
เป็นเรื่องตลกถ้าใครคิดว่าหากร่วม BRICS จะร่วมมือกับฝ่ายตะวันตกไม่ได้ จะต้องทำสงครามกับพวกตะวันตก สิ่งที่ควรทำคือใช้โอกาสนี้เป็นเครื่องช่วยผลักดันเศรษฐกิจ ดีกว่าปล่อยให้ตัวเองล้าหลังไปเรื่อย การพัฒนาช้ากว่าคนอื่นคือกำลังปล่อยให้ตัวเองถูกทิ้งไว้ข้างหลัง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เส้นทางสายไหมตะวันออกแห่งศตวรรษที่21
BRI จะเป็นแค่การพัฒนาร่วมหรือเป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีนเป็นที่ถกแถลงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรนานาชาติเฝ้าติดตาม จริงหรือเท็จกาลเวลาจะให้คำตอบ
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)
เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู 2024 (1)
บัดนี้สถานการณ์ชี้ชัดแล้วว่าอิสราเอลกำลังจัดการฮิซบุลเลาะห์ต่อจากฮามาส ทำลายอิหร่านกับสมุนให้เสียหายหนัก
เลือกตั้งสหรัฐ2024เลือกสังคมนิยมหรือฟาสซิสต์
ทรัมป์ชี้ว่าแฮร์ริสเป็นพวกสังคมนิยม ส่วนแฮร์ริสชี้ว่าทรัมป์เป็นเผด็จการ สหรัฐกำลังเข้าสู่การเลือกระหว่าง “สังคมนิยม” กับ “ฟาสซิสต์”
ทรัมป์จะเป็นเผด็จการหากชนะอีกสมัย?
หากได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยและปกครองแบบเผด็จการ ก็ต้องถือว่าเป็นเผด็จการที่มาจากความต้องการของคนอเมริกันตามระบอบประชาธิปไตยสหรัฐ
ทรัมป์คุกคามโลกเสรีประชาธิปไตย?
การที่ทรัมป์แสดงท่าทีเป็นมิตรต่อรัสเซีย จีน อาจไม่ปกป้องสมาชิกนาโต ชวนให้ตั้งคำถามว่าทรัมป์เป็นภัยคุกคามโลกเสรีประชาธิปไตยหรือไม่