​​​​​​​ฝรั่งเศส-แอลจีเรีย เป้าหมายใดในความขัดแย้ง

บรรดาประเทศทุกทวีปทั่วโลกที่ฝรั่งเศสเคยได้เป็นเมืองขึ้น นักประวัติศาสตร์ล้วนเห็นพ้องว่าแอลจีเรียได้รับความสูญเสียมากที่สุด และชาติที่เจ็บแค้นฝรั่งเศสมากที่สุดก็ต้องยกให้แอลจีเรียเช่นกัน แต่แทนที่ฝรั่งเศสจะพยายามหลีกเลี่ยงการสะกิดอารมณ์ขุ่นเคืองของคนในอดีตอาณานิคม 130 ปีแห่งนี้ หลายครั้งฝรั่งเศสกลับเป็นฝ่ายเติมเชื้อไฟเสียเอง

ปลายเดือนที่แล้วฝรั่งเศสประกาศลดจำนวนวีซ่าเดินทางเข้าประเทศสำหรับพลเมืองแอลจีเรียและโมร็อกโกลงไปเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งจากเดิม ส่วนตูนิเซียถูกลดลงไป 1 ใน 3 เพื่อเป็นตอบโต้กรณีทั้ง 3 ชาติล่าช้าเฉื่อยแฉะในการออกเอกสารรับพลเมืองของตนกลับเข้าประเทศจากการที่ถูกฝรั่งเศสเนรเทศออกไปฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย

 เฉพาะของแอลจีเรีย ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนกรกฎาคม รัฐบาลฝรั่งเศสได้ออกคำสั่งเนรเทศไปถึง 7,731 คน แต่ทางการแอลจีเรียจัดเตรียมเอกสารให้สำหรับการส่งตัวผู้กระทำผิดเหล่านั้นเพียงแค่ 31 คน

มาตรการลดโควตาวีซ่าดังกล่าวส่งผลให้การเยี่ยมญาติในฝรั่งเศสของชาวแอลจีเรียประสบปัญหา รมว.ต่างประเทศของแอลจีเรียเรียกเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงแอลเจียร์เข้าพบเพื่อประท้วงมาตรการของรัฐบาลฝรั่งเศส

“เป็นการตัดสินใจฝ่ายเดียวของทางฝรั่งเศส ไม่มีการประสานงานกับทางฝั่งแอลจีเรีย” รมว.ต่างประเทศแอลจีเรียให้สัมภาษณ์ และว่า “น่าสงสัยว่าอะไรคือแรงจูงใงของฝรั่งเศส”

ไม่กี่วันต่อมา “เอมมานูเอล มาครง” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ทำให้สถานการณ์แย่ลงไปด้วยการกล่าวกับลูกหลานของฮาร์กิ (Harki) อดีตแอลจีเรียนที่ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารฝรั่งเศสในสงครามเพื่อเอกราชของแอลจีเรีย (ค.ศ.1954-1962) ที่ทำเนียบประธานาธิบดี วังเอลิเซ กรุงปารีส

คำกล่าวของมาครง บางช่วงบางตอน ได้แก่

“การสร้างชาติแอลจีเรียเป็นปรากฏการณ์ที่คุ้มค่าในการจับตามองเป็นอย่างยิ่ง อยากถามว่าก่อนหน้าที่ฝรั่งเศสจะเข้าไปยึดครองมีชาติของชาวแอลจีเรียแล้วหรือไม่? นั่นคือคำถาม”

“มันมีการยึดครองอยู่ก่อนนั้นแล้ว ผมแปลกใจที่ได้เห็นความสามารถของตุรกีในการทำให้ผู้คนลืมบทบาทของพวกเขาในแอลจีเรียไปหมดสิ้น แล้วอธิบายว่าฝรั่งเศสคือผู้เป็นเจ้าอาณานิคมเพียงรายเดียว ยอดเยี่ยมมาก ชาวแอลจีเรียก็เชื่อสนิท”

“ประวัติศาสตร์ของแอลจีเรียถูกเขียนขึ้นมาใหม่ ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความจริง แต่อยู่บนพื้นฐานของความเกลียดชังต่อฝรั่งเศส”

ประธานาธิบดีมาครงกล่าวด้วยว่า หลังจากแอลจีเรียได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 1962 แล้วนั้น แอลจีเรียก็สร้างชาติขึ้นบน “การยืมความทรงจำ” โดยระบบการทหารนำการเมือง และยัดเยียดให้คนรับรู้ว่าปัญหาทั้งหมดมาจากฝรั่งเศส

มาครงบอกว่าเขาต้องการจะผลิตสื่อเป็นภาษาอาหรับและเบอร์เบอร์เพื่อโต้แย้ง “ข้อมูลเท็จ” และ “โฆษณาชวนเชื่อ” นำไปเผยแพร่ในมาเกร็บ ภูมิภาคที่เคยถูกชนชาวเติร์กปกครองและเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่

ทั้งนี้ มาเกร็บ หรือ “อัลมัฆริบ” (Magherb) เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า “ตะวันตก” ซึ่งก็คือดินแดนแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ ปัจจุบันกินพื้นที่ครอบคลุมประเทศแอลจีเรีย โมร็อกโก ตูนิเซีย ลิเบีย และมอริเตเนีย ชนชาติดั้งเดิมคือชาวเบอร์เบอร์ หรือที่ชาวคริสต์ยุโรปเรียกว่าชาวมัวร์

ต้นเดือนตุลาคม ทางการแอลจีเรียตอบโต้คำพูดของประธานาธิบดีมาครงด้วยการห้ามเครื่องบินของฝรั่งเศสบินผ่านน่านฟ้าของพวกเขาไปยังฐานทัพอากาศในเขตซาเฮล ติดเขตแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของแอลจีเรีย ซึ่งฝรั่งเศสกำลังสู้รบอยู่กับกองกำลังก่อความไม่สงบในประเทศมาลี อย่างไรก็ตาม โฆษกกองทัพอากาศฝรั่งเศสบอกว่าคำสั่งห้ามบินผ่านน่านฟ้าแอลจีเรียกระทบปฏิบัติการรบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ต่อมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักประธานาธิบดีแอลจีเรียออกแถลงการณ์ประณามคำกล่าวของประธานาธิบดีมาครงอย่างเป็นทางการว่า เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของแอลจีเรีย เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามชาวแอลจีเรียที่ไม่อาจยอมรับได้

“คำพูดของนายมาครงเป็นการดูหมื่นอย่างฉกรรจ์ต่อความทรงจำของผู้สละชีพ 5.63 ล้านคนในการต่อต้านการยึดครองของฝรั่งเศสอย่างกล้าหาญ”

แถลงการณ์ระบุด้วยว่าอาชญากรรมนับไม่ถ้วนของนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสที่กระทำต่อแอลจีเรียตรงกับคำนิยามของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างสมบูรณ์แบบ

ในเวลาไล่เลี่ยกัน แอลจีเรียมีคำสั่งเรียกตัวทูตประจำฝรั่งเศสกลับประเทศ หลังจากเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อนก็เคยเรียกกลับมาแล้วครั้งหนึ่ง กรณีสถานีโทรทัศน์ France5 เสนอสารคดีเกี่ยวกับการประท้วงของกลุ่ม Hirak ต่อต้านระบอบทหารในแอลจีเรีย

บทความใน world socialist web site (wsws.org) โดย “อันโทนี ตอร์เรส” วิจารณ์รัฐบาลฝรั่งเศสถึงมาตรการจำกัดการให้วีซ่าว่าจะส่งผลต่อชาวอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศสทั้ง 3 ชาติที่ต้องการเดินทางไปเยี่ยมญาติในฝรั่งเศส ทำให้มีผู้เดือดร้อนหลายล้านคน

ปี 2018 สถาบันสถิติแห่งชาติฝรั่งเศสเปิดเผยรายงานว่า มีผู้อพยพย้ายถิ่นมาจากดินแดนมาเกร็บประมาณ 1.9 ล้านคน ทายาทของพวกเขาที่เกิดในฝรั่งเศสกับผู้ปกครองจากมาเกร็บอย่างน้อย 1 คนอีก 2.4 ล้านคน หลานๆ ชาวมาเกร็บมีอีก 821,000 คน (ประเมินเมื่อปี 2011) ทำให้มีชาวมาเกร็บในฝรั่งเศสถึงราว 5.1 ล้านคน

มาครงเหมือนจะตั้งสติได้ พูดถึงทางออกของวิกฤต พูดถึงความสงบสันติ พูดว่าเขามีความเคารพประชาชนชาวแอลจีเรียอย่างสูงสุด และมีความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับประธานาธิบดี “อับดุลมะยึด ตะบูน” แต่แล้วก็กลับมาปกป้องคำพูดของตัวเองก่อนหน้านี้อีกครั้ง

“เราได้เริ่มงานของเราแล้ว เราได้ขอให้เบนจาแมง สโตรา นักประวัติศาสตร์ ทำรายงานเกี่ยวกับเยาวชนฝรั่งเศส-แอลจีเรีย และผมจะทำต่อให้เสร็จ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นอีก เพราะมันเป็นเรื่องราวของบาดแผล ปัญหาคือมีคนจำนวนมากที่ไม่ยอมผ่อนปรนต่ออีกฝ่าย แต่เราก็อยู่ด้วยกันในประเทศเดียวกัน ดังนั้นเราต้องมีโปรเจ็กต์ระดับชาติไว้โอบกอดพวกเรา” ทั้งนี้สโตราได้รับการแต่งตั้งจากมาครงตั้งแต่กลางปีที่แล้วให้ทำรายงานในชื่อ “อนุสรณ์การตั้งอาณานิคมและผู้คนชาวแอลจีเรีย”

กรณีความเป็นชาติของแอลจีเรียก่อนหน้าการเข้ามายึดครองของฝรั่งเศสนั้น “จีเล มองเซอรอง” นักประวัติศาสตร์ ระบุว่า ความเป็นรัฐในดินแดนมาเกร็บตอนกลางนี้มีมาก่อนแล้วในหลายรูปแบบ

“คำกล่าวที่ว่าความรู้สึกในความเป็นชาติของชาวแอลจีเรียเพิ่งจะแพร่กระจายไปทั่วในช่วงสงครามเพื่อเอกราชนั้นก็เป็นความจริงอยู่ ซึ่งมันก็เป็นความรู้สึกเดียวกับความเป็นชาติฝรั่งเศส ที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสเช่นกัน”

สื่อมวลชนหลายราย รวมถึงสื่อของฝรั่งเศสเองวิเคราะห์ท่าทีของมาครงในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาต่อแอลจีเรียว่า ที่จริงแล้วเขาไม่ได้พูดกับลูกหลานชาวฮาร์กิ (Harki) หากแต่ส่งสารถึงชาวฝรั่งเศสหัวอนุรักษนิยมที่ต่อต้านการรับผู้อพยพจากประเทศอดีตอาณานิคม รังเกียจมุสลิมจากตะวันออกกลาง และมองว่าผลประโยชน์ชาวฝรั่งเศสดั้งเดิมต้องมาก่อน

เหมือนเช่นเมื่อ 2 เดือนก่อนที่มาครงเดือนทางไปเยือนเฟรนช์โปลินีเซีย อาณานิคมโพ้นทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วกล่าวสุนทรพจน์แสดงความเสียใจต่อการทดสอบระเบิดปรมาณูของฝรั่งเศสบนเกาะแปซิฟิกจำนวน 193 ครั้ง ระหว่างปี 1966-1996 และมาครงยังได้ให้คำมั่นสัญญาในการลงทุนพลังงานสะอาดในเฟรนช์โปลินีเซียอีกด้วย

นักวิเคราะห์มองว่าเป้าหมายของมาครงไม่ได้อยู่ที่แปซิฟิก แต่อยู่ที่การเมืองในฝรั่งเศส เขาสร้างภาพความเป็นห่วงเป็นใยเพื่อนมนุษย์ และสื่อสารไปยังชาวฝรั่งเศสกลุ่มคนรักสิ่งแวดล้อมที่บ้านเกิด เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือนเมษายนปีหน้า ซึ่งเขาหมายมั่นจะกลับมาเป็นผู้นำฝรั่งเศสอีกสมัย

สำหรับความขัดแย้งฝรั่งเศส-แอลจีเรียนั้นนับย้อนไปได้เกือบ 200 ปี ฝรั่งเศสเริ่มรุกรานแอลจีเรียในปี 1830 เวลานั้นจักรวรรดิออตโตมันกำลังเสื่อมอิทธิพลหลังจากมีอำนาจในดินแดนแถบนี้อยู่เป็นเวลาราว 300 ปี

ด้วยนโยบายผลาญภพหรือทำลายล้างทุกสิ่งที่ขวางหน้า ทุกอย่างที่คิดว่าจะทำให้ศัตรูพ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ฝรั่งเศสได้แอลจีเรียเป็นอาณานิคมเบ็ดเสร็จในปี 1834 และแบ่งแอลจีเรียออกเป็น 3 เขต ได้แก่ แอลเจอร์ โอราน และคอนสแตนติน

ช่วงทศวรรษแรกในการยึดครองของฝรั่งเศส ชาวแอลจีเรียที่มีอยู่ราว 3 ล้านคนเสียชีวิตไประหว่าง 5 แสนถึง 1 ล้านคน ฝ่ายฝรั่งเศสตายไปเกือบ 1 แสนคน

การกดขี่ข่มเหงผู้อยู่อาศัยเดิมเกิดขึ้นเรื่อยมา ชาวแอลจีเรียถูกนับเป็นพลเมืองชั้นสอง มีการเลือกปฏิบัติกับคนที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา การลงโทษหนักหน่วงป่าเถื่อน การริบทรัพย์สินและที่ดิน

ขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชเริ่มก่อตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนใหญ่มาในรูปแบบของพรรคการเมือง แต่สุดท้ายมักถูกฝรั่งเศสใช้กฎหมายยุบทิ้ง

ผู้นำกลุ่มรักชาติ “เฟอฮัต อับบาส” ก่อตั้งสหภาพประชาชนแอลจีเรียในปี 1838 และในปี 1943 เขาได้เขียนคำประกาศประชาชน เรียกร้องขอรัฐธรรมนูญสำหรับชาวแอลจีเรีย แต่แล้ววันที่ 8 พฤษภาคม 1945 กองทัพฝรั่งเศสและ “กลุ่มตีนดำ” (Pieds-noirs) ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสในแอลจีเรีย โจมตีเอาชีวิตผู้ประท้วงเรียกร้องอิสรภาพในเมืองเซติฟ เขตคอนสแตนติน “การสังหารหมู่เซติฟ” ทำให้ชาวแอลจีเรียเสียชีวิตนับหมื่นคน

เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นจุดเปลี่ยนให้เกิดสงครามเรียกร้องเอกราช ซึ่งเริ่มขึ้นอย่างจริงจังในปี 1954 โดยพรรคการเมืองสำคัญชื่อ “แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ” (FLN) ซึ่งมีกองกำลังชื่อ “กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติ”

นอกจากนี้ทหารแอลจีเรียจำนวนมากที่รับใช้กองทัพฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีนเกิดความเห็นอกเห็นใจต่อชาวเวียดนามที่ลุกขึ้นสู้กับฝรั่งเศส พวกเขานำประสบการณ์นั้นมาใช้ในแอลจีเรียโดยการเข้าร่วมกับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติ

แม้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายประเทศอาณานิคมทั่วโลกทยอยได้รับอิสรภาพจากผู้ยึดครองชาติยุโรปกันเกือบทั่วหน้าในช่วงยุคทศวรรษ 1950 แต่ฝรั่งเศสยังคงอับอายขายขี้หน้าจากการถูกนาซีเยอรมันบุกยึดได้ในเวลาเพียง 6 สัปดาห์ แล้วเพิ่งพ่ายแพ้ในอินโดจีนอย่างเจ็บแสบเมื่อปี 1954 หากต้องเสียแอลจีเรียซึ่งเป็นอาณานิคมเก่าแก่และใกล้บ้านไปอีกก็จะเสียเหลี่ยมเสียทรงในเวทีโลกชนิดไม่เหลือราคา ฝรั่งเศสจึงยอมไม่ได้และต่อสู้สุดกำลัง

แต่วิธีการรบด้วยความโหดร้ายทารุณของกองทัพฝรั่งเศส ทำให้ชาวแอลจีเรียยิ่งเกลียดชัง การสนับสนุนของชาวฝรั่งเศสจากพื้นทวีปยุโรป หรือที่เรียกว่า “เมโทรโปลิแตงฝรั่งเศส” เป็นไปอย่างเหินห่าง รวมทั้งการสูญเสียเครดิตในระดับนานาชาติก่อนหน้านั้น จนแม้แต่พันธมิตรรายสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาก็ไม่เอาด้วย

และเมื่อสหประชาชาติรับรองสิทธิการเรียกร้องเอกราชของชาติอาณานิคมในปี 1960 “นายพลชาร์ลส์ เดอโกล” ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในเวลานั้นตัดสินใจเจรจากับพรรคแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติแอลจีเรีย จบลงด้วยการลงนามใน Evian Accord หรือ “ข้อตกลงเอเวียง” เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 1962

จากนั้นการลงประชามติของฝรั่งเศสเกิดขึ้นในวันที่ 8 เมษายน 1962 ผลปรากฏว่าชาวฝรั่งเศสที่ออกมาใช้สิทธิ์เห็นด้วยกับข้อตกลงเอเวียง 90.8 เปอร์เซ็นต์ วันที่ 1 กรกฎาคมปีเดียวกัน การลงประชามติมีขึ้นในแอลจีเรียบ้างด้วยคำถามว่า “คุณต้องการให้แอลจีเรียเป็นรัฐอิสระด้วยการมีความร่วมมือกับฝรั่งเศส ภายใต้เงื่อนไขที่นิยามขึ้นโดยคำประกาศวันที่ 19 มีนาคม 1962 หรือไม่?” ผลออกมา 99.72 เปอร์เซ็นต์ประชาชนเห็นด้วย จบสงคราม 8 ปีที่คร่าชีวิตคนไปมากกว่า 1 ล้านคน พลัดถิ่นราว 2 ล้านคน นายพลเดอโกลถูกทหารฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยพยายามทำรัฐประหารและลอบสังหารหลายครั้ง

ชาวฝรั่งเศสในแอลจีเรียหรือกลุ่มตีนดำราว 9 แสนคนหนีกลับฝรั่งเศส เพราะกลัวถูกแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติแอลจีเรียล้างแค้น เกิดความโกลาหลวุ่นวายขึ้นในฝรั่งเศส เพราะไม่คาดคิดว่าจะมีผู้อพยพเข้าไปจำนวนมหาศาลพร้อมๆ กัน

“ฮาร์กิ” ทหารมุสลิมแอลจีเรียนที่ร่วมรบในนามกองทัพฝรั่งเศสถูกมองว่าเป็นพวกทรยศขายชาติ ถูกสังหารโดยกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติและฝูงชนที่โกรธแค้นไปหลายคน แม้ว่าข้อตกลงเอเวียงจะระบุห้ามไว้ ฮาร์กิที่เหลือข้ามทะเลหนีเข้าฝรั่งเศสได้ประมาณ 9 หมื่นคน ทุกวันนี้มีอนุชนคนรุ่นหลังในฝรั่งเศสจำนวนมาก ถือเป็นประชาการหลักของชาวฝรั่งเศสเชื้อสายแอลจีเรีย

และมาครงกำลังต้องการคะแนนเสียงจากพวกเขาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีต้นปีหน้า.

----------------

อ้างอิง

wsws.org/en/articles/2021/10/14/alge-o14.html

france24.com/en/france/20211003-algeria-escalates-france-diplomatic-row-with-flight-ban

en.wikipedia.org/wiki/Algerian_War

aljazeera.com/news/2021/10/10/algeria-demands-frances-total-respect-says-president

aa.com.tr/en/europe/tensions-escalate-between-france-algeria-over-french-president-s-remarks/2382141

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่งเสริมหรือเสื่อมเสีย

สำหรับ FC เพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็น สส.ในพรรค หัวคะแนน ข้าราชการที่ได้ตำแหน่งเพราะทักษิณและตัวแทนทักษิณ นักธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากนโยบายและโครงการต่างๆ ของทักษิณ

บทเพลงสำหรับปีใหม่-ฟ้าใหม่

ปีพุทธศักราช 2568 หรือคริสต์ศักราช 2025 หรือ ปีงู ปีนี้...ไม่ว่าจะหมอดง หมอดู นักวิเคราะห์ นักวิแคะ ดูๆ ท่านออกจะเห็นไปในแนวเดียวกัน คือหนักไปทาง หนักหนา-สาหัส

เกรงว่าคำอวยพรปีใหม่จะไม่จริง

เวลาที่เรากล่าวคำอวยพรให้ใครๆ เราก็จะพูดแต่เรื่องดีๆ และหวังว่าพรของเราจะเป็นจริง ถ้าหากเราจะเอาเรื่องอายุ วรรณะ สุขะ พละ มาอวยพร โดยเขียนเป็นโคลงกระทู้ได้ดังนี้

แด่...ไพบูลย์ วงษ์เทศ

ถึงแม้จะช้าไปบ้าง...แต่ยังไงๆ ก็คงต้องเขียนถึง สำหรับการลา-ละ-สละไปจากโลกใบนี้ของคุณพี่ ไพบูลย์ วงษ์เทศ นักเขียน นักกลอนและนักหนังสือพิมพ์อาวุโส

กร่าง...เกรี้ยวกราด...ฤากลัว

ใครบางคนตำแหน่งก็ไม่มี สมาชิกก็ไม่ใช่ แต่แสดงบทบาทยิ่งใหญ่กว่าใครๆ เหมือนจงใจจะสร้างตำแหน่งใหม่ที่คนไทยต้องยอมรับ และดูเหมือนเขาจะประสบความสำเร็จเอาเสียด้วย