ถ้า...เลือกตั้งวันนี้

ไม่มีอะไรต้องแปลกใจครับ

วานนี้ (๓๐ มิถุนายน) นิด้าโพล เปิดเผยผลการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ ๒/๒๕๖๗ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ ๑๔-๑๘ มิถุนายน  

จากประชาชนที่มีอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน ๒,๐๐๐ หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคะแนนนิยมทางการเมือง

เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ ๙๗.๐

ผลออกมาตามนี้ครับ...

ถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า...

อันดับ ๑ ร้อยละ ๔๕.๕๐ ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะ ชื่นชอบอุดมการณ์ทางการเมือง มีความรู้ และความสามารถรอบด้าน

อันดับ ๒ ร้อยละ ๒๐.๕๕ ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้

อันดับ ๓ ร้อยละ ๑๒.๘๕ ระบุว่าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) เพราะ มีความเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจ และมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาของประเทศ

อันดับ ๔ ร้อยละ ๖.๘๕ ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะ มีภาพลักษณ์ที่ดี มีความน่าเชื่อถือ การทำงานมีความซื่อสัตย์ สุจริต

อันดับ ๕ ร้อยละ ๔.๘๕ ระบุว่าเป็น นางสาวแพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะ มีวิสัยทัศน์ มีความเป็นผู้นำ และมีความรู้ ความเข้าใจปัญหาของประเทศ

อันดับ ๖ ร้อยละ ๓.๔๐ ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะ เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารที่โดดเด่น และมีความน่าเชื่อถือ

อันดับ ๗ ร้อยละ ๒.๐๕ ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ มีประสบการณ์ทำงานด้านการบริหาร เข้าถึงประชาชน และชื่นชอบนโยบายที่ผ่านมา

ร้อยละ ๓.๔๐ ระบุอื่นๆ ได้แก่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน (พรรคประชาธิปัตย์) นายวราวุธ ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายชัยธวัช ตุลาธน (พรรคก้าวไกล) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง (พรรคประชาชาติ) นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนา) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร (พรรคก้าวไกล) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย)

และร้อยละ ๐.๕๕ ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า...

อันดับ ๑ ร้อยละ ๔๙.๒๐ ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล

อันดับ ๒ ร้อยละ ๑๖.๘๕ ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย

อันดับ ๓ ร้อยละ ๑๕.๐๐ ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้

อันดับ ๔ ร้อยละ ๗.๕๕ ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ

อันดับ ๕ ร้อยละ ๓.๗๕ ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์

อันดับ ๖ ร้อยละ ๒.๒๐ ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย

อันดับ ๗ ร้อยละ ๑.๗๕ ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ

อันดับ ๘ ร้อยละ ๑.๕๕ ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย

ร้อยละ ๑.๐๕ ระบุอื่นๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคไทยภักดี และร้อยละ ๑.๑๐ ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เลือกตั้งคราวที่แล้ว นิด้าโพล แม่นเหมือนจับวาง เป็นไม่กี่โพลที่เผยผลสำรวจว่า พรรคก้าวไกลจะชนะการเลือกตั้ง

เป็นพรรคอันดับหนึ่ง!

ฉะนั้นผลสำรวจครั้งนี้อย่ามองข้ามเด็ดขาด

ถ้าเลือกตั้งวันนี้ พรรคก้าวไกล ชนะแลนด์สไลด์ เผลอๆ เป็นรัฐบาลพรรคเดียว

ส่วน "พิธา" เป็นนายกฯ ล้านเปอร์เซ็นต์

สำหรับ "อุ๊งอิ๊ง" ยังต้องฝึกงานไปอีกสักพัก

ทำไมพรรคก้าวไกลถึงได้รับความนิยมมากกว่าพรรคอื่นที่เก่าแก่กว่า

มีหลายมุมครับ

ประเด็นแรก คนเบื่อนักการเมืองหน้าเก่า ที่วนเวียนอยู่ไม่กี่ตระกูล และเล่นการเมืองแบบเก่าๆ มีการคอร์รัปชันสูง

ประเด็นที่สอง พรรคก้าวไกลมีความสดใหม่ กระแสที่ปรากฏในโซเชียลต่างจากพรรคการเมืองเก่าอย่างสิ้นเชิง มีนักการเมืองหน้าใหม่เยอะ "โอปป้าพิธา" รูปหล่อ แถมโสด ดูฉลาด พูดจาฉะฉาน น่าเชื่อถือ ยังไม่มีปัญหาคอร์รัปชัน

ประเด็นที่สาม พรรคก้าวไกลยังไม่เคยเป็นรัฐบาล ไม่เคยทำหน้าที่บริหารประเทศ เข้าทำนองความดีไม่มี ความชั่วยังไม่ปรากฏ บวกกับการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาดูสมาร์ท ฉลาดไปทุกเรื่อง แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง

และประเด็นที่ ๔ การพูดเรื่อง คนเท่ากัน ความเท่าเทียม ประชาธิปไตยเป็นของประชาชน เข้าถึงความรู้สึกของผู้คนในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง

หลักๆ ๔ ประเด็นนี้จะส่งให้พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง "พิธา" เป็นนายกฯ หากมีการเลือกตั้งในวันนี้อย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งหมดนี้กลบข้อเสียของ พรรคก้าวไกล และ "พิธา" ไปจนหมดสิ้น

คล้ายๆ กับการเลือกตั้งปี ๒๕๔๔ คนเบื่อพรรคประชาธิปัตย์ ที่บริหารประเทศหลังเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง มีการรัดเข็มขัด เศรษฐกิจย่ำแย่ ประชาชนไม่พอใจเพราะรู้สึกว่าตัวเองเดือดร้อน

ในฐานะรัฐบาลในวันนั้นหากไม่ทำ ประเทศจะฉิบหายหนักเข้าไปอีก

แต่ใครจะไปสนใจว่าข้อเท็จจริงคืออะไร

"ทักษิณ ชินวัตร" ในวันนั้นจึงเป็นความหวังใหม่ เพราะเป็นนักธุรกิจแสนล้านที่ประสบความสำเร็จ ดูสมาร์ท  ฉลาดไปทุกเรื่อง

ประชาชนมองข้ามเรื่องการดูด สส.จากพรรคอื่นยกพรรค กลุ่ม ก๊วน วังการเมืองที่เคยสร้างปัญหามาก่อน ล้วนถูกมองข้ามไปทั้งสิ้น

นี่คือวัฏจักรการเมืองไทย

เก่าไปใหม่มา หลายครั้งตัดสินกันด้วยความเบื่อหน่าย

หากตั้งโจทย์ใหม่ เลือกตั้งหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ใครจะได้เป็นนายกฯ

พิจารณาจากคดียุบพรรคอนาคตใหม่ หากพรรคก้าวไกลถูกยุบ พรรคใหม่ที่จะไปสวมชื่อยังคงแข็งแกร่ง เผลอๆแข็งกว่าเดิม

ส่วนนายกฯ ไม่ใช่ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" และไม่ใช่ "ชัยธวัช ตุลาธน" เพราะจะโดนตัดสิทธิไปพร้อมกัน

ที่รับไม้ต่อคือแกนนำรุ่นสาม อาจเป็น "ศิริกัญญา ตันสกุล" "วิโรจน์ ลักขณาอดิศร" "รังสิมันต์ โรม" "พริษฐ์ วัชรสินธุ"

แต่...ขีดเส้นใต้สิบเส้น การเลือกตั้งประเทศไทย มีปัจจัยเยอะแยะไปหมด

ทุกคนรู้แล้วว่าพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งเพราะอะไร

พรรคการเมืองคู่แข่งเขาก็รู้ครับ

และเรียนรู้ว่าทำอย่างไรถึงจะชนะ หรือแพ้พรรคก้าวไกลให้น้อยที่สุด

ครั้งหน้าสู้ไม่ได้ ครั้งหน้าโน้นก็ไม่แน่

การเมืองยุโรป ถึงจุดเปลี่ยนหลังพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายขึ้นมาครองอำนาจอยู่พักใหญ่ เพราะนโยบายพรรคฝ่ายซ้ายทำให้ชาวยุโรปรู้สึกสูญเสียพื้นที่ของตัวเองไป

กลับกันพรรคอนุรักษนิยมเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเน้นนโยบายปกป้องชาวยุโรปเป็นหลัก

สำรวจนโยบายพรรคก้าวไกล วันหนึ่งผลที่ออกมาจะไม่ต่างจากพรรคฝ่ายซ้ายยุโรปมากนัก

 นโยบายจะดีจะชั่ว จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

เมื่อก้าวไกลเป็นรัฐบาลถึงวันนั้นคือจุดเริ่มต้นของการดับ

เพราะการพูดกับการลงมือทำนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ก้าวไกลจะทำได้ไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของที่พูด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สิ้นมนตร์ขลัง ๗๕ ปี

เลือก สว.ครั้งนี้คนเดือดร้อนที่สุด ไม่ใช่คนที่สอบตก แต่เป็น "นักโทษชายทักษิณ"

คิดถึง สว.ลากตั้ง

ก็เรียบร้อยกันไป... เห็นหน้าเห็นตากันไปแล้วนะครับ สำหรับ ๒๐๐ สว. ที่มาจากการเลือกกันเอง และเลือกไขว้ สารภาพตามตรงว่า...เกือบทั้งหมด ไม่รู้จัก

แผน 'ล้าง' ก้าวไกล?

ข่าวล่า มาไว ตามแทบไม่ทัน ก็เรื่องที่ว่าพรรคเพื่อไทยตั้งธงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัด สส.ปาร์ตี้ลิสต์ ออกจากสารบบ เพื่อขวางก้าวไกลไม่ให้ชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

ครบ ๙๒ ปีชิงอำนาจ

๒๔ มิถุนายน บรรจบมาอีกครั้ง ครบรอบวันเปลี่ยนแปลงการปกครองทีไร ต้องนึกถึง หนังสือ "เบื้องแรกประชาธิปตัย"