จุดเปลี่ยนผ่านอุตฯยานยนต์

จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประเทศไทยเริ่มเห็นทิศทางอุตสาหกรรมใหม่ๆ มากขึ้น และเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนากลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ ทั้งเครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์ รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย และด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ๆ ทำให้การพัฒนาหนึ่งอุตสาหกรรมยังสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกหนึ่งอุตสาหกรรมได้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมถึงโอกาสความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจต่างๆ

ขณะเดียวกัน ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์เองก็จำเป็นต้องปรับตัว เนื่องด้วยทิศทางของกลุ่มอุตสาหกรรมจะต้องก้าวเข้าสู่อนาคตมากยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าการเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรมนั้นทำให้กลุ่มยานยนต์มีโอกาสที่จะปรับการผลิตเข้าไปสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ได้

และภายใต้นโยบาย ONE FTI ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่มีแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งมีอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S-Curve ดังนั้น ส.อ.ท.จึงมีแนวทางการจัดตั้ง Cluster of FTI Future Mobility-ONE หรือ CFM-ONE เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ของยานยนต์สมัยใหม่กว่า 14 กลุ่มอุตสาหกรรม

ประกอบกับประเทศไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานทางเลือกอื่นๆ ซึ่งคาดกันว่าจะส่งผลให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งซัพพลายเชนต้องปรับตัว โดยส่วนหนึ่งสามารถปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ทั้งนี้ประเด็นสำคัญคือ นอกเหนือจากที่ธุรกิจต้องหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนธุรกิจแล้ว ภาครัฐจะต้องมีบทบาทสำคัญในการรองรับการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว รวมถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในทุกมิติ ทั้งการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต การพัฒนามาตรฐาน การวิจัยและนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้สินค้าเครื่องมือแพทย์ในประเทศ และการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม พร้อมกับรองรับอุตสาหกรรมอื่นๆ และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศได้

โดย 'ยุพิน บุญศิริจันทร์' ประธาน Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ด้วยบริบทของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ประสบกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิต รวมถึงมีการออกมาตรการที่ชัดเจนว่าตั้งแต่ปี 2573 (ค.ศ.2030) จะมีการขายยานยนต์ประเภทสันดาปภายในให้ลดลง โดยเฉพาะในประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ Cluster of FTI Future Mobility-ONE จึงมีแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทย ภายใต้แนวคิด “Strong global production hub with industry transformation” โดยมีข้อเสนอ อาทิ การรักษาและต่อยอดความเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก การสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสมัยใหม่ เตรียมพร้อมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

และที่สำคัญ CFM-ONE ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนข้อเสนอให้ชิ้นส่วนยานยนต์ไทยปรับตัวสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น ระบบราง หรือเครื่องมือแพทย์ ทั้งนี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ถือว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถปรับเปลี่ยนหรือสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เดิมผลิตชิ้นส่วนเพื่อโรงงานผลิตยานยนต์เท่านั้น มาเป็นกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ และต่อยอดสู่การผลิตชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยมีความสามารถในแง่การผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้

ด้าน 'สุพจน์ สุขพิศาล' เลขาธิการ Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องได้รับการสนับสนุนในช่วงเปลี่ยนผ่านในเชิงต้นทุน โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เริ่มประกอบธุรกิจที่มีความหลากหลาย เช่น การเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มากขึ้น โดยผลิตสินค้าที่มีความเสี่ยงทางการแพทย์ไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ภาครัฐควรจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่าน โดยผลักดันให้มีการกำหนดสัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ หรือออกนโยบายสนับสนุนการซื้อหรือผลิตเพื่อให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถเข้าสู่ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอื่น ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐหรือเอกชนมากขึ้น

นี่อาจจะเป็นความโชคดีท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่สามารถจะเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ในอนาคตอันใกล้.

 

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ความยั่งยืน” โอกาสการเติบโตทางธุรกิจ

สภาวะโลกร้อนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน เป็นตัวเร่งที่ทำให้ทั้งโลกต้องหันมาให้ความสนใจการไปต่อของโลกอย่างยั่งยืนมากขึ้น

เจาะกลยุทธ์“อาร์ตทอย”ตัวท็อปสุดแรร์

กระแสความนิยม “อาร์ตทอย” (Art Toy) เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในไทยซึ่ง “อาร์ตทอย” ไม่ได้เป็นเพียงแค่ของเล่นสำหรับเด็กเท่านั้น แต่กลายเป็นของเล่นและของสะสมที่มีการออกแบบสะท้อนถึงตัวตนและความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินผู้สร้างสรรค์

รณรงค์ใช้สินค้าไทย

ข่าวการปิดตัวโรงงานการผลิตของรถยนต์ ซูบารุ และซูซูกิ ในประเทศไทย เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยในขณะนี้อยู่ในช่วงที่อ่อนแอ เพราะไม่เพียงอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปเท่านั้นที่กำลังสั่นคลอน แต่อีกหลายอุตสาหกรรมของไทยก็กำลังประสบปัญหา

ใช้ไอเดียพัฒนาบรรจุภัณฑ์ไทย

สินค้าและผลิตภัณฑ์บนโลกนี้นอกจากจะต้องพัฒนารูปลักษณ์ หน้าตา ฟังก์ชัน หรือรสชาติใหม่ๆ ให้สามารถตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญและสามารถดึงดูดความสนใจให้กับผู้ซื้อได้ก็คือบรรจุภัณฑ์

ตนเป็นที่เพึ่งแห่งตน

ปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็จะเห็นเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าออนไลน์ การทำธุรกรรมโอนเงิน การเรียกใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ

ส่องการตลาดธุรกิจการแพทย์มาแรง

จะดีแค่ไหน หากเราจะมีโปรแกรมดูแลรักษาสุขภาพที่สอดคล้องเหมาะสมกับตัวเราจริงๆ หรือหากเราเจ็บไข้ได้ป่วยโดยเฉพาะด้วยโรคเรื้อรังหรือโรคร้ายแรงที่รักษายาก ก็มียาและวิธีการรักษา “เฉพาะ” ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเราเท่านั้น