แถลงการณ์ร่วมฮุนเซน-มินอ่องหล่าย:เชื่อได้แค่ไหน?

ผมอ่านแถลงการณ์ร่วมของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ของพม่า กับนายกฯ ฮุน เซน ของกัมพูชา ที่ออกมาเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาจากกรุงเนปยีดอว์แล้วก็เห็นตรงกับคำหนึ่งที่ใช้ในเอกสารนั้นว่าเป็น Win-Win สำหรับทั้ง 2 ผู้นำ

แต่สำหรับคนพม่าเองนั้นอาจจะเป็น Lose-Lose

คือเป็นความพ่ายแพ้ของการต่อสู้ของประชาชนและของหลักการประชาธิปไตยก็ได้

สำหรับอาเซียนและประเทศไทยแล้ว ผลการพบปะระหว่าง 2 ผู้นำนี้ยังต้องประเมินว่าเป็นชัยชนะของใครกันแน่

ผมถือว่ายังเป็นเรื่อง Wait and Watch นั่นคือต้องรอดูว่าผลทางปฏิบัติจะไปทางไหน

ไม่ใช่แค่ Wait and See คือนั่งรอดูผลเฉยๆ

ที่ว่าอาเซียนและประชาคมโลกต้อง Wait and Watch คือรอไปด้วยเฝ้ามองไปด้วยนั้น ก็เพราะแม้ถ้อยคำในแถลงการณ์ร่วมจะฟังดูสวยงามในหลายประโยค แต่ก็มีเงื่อนไขที่แฝงไว้ระหว่างบรรทัดหลายประเด็น

เริ่มด้วยประเด็นที่ มิน อ่อง หล่าย บอกว่า คำประกาศสงบศึกชั่วคราว (ceasefire) 5 เดือนกับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ หรือ EAOs (Ethnic Armed Organizations) จะหมดลงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์

ในแถลงการณ์นี้เขาบอกว่าจะขยายเวลาไปถึงสิ้นปีนี้

โดยที่ มิน อ่อง หล่าย “เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับการหยุดยิงชั่วคราว เพื่อผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนด้วยการยุติความรุนแรงและใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่...”

นายกฯ ฮุน เซน ประกาศสนับสนุนแนวทางนี้เพื่อลดความตึงเครียด และเปิดทางให้มีการเจรจาระหว่าง “ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด” เพื่อหาทางบรรลุสันติภาพและการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน”

ประโยคต่อไปในแถลงการณ์นี้ที่น่าสนใจคือ มิน อ่อง หล่าย บอกว่า ยินดีที่จะให้ “ทูตพิเศษของประธานอาเซียน” มาร่วมการเจรจาหยุดยิงกับเหล่าบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธทั้งหลาย

ทูตพิเศษที่ว่านี้คือ “ปรัก สุคน” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา

ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ อีกประโยคที่อ้างว่า “นี่คือก้าวสำคัญที่ระบุไว้ในฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน”

ที่เป็นตลกร้ายก็คือ วันเดียวกันกับที่มีการออกแถลงการณ์เรื่อง “หยุดยิงชั่วคราว” ที่กรุงเนปยีดอว์นั้นก็มีการสู้รบกันอย่างรุนแรงในเขตชายแดนพม่า ตรงข้ามกับแม่ฮ่องสอนของไทย

และการสู้รบกันตรงข้ามชายแดนอำเภอแม่สอด, จังหวัดตาก ก็ยังดำเนินต่อไปอย่างดุเดือด

รวมถึงการใช้เครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ของฝ่ายกองทัพพม่าถล่มใส่กลุ่มชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยไม่สนใจว่าจะไปโดนเด็ก, คนแก่และผู้หญิงเป็นจำนวนมากที่ต้องหนีหัวซุกหัวซุนข้ามมาขอหลบภัยสงครามทางฝั่งไทย

ในแถลงการณ์ฉบับเดียวกันก็พูดถึงการเรียกประชุม “ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลาย” เพื่อพิจารณาการส่งมอบความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมจากนานาชาติเข้าพม่า

กรณีนี้ก็ระบุให้ทูตพิเศษอาเซียนคนเดียวกันนี้มาร่วมในกระบวนการวางแผนด้วย

ที่จะเชิญมาร่วมพูดจากันในประเด็นนี้ รวมถึงเลขาธิการอาเซียน, ตัวแทนของศูนย์ช่วยเหลือมนุษยธรรมและการบริหารภัยพิบัติ (ASEAN Humanitarian Assistance and Disaster Management Center หรือ AHA)

รวมถึงหน่วยงานเฉพาะกิจด้านนี้ของพม่าเอง

โดยมีจุดประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่าน AHA ของอาเซียนและกาชาดพม่า

รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติ

ผู้นำทั้ง 2 ตระหนักในความสำคัญของการจัดตั้งกลไกและสิ่งอำนวยความสะดวกอันเหมาะสมสำหรับโครงการวัคซีน และความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพให้ถึงประชาชนที่กำลังรออยู่

เน้นด้วยว่าจะต้องเป็นระบบที่ “ไม่เลือกปฏิบัติ”

เพราะ “ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการรักษาชีวิตของประชาชน”

ถ้อยคำสวยหรูมาก แต่คำถามใหญ่ก็คือว่า องค์กรระหว่างประเทศและอาเซียนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าวัคซีนและความช่วยเหลือต่างๆ นั้นจะไปถึงประชาชนที่อยู่คนละข้างกับรัฐบาลทหารพม่า

โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ และกำลังต้องหลบหนีการปราบปรามของรัฐบาลทหารพม่าอย่างโหดเหี้ยมในหลายๆ กรณี

เรื่องการส่งความช่วยเหลือเข้าพม่าเป็นเรื่องใหญ่และละเอียดอ่อน

มีหลายหน่วยงานระหว่างประเทศต้องการจะส่งความช่วยเหลือเหล่านี้เข้าไปพม่าผ่านชายแดนฝั่งไทยโดยไม่ต้องส่งไปยังศูนย์กลางรัฐบาลที่เนปยีดอว์ก่อน

เพราะคนพม่าที่รอความช่วยเหลือตรงบริเวณชายแดนนั้นมีจำนวนมาก แต่รัฐบาลกลางของ มิน อ่อง หล่าย มีความระแวงและไม่ต้องการให้ความช่วยเหลือเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือของคนพม่าที่รัฐบาลทหารถือเป็นศัตรู

นี่คือความยุ่งยากสลับซับซ้อนของการหาทางออกจากวิกฤตของเมียนมา

ที่ไม่ว่าจะเขียนในแถลงการณ์ให้ฟังดูดีงามอย่างไร แต่ในทางปฏิบัตินั้นยังไม่มีใครไว้ใจว่า มิน อ่อง หล่าย จะทำตามที่สัญญาไว้ว่าจะ “ไม่เลือกปฏิบัติ”

(พรุ่งนี้ : ทูตพิเศษอาเซียนจะได้พบกับ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย” ได้จริงหรือ?)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ