แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

เพราะมีผลกระทบต่อไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างปฏิเสธไม่ได้

สื่อต่างชาติและองค์กรสากลว่านี่คือพื้นที่ที่มีทุนสีเทาปฏิบัติการเรื่องผิดกฎหมาอย่างกว้างขวางและท้าทายกฎหมายอย่างยิ่ง

แต่เพราะไม่อยู่ในเขตชายแดนที่กฎหมายเข้าไม่ถึง หรือเหล่าบรรดามาเฟียทั้งหลายใช้วิธีการข้ามชายแดนไปมาเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของชาติใดชาติหนึ่ง จึงสามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง

เป็นที่รู้กันว่า “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ที่เชื่อมต่อระหว่างไทย-ลาว-เมียนมานั้นได้กลายเป็นพื้นที่ให้กลุ่มอิทธิพลข้ามชาติทำธุรกิจบังหน้าอาชญากรรมไซเบอร์ที่หลอกคนทั่วโลกให้ลงทุนผ่านเว็บพนันออนไลน์หรือคริปโตเคอร์เรนซีที่ไม่มีอยู่จริง

สำนักข่าวชายขอบอ้างข้อมูลจากสื่อหลายแหล่งที่เตือนให้จับตา SEZ แขวงบ่อแก้วของลาว

ซึ่งเป็นธุรกิจอยู่ใต้การควบคุมของทุนจีนเทา ‘คิงส์โรมันส์’

มีข้อกล่าวหาว่ากลไกนี้อาจล่อลวงและดึงดูดแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังแหล่งซ่องสุมเครือข่ายสแกมเมอร์ในรัฐฉานของเมียนมาถูกกวาดล้างไปก่อนหน้า

สำนักข่าว Frontier Myanmar เผยแพร่รายงานพิเศษอ้างอิงปากคำชาวเมียนมาหลายราย ทั้งที่เคยไปทำงานและยังคงทำงานอยู่ใน SEZ แขวงบ่อแก้วของลาว

ต่างยืนยันตรงกันว่านี่คือแหล่งซ่องสุมของขบวนการสแกมเมอร์ออนไลน์ที่หลอกลวงเงินเหยื่อจำนวนมากช่วงหลายปีที่ผ่านมา และแรงงานที่ถูกหลอกให้เข้าร่วมกับเครือข่ายฉ้อโกงเหล่านี้ยังสร้างความเดือดร้อนแบบปรากฏการณ์ลูกโซ่ต่อไปยังคนกลุ่มอื่นๆ ทั่วโลก

รายงานของสำนักข่าวชายขอบบอกว่านักวิชาการชาวพม่าประเมินว่าการที่รัฐบาลจีนและแนวร่วมกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าทลายแหล่งรวมสแกมเมอร์และช่วยเหลือเหยื่อชาวจีนที่ถูกหลอกไปทำงานให้ทุนสีเทาในเมืองเล้าก์ก่าย เมืองหลวงของเขตปกครองพิเศษโกก้างในรัฐฉานของเมียนมาเมื่อปี 2023 ทำให้ขบวนการผิดกฎหมายบางส่วนย้ายไปตั้งฐานใน SEZ ของลาว

ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามอำเภอเชียงแสนในจังหวัดเชียงรายของไทย

และอีกจุดหนึ่งคือชเวโก๊กโก่ในเมืองเมียวดี ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในเมียนมา

อยู่ตรงข้ามกับอำเภอแม่สอดในจังหวัดตากของไทย

พื้นที่ SEZ ในแขวงบ่อแก้วของลาวและเมืองเมียวดีของเมียนมา มีทุนใหญ่จากจีนเป็นผู้รับสัมปทานจากภาครัฐด้วยกันทั้งคู่

รายงานในสำนักข่าวชายขอบแจ้งว่าSEZ ลาวอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำ กิจการในเครือคิงส์โรมันส์ของจ้าว เหว่ย นักธุรกิจจีนที่สหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำตั้งแต่ปี 2018

ในฐานะผู้ต้องสงสัยเกี่ยวพันขบวนการยาเสพติด ค้าประเวณี ฟอกเงิน ลักลอบค้าสัตว์ป่า และธุรกิจผิดกฎหมายข้ามชาติอื่นๆ

ขณะที่ SEZ เมียนมาเปิดรับการลงทุนจากกลุ่มทุนหยาไถ่ หรือ Yatai International Holding Group (IHG) ของ เฉอ เจ้อเจียง นักธุรกิจจีนซึ่งถูกทางการอังกฤษขึ้นบัญชีดำในข้อหาเกี่ยวพันกับการทำธุรกรรมผิดกฎหมาย

สิ่งที่แตกต่างกันอยู่บ้างคือ SEZ เมียวดีอยู่ในการควบคุมดูแลของกองกำลังพิทักษ์ชายแดนของทหารกะเหรี่ยง (BGF) ซึ่งสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลทหารพม่า

จึงยังเป็นพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างแนวร่วมรัฐบาลทหารพม่ากับกลุ่มต่อต้าน

ขณะที่ SEZ ลาวไม่มีปัญหาความขัดแย้ง

จนอาจพูดได้ว่าเครือข่ายกลุ่มทุนคิงส์โรมันคือกลุ่มทุนข้ามชาติที่ได้รับสัมปทานนานถึง 99 ปีอย่างถูกต้องตามกฎหมายลาว

และการบริหารจัดการในพื้นที่ก็แทบจะไม่มีการแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลลาวเลย

ประเด็นนี้ถูกกล่าวถึงในรายงานขององค์กรสากลอีก 2 แห่งเช่นกัน ได้แก่ International Crisis Group (ICG) และ United States Institute of Peace (USIP) ที่รวบรวมข้อมูลของอาชญากรรมข้ามชาติในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสรุปใกล้เคียงกันว่า SEZ ในแขวงบ่อแก้วของลาวซึ่งมีอาณาบริเวณกว่า 10,000 เฮกตาร์ ถูกควบคุมโดยแผนกรักษาความปลอดภัยของจีน ทั้งยังบริหารจัดการคล้ายกับหน่วยงานตำรวจนอกเครื่องแบบจีนในต่างประเทศซึ่งทำงานแบบไม่เปิดเผยตัว

สิ่งที่สะท้อนว่าพื้นที่ SEZ ลาวตกอยู่ภายใต้การควบคุมของจีนสีเทาอย่างชัดเจนอีกอย่างหนึ่ง คือ ภาษาที่ปรากฎบนป้ายตามถนนหนทางต่างๆ ไม่ใช่ภาษาลาว แต่เป็นภาษาจีน

อีกทั้งสกุลเงินที่ใช้เป็นหลักคือเงินหยวน รวมถึงมีการตั้งนาฬิกาในที่พื้นสาธารณะตามเวลาในประเทศจีนอีกด้วย

รายงานนี้บอกว่าแม้ว่าการเปิด SEZ จะทำให้รายได้ต่อหัวประชากรในพื้นที่นี้เพิ่มสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในประเทศลาวเพิ่มขึ้น

คนที่ทำงานในธุรกิจผิดกฎหมายยังมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากคดีฉ้อโกงอีกด้วย

แม้สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) จะเห็นด้วยกับท่าทีของรัฐบาลจีนที่มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงในการปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินผิดกฎหมายและอาชญากรรมทางไซเบอร์ แต่รายงานของ USIP กลับระบุว่านโยบายเกี่ยวกับการปราบปรามกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติของรัฐบาลจีนนั้นยังไม่ครอบคลุมนัก

ถ้าหากเครือข่ายทุนจีนเทาไม่ได้พุ่งเป้าไปยังเหยื่อชาวจีนหรือไม่ได้หลอกคนจีนให้ทำงานผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ก็จะไม่มีปฏิบัติการกวาดล้างครั้งใหญ่

แต่มักใช้วิธีส่งกำลังเจ้าหน้าที่ไปประจำในประเทศที่เกิดเหตุ ซึ่งอาจถูกมองเป็นการขยายอิทธิพลทางด้านความมั่นคงในภูมิภาคก็ได้เช่นกัน

Frontier Myanmar รายงานว่าพลเมืองเมียนมาจำนวนมากไปทำงานใน SEZ ของลาวเพิ่มขึ้น

สาเหตุหนึ่งมาจากระบบเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่องหลังเกิดรัฐประหารในประเทศเมื่อปี 2021 ประชาชนต่อต้านรัฐบาลทหารด้วยอารยะขัดขืน จึงมีผู้ที่ลาออกจากตำแหน่งงานในภาครัฐและหันไปหางานอื่นทำเป็นจำนวนมาก

เปิดช่องให้เครือข่ายอาชญากรข้ามชาติล่อลวงคนจากเมียนมาที่กำลังดิ้นรนหางานทำไปเป็นสแกมเมอร์ให้กับทุนสีเทาในต่างประเทศ

 

อีกปัจจัยที่ทำให้แรงงานจากเมียนมาหลั่งไหลไปทำงานใน SEZ ลาวเป็นจำนวนมากและอาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เป็นเพราะค่านายหน้าถูกที่สุดเมื่อเทียบกับการไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ โดยค่านายหน้าที่เรียกเก็บคนจากเมียนมาซึ่งจะไปทำงานในลาวอยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านจ๊าต รวมค่าเดินทาง

ขณะที่ค่านายหน้าเพื่อดำเนินการส่งแรงงานเมียนมาไปยังประเทศไทยจะอยู่ที่ราวๆ 2 ล้านจ๊าต และถ้าส่งไปมาเลเซีย ค่านายหน้าจะสูงถึง 5 ล้านจ๊าต

(พรุ่งนี้: เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็นแห่งอาชญากรรมข้ามชาติ)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021