ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 29: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

 

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี

5.2 ตะวันตกมองการเริ่มต้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในสยาม

ภายใต้บรรยากาศที่สับสนตึงเครียดตั้งแต่ต้น ค.ศ. 1933 เมื่อถึงช่วงปลายเดือนมีนาคมปีเดียวกันนั้น (พ.ศ. 2475 ตามปฏิทินเดิมของไทย) รัฐบาลก็ต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งสำคัญ อันเป็นผลมาจากการที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสนอ ‘ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ’ และมีร่างโครงการแบบเดียวกันของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเสนอเข้ามาแข่งด้วย อัครราชทูตอังกฤษ ซึ่งรับรู้เรื่องนี้จากทั้งพระยาศรีวิสารวาจาและนายแบกซ์เตอร์ (James Baxter) ที่ปรึกษาด้านการเงินชาวอังกฤษ รายงานว่า ในการพิจารณาเรื่องนี้ในคณะรัฐบาลเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจฯ ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ‘….ที่อาศัยหลักการแบบโซเวียต คือการให้รัฐเป็นเจ้าของที่ดิน แรงงาน และกิจการอุตสาหกรรม ถูกปฏิเสธด้วยมติ 17 ต่อ 3 จึงมีการขอให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมลาออก หรือมิฉะนั้นก็ให้ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะลาออก แต่ในเรื่องนี้ พระยาศรีวิสารวาจาเองก็ดูจะไม่มีความชัดเจนนัก...’ ([F 3109/42/40] ‘Mr. Dormer to Sir John Simon, 3 April 1933”, British Documents, p. 95-96)

พระยาศรีวิสารวาจายังได้แจ้งแก่อัครราชทูตอังกฤษด้วยว่า ได้มีการขอให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมและกลุ่มผู้สนับสนุน เมื่อไปสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 30 มีนาคม ซึ่งจะมีการพิจารณางบประมาณ ปลดอาวุธที่เชื่อกันว่าบุคคลเหล่านี้พกพาอยู่ไว้ที่ประตู  และหากมีการขัดขืนหรือสภาผู้แทนราษฎรมีท่าทีขัดขวาง (หลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีสมาชิกให้การสนับสนุนอยู่ประมาณ 25-30 คนจากทั้งหมด 70 คน) ก็จะให้มีการยุบสภาโดยทันที  รวมทั้งจะมีการออกพระราชกฤษฎีการะงับการใช้รัฐธรรมนูญ พระยาศรีวิสารวาจาอ้างแก่อัครราชทูตอังกฤษว่า มาตรการเข้มงวดเช่นนี้มีความจำเป็นยิ่งหากจะให้รัฐบาลทำงานต่อไปได้ และร้อยละ 90 ของกองทัพบกและกองทัพเรือทั้งหมดอยู่ข้างฝ่ายหัวไม่รุนแรงในคณะรัฐบาล     

ในบ่ายวันที่พระยาศรีวิสารวาจาได้พบกับอัครราชทูตอังกฤษ (วันที่ 29 มีนาคม) พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และพลเรือโท พระยาราชวังสัน ก็เดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่หัวหิน ซึ่งก็คงเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาฉุกเฉิน สภาผู้แทนราษฎรซึ่งประชุมกันในวันรุ่งขึ้น ถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับสิทธิตามรัฐธรรมนูญของรัฐบาลในการห้ามข้าราชการและทหารบกและทหารเรือเข้าร่วมในกิจกรรมของสมาคมคณะราษฎร  อัครราชทูตอังกฤษได้รายงานตามข่าวหนังสือพิมพ์ว่า ในที่สุด มีการลงมติว่า คำสั่งดังกล่าวอยู่นอกเหนืออำนาจ (ultra vires) ของรัฐบาล และหากจะให้คำสั่งมีผลบังคับใช้ จะต้องออกพระราชบัญญัติพิเศษเพื่อวัตถุประสงค์นี้ การถกเถียงในประเด็นนี้และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ที่ตามมา ทำให้ไม่มีเวลาพอทีจะพิจารณางบประมาณ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้เลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ไปในวันที่ 31 มีนาคม อัครราชทูตอังกฤษได้บรรยายสถานการณ์วันนี้ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

การประชุมในวันที่ 31 มีนาคม ดูตื่นเต้นเร้าใจอย่างมาก ภายนอกพระที่นั่งอนันตสมาคมอันเป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีทหารเรือกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่รักษาการณ์อยู่  แต่ภายในมีทหารเรียงรายอยู่ตามผนังทุกด้าน หลังที่นั่งที่จัดไว้สำหรับคณะรัฐมนตรีมีพลแม่นปืน (sharpshooters) จำนวนหนึ่ง ที่ได้รับคำสั่งให้ยิงผู้ใดก็ตามที่แสดงท่าทีคุกคามประธานสภาผู้แทนราษฎร คือ เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) ไม่ได้เข้าประชุมโดยอ้างว่าป่วย (indisposition) ข้ออ้างเดียวกันนี้ คงจะเป็นเหตุให้สมาชิกสภาผู้แทนกลุ่มหัวไม่รุนแรงคนอื่นๆ ส่วนใหญ่ไม่เข้าร่วมประชุมด้วย กลุ่มความคิดสุดขั้วจึงเป็นฝ่ายครองสภาผู้แทนราษฎรในวันนั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเข้าประชุม แต่ได้มอบภาระในการแถลงงบประมาณแก่พระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามาระ) อธิบดีกรมบัญชีกลาง  ซึ่งไม่ได้เป็นทั้งรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นผู้มีสิทธิที่จะไปปรากฏตัวในสภาแห่งนี้ได้ เมื่อพระยาไชยยศสมบัตแถลงงบประมาณเสร็จแล้ว  เขาก็ได้ถามสมาชิก ซึ่งได้ฟังคำแถลงอย่างเงียบๆ ว่า  สมควรจะให้ผ่านหรือไม่.....แม้ที่ปรึกษาด้านการเงินจะได้เตือนมาก่อนหน้านี้แล้วว่าควรจะใช้เวลา 1 หรือ 2 วันสำหรับการถกเถียงพิจารณาเรื่องสำคัญเช่นนี้ในรายละเอียด แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกลับต้องการให้ผ่านเลยในทันที อย่างไรก็ตาม สภาผู้แทนราษฎรให้ความสนใจมาก และเริ่มซักถามแต่ละประเด็นตามลำดับ กลุ่มผู้สนับสนุนหลวงประดิษฐ์มนูธรรมคงจะได้เค้ามาแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล จึงได้จำกัดตนเองอยู่ที่การซักถามข้อมูลเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายเท่านั้น ซึ่งเป็นสิทธิที่พวกเขาจะทำได้ และในที่สุด รัฐบาลก็ยอมตกลงที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมมาธิการสภาผู้แทนราษฎรขึ้นพิจารณาและจัดทำรายงานงบประมาณ....เป็นที่แน่ชัดว่ากลุ่มความคิดสุดขั้วต้องการที่จะขัดขวางมาตการใดๆ ก็ตามที่มิใช่ของตน งบประมาณจึงดูจะไม่มีทางผ่านได้ เพราะจากการที่กลุ่มหัวไม่รุนแรงไม่เข้าร่วมประชุม จึงทำให้คณะกรรมาธิการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นนั้นมีแต่กลุ่มความคิดสุดขั้วเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเองด้วย

ช่วงเย็นวันเดียวกันนั้น อัครราชทูตอังกฤษได้พบกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่บ้านของนายสตีเวนส์ ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ และได้สนทนาว่า

“ข้าพเจ้าเห็นว่าเขาเป็นคนฉลาด เป็นมิตร และมีเหตุผลโดยสมบูรณ์ เขามีท่าทีสุภาพอ่อนน้อมแต่ประหม่าขัดเขินแบบชาวสยามโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าพอจะเข้าใจได้ว่า เขาจะรุดหน้าไปในทางที่เขาได้ตัดสินใจแล้วด้วยความกระตือรือร้นและมุ่งมั่น  นอกจากนั้น ก็เป็นที่น่าสนใจด้วยว่า ข้าพเจ้าไม่พบร่องรอยของท่าทีต่อต้านอังกฤษ ท่าทีเช่นนี้ เราคาดหมายไว้ว่าจะได้พบหากคนผู้นั้นเป็นคอมมิวนิสต์”

ในวันพรุ่งนี้ คือ วันที่ 1 เมษายน นายสตีเวนส์ ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศก็ได้มาแจ้งแก่อัครราชทูตอังกฤษว่า ในช่วงเวลา 2 ทุ่มของวันนั้น จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาฉุกเฉิน และถ้าหากมีการก่อกวนสร้างความวุ่นวาย รัฐบาลก็จะส่งทหาร 2-3 คนไปประจำนอกสถานทูตแต่ละแห่ง รัฐบาลได้ประกาศยุบสภาในวันนี้ และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ประกอบด้วยบุคคลชุดเดิม ยกเว้นกลุ่มที่มีความคิดสุดขั้ว ได้แก่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หลวงเดชสหกรณ์ (หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์) นายตั้ว ลพานุกรม  นายแนบ พหลโยธิน  และพระยาประมวลวิชาพูล (วงษ์ บุญ-หลง)  นอกจากนั้น รายงานอัครราชทูตอังกฤษยังระบุด้วยว่า พันเอก พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเคยอยู่ในกลุ่มความคิดสุดขั้ว ได้มาเข้าร่วมกับฝ่ายหัวไม่รุนแรง

ตามรายงานอัครราชทูตอังกฤษ ไม่มีความวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้นหลังการประกาศยุบสภา  โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปรับรู้เรื่องราวน้อยมากหรือแทบไม่รู้อะไรเลย แม้กระทั่งหลังจากเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นแล้ว 24 ชั่วโมง หลวงประดิษฐ์มนูธรรมและผู้สนับสนุนคนสำคัญๆ ยังมิได้ถูกจับ  แต่นอกบ้านของหลวงประดิษฐ์ฯ ก็มีรถยนต์คันหนึ่งและนักสืบ 3 คน ซึ่งมีอาวุธครบมือเฝ้าสังเกตการณ์อยู่  เพื่อเป็นการเตือนว่า บุคคลเหล่านี้กำลังถูกจับตามองบรรยากาศโดยทั่วไปอยู่ในภาวะตึงเครียด  พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจา และ พลเรือโท พระยาราชวังสัน ได้ย้ายไปพำนักอยู่ในวังปารุสกวัน  (หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเพิ่งจะย้ายออกไปจากสถานทีนี้)

ในการรับรู้และความเข้าใจของอัครราชทูตอังกฤษ หากกลุ่มหัวไม่รุนแรงสามารถจะเสริมฐานะทางอำนาจของกลุ่มให้เข้มแข็งได้ ‘….ก็จะมีความหวังสำหรับอนาคตของสยามมากกว่าที่เคยมีมาแล้ว ไม่ว่าจะในช่วงใดหลังการปฏิวัติเมื่อเดือนมิถุนายนที่แล้ว’

นอกจากนั้น เขายังมีทัศนะที่ค่อนข้างเป็นลบต่อสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นด้วย”           

อัครราชทูตอังกฤษมองสภาผู้แทนราษฎรค่อนข้างเป็นลบอย่างไร โปรดติดตามในตอนต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วรชัย' พูดเต็มปาก! 'ชวน' ไม่ควรว่าทักษิณ ถ้ายังกวาดบ้านตัวเองไม่สะอาด

นายวรชัย เหมะ อดีตสส.สมุทรปราการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำนองว่า ตัวเองเป็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่ไม่โกง

'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ