หรือว่า 'ฮั้ว' คือ 'คำสั่ง' เลือกสว.

ด่ากันขรม!

เลือก สว.ฮั้วกันแหลก

และดูเหมือนว่า กกต.ซวยกว่าใครเพื่อน คงเพราะเป็นผู้มีหน้าที่จัดการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ จำนวน ๒๐๐ คน

รู้สึกเห็นใจ "แสวง บุญมี" เลขาธิการ กกต. นาทีนี้พูดอะไรไปไม่มีใครฟัง แถมยังขุดโคตรมาโจมตีอีก

แต่ถ้าให้มองทุกสิ่งเกี่ยวกับการเลือก สว. ซึ่งสร้างความเดือดดาลในวันนี้ คนด่า ความรู้สึกช้าไปโขทีเดียวครับ

เพราะกติกาเลือก สว. ใช่ว่าเพิ่งจะมีวันสองวันที่ผ่านมา

แต่มีมา ๗ ปี แล้ว

เป็น ๗ ปีที่ไม่มีการแก้ไขอะไรเลย

ที่มาของ สว. ถูกกำหนดใน รัฐธรรมนูญพุทธศักราช ๒๕๖๐ เริ่มต้นเขียนไว้อย่างไร วันนี้ทุกตัวอักษรยังคงเดิม

และกฎหมายอีกฉบับคือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ ก็ออกตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

ตั้งแต่ประกาศใช้ปี ๒๕๖๑ จนมาถึงปีนี้ ก็ไม่มีการแก้ไขใดๆ

เดิมๆ ครับ!

แต่เมื่อนำกฎหมายมาใช้จริงๆ กลับมีการพูดถึงข้อบกพร่องมากมาย

เมื่อปี ๒๕๖๔ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ณ วันนั้นแก้เฉพาะการเลือกตั้ง สส.

ยกเลิกระบบจัดสรรปันส่วนผสม

เถียงกันเรื่องบัตรเลือกตั้ง ๑ ใบ ๒ ใบ

แต่ไม่มีนักการเมืองคนใดพูดถึงที่มาของ สว.เลย ว่าวันข้างหน้าจะต้องมีปัญหาแน่ๆ จะต้องแก้ไขไปในคราวเดียวกันด้วย

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

จำได้มั้ยครับวันก่อนประธานวุฒิสภา พรเพชร วิชิตชลชัย พูดเรื่องนี้เอาไว้

"...แม้ สว.ชุดใหม่จะมีความแตกต่างกันบ้าง ซึ่งผมไม่รู้ว่าใครจะเข้ามาบ้าง โดยพรรคการเมืองต่างๆ ส่งคนเข้ามา  คาดว่าคนที่อยู่พรรคใหญ่ๆ น่าจะเยอะ รวมถึงพรรคก้าวไกลด้วย..."

"...คงหนีไม่ได้ว่าเป็นคนของใคร แต่ขึ้นอยู่กับว่าเขาทำงานอย่างไร..."

สังเกตเห็นอะไรมั้ยครับ

ท่ามกลางเสียงก่นด่า กกต. ด่าวิธีการเลือก สว. แต่ ๒ พรรคใหญ่แทบไม่มีท่าทีด้านลบต่อระบบการเลือก สว.ออกมาให้เห็น

ไม่ว่าไม่เป็นไร แต่ ๒ พรรคใหญ่ระดมคนเข้าไปอยู่ในวุฒิสภาด้วยนี่สิครับ ชาวบ้านชาวช่องยากจะตามเล่ห์เหลี่ยมทัน 

พรรคเพื่อไทยใช้อิทธิพลบ้านใหญ่ ฮั้วกันอย่างเงียบๆ

ผิดกับพรรคก้าวไกล และ คณะก้าวหน้า ที่เปิดหน้าชกชัดเจน แต่ทำเนียนไหลไปกับวิธีการเลือก สว.ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.

ย้ำกันอีกครั้งครับในวันที่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" เดินสายปลุกชาวสีส้มสมัคร สว. มีวัตถุประสงค์ชัดเจนคือการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะทำให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม

๒ พรรคนี้ต่างก็คิดว่าตัวเองมีอิทธิพลทางการเมืองมากพอที่จะกวาดเก้าอี้ สว.เข้าสภาได้ในปริมาณที่มากพอที่จะมีพลังต่อรองทางการเมืองได้

ที่สำคัญคือ เขาเห็นช่องโหว่ของกฎหมาย และวิธีการ ที่จะทำให้มี สว.ในสังกัดในจำนวนที่ต้องการ

ทั้ง ๒ พรรคจึงไม่พูดเรื่องการฮั้วมากนัก

ล่าสุด "ธนาธร" ชี้นำ การเลือก สว.อย่างชัดเจน ชนิดที่ กกต.ได้แต่นั่งดูตาปริบๆ เพราะทำอะไรไม่ได้

โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ก่อนการเลือก สว.ระดับประเทศเพียง ๑ วัน ระบุว่าเป็น "จดหมายถึงผู้สมัคร สว. ฝ่ายประชาธิปไตย"

"...ถึงผู้สมัคร สว. ฝ่ายประชาธิปไตยทุกท่าน

ผมเริ่มรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวสนใจการเลือก สว. ๖๗ มาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม

พรุ่งนี้ จะถึงวันเลือก สว. ระดับประเทศ พรุ่งนี้เย็น เราจะเห็นหน้าตาของวุฒิสภาชุดใหม่

กฎกติกาออกแบบมาให้เราแตกแยกกันเอง ทะเลาะเบาะแว้งกันเอง ไม่ไว้วางใจกัน ใครทรยศเพื่อนได้เข้ารอบ ได้เป็น สว.

ในเวลาเช่นนี้เอง เป็นเวลาพิสูจน์ความเข้มแข็งของขบวนการประชาธิปไตย ว่าเราสามารถรวมกันเป็นหนึ่ง ก้าวข้ามความเห็นแก่ตัว เสียสละเพื่อผลักดันวาระประชาธิปไตยได้หรือไม่

นอกจากนี้ มันเป็นการพิสูจน์ตัวตนของผู้สมัครทุกคน ว่าแต่ละท่านเป็นคนอย่างไร? ว่าเราพร้อมจะหักหาญเพื่อนร่วมทางเพื่อความก้าวหน้าของตัวเองหรือไม่?

ผมอยากเตือนสติผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตยทุกคน ให้ระลึกถึงวันแรกที่ท่านตัดสินใจลงสมัคร สว.

ผมเชื่อว่าท่านตัดสินใจเพราะท่านอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ต้องการทำเพื่อส่วนรวม ไม่ได้ตัดสินใจเพื่อต้องการเป็น สว.

เราอยากเห็นการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เราอยากเห็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เราอยากเห็นการแต่งตั้งองค์กรอิสระที่จะไปทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม

ท่านยังอยากเห็นสิ่งเหล่านี้หรือไม่?

หรือความอยากเป็น สว. มันทำลายความคิดความฝันร่วมกันไปแล้ว?

มีผู้เข้ารอบประเทศ ๓,๐๐๐ คน มีตำแหน่งสุดท้ายเพียงแค่ ๒๐๐ คน มันเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะได้เป็น สว.

กว่าเราจะเดินทางมาถึงวันนี้ มีผู้เสียสละมาก่อนหน้าเรา พวกเขาเสียเงินค่าสมัคร เสียเวลาเพื่อเข้าสู่กระบวนการ ทิ้งคะแนนให้คนที่พวกเขาเห็นว่าจะเป็น สว.ที่ดี เป็น สว.ฝ่ายประชาธิปไตย

มีคนหนุ่มสาวมากมาย เข้าร่วมรณรงค์และให้ข้อมูลกับประชาชนเพื่อให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการเลือก สว. เพราะพวกเขามีส่วนร่วมไม่ได้

พวกเขาและเธอ เสียสละทิ้งคะแนนเพื่ออะไร? เสียแรงเสียเงินเพื่ออะไร? เพื่อให้พวกท่านทะเลาะเบาะแว้งกัน  หลงลืมอุดมการณ์ แสดงอัตตาใหญ่โต ดื้อรั้นไม่ไยดีกับอนาคตของคนรุ่นต่อไป พร้อมหักหาญน้ำใจเพื่อน เพื่อเป็น สว. ทั้งที่โอกาสและความเป็นจริงริบหรี่อย่างนั้นหรือ?

คนที่เสียสละเหล่านั้น เขาและเธอฝากความหวังไว้กับท่าน ให้ท่านไปต่อเพื่อเสียสละให้กับคนที่เหมาะสมกว่าในรอบต่อไป เขาและเธอฝากอนาคตประชาธิปไตยไว้กับท่าน

คณิตศาสตร์บอกเราว่า ถ้าเรารวมกันแน่น เราจะชนะ

แต่ถ้าเราแตกกัน ฝ่ายประชาธิปไตย จะไม่ได้อะไรเลย

ในค่ำคืนสุดท้าย ผมฝากให้ทุกท่านใช้เวลากับตัวเอง ใคร่ครวญให้เยอะ และให้ลึก ถามตัวเองว่า

เราชอบสังคมที่คนหักหลังกัน?

เราชอบสังคมที่คนไม่เคารพกฎกติกากลุ่ม?

หรือเราอยากเห็นสังคมที่คนไว้เนื้อเชื่อใจกัน จริงใจต่อกัน คนพร้อมเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อความดีงามที่ยิ่งใหญ่กว่าของส่วนรวม?

เราเลือกเองได้

มันเริ่มต้นได้ที่เรา

อย่าให้กฎกติกาของพวกเขาทำลายพวกเรา อย่าให้กฎกติกาของพวกเขา ทำลายเกียรติยศศักดิ์ศรีและความดีงามในใจท่าน

ผมเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ว่ามนุษย์นั้นพร้อมสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม และเพื่ออนาคตของลูกหลาน

ในค่ำคืนสุดท้าย แม้จะผ่าน/เห็น และสัมผัสความเห็นแก่ตัวมากมาย จากการรณรงค์การเลือก สว. มาสามเดือน ผมก็ยังเชื่อมั่นในมนุษย์เช่นเดิม

ขอขอบคุณผู้สมัคร สว. ฝ่ายประชาธิปไตยทุกท่านที่เสียสละตัวเองในการเข้ากระบวนการครั้งนี้

พรุ่งนี้ ผมหวังว่าท่านจะตัดสินใจอย่างถูกต้อง เพื่ออนาคตของประชาธิปไตยไทย..."

เนียนครับ...

มันยิ่งกว่าฮั้ว เพราะมันคือ "คำสั่ง"!

"ธนาธร" สั่งใครได้บ้างไม่ทราบ แต่จดหมายฉบับนี้ เต็มไปด้วยคำสั่ง

กลับกันลอง "ทักโทษชายทักษิณ" หรือ "เนวิน ชิดชอบ" ออกมาพูดแบบนี้ รับรองทัวร์สีส้มลงทั้งวัน หาว่าชี้นำการเลือก สว.

ฉะนั้นอย่าได้แปลกใจครับหากชำแหละกันเสร็จสิ้นแล้วว่า สว. ๒๐๐ คน มีสีแดงกี่คน สีส้มกี่คน

เขาวางแผนกันมานานแล้ว

ที่ด่า กกต.กันในตอนนี้ ถ้าเหนื่อยแล้ว ก็หันไปดูพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทยบ้าง

ทางโน้นเขาแฮปปี้ครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สิ้นมนตร์ขลัง ๗๕ ปี

เลือก สว.ครั้งนี้คนเดือดร้อนที่สุด ไม่ใช่คนที่สอบตก แต่เป็น "นักโทษชายทักษิณ"

คิดถึง สว.ลากตั้ง

ก็เรียบร้อยกันไป... เห็นหน้าเห็นตากันไปแล้วนะครับ สำหรับ ๒๐๐ สว. ที่มาจากการเลือกกันเอง และเลือกไขว้ สารภาพตามตรงว่า...เกือบทั้งหมด ไม่รู้จัก

แผน 'ล้าง' ก้าวไกล?

ข่าวล่า มาไว ตามแทบไม่ทัน ก็เรื่องที่ว่าพรรคเพื่อไทยตั้งธงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัด สส.ปาร์ตี้ลิสต์ ออกจากสารบบ เพื่อขวางก้าวไกลไม่ให้ชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

ครบ ๙๒ ปีชิงอำนาจ

๒๔ มิถุนายน บรรจบมาอีกครั้ง ครบรอบวันเปลี่ยนแปลงการปกครองทีไร ต้องนึกถึง หนังสือ "เบื้องแรกประชาธิปตัย"

คดี ๑๑๒ ควรจบแบบไหน

เป็นความคิดที่ดี "โบว์-ณัฏฐา มหัทธนา" นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว พิธีกรรายการข่าว มีข้อเสนอที่น่าสนใจ โพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียล