ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?

ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน

หรือหากพิธีกรถามถึงเรื่องเอเชียก็จะเป็นประเด็นทะเลจีนใต้, เกาหลีเหนือและไต้หวัน

เรื่องราวที่เกี่ยวกับเราโดยตรงจะมีน้อยมาก

เพราะการเมืองสหรัฐฯ มุ่งเรื่องผลประโยชน์ในประเทศของเขามากกว่า

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะเลิกสนใจการหาเสียงเลือกตั้งสหรัฐฯ

เพราะยิ่งเขาไม่สนใจเรา ไม่รู้จักเรา และไม่แคร์เรา เราก็ยิ่งต้องทำความเข้าใจว่าผลการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่สหรัฐฯ จะมีผลกระทบต่อเอเชียอย่างไร

ผู้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าทรัมป์ไม่รู้จักและไม่สนใจอาเซียน...ยกเว้นประเด็นว่าประเทศไหนมีดุลการค้าได้เปรียบสหรัฐฯ

นั่นคือประเด็นหลักของเขา เพราะทรัมป์ต้องการจะ Make America Great Again ประเทศอื่นเป็นรายละเอียดปลีกย่อย

ไบเดนอาจจะรู้จักเอเชียมากกว่าเล็กน้อย แต่ก็คงไม่ให้ได้ความสำคัญเท่ากับเรื่องสงครามยูเครน, กาซา, ไต้หวัน, เกาหลีเหนือและอิหร่าน

แต่ไม่ว่าทั้งสองคนจะสนใจเอเชียมากน้อยเพียงใด ผลการเลือกตั้งจะมีผลกระทบอย่างมากต่อเอเชียอย่างแน่นอน

ที่สำคัญคืออย่างน้อยบนกระดาษ ไบเดนและทรัมป์นำเสนอวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันอย่างมากสำหรับบทบาทของอเมริกาบนเวทีโลก

และมีนโยบายที่แปลกแยกจากกันในประเด็นเรื่องการจัดการการค้าและเศรษฐกิจสหรัฐฯ

รวมไปถึงนโยบายต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาเทคโนโลยี

เอาเฉพาะเรื่องท่าทีต่อย่านอินโดแปซิฟิกและเรื่องบทบาทสหรัฐฯ ใน Quad

อันหมายถึงพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย

ซึ่งต้องถือว่าเป็นเวทีกลางสำหรับความร่วมมือในระดับภูมิภาคของเอเชีย

Nikkei Asia ตั้งคำถามว่าตอนที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีนั้น เขามีแนวทางเรื่องนี้อย่างไร?

มีคำตอบว่าทีมงานของทรัมป์มักจะชูประเด็นว่าทรัมป์ชอบอวดอ้างผลงานที่จับมือกับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นในขณะนั้น

และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ฟื้นคืนชีพให้กับ Quad

ความจริง กลุ่ม Quad นั้นก่อตั้งขึ้นโดยฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช

โดยมีเป้าหมายให้เป็นกลไกเฉพาะกิจในการประสานงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติสำหรับเหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ปี 2004

ตอนนั้น อาเบะระบุว่าทั้งสี่ประเทศเป็นหุ้นส่วนที่มีศักยภาพใน "อินโดแปซิฟิก"

ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใหญ่กว่า "เอเชียแปซิฟิก" ที่เป็นชื่อเดิม

ดังนั้นจาก Asia-Pacific ก็เปลี่ยนเป็น Indo-Pacific

ด้วยการขยายความเพื่อรวมอินเดียเข้ามาร่วมในความร่วมมือนี้ด้วย

หลังจากนั้นก็มีการผลักดันให้มีการประชุมและการซ้อมรบทางเรือ

แต่ Quad ก็ลดความเข้มข้นลงหลังจากจีนแสดงความไม่พอใจต่อ “การรวมหัวของก๊วนตะวันตกที่เข้ามาแทรกแซงถึงเอเชีย”

พอทรัมป์เข้านั่งทำเนียบขาวก็มักจะวนเวียนไปหาอาเบะ นัยว่าเพื่อไปปรึกษาหารือเรื่องนโยบายต่างประเทศ

คุยไปคุยมาก็ตกลงในเดือนพฤศจิกายน 2017 ว่าจะฟื้นฟู Quad อีกครั้งหลังจากที่ถูกแช่แข็งมานับทศวรรษ

โดยมีเจ้าหน้าที่จากสี่ประเทศมารวมตัวกันนอกรอบการประชุมสุดยอดอาเซียนในกรุงมะนิลา

แล้วไบเดนล่ะ เขาทำอะไรเกี่ยวกับ Quad?

ทำเนียบขาวของไบเดนเดินหน้าด้วยการออก “สมุดปกขาว” ว่าด้วยยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกในเดือนกุมภาพันธ์ 2022

ซึ่งระบุว่า Quad เป็น "การจัดกลุ่มระดับภูมิภาคชั้นนำ" และในเอกสารนั้นมีการเอ่ยถึง Indo-Pacific ถึง 13 ครั้ง

The Quad จัดการประชุมสุดยอดผู้นำออนไลน์ครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2021

และเจอกับตัวเป็นๆ ที่วอชิงตันในช่วงเดือนกันยายนปีนั้น

นับตั้งแต่นั้นมา ประเทศต่างๆ ก็ได้ตกลงที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดแบบหมุนเวียน ตามลำดับของญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย

แต่ Quad ก็เจออาถรรพ์ทางการเมือง

การประชุมสุดยอดออสเตรเลียปี 2023 ถูกยกเลิกเพราะไบเดนต้องเร่งรีบเดินทางกลับวอชิงตันหลังจากการประชุมสุดยอดฮิโรชิมาของกลุ่มประเทศ G-7

เพราะเกิดวิกฤตด้านงบประมาณ ฟาดฟันระหว่างทำเนียบขาวกับพรรครีพับบลิกันในรัฐสภา

แผนการประชุมสุดยอดปี 2024 ก็ยังไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอินเดียตามคิวเดิม

เพราะมีการเลือกตั้งทั้งในสหรัฐฯ และอินเดีย

คำถามใหญ่ก็คือว่า ทรัมป์กับไบเดนจะแสดงความสนใจใน Quad แค่ไหนในการนำเสนอนโยบายต่อสาธารณชน

ผมไม่เชื่อว่าจะเป็นหัวข้อสำคัญ

แต่ก็อาจจะมีการกล่าวถึงโดยสองผู้สมัครเพื่อจะยืนยันว่าอเมริกายังเป็นพี่เบิ้มในเอเชีย

อย่างน้อยก็เพื่อจะแสดงให้คนอเมริกันเห็นว่าหากเลือกเขา สหรัฐฯ จะไม่ยอมถอยจากเอเชีย

เพราะไม่ต้องการให้จีนแซงหน้าสหรัฐฯ ในแง่ของอิทธิพลระดับโลก

แต่ Quad จะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของนโยบายต่างประเทศของทั้งสองค่าย

เรื่องใหญ่น่าจะเป็นนโยบายที่จะเปิดสงครามการค้ากับจีน

ทั้งไบเดนและทรัมป์คงต้องการจะแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนอย่างเต็มที่ในการหาเสียง

ถึงขั้นเกทับกันว่าใครจะเรียกเก็บภาษีสินค้าจีนเข้าสหรัฐฯ มากกว่ากัน

สี จิ้นผิง คงจะนั่งเฝ้าดูการดีเบตจากปักกิ่งด้วยความสนใจไม่น้อยไปกว่าผู้นำรัสเซียอย่างปูติน และหัวหน้าใหญ่ของเกาหลีเหนืออย่างคิม จองอึน

เพราะการต้องบริหารความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ภายใต้ไบเดนกับทรัมป์นั้น สำหรับสามประเทศนี้แล้วก็ต้องมีการปรับยุทธศาสตร์และท่าทีกันครั้งใหญ่เลยทีเดียว

ส่วนประเทศไทยจะต้องตระเตรียมอะไรอย่างไร คงเป็นหัวข้อที่เราต้องแกะรอยและวิเคราะห์กันต่อเนื่องจากนี้ไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ