ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 16)

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร)  การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี  แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า

และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่  8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ?             

การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ

หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์

สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก

สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา

สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล

และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ   “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน)  )

กล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490  เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม

ในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าถึง “เหยื่อการกวาดล้าง”  ไว้ในบทที่แปด และได้กล่าวถึง     การจับกุมพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร โอรสพระมหากษัตริย์  และ หลวงชำนาญยุทธศิลป์ จากนั้น สำราญ กาญจนสิทธิ์ ได้กล่าวต่อไปว่า     

“รัฐบาลสมัยนั้นถือโอกาสจับกุมบรรดาผู้สนิทชิดชอบญาติมิตรของ พ.อ. พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระยาทรงสรุเดชอีกหลายคน เช่น นายชะเอม ไชยสุต หัวหน้าแผนกกองทะเบียน กรมที่ดินและโลหกิจกระทรวงเกษตราธิการ ผู้ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในบ้าน พ.อ. พระยาฤทธิ์อัคเนย์  ร.อ. ชะลอ เอมะศิริ ผู้มีศักดิ์เป็นหลาน และเป็นนายทหารประจำการ ก็ถูกแหเผด็จการครอบคลุมให้เป็นกบฏไปด้วย

นายดาบ พวง พลนาวี พี่ชายคุณหญิงทรงสุรเดช ข้าราชการกรมรถไฟชั้นผู้น้อย ปราศจากอิทธิพลและไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรในการบ้านการเมืองแม้แต่เล็กน้อย ทำงานและดื่มสุราเท่านั้นที่บุคคลผู้เคราะห์ร้ายนี้ รู้จักปฏิบัติตลอดเวลา 24 ชั่วโมง  ยกเว้นนอนหลับ แต่ก็ไม่เว้นถูกจับกุมเป็นผู้ต้องหากบฏต่อแผ่นดิน และถูกประหารชีวิตพร้อมบุคคลอื่นอีก 17 ชีวิต

นายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบ ซึ่งถูกควบคุมตัวกลับที่ตั้ง ณ จังหวัดเชียงใหม่ หลายคนที่ถูกเชิญตัวมากักขังที่กลาโหม โดยถูกล่ามโซ่ใส่กุญแจมือจากที่ตั้งกรมกอง เชียงใหม่ โดยสารรถไฟมากรุงเทพฯ ตลอดระยะทางเป็นการกระทำแบบรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การจับกุมผู้ต้องหาคดีการเมือง

เพื่อสร้างให้คดีเกรียวกราวใหญ่หลวงต่อสายตาประชาชนยิ่งขึ้น รัฐบาลได้ประกาศให้สินบนนำจับ พ.อ. พระยาฤทธิ์อัคเนย์ มีมูลค่าถึงหนึ่งหมื่นบาท (เงินเดือนข้าราชการชั้นเอก ใน พ.ศ. 2481 เริ่มจาก 400-600 บาท ส่วนเงินเดือนข้าราชการ ซี 11 ขั้นสูงในปี พ.ศ. 2558 คือ 76,800 บาท /ผู้เขียน)

ประกาศให้สินบนจับฉบับนี้ เหมือนเป็นการโหมโรงตีกลองให้หนักแน่นอึงคะนึงต่อคดีกบฏยิ่งขึ้น ประชาชนผู้ไม่ทราบข้อเท็จจริง ก็ย่อมต้องเชื่อว่าเป็นความจริงตามรัฐบาลกล่าวหา แต่เนื้อแท้เป็นเพียงการโกหกกลางเมือง เพื่อก้าวไปสู่ความยิ่งใหญ่ของนายทหารก่อการชั้นผู้น้อย เป็นการทำลายล้างนายทหารก่อการชั้นผู้ใหญ่ให้สิ้น เป็นการข่มขวัญประชาชน นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์และข้าราชการบำนาญสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มิให้แสดงความคิดเห็นเป็นศัตรูต่อรัฐบาลเผด็จการ 

มันเป็นเสมือนคำสั่งเปรยออกมาจากผู้บริหารว่า ‘ประชาชนทั้งหลายจงนั่งนิ่งๆ อย่าได้บังอาจขัดขวางทางเดินของเรา ดูตัวอย่างพวกถูกจับทั้งหลายไว้’

เขาทั้งหลายผู้อ้างตนว่า เป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 นำระบอบการปกครองประชาธิปไตยมาให้ประชาชนชาวไทย  ได้รับสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน แต่กลับใช้อำนาจซึ่งแย่งชิงมาจากพระมหากษัตริย์ในการกดขี่ลิดรอนประชาชนหลายพรรค หลายกลุ่ม หลายชนชั้น

ควรหรือที่กรมตำรวจ อนุมัติให้ตำรวจสันติบาลใส่กุญแจมือ ล่ามโซ่ผู้ต้องหา---- ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์ และนายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบอีกหลายคน นำตัวมากรุงเทพฯโดยรถไฟด่วนสายเหนือปะปนกับฝูงชนทั่วไป”

ต่อไป ผู้เขียนจะขอข้ามมาบทที่สิบ อันเป็นบทที่ว่าด้วย “ยุคทมิฬ ศาลพิเศษ”

“กลุ่มเผด็จการในประเทศไทย ได้กวาดต้อนจับกุมบุคคลหลายหมู่หลายพรรค รวมกันกล่าวหาว่าเป็นกบฏ คิดทำลายล้างรัฐบาล โดยยัดเยียดความผิดฉกรรจ์ให้ บางคนเป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่เผอิญเกิดเป็นญาติเป็นมิตรกับบุคคลที่เขาถือว่าเป็นศัตรู จึงถูกรวบรัดให้เป็นกบฏไปด้วยอย่างน่าเวทนา

นักเผด็จการเสนอ พระราชบัญญัติ ศาลพิเศษ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรทันที เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2481 และขอให้สภาผู้แทนราษฎรประชุมพิจารณาพระราชบัญญัติฉบับนั้นเป็นระเบียบวาระแรก แสดงเจตนารุนแรง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1  ซึ่งราษฎรเลือกตั้งจำนวนมากแสดงความเห็นคัดค้านพระราชบัญญัติฉบับนั้น เพราะเห็นว่า ในระบอบประชาธิปไตยไม่ควรจะให้ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายตกอยู่ในมือผู้บริหารโดยเด็ดขาด อันจะทำให้เสียความยุติธรรมในการพิพากษาคดี     

หลักการสำคัญในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษคือ ให้สิทธิรัฐบาลตั้งกรรมการศาล จ่าศาล และอัยการศาลได้ตามแต่รัฐบาลจะแต่งตั้งบุคคลใดก็ได้  ให้ทำหน้าที่ฟ้องร้อง พิจารณาคดี และพิพากษาตัดสิน คำตัดสินของศาลพิเศษให้ถือเป็นเด็ดขาด ไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา และผู้ต้องหาหรือจำเลยจะจัดหาทนายช่วยแก้ต่างมิได้

การให้อำนาจศาลพิเศษอย่างมากมายล้นเหลือและเด็ดขาดเช่นนั้น ผู้รับมอบอำนาจคือ รัฐบาล กรรมการศาลจะกระทำการใดๆได้ทั้งสิ้น แม้ว่าจะผิดกระบวนความยุติธรรมของโลกนี้ เช่น จำเลยจะขอคัดสำนวนฟ้องเพื่อทราบความผิด จะได้คิดหาเหตุผลความจริง แถลงหักล้าง ก็กระทำมิได้ ถ้ากรรมการปฏิเสธ กรรมการจะไม่เชื่อฟังคำพยานจำเลย แม้ว่าจะมีเหตุผลหักล้าง พยานโจทก์แตกสิ้นเชิงก็ได้ ทั้ง ๆ ที่ธรรมดาสามัญชนเห็นว่า ปราศจากความจริง

โดยสรุปแล้ว กรรมการศาลพิเศษมีอำนาจสูงสุดและเด็ดขาดยิ่งกว่าอำนาจแอบโซลูด [1]

โดยในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ผู้เสนอให้ที่ประชุมฯพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษคือ น.อ. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญในฝ่ายของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)

มีผู้กล้าคัดค้านเพียง 3 คน และสามคนนั้น คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้ง ดังจะได้กล่าวถึงท่านทั้งสามนี้ในตอนต่อไป


[1] นายหนหวย” นักหนังสือพิมพ์ซึ่งมีชีวิตร่วมสมัยกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญๆ ของไทยตั้งแต่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 กล่าวถึงความรู้สึกรวมๆ ของบรรดานายสิบทั้งหลายว่า

... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1370            

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ