ปุ่มเอ๊ะ...ปุ่มโอ๊ย...ออกอาการ

รัฐบาลมีความพยายามที่จะระบายข้าวที่ตกค้างอยู่เป็นเวลา 10 ปี โดยมีการกินข้าวโชว์ว่า ข้าวค้างเก่า 10 ปียังเป็นข้าวคุณภาพดี ไม่ใช่ข้าวเน่า และยังมีคุณค่าทางโภชนาการ แม้จะมีสีเหลืองบ้าง ก็ไม่ใช่ปัญหา สามารถนำมากินได้ด้วยการซาวข้าว 15 ครั้งก่อนหุง เรื่องราวเหล่านี้เป็นที่กังขาของประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงมีเสียงเรียกร้องให้มีการทดสอบความปลอดภัยและคุณค่าทางโภชนาการของข้าวค้างเก่า 10 ปี รัฐบาลก็ทำตามข้อเรียกร้อง โดยการนำตัวอย่างข้าว 2 ถุง รวม 8 กิโลกรัม ไปให้หน่วยงานที่น่าเชื่อถือทำการทดสอบ ผลของการทดสอบที่ออกมา ทางหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทดสอบออกมาตอบว่าข้าวตัวอย่างที่ได้มานั้นไม่เน่าเสีย ไม่เป็นอันตราย และยังคงมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน แต่การกระทำดังกล่าวนั้นไม่ได้ทำให้ประชาชนมั่นใจแต่อย่างใด เพราะพวกเขาก็ยังมีข้อกังขาอยู่อีกหลายข้อ ที่จนป่านนี้ก็ไม่มีคำตอบ

ตัวอย่างข้าว 8 กิโลกรัมนั้นเอามาจากไหน ตอนไปเอามาทำไมไม่ให้มีสักขีพยานให้เห็นว่าข้าว 8 กิโลกรัมดังกล่าวนั้นเอามาจากกองข้าวค้างเก่า 10 ปี และในขณะเดียวกันการเอาข้าวมา 8 กิโลกรัมนั้น เอามาแบบเจาะจง (purposive sampling) หรือเป็นการสุ่ม (random sampling) และปริมาณข้าวหลายร้อยตันที่ค้างเก่ามา 10 ปี แล้วใช้ตัวอย่างในการทดสอบนั้น เป็นจำนวนมากพอที่จะเป็นตัวแทนของข้าวทั้งหมดได้หรือไม่ จากจำนวนทั้งหมดที่มี กับจำนวนตัวอย่างที่ใช้ในการทดสอบนั้น สร้างความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับใด 90% หรือ 95% หรือ 99% หรือจริงๆ แล้วความเชื่อมั่นมีไม่ถึง 10% การใช้หน่วยงานที่มีภาพลักษณ์ชื่อเสียงดี หวังที่จะสร้างความน่าเชื่อถือการทดสอบ กลับทำให้คนเคลือบแคลงหน่วยงานที่จะต้องทำการทดสอบภายใต้การกำกับของนักการเมือง

ไม่มีประชาชนจะมีความกังขาอะไร ทักท้วงอะไร มีคำถามอะไร รัฐบาลก็ไม่มีคำตอบ และเดินหน้าที่จะจัดให้มีการประมูลข้าวค้างเก่า 10 ปีต่อไป ท่ามกลางความกังวลของประชาชนว่าใครก็ตามที่ประมูลข้าวค้างเก่า 10 ปีไป เขาจะเอาไปทำอะไร เอาไปใส่ถุงขาย เอาไปแปรรูปเป็นอาหาร เช่น แปรรูปเป็นก๋วยเตี๋ยว เป็นขนมจีน เป็นเส้นหมี่ เป็นแป้งกรอบ หรือเป็นอาหารสัตว์ หรือเป็นแอลกอฮอล์ หรือเป็นเชื้อเพลิง แล้วเขาจะขายที่ไหน ขายในประเทศ หรือขายต่างประเทศ จะมีมาตรการอะไรที่จะกำหนดให้ผู้ที่ประมูลได้ไป แสดงข้อมูลบนตัวสินค้าให้ชัดเจนว่าสินค้าประเภทอาหาร ไม่ว่าจะเป็นข้าว หรือเป็นอาหารแปรรูป เป็นสินค้าที่มาจากข้าวค้างเก่า 10 ปี เพื่อให้เป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคที่จะตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้าดังกล่าวนั้นมาบริโภคหรือไม่

ในตอนที่รัฐบาลประกาศให้มีการประมูลข้าวค้างเก่า 10 ปีนั้น ประชาชนจำนวนหนึ่งคิดว่าไม่น่าจะมีใครมาประมูล เพราะเมื่อประมูลได้ไปแล้วจะเอาไปทำอะไร จะขายได้หรือ แต่ปรากฏว่าผิดคาด เพราะมีผู้เข้าร่วมประมูลมากถึง 8 ราย และเมื่อมีการประมูล ผู้ที่ชนะการประมูลให้ราคาข้าวค้างเก่า 10 ปีไปในราคามากถึงกว่า 280 ล้านบาท ทางรัฐบาลน่าจะพอใจที่สามารถระบายข้าวออกไปได้ เตรียมที่จะมีการต่อรองก่อนการเซ็นสัญญา เผื่อจะได้ราคาสูงขึ้นบ้าง ตอนนี้ก็รู้แล้วว่าราคาที่ได้นั้นไม่ต่ำกว่า 280 ล้านแน่ๆ แต่จะได้เพิ่มมากกว่านั้นหรือไม่ก็อยู่ที่การเจรจาต่อรอง

ทันทีที่รู้ว่าใครเป็นผู้ประมูลข้าวค้างเก่า 10 ปีไป นักสืบไซเบอร์ทำงานเร็วมาก พวกเขาไปหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่ประมูลได้ เป็นบริษัทที่อยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร มีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท มีรายได้ในปีที่ผ่านมา 2 ล้านบาทกว่าๆ มีกำไร 2 แสนบาท เมื่อข้อมูลนี้ปรากฏออกมา “ปุ่มเอ๊ะ” ของประชาชนก็ทำงานทันที บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนแค่ 2 ล้านบาท ทำไมถึงกล้าประมูลข้าวค้างเก่า 10 ปีในราคาที่สูงถึง 280 ล้าน ก็ไม่ได้กล่าวหาว่าร้ายอะไร แต่การที่ “ปุ่มเอ๊ะ” จะทำงานในการได้รับรู้เรื่องดังกล่าวนี้มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันขัดกับตรรกะธรรมชาติที่มีอยู่ในตัว มันทำให้รู้สึกว่ามันไม่ “สมจริง” การที่ “ปุ่มเอ๊ะ” ของประชาชนจะทำงาน แล้วตั้งข้อสงสัยอะไรบางอย่าง ก็คงจะห้ามได้ยาก เพราะมันขัดกับตรรกะที่หมายถึงความ “สมเหตุสมผล” ของคนหลายๆ คน

เมื่อ “ปุ่มเอ๊ะ” ของประชาชนทำงาน “ปุ่มเอ๊ะ” ของท่านรัฐมนตรีก็ทำงานเหมือนกัน เพราะท้ายก็ “เอ๊ะ” เหมือนกัน และท่านก็บอกว่าตอนนี้ยังไม่ได้เซ็นสัญญา ดังนั้นก่อนเซ็นก็ต้องมีการตรวจสอบให้ดี ถ้าหากว่ามีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลก็ต้องให้ผู้ที่เป็นที่ 2 ในการประมูลครั้งนี้เป็นผู้ชนะแทน พอท่านพูดอย่างนี้ “ปุ่มเอ๊ะ” ของประชาชน ก็ทำงานอีกครั้งหนึ่งว่า เอ๊ะรายที่ได้ที่ 2 นั้น เคยมาร่วมกิจกรรมกินข้าวโชว์กับท่านรัฐมนตรีหรือเปล่า ที่รู้สึก “เอ๊ะ” นี่ก็ไม่ได้กล่าวหาอะไรใครนะ เพียงแต่ “ปุ่มเอ๊ะ” มันไม่ยอมอยู่เฉย มันเกิดอาการขยันทำงานขึ้นมาตามธรรมชาติของคนอยากรู้อยากเห็น และอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในการบริหารบ้านเมืองเกิดขึ้นอย่างโปร่งใส ชัดเจน ไม่มีอะไรให้เคลือบแคลงและกังขา ก็คงได้แต่ “เอ๊ะ” แล้วก็เฉยไป เพราะทำอะไรไม่ได้

เมื่อมีการประมูลข้าวค้างเก่า 10 ปีไปแล้ว นอกจาก “ปุ่มเอ๊ะ” จะทำงานแล้ว “ปุ่มโอ๊ย” ก็ทำงานเหมือนกัน ด้วยความกังวลว่า “โอ๊ยตายแล้ว คนที่เขาประมูลได้ไป เขาจะเอาไปทำอะไร เขาจะเอาไปขายไหม เขาจะขายเป็นข้าว หรือขายเป็นสินค้าแปรรูป แล้วเขาจะขายที่ไหน ในประเทศหรือต่างประเทศ” คำถามเหล่านี้มันทำให้ “ปุ่มโอ๊ย” ทำงานหนัก มีเสียงเรียกร้องว่าสินค้าที่มาจากข้าวค้างเก่า 10 ปีนี้ ไม่ว่าจะขายเป็นข้าว หรือแปรรูปเป็นอาหารอื่น ขอให้มีข้อมูลระบุให้ชัดๆ ได้ไหมว่าเป็นสินค้าที่มาจากข้าวค้างเก่า 10 ปี เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจ

ตอนนี้มีข้อความปรากฏใน Social media แล้วว่าคนที่ไม่มั่นใจความปลอดภัยของข้าวค้างเก่า 10 ปีนี้ มีความไม่สบายใจที่จะซื้อข้าวถุงมาบริโภค และไม่อยากจะบริโภคสินค้าที่แปรรรูปมาจากข้าว ไม่ว่าจะเป็น ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน เส้นหมี่ และแป้งกรอบทั้งหลาย และไม่อยากบริโภคอาหารที่ทำมาจากแป้งข้าวเจ้า ไม่ว่าจะเป็นขนมหวานหรืออาหารชุบแป้งทอด ความกังวลแบบนี้จะส่งผลเสียกับอุตสาหกรรมอาหารที่มีวัตถุดิบเป็นข้าว เรื่องนี้ปลุก “ปุ่มโอ๊ย” ทั้งของผู้ซื้อและผู้ขาย 

แต่ “ปุ่มโอ๊ย” ไม่น่าจะเกิดเฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น เพราะต่างประเทศบางประเทศเขาก็ไม่มั่นใจความปลอดภัยข้าวค้างเก่า 10 ปีของไทยเหมือนกัน มีการออกข่าวโทรทัศน์ว่าจะต้องหาทางสกัดกั้นไม่ให้ข้าวค้างเก่า 10 ปีของไทยเล็ดลอดเข้าไปในประเทศของเขา ในขณะเดียวกันร้านอาหารไทยในต่างประเทศบางร้านก็ขึ้นป้ายหน้าร้านว่าร้านของเขาไม่ได้ใช้ข้าวไทย แต่ใช้ข้าวเวียดนาม เพื่อไม่ให้เสียลูกค้าที่อาจจะไม่สบายใจความปลอดภัยของข้าวจากประเทศไทย ไม่รู้ว่าการขายได้ 280 ล้าน กับการเกิด “ปุ่มโอ๊ย” ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่อาจจะกระเทือนภาพลักษณ์และอุตสาหกรรมข้าวไทย จะได้คุ้มเสียหรือไม่ เมื่อ “ปุ่มเอ๊ะ” และ “ปุ่มโอ๊ย” ทำงานเช่นนี้ มันก็ “ว้าวุ่น” กันไม่น้อยเลยนะ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มาเป็นชุด! 'ดร.เสรี' ฟาดคนโอหัง ความรู้ไม่มี ทักษะไม่มี ไร้ภาวะผู้นำ น่าสมเพชอย่างแท้จริง

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า เตือนก็แล้ว ตำหนิก็แล้ว ต่อว่าก็แล้ว เยาะเย้ยก็แล้ว ล้อเลียนก็แ

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม

จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!

ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก

ดร.เสรี ยกวาทะจัญไรแห่งปี 'เขาเว้นเกาะกูดให้เรา'

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า ประโยควาทะอัปรีย์จัญไรแห่งปี "เขาเว้นเกาะกูดให้เรา" แสดงว่าเขาเมตตาเราสินะ เราต้องขอบคุณเขา สำนึกบุญคุณเขาใช่ไหม