คดี ๑๑๒ ควรจบแบบไหน

เป็นความคิดที่ดี

"โบว์-ณัฏฐา มหัทธนา" นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว  พิธีกรรายการข่าว มีข้อเสนอที่น่าสนใจ

โพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียล

"...ถาม: ทำไมคดี ๑๑๒ จึงควรใช้ช่องทางการขอพระราชทานอภัยโทษ มากกว่านิรโทษกรรม?

ตอบ: เพราะเป็นคดีที่มีการหมิ่นเกียรติตัวบุคคลที่เป็นประมุขของรัฐอยู่ ปกติเวลาเราล่วงเกินใครก็ควรมีการ  'ขออภัย' กันมากกว่าจะใช้วิธี 'ลบโทษ' เอาเลย

เป็นโอกาสให้ผู้กระทำได้แสดงความสำนึกผิด ผู้คนที่รู้สึกเดือดร้อนจากการกระทำเหล่านั้นเขาจะได้คลายความโกรธเคืองลงไปด้วย ต้องยอมรับว่าหลายคนกระทำรุนแรงมากและยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดจนถึงวันนี้

เสนอลบโทษให้เฉยๆ คงไม่มีใครสบายใจ นอกจากคนที่เห็นดีเห็นงามกับการกระทำเหล่านั้นตลอดมา..."

หลักการนี้มิใช้ได้เฉพาะกับพระมหากษัตริย์

กับชาวบ้านธรรมดา ก็ควรนำมาใช้เช่นกัน เพราะเป็นสารตั้งต้นนำไปสู่การปรองดอง สมานฉันท์อย่างแท้จริง

เพราะคนที่รู้สึกผิด และแสดงความขอโทษ คือคนที่หมดสิ้นซึ่งความอาฆาตมาดร้าย เลิกผูกพยาบาท เลิกตั้งตนเป็นศัตรู

ที่สำคัญรู้ซึ้งแล้วว่าข้อมูลข่าวสารที่ตนได้รับนั้น ผิดพลาด บิดเบือน

ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

และสำคัญที่สุด วิธีนี้จะไม่สร้างความขัดแย้งเพิ่ม

ต่างกับการนิรโทษกรรมอย่างสิ้นเชิง

เพราะการนิรโทษกรรมไม่ได้อยู่บนพื้นฐานแห่งการสำนึกผิด กลับมุ่งเพียงแก้ไขปัญหาการเมืองให้คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

การนิรโทษกรรม ในกฎหมายอาญา คือ การลบล้างการกระทำความผิดอาญาที่บุคคลได้กระทำมาแล้ว โดยมีกฎหมายที่ออกภายหลังการกระทำผิดกำหนดให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด

ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด

ฉะนั้นการนิรโทษกรรมในแง่กฎหมายแล้วเท่ากับผู้นั้นไม่เคยทำความผิดมาก่อน

บริสุทธิ์ผุดผ่อง

แต่สำนึกหรือไม่เป็นอีกเรื่อง

การนิรโทษกรรมจึงมิได้แก้ปัญหาความขัดแย้งได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะการล้างผิดโดยมิได้สำนึกผิด  ผู้กระทำความผิดย่อมพร้อมที่จะกลับมาทำความผิดได้ตลอดเวลา

เช่นกรณีการนิรโทษกรรม ม.๑๑๒ ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่า คนอย่าง เพนกวิน รุ้ง อานนท์ ฯลฯ จะไม่กลับมาทำความผิดเดิมซ้ำ เพราะเป้าหมายของคนกลุ่มนี้มีความชัดเจนมาแต่ไหนแต่ไร

เว้นเสียแต่ว่าสำนึกผิดแล้วว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นไม่ถูกต้อง

ฉะนั้นเมื่อเปรียบกับการขอพระราชทานอภัยโทษจึงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

"อภัยโทษ" มีหลักการที่ค่อนข้างชัดเจน เป็นราชประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณกาล

ดังความที่ปรากฏในพระไตรปิฎกในหลายตอน อาทิ อรรถกถาปัพพตูปัตถรชาดก ซึ่งเป็นตอนที่พระเจ้าโกสลได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อขอคำแนะนำว่าจะทำอย่างไรกับอำมาตย์ของพระองค์ที่กระทำความผิด

พระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้พระเจ้าโกสลทราบว่า อดีตกษัตริย์ในอินเดีย คือ พระเจ้าพรหมทัตซึ่งครองราชสมบัติกรุงพาราณสีได้พระราชทานอภัยโทษแก่อำมาตย์ที่เป็นชู้กับหญิงของพระองค์มาแล้ว ซึ่งทำให้พระเจ้าโกสลตัดสินพระทัยในการพระราชทานอภัยโทษแก่อำมาตย์ของพระองค์เช่นกัน 

อังคุลิมาลสูตร ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคพุทธกาล เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลกษัตริย์แคว้นโกศลได้นำกองกำลังทหารม้าจำนวน ๕๐๐ ออกตามจับโจรองคุลิมาลที่เที่ยวเข่นฆ่าประชาชน แล้วเอานิ้วมือผู้เคราะห์ร้ายมาร้อยเป็นพวงมาลัยสวมใส่ แต่กลับพบว่าองคุลิมาลได้ออกบวชในพุทธศาสนาแล้ว 

พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า หากโจรร้ายสำนึกความผิดและกลับใจมาเป็นผู้ถือศีลแล้วจะดำเนินการอย่างไรกับโจรร้ายนั้น 

พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ตรัสตอบพระพุทธเจ้าว่าจะพระราชทานอภัยโทษแก่องคุลิมาล

อุดมคติในทางพุทธศาสนา พระราชาคู่กับทศพิธราชธรรม ที่พระราชาทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ในการปกครองบ้านเมือง 

เป็นการปกครองโดยธรรมอันจะนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ประชาชน โดยอภัยโทษ เป็นอภัยทาน จัดว่าเป็น ทาน อย่างหนึ่งซึ่งเป็นทศพิธราชธรรมข้อแรกของพระราชา

ต่อมา ภายหลังแนวความคิดเกี่ยวกับธรรมราชาได้แพร่จากอินเดียเข้าสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ในยุคราชอาณาจักรสุโขทัย ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘

ยุครัตนโกสินทร์ แนวคิดธรรมราชาดูเหมือนจะมีบทบาทที่สำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมาในยุคราชอาณาจักรอยุธยา พระมหากษัตริย์มีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงราษฎรเป็นอย่างมาก 

อาทิ รัชกาลที่ ๓ ทรงเห็นว่านักโทษที่ก่ออาชญากรรมต่างๆ ปล้นทรัพย์ สูบฝิ่น หรือดื่มสุรา เป็นผู้เหยียบย่างบนทางที่นำไปสู่นรกในภพหน้า

พระองค์มีน้ำพระราชหฤทัยเปี่ยมไปด้วยพระเมตตากรุณา จึงให้มีการเทศนาสั่งสอนหลักธรรมในพุทธศาสนา  ซึ่งหากนักโทษสามารถปรับปรุงแก้ไขตนเองได้ ก็จะได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้วรับไว้เป็นขุนนางในราชสำนัก

การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่จะทรงพระกรุณาตามที่จะทรงเห็นสมควร

ประเทศที่ใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่าง อังกฤษและไทย มีแนวคิดพื้นฐานเดียวกันคือ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่มาแห่งความยุติธรรม (The king is the foundation of justice)

พระมหากษัตริย์ก็ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจสูงสุดในการอภัยโทษชนิดที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มี “พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา พ.ศ. ๒๔๕๗”

เรียกว่า การพระราชทานพระมหากรุณาลดหย่อนผ่อนโทษ

รัชกาลที่ ๖ นี้เองที่ทรงประกาศเลิกปลดปล่อยนักโทษในโอกาสพิธีบรมราชาภิเษก

และยังได้ตรา พระราชกำหนดพระราชอภัยโทษ  พ.ศ. ๒๔๕๙ ขึ้นมาใช้เป็นหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับใช้พิจารณาอภัยโทษให้เป็นที่ชัดเจนแน่นอนลงไป เป็นที่รับรู้และถือปฏิบัติของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจนในการถือปฏิบัติ

แต่ก็ถือว่าเป็นพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายด้วยพระองค์เองอยู่

ปัจจุบัน เงื่อนไขและหลักเกณฑ์การขอรับพระราชทานอภัยโทษเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจได้ต่อเมื่อมีผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมขึ้นไปเท่านั้น  

ซึ่งต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการด้วย คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ปัจจุบันมีผู้ก่อความผิดคดี ม.๑๑๒ จำนวนมาก หากทุกคนสำนึกในความผิดจริง ก็สมควรที่จะใช้วิธีขอพระราชทานอภัยโทษ

ผลที่ได้จะลดความขัดแย้งในสังคมได้มาก

แต่หากยืนกรานจะใช้วิธี ออกกฎหมายนิรโทษกรร ม.๑๑๒ ผลที่ได้คือจุดเริ่มต้นความขัดแย้งรอบใหม่

มนุษย์ผู้เจริญแล้วต่างรู้ดีว่าต้องเลือกวิธีไหน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สิ้นมนตร์ขลัง ๗๕ ปี

เลือก สว.ครั้งนี้คนเดือดร้อนที่สุด ไม่ใช่คนที่สอบตก แต่เป็น "นักโทษชายทักษิณ"

คิดถึง สว.ลากตั้ง

ก็เรียบร้อยกันไป... เห็นหน้าเห็นตากันไปแล้วนะครับ สำหรับ ๒๐๐ สว. ที่มาจากการเลือกกันเอง และเลือกไขว้ สารภาพตามตรงว่า...เกือบทั้งหมด ไม่รู้จัก

แผน 'ล้าง' ก้าวไกล?

ข่าวล่า มาไว ตามแทบไม่ทัน ก็เรื่องที่ว่าพรรคเพื่อไทยตั้งธงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัด สส.ปาร์ตี้ลิสต์ ออกจากสารบบ เพื่อขวางก้าวไกลไม่ให้ชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

ครบ ๙๒ ปีชิงอำนาจ

๒๔ มิถุนายน บรรจบมาอีกครั้ง ครบรอบวันเปลี่ยนแปลงการปกครองทีไร ต้องนึกถึง หนังสือ "เบื้องแรกประชาธิปตัย"