รัฐไทยทำอะไรเพื่อปกป้อง ธุรกิจไทยที่กำลังแพ้ทุนยักษ์จีน?

ผู้คนยังรอว่ารัฐบาลจะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมอย่างไรในการปกป้องธุรกิจของไทยทั้งใหญ่, กลาง, เล็ก จากกระแสทุนจีนที่ถาโถมเข้ามายึดครองส่วนแบ่งตลาดในไทยมากขึ้น

จนกลายเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวมากขึ้นทุกวัน

ไม่ใช่เพียงแค่นักธุรกิจรายกลางๆ และเล็กๆ ที่มีอำนาจต่อรองน้อยเท่านั้นที่กำลังเผชิญกับสภาพการณ์ที่น่ากังวลเช่นนี้ แม้องค์กรธุรกิจยักษ์หลายแห่งก็เริ่มเจอกับการแข่งขันจากจีนที่ยิ่งวันยิ่งจะรุนแรงขึ้นทุกที

นักบริหารของธุรกิจใหญ่แห่งหนึ่งบอกผมว่ายอดขายสินค้าออนไลน์ในตลาดไทยพุ่งสูงขึ้นจนแซงหน้ายอดขายของห้างใหญ่ๆ ของไทยรวมกันแล้วด้วยซ้ำ

เพราะจีนมียุทธศาสตร์ประสานของทั้งการผลิต, การตั้งราคา, การขนส่ง และระบบการจ่ายเงินที่สะดวกรวดเร็วและดึงดูดผู้บริโภคไทยอย่างสูง

นี่มิใช่เพียงแค่ปัญหาของไทยอย่างเดียว หากแต่ยังกระทบหลายประเทศแม้อเมริกาและยุโรปก็เริ่มร้องเรียนว่าจีนผลิตสินค้าล้นเกินในประเทศ

เพราะการผลิตที่เกินความต้องการในประเทศอย่างสูง ประกอบกับอำนาจซื้อในประเทศจีนต่ำลง ก็ทำให้อุตสาหกรรมจีนเทขายสินค้าเกินความต้องการในประเทศไปต่างประเทศอย่างหนัก

จีนปฏิเสธว่านั่นเป็น “แผนทำลายตลาดต่างประเทศ” หากแต่เป็นปรากฏการณ์ปกติที่ทั่วโลกต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

หากเป็นเช่นนั้นคำถามคือ ประเทศไทยเรามีความสามารถในการปรับตัวให้ทันกับสภาพเช่นนี้หรือไม่

ประสบการณ์จริงของประเทศไทยมีให้ได้ยินได้อ่านกันกว้างขวางมากขึ้น

วันก่อน ผมอ่านพบคุณ Anit Osathanugrah (อนิศ โอสถานุเคราะห์) เขียนเล่าในเฟซบุ๊กอย่างน่าสนใจว่า

ตอนนี้ไปไหน ก็มีแต่คนบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี ยอดขายตก แต่ในหลายเดือนที่ผ่านมาได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมหลายบริษัทที่เจริญเอ๊า เจริญเอา  ยอดบิลลิ่งต่อปีหลักหลายร้อยล้านนี่คือเรื่องเด็กๆ  แต่หลักพันล้าน ยันหลักหมื่นล้าน นี่ก็เพียบ

แถมเป็นบริษัทที่บางทีไม่เคยได้ยินชื่ิอด้วยซ้ำ 

ทุกที่พบว่าเขายึดเรื่องออนไลน์ของประเทศเราไว้หมดแล้ว คนไทยเป็นแค่ลูกจ้าง หรือกินค่าคอมฯ เล็กๆ น้อยๆ

ในการสนทนา ผมพบว่าตอนนี้เส้นทางเศรษฐกิจหลักๆ ของประเทศไทยนั้นอยู่ในมือจีนเรียบร้อย 

ไม่ว่าคุณจะขายอะไร คุณต้องลง Shopee, Lazada ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คือจีน  

ไม่ว่าคุณจะขายอะไร ชั่วโมงนี้ต้องลง TikTok อันนี้จีนแท้ 100% และต้องทำตามกฎเขาทุกอย่าง 

ถ้า AI ไม่พอใจคือช่องปลิว เขาจะจ่ายช้าจ่ายเร็ว จะขึ้นเปอร์เซ็นต์ค่าผ่านทาง ค่าต๋ง อย่างไร ไม่มีสิทธิหือ 

รัฐบาลไทยอยากขึ้น VAT จาก 7% เป็น 8 เป็น 9 โดนด่ายับ ยี่สิบปียังทำไม่ได้ 

Shopee หรือ TikTok ขึ้นต๋งพรวดๆ ไม่กี่เดือน จะเท่า vat ของไทยแล้ว ในอนาคตคงขึ้นมากกว่านี้

ไม่มีใครกล้าหือ ก้มหน้าทำงานรับใช้ จ่ายต๋งให้เขาต่อ 

พูดง่ายๆ ใช้ชีวิตอยู่บนผืนดินไทย จ่ายภาษี ค่าอยู่กินใช้ถนนให้รัฐบาลไทย แต่ถ้าทำมาหากิน เดี๋ยวนี้ทุกอย่างอยู่ในออนไลน์ ต้องจ่ายต๋งให้บริษัทจีน ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

ของที่สั่งมาขายก็จากจีน เสื้อผ้า ของใช้ต่างๆ กาน้ำ เก้าอี้ ฯลฯ ทุกอย่างจีน โปรโมตในแพลตฟอร์มของจีน เช่น TikTok หรือขายใน Shopee, Lazada

ทุกวันนี้ก็มีแค่นี้ที่ใหญ่ๆ ของจีน ขนส่งโดยบริษัทข้ามชาติต่างๆ ดูไส้ในดีๆ ก็จีนถือหุ้นเพียบ หรือไม่ก็ยุโรป สิงคโปร์ เงินก็ไม่ใช่ไทยอยู่ดี

เหลือแค่ไปรษณีย์ไทย ที่ไทยแท้ ยืนโต้ลมอยู่เดียวดาย 

ร้านรวง ตามแหล่งชุมชนใหญ่ๆ จีนยึดหมดแล้ว

รัฐบาลไทย อย่าไปฝัน ทำอะไรไม่ได้แม้แต่นิด มัวแต่เล่นการเมืองกันมา 20 ปี ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย

ผมไม่ได้ปฏิเสธการมาของทุนจีนเพราะห้ามไม่ได้ เงินจะเข้ามา และส่วนตัวเป็น local partner ของบริษัทจีนยักษ์ใหญ่ด้วยซ้ำ

แต่สิ่งที่ผมทำคือเอาของจากบ้านเราไปขายเขา คือเอาจากเล็กไปลุยใหญ่ ไม่ใช่ไปสนับสนุนใหญ่มากินเล็ก 

ที่ผ่านมายอมรับว่าโครงสร้างทางกฎหมายของจีนเขาเข้มงวดมาก การเอาของบ้านเราไปลุยเขาติดอุปสรรคทางกฎหมายมากมาย กว่าจะเข้าไปได้ 

แต่กฎหมายบ้านเรา ดันเอื้อให้เขามาได้เปรียบเรา ชนะคนไทยอีกต่างหาก  

แม่ค้าถึงออกมาบ่นว่า โดนจีนตีตายเรียบ

ในอนาคต การขายของ น่าจะพึ่งพาออนไลน์แทบทั้งหมด

เราจะถูกเขาคอนโทรลแบบ 100% ใครซ่า เขาปิดรีชใส่ทีนึง อีกไม่กี่วันเตรียมตัวล้มละลายได้ 

คนจีนเขาเอื้อกัน หลายบริษัทใหญ่ ที่ชนะตลาดไทยเพราะเขานั่งกินน้ำชา แบ่งหุ้นให้แพลตฟอร์ม เปิดรีชให้คนเห็นทั้งประเทศง่ายๆ 

ถ้าคนไทยอยากเปิดรีชให้คนเห็น ต้องจ่ายเงินยิงแอดให้เขาอย่างเดียว 

เราไม่มีแพลตฟอร์มของตัวเอง และถึงจะทำก็ไม่น่าทันแล้ว ยกเว้นรัฐบาลมาทำ ซึ่งฟังแล้วก็อย่าทะลึ่งทำเลย คงละลายหายไปกับสายลม แบบเปิดเล่นจริงไม่ได้

และมีความเห็นเสริมจากประสบการณ์จริงจาก คุณ Sakolkorn Sakavee หรือ “สกลกรย์ สระกวี” ที่เล่าว่า

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมกังวลมาตลอด และสิ่งนี้ผมเรียกว่า "เมืองขึ้นทางเทคโนโลยี" เราถูกแทรกซึมมานานแล้ว หลายปีที่ผ่านมา รัฐไทยไม่เคยกังวล ไม่เคยสงสัย และไม่เคยเตรียมการใดๆ  

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ จากธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของผมนี่แหละ

เวลา List เหรียญไทย ในกระดาน Exchange ไทยเหรอ "ยาก!!"

เวลา List เหรียญต่างประเทศในกระดาน Exchange ไทยเหรอ "ง่าย!!" แต่ต้องเป็นประเภทเหรียญที่ กลต.ไม่ห้ามนะ"

เวลา List เหรียญต่างประเทศในกระดาน Broker ไทย ที่ไปเชื่อมกับกระดานต่างประเทศ "ยิ่งโคตรง่าย"

อยาก List เหรียญ MEME ก็ได้ไม่ห้าม

เห็นตัวอย่างนี้แล้ว คงพอจะเข้าใจภาพใหญ่ได้ว่า รัฐมักจะมองข้ามบริษัทในไทย และไม่เคยมีสิทธิพิเศษ หรือปกป้องบริษัทในประเทศ

รัฐเราไม่เคยมองแผนการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศทางด้านเทคโนโลยีเลย

รัฐเรามีแต่ Welcome ทำได้ทุกอย่าง เรามี Platform คนไทย ไม่ใช่แค่ Bitkub แต่ถูกกำกับทุกทาง ต่างกับ Platform ต่างประเทศที่มักจะอิสระทำอะไรก็ได้กับคนไทย

แล้วมันผ่านมาหลายปี จนตอนนี้เรากำลังจะเข้าสู่ยุค AI อยู่ในยุค Imagination Age เรากำลังจะปล่อยมันผ่านไปอีกจริงๆ เหรอ

หรือเราควรจะกลับมามองแล้วว่า เราจะตกเป็นเมืองขึ้นอีกต่อไป หรือเราควรจะกลับมาสู้ โดยเริ่มจาก "ค่ายบางระจัน?” ที่อาจจะเป็น Platform ใด หรือระบบ AI ใดของรัฐและเอกชนไทยร่วมกันสร้าง โดยให้สิทธิพิเศษบางอย่าง หรือทุ่มเงินทุน เพื่อทำให้เราไม่ตกเป็นเมืองขึ้นไปมากกว่านี้ 

นี่คือสิ่งที่รัฐควรจะต้องเริ่มได้แล้ว ยังไม่สายจนเกินไป

ผมคงไม่ต้องเติมเสริมอะไรจากความเห็นของคนที่อยู่ในวงการจริงและเจอกับ “ความจริงน่าเจ็บปวด” นี้ทุกวัน!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021