พงศาวดาร “มหาวงศ์” บันทึกไว้ว่าเจ้าชายวิชัยจากอาณาจักรสิงหปุระในอนุทวีปอินเดีย เดินทางพร้อมทหารและผู้ติดตามประมาณ 700 คน ถึงลังกาทวีปเมื่อ พ.ศ.1 หรือปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานตามการนับแบบศรีลังกา
พระเจ้าวิชัยปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักร “ราชรตะ” สถาปนา “ทัมบาปันนี” เป็นเมืองหลวงแห่งแรก ปัจจุบันคือเมืองปุตตาลัม ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลตะวันตก ห่างจากกรุงโคลัมโบขึ้นไปทางเหนือประมาณ 140 กิโลเมตร
หลังการสวรรคตของพระเจ้าวิชัย ปุโรหิตนาม “อุปติสสะ” สำเร็จราชการอยู่ 1 ปี และได้ย้ายเมืองหลวงขึ้นเหนือไปประมาณ 12 กิโลเมตร ตั้งชื่อว่า “อุปติสสะ นวาระ” แต่ผ่านไปอีก 3 รัชกาลก็ย้ายเมืองหลวงอีกครั้ง ตั้งราชธานีชื่อ “อนุราธปุระ” คราวนี้มีอายุยาวนานถึงกว่า 1,300 ปี
สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จักรพรรดิผู้เกรียงไกรแห่งชมพูทวีป ได้ส่ง “พระมหินทเถระ” พระราชโอรสที่อุปสมบทเป็นพระภิกษุมาเผยแผ่พุทธศาสนาในลังกาทวีป สถานที่ที่พระมหินทเถระแสดงธรรมจน “พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ” พระมหากษัตริย์แห่งราชรตะทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและประกาศเป็นพุทธมามกะ มีชื่อเรียกในปัจจุบันว่า “มหินทเล” เรียกได้ว่าเป็นจุดกำเนิดพระพุทธศาสนาในศรีลังกา อยู่ห่างจากตัวเมืองอนุราธปุระไปทางทิศตะวันออกประมาณ 10 กิโลเมตรสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จักรพรรดิผู้เกรียงไกรแห่งชมพูทวีป ได้ส่ง “พระมหินทเถระ” พระราชโอรสที่อุปสมบทเป็นพระภิกษุมาเผยแผ่พุทธศาสนาในลังกาทวีป สถานที่ที่พระมหินทเถระแสดงธรรมจน “พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ” พระมหากษัตริย์แห่งราชรตะทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและประกาศเป็นพุทธมามกะ มีชื่อเรียกในปัจจุบันว่า “มหินทเล” เรียกได้ว่าเป็นจุดกำเนิดพระพุทธศาสนาในศรีลังกา อยู่ห่างจากตัวเมืองอนุราธปุระไปทางทิศตะวันออกประมาณ 10 กิโลเมตร
ในอดีตอนุราธปุระถูกรุกรานโดยอาณาจักรใหญ่จากอินเดียอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะ “โจฬะ” จนต้องย้ายเมืองหลวงไปยัง “โปลอนนารุวะ” เมื่อ พ.ศ.1599 ทำให้อนุราธปุระถูกทิ้งร้างเป็นเวลานานจนกลุ่มโบราณสถานต่างๆ ถูกปกคลุมด้วยป่าทึบ กระทั่งอังกฤษเข้ามายึดศรีลังกาเป็นอาณานิคมเบ็ดเสร็จเมื่อ พ.ศ.2358 มีการสำรวจ ขุดค้น และบูรณะเมืองโบราณอนุราธปุระขึ้น โดยช่วงเวลาสำคัญตกอยู่ระหว่าง พ.ศ.2427-2429 โดยการนำของ “สตีเฟน เบอร์โรว์ส์” ข้าราชการอังกฤษที่ประจำการในศรีลังกา เมื่อทุกอย่างกลับมามีสภาพดีเข้าที่เข้าทาง อนุราธปุระก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก เมื่อ พ.ศ.2525
เมืองโบราณอนุราธปุระ หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Anuradhapura Sacred City ไม่ใช้คำว่า Ancient City เพราะมีความเป็นศาสนสถานมากกว่าเป็นพระราชวัง พื้นที่ของเมืองโบราณมีขนาดกว้างขวาง 40 ตารางกิโลเมตร มีโบราณสถานสำคัญอย่างน้อย 20 แห่งให้สักการะชื่นชม ผมจึงเหมาตุ๊กๆ 1 วัน นำชมวัดวาตามคำแนะนำของมิสเตอร์เสนาผู้เป็นเจ้าของรีสอร์ต
ผมใช้เวลาช่วงเช้ากับการเดินเล่นในอนุราธปุระเมืองใหม่ หามื้อเช้า และโดยเฉพาะหากาแฟดื่มนานไปหน่อย กว่าจะพร้อมก็เกือบ 11 โมง จนคุณน้าวสันตรา คนขับตุ๊กๆ โทร.มาเร่ง และขับตุ๊กๆ มารอที่หน้ารีสอร์ต
ตามที่ได้เคยบอกไปว่าการหากาแฟสดดื่มในศรีลังกาไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย โดยเฉพาะเมืองขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง ผมจำต้องดื่ม “กาแฟผสมสำเร็จรูป” ยี่ห้อ “เนสที” ซึ่งก็คือ “เนสกาแฟ” ในร้านเบเกอรี่แห่งหนึ่ง เป็นกาแฟกดจากเครื่องที่ชงไว้แล้ว เหมือนกดน้ำผลไม้จากถังหรือโถยามกินอาหารเช้าในโรงแรม แต่คนกดคือพนักงานของร้าน ได้กาแฟรสชาติหวานๆ มันๆ อุดมไปด้วยน้ำตาลและครีมเทียม
กลับถึงรีสอร์ต “อันจู” ผู้ช่วยของมิสเตอร์เสนาเตรียมกาแฟดำสำเร็จรูปไว้ให้ ซดไปอีกแก้ว รู้สึกดีกว่ากาแฟหวานในร้านเบเกอรี่หลายเท่า
ผมนุ่งกางเกงยีนส์ เสื้อยืด และสวมรองเท้าแตะ ถามมิสเตอร์เสนาว่าเหมาะสมหรือไม่กับการเข้าสักการะวัดวา แกตอบว่าถูกต้องเหมาะสมแล้ว โดยเฉพาะรองเท้าแตะ เพราะผมจะต้องถอดวางก่อนเข้าสถานที่นับครั้งไม่ถ้วน แต่ความจริงที่ต้องเผชิญในเวลาไม่นานต่อมาต้องบอกว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง
สำหรับค่าตุ๊กๆ ทัวร์เมืองโบราณ น้าวสันตราคิด 3,000 รูปี หากจะไปมหินทเลต่อก็คิดอีก 2,500 รูปี รวมเป็น 5,500 รูปี ส่วนตั๋วเข้าชมเมืองโบราณ (สำหรับชาวต่างชาติ) ราคา 5,250 รูปี หรือ 25 เหรียญฯ ซึ่งนักท่องเที่ยวบ่นกันมาก รู้สึกว่าราคาแพงไปหน่อย ก่อนหน้านี้ไม่นานราคาแค่ 3,200 รูปี
นี่เป็นสาเหตุให้ตุ๊กๆ หัวใสจำนวนมากใช้เป็นข้อต่อรอง สิ่งที่จะอธิบายให้ฟังนี้ผมมาศึกษา ประมวล และตั้งข้อสังเกตในภายหลัง
คนขับตุ๊กๆ คุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวแบบแบ็กแพ็ก รู้ว่ามีงบจำกัด หรือบางคนมีเงินมากพอ แต่ก็มีการตั้งงบในการท่องเที่ยวแต่ละทริป แต่ละเมือง หรือแต่ละวัน อีกทั้งพวกเขารู้ดีว่าในอินเทอร์เน็ตมีการนำเสนอกลอุบายในการชมเมืองโบราณโดยไม่ต้องจ่ายเงินซื้อตั๋ว แค่ลองเสิร์ชคำว่า Anuradhapura Ticket แทนที่จะได้เรื่องตั๋วกลับได้ข้อมูลการใช้เล่ห์เหลี่ยมกลลวงเสียเป็นส่วนใหญ่ นำหน้ามาโดยพวกบล็อกเกอร์ชาวรัสเซียที่ช่างไม่มีความเหนียมอายเอาเสียเลย
ในความคิดของเหล่าคนขับตุ๊กๆ หากนักท่องเที่ยวจ่ายเงินซื้อตั๋วเสีย 5 พันกว่ารูปีแล้วก็อาจจะไม่ค่อยอยากเสียค่าบริการเหมาตุ๊กๆ อีก พวกเขาจึงนำเสนอการทัวร์เมืองโบราณโดยไม่ต้องซื้อตั๋ว โดยอ้างว่าพวกเขารู้จักกับเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบ ซึ่งเข้าใจว่ามีการให้สินน้ำใจกันบ้างเล็กๆ น้อยๆ สมประโยชน์ทั้งผู้ให้และผู้รับ แต่เงินในการบำรุงรักษาโบราณสถานรั่วไหลชัดเจน และในความเป็นจริงมีการเรียกตรวจตั๋วน้อยมาก แต่จะสุ่มตรวจนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้เดินทางกับตุ๊กๆ บ่อยกว่า นอกจากนี้ในจุดหรือสถานที่ที่มีการตรวจค่อนข้างบ่อย หรือสินน้ำใจไม่ทำงาน พวกเขาก็ไม่พาเราไป เนื่องจากมีวัดและโบราณสถานอื่นๆ อยู่เยอะมาก จนนักท่องเที่ยวไม่รู้ว่าต้องไปหรือควรไปที่ไหนบ้าง หากไม่ทำการบ้านมาอย่างดี
คนขับตุ๊กๆ บางคนมีตั๋วอยู่ในมือด้วยซ้ำ และเป็นตั๋วที่ยังไม่ได้ใช้ นั่นก็คือเป็นตั๋วที่อาจลงทุนซื้อไว้จริง หรือนำมาจากนักท่องเที่ยว บอกว่าเก็บไว้ให้เมื่อต้องใช้ผ่านด่านหรือแสดงต่อเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อไม่มีการตรวจ ก็ไม่มีการฉีกตั๋ว ตอนหลังก็ไม่ได้คืนแก่นักท่องเที่ยว หากนักท่องเที่ยวคนใหม่ตัดสินใจซื้อ เขาก็ได้เงิน หากไม่ซื้อเขาก็ยังได้ค่าเหมาตุ๊กๆ อยู่ดี และเก็บตั๋วนั้นไว้ใช้ในโอกาสต่อไป จากนั้นก็หาช่องเสนอทัวร์อื่นๆ เนื่องจากนักท่องเที่ยวคนนั้นๆ มีเงินเหลือจากการไม่ต้องซื้อตั๋ว อีกทั้งยังสามารถสร้างความสนิทสนมได้ด้วย ทำนองว่าคุณน้าตุ๊กๆ แกช่างแนะนำสิ่งดีๆ อะไรเช่นนี้
สำหรับตัวผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตั๋วทัวร์เมืองโบราณมีขายเฉพาะที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีอนุราธปุระ (Archaeological Museum, Anuradhapura) เท่านั้น ตั้งอยู่ภายในเขตเมืองโบราณ มารู้ก็ตอนค้นหาในภายหลังจากเว็บไซต์ asianwanderlust.com เว็บไซต์นี้เขียนข้อมูลและให้คำแนะนำท่องเที่ยวเอเชียไว้ได้ดีมาก แม้จะไม่ครบทุกประเทศก็ตาม
เขียนมาถึงตรงนี้ผมก็ต้องรับสารภาพตามตรงว่า ยอมพ่ายให้กับคุณน้าวสันตราแกโดยดุษฎี สาเหตุสำคัญ หนึ่ง คือติดความไม่กล้าขัดใจผู้อาวุโส และสอง ผมไม่รู้ว่าจุดซื้อตั๋วอยู่ตรงไหน แกได้แต่พร่ำว่า “แพงมาก ซื้อทำไม” ทำให้เห็นเหมือนว่าหวังดี โดยคาดหมายว่าผมจะตัดสินใจไปมหินทเลในตอนเย็นได้ง่ายขึ้น เพราะนั่นต้องจ่ายอีก 2,500 รูปี (ให้แก) จ่ายค่าเข้าอีก 1,000 รูปี และค่าไกด์อีก แล้วแต่ว่าจะเผชิญและเลือกแบบไหน
แกคงคิดว่าผมตั้งงบในการเที่ยวเหมือนเช่นแบ็กแพ็กเกอร์ทั่วไป ความจริงผมไม่เคยตั้งงบเลยสักครั้ง และความจริงของความจริงก็คือตังค์ไม่ค่อยมี ตั้งไปก็ไร้ประโยชน์ (ฮ่าๆ)
หากย้อนเวลากลับไปได้ ผมจะหาเช่ามอเตอร์ไซค์หรือจักรยาน (ตุ๊กๆ ให้เช่าก็มีแต่ไม่กล้าขับ) แล้วศึกษาข้อมูลที่ตั้งของแต่ละโบราณสถานให้ดีก่อน ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร ขนาดผมมาหาอ่านตอนกลับจากศรีลังกาแล้วยังกินเวลาตั้งเกือบครึ่งสัปดาห์
จุดที่คุณน้าวสันตราคุยกับผมเรื่องไม่ต้องซื้อตั๋วคือลานจอดรถแห่งหนึ่งในพื้นที่ของเมืองโบราณ (อุทยานมหาเมวนา) พอตกลงกันได้แกก็บอกว่าข้างหน้าประมาณ 200 เมตรคือ “ชัยยะ ศรีมหาโพธิ” ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ไม่ต้องใช้ตั๋ว เปิดให้เข้าฟรีทั้งชาวศรีลังกาและต่างชาติ แกเดินนำไป หยุดอยู่บริเวณหน้าทางเข้า ให้ผมถอดรองเท้าแตะวางไว้ แกจะคอยดูให้ ไม่ต้องไปฝากตรงประตูทางเข้า แล้วผมก็เดินผ่านซุ้มประตูขนาดใหญ่เข้าไปภายในรั้วชั้นนอก เดินขึ้นบันไดผ่านประตูรั้วที่ล้อมต้นพระศรีมหาโพธิไว้อีกชั้น และเหนือขึ้นไปก็มีราวลูกกรงสีทองล้อมไว้อีก 2 ชั้น
ผ่านมาแล้ว 2,310 ปี ต้นโพธิ์จากกิ่งทางด้านทิศใต้ของพระศรีมหาโพธิที่ให้ร่มเงาแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ที่พุทธคยายังคงมีชีวิตอยู่ ในจำนวนของต้นไม้ที่รู้ปีปลูกและปลูกโดยมนุษย์ ต้นโพธิ์ที่อนุราธปุระต้นนี้มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก
พระสังฆมิตตาเถรี พระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช พระขนิษฐาของพระมหินทเถระ ผู้บวชเป็นภิกษุณีและได้จาริกมายังศรีลังกาพร้อมกิ่งของพระศรีมหาโพธิ และได้ถวายให้กับพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เมื่อราว พ.ศ.255 พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะจึงทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิขึ้นภายในอุทยานมหาเมวนา กรุงอนุราธปุระ
สภาพของ “ชัยยะ ศรีมหาโพธิ” (Jaya Sri Maha Bodhi) ในปัจจุบันค่อนข้างโรยรา ขนาดใบเล็ก สีเขียวอ่อนออกซีด มีไม้ค้ำยันกิ่งหลายจุด ต้นโพธิ์ที่ปลูกขึ้นรายล้อมในภายหลังมีวัตถุประสงค์เพื่อกันลมพายุและสัตว์บางชนิด นอกจากนี้รัฐบาลยังออกกฎห้ามไม่ให้มีการก่อสร้างใดๆ ขึ้นมาใหม่ภายในรัศมี 500 เมตร
ในอดีตต้นพระศรีมหาโพธิผ่านการถูกทำลายและรุกรานจากช้างป่า คนบ้าคนเถื่อน พายุฝนที่ทำให้กิ่งพังลงมาอย่างน้อย 2 ครั้งเมื่อประมาณ 100 ปีก่อน และใน พ.ศ.2528 กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลมบุกจับชาวพุทธสิงหล และจัดการสังหารบนระเบียงของราวลูกกรงทองชั้นที่ 2 เสียชีวิต 146 คน เหตุการณ์ในครั้งนี้ถูกเรียกว่า “การฆ่าหมูอนุราธปุระ”
ชาวพุทธเดินทางมาไม่ขาดสาย ส่วนมากสวมชุดขาวเข้ากราบสักการะต้นพระศรีมหาโพธิ เสียงสวดมนต์ดังอยู่ทุกมุมตามลานกว้าง บ้างกราบพระพุทธรูปและหยอดเงินทำบุญภายในวิหารที่สร้างอยู่ติดกัน และคงมีบางคนที่อธิษฐานให้ต้นพระศรีมหาโพธิมีชีวิตยืนยาวอยู่ไปอีกนานเท่านาน เพราะนี่คือสิ่งเดียวที่ร่วมยุคสมัยกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและยังคงมีชีวิตอยู่
ผมเดินวนกำแพงด้านในของพระศรีมหาโพธิ 1 รอบ กลับมายังจุดที่ผู้คนถวายดอกไม้และผลไม้สักการะบริเวณประตูทางเข้าชั้นใน เด็กวัดนุ่งขาวห่มขาวคนหนึ่งคอยจัดระเบียบดอกไม้และผลไม้ เขาชี้ไปที่กระจาดใส่กล้วย บอกเป็นนัยว่าเชิญรับประทาน ผมขอบคุณแล้วเดินออกมา แต่ก็นึกเสียดายที่ขัดศรัทธาพุทธศาสนิกชนผู้ถวายกล้วยและเด็กวัดคนนั้น
น้าวสันตรายืนรออยู่ตรงที่เดิม แกเดินนำต่อไปอีกไม่ไกล ถึง “โลวามหาปายะ” หรือโลหะมหาปราสาท สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าทุฏฐคามณีมหาราช ราวปี พ.ศ.382 เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดมหึมา เป็นทั้งพระอุโบสถ หอฉัน และศาลาการเปรียญ มีขนาดกว้าง-ยาว 120 เมตร คูณ 120 เมตร เสาหินแบ่งเป็นด้านละ 40 แถว ใช้เสาทั้งหมด 1,600 ต้น หลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง จึงได้ชื่อว่าเป็นโลหะปราสาท (หลังที่ 2 ของโลก หลังแรกสร้างขึ้นโดยนางวิสาขาเมื่อสมัยพุทธกาล และหลังที่ 3 คือโลหะปราสาท วัดราชนัดดาฯ กรุงเทพฯ)
โลวามหาปายะแรกสร้างมี 9 ชั้น ต่อมามีการบูรณะเหลือ 7 ชั้น อย่างไรก็ตาม ถือเป็นอาคารที่สูงที่สุด (ที่ไม่ใช่เจดีย์) ในศรีลังกา จนกระทั่ง พ.ศ.1536 มีการถูกทำลายโดยธรรมชาติและมนุษย์หลายครั้ง แต่ก็ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่อยู่เสมอ ทว่าในปัจจุบันเหลือเพียงเสาหินจำนวน 1,600 ต้น ส่วนพระอุโบสถไม้หลังคาสีเขียวภายในพื้นที่โลหะปราสาท ได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ไม่นานมานี้
คุณน้าวสันตราเดินนำต่อไปทางทิศเหนือ ทางเดินเรียบ ปูด้วยกระเบื้องอย่างดี เห็นเจดีย์สีขาวขนาดใหญ่แต่ไกล ประมาณ 600 เมตรจากโลหะปราสาท เราก็เดินมาถึง “รุวันเวลิ มหาเสยะ” ภาษาปากเรียกว่า “มหาสถูป” ภาษาบาลีใช้ “สุวรรณมาลี มหาเจดีย์”
เจดีย์รุวันเวลิ สร้างโดยพระเจ้าทุฏฐคามณีมหาราช เมื่อ พ.ศ.403 เป็นเจดีย์แห่งแรกที่สร้างหลังรบชนะกษัตริย์จากราชวงศ์โจฬะที่มายึดอนุราธปุระอยู่ช่วงหนึ่ง เชื่อว่าพระองค์สร้างขึ้นตามพระบัญชาของพระราชบิดา คือ “พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ” ในสมัยที่ยังมีพระชนม์ชีพ เป็นเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอยู่ถึง 1 ใน 8 ส่วนของทั้งหมด เป็นปริมาณที่มีมากที่สุดในโลกในสถานที่แห่งเดียว เจดีย์แรกเริ่มสร้างมีความสูง 55 เมตร จากนั้นมีการปฏิสังขรณ์หลายครั้งในหลายรัชสมัย จนปัจจุบันสูงถึง 103 เมตร เส้นรอบวงยาว 290 เมตร
และนี่คือสถานที่ที่ตระหนักได้ว่าวางแผนผิดพลาดเรื่องรองเท้าแตะ ผมถอดออก คุณน้าวสันตราอาสาเฝ้าให้เหมือนเดิม หน้าทางเข้าเจดีย์มีกระถางธูปและซุ้มศาลาสำหรับวางเทียน ก่อนเดินเข้าไปเห็นคนยืนเรียงหน้ากระดานเหยียบแผ่นเหล็กที่มีน้ำพุความแรงต่ำพุ่งออกมาล้างเท้า จุดประสงค์ไม่ใช่การทำความสะอาด หากคือใช้ดับความร้อนให้ฝ่าเท้า ทั้งผู้ที่กำลังจะเข้าไปกราบสักการะมหาเจดีย์และผู้ที่เพิ่งกลับออกมา
จากที่ตั้งใจจะเดินเวียนขวา 3 รอบ ผมทำได้แค่รอบเดียว เพราะฝ่าเท้าแทบลุกเป็นไฟ เดินธรรมดาก็ไม่ได้ ต้องกึ่งเดินกึ่งวิ่ง กลัวฝ่าเท้าจะพอง ศรีลังกาที่ไม่ใช่เขตภูเขา แดดจะร้อนทั้งปี และพื้นหินที่ปูสำหรับเดินรอบเจดีย์ยิ่งร้อนกว่ามาก เวลานี้เลยเที่ยงมานิดหน่อย ความร้อนสะสมมหาศาล
จึงสรุปได้ 2 อย่างว่า หากไม่สวมรองเท้าหุ้มข้อ (เพราะตอนถอดออกมาจะได้มีถุงเท้าช่วยปะทะกับพื้นร้อนแผดเผา) ก็ควรเตรียมถุงเท้าหนาๆ มาด้วย หรือไม่ก็ให้มาตั้งแต่เช้าตรู่ หากตื่นไม่ทันก็มาตอนเย็นหรือตอนค่ำ ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตระบุว่า เปิดให้สักการะตั้งแต่เวลา 05.30 น. ถึง 21.00 น.
โบราณสถาน 3 แห่งที่ผมกล่าวมาล้วนอยู่ในโบราณสถานทั้งแปดที่สำคัญ หรือ “อัฐมสถาน” ของ “อนุราธปุระ” เมืองโบราณแห่งพุทธศาสนาในศรีลังกา
วันอาทิตย์หน้ามาว่ากันต่อครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้
เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ
เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!
เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม
จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!
ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก
ช่วงเค้าลางคดีสำคัญของนายกรัฐมนตรีก่อตัวในดวงเมือง
ขอพักการทำนายเค้าโครงชีวิตคนปี 2568 ไว้ชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคิวที่รออยู่คือท่านที่ลัคนาสถิตราศีตุล
ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ
ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร
จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี
ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย